การสรรหาคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ชุดแรก
การดำเนินการเลือกและแต่งตั้งกรรมการ กสทช. ชุดแรกนี้ เป็นไปตามมาตรา ๑๖ และมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ กล่าวคือเมื่อมีการดำเนินการตามหมวด ๑ ส่วนที่ ๒ ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. โดยวิธีการคัดเลือกกันเอง จำนวน ๒๒ คน เป็นบัญชีที่ ๑ และดำเนินการตามหมวด ๑ ส่วนที่ ๓ ของพระราชบัญญัติดังกล่าวได้รายชื่อผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. โดยวิธีการสรรหา จำนวน ๒๒ คน เป็นบัญชีที่ ๒ แล้ว เลขาธิการวุฒิสภาในฐานะฝ่ายธุรการในการดำเนินการสรรหาและคัดเลือก กสทช. นำรายชื่อผู้สมควรได้รับคัดเลือกเป็น กสทช. รวมทั้ง ๒ บัญชี จำนวน ๔๔ คน พร้อมประวัติและผลงานของแต่ละบุคคลเสนอเพื่อให้วุฒิสภาดำเนินการเลือก กสทช. ซึ่งบุคคลผู้สมควรได้รับเลือกเป็น กสทช. ในแต่ละบัญชีมีดังนี้
โดยวิธีการคัดเลือกกันเอง (บัญชีที่ ๑) ๒๒ คน
- ด้านกิจการกระจายเสียง ๒ คน
- ด้านกิจการโทรทัศน์ ๒ คน
- ด้านโทรคมนาคม ๔ คน
- ด้านนิติศาสตร์ ๔ คน
- ด้านเศรษฐศาสตร์ ๔ คน
- ด้านการคุ้มครองฯ อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ๒ คน
- ด้านการคุ้มครองฯ อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ๒ คน
- ด้านการศึกษา วัฒนธรรมฯ อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ๒ คน
โดย วิธีการสรรหา (บัญชีที่ ๒) ๒๒ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๑ ด้านกิจการกระจายเสียง ๒ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๑ ด้านกิจการโทรทัศน์ ๒ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๒ ด้านกิจการโทรคมนาคม ๔ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๓ ด้านกฎหมาย อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ๔ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๓ ด้านเศรษฐศาสตร์ อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ๔ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๔ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านการส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ๒ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๔ ด้านการคุ้มครองผู้บริโภค หรือด้านส่งเสริมสิทธิและเสรีภาพของประชาชน อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ๒ คน
- มาตรา ๖ วงเล็บ ๕ ด้านการศึกษาด้านวัฒนธรรม หรือการพัฒนาสังคม อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ๒ คน
ต่อมาประธานวุฒิสภาได้แต่งตั้งคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เพื่อเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาทราบและประกอบการพิจารณาคัดเลือก
ในวันจันทร์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๔ เวลา ๑๐.๑๐ น. วุฒิสภาได้มีการประชุมวุฒิสภา ครั้งที่ ๕ (สมัยสามัญทั่วไป) ซึ่งประธานของที่ประชุมได้เสนอให้ที่ประชุมพิจารณาเรื่องด่วน คือ เลือกกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตามมาตรา ๑๗ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ๒๕๕๓ เมื่อประธานคณะกรรมาธิการสามัญเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของผู้สมควรได้รับเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้เสนอรายงานของคณะกรรมาธิการสามัญฯ ในส่วนที่หนึ่ง ซึ่งเป็นรายงานโดยเปิดเผย หลังจากสมาชิกฯ อภิปรายแล้ว ประธานของที่ประชุมได้ดำเนินการประชุมลับตามที่คณะกรรมาธิการฯ ร้องขอตามข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ. ๒๕๕๑ ข้อ ๑๐๘ เพื่อพิจารณารายงานฯ ในส่วนที่สอง ซึ่งเป็นรายงานลับตามข้อบังคับฯ ข้อ ๑๐๖ วรรคสอง เมื่อประธานคณะกรรมาธิการสามัญฯ เสนอรายงาน และได้มีสมาชิกฯ อภิปรายจนได้เวลาพอสมควรแล้ว ประธานของที่ประชุมได้ดำเนินการประชุมโดยเปิดเผย และที่ประชุมได้ลงมติเลือกผู้ได้รับการเสนอชื่อ โดยวิธีการออกเสียงลงคะแนนลับด้วยการใช้บัตรออกเสียงลงคะแนนจำนวน ๑๑ คน ผลการออกเสียงลงคะแนนปรากฏว่า ผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุดตามลำดับที่ได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในแต่ละด้าน ดังนี้
๑. ด้านกิจการกระจายเสียงตามมาตรา ๖ (๑) จำนวน ๑ คน คือ พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี
๒. ด้านกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา ๖ (๑) จำนวน ๑ คน คือ พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ
๓. ด้านกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา ๖ (๒) จำนวน ๒ คน คือ พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ และ พันเอก นที ศุกลรัตน์
๔. ด้านกฎหมาย ตามมาตรา ๖ (๓) จำนวน ๒ คน คือ นายสุทธิพล ทวีชัยการ และพันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า
๕. ด้านเศรษฐศาสตร์ ตามมาตรา ๖ (๓) จำนวน ๒ คน คือ รองศาสตราจารย์ ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์
๖. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ตามมาตรา ๖ (๔) จำนวน ๑ คน คือนางสาวสุภิญญา กลางณรงค์
๗. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคฯ กิจการโทรคมนาคมตามมาตรา ๖ (๔) จำนวน ๑ คน คือ นาย ประวิทย์ ลีสถาพรวงศา
๘. ด้านการศึกษา วัฒนธรรมฯ อันเป็นประโยชน์ต่อการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา ๖ (๕) จำนวน ๑ คน คือ พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร
บุคคลดังกล่าวจำนวน ๑๑ คนนี้จึงเป็นผู้ได้รับเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติประธานวุฒิสภาได้นำรายชื่อดังกล่าวแจ้งไปยังผู้ได้รับเลือกทราบตามมาตรา ๑๗ วรรคหนึ่งและแจ้งผลดังกล่าวให้สำนักงาน กสทช. เพื่อดำเนินการเลือกประธานและรองประธาน ๒ คนตามมาตรา ๑๗ วรรคสาม
วันที่ ๑๒ กันยายน พ. ศ. ๒๕๕๔ สำนักงาน กสทช. ได้เชิญบุคคลทั้ง ๑๑ คน ที่ได้รับเลือกจากวุฒิสภาเข้าร่วมประชุมกันเพื่อเลือกประธานและรองประธาน ๒ คน ซึ่งที่ประชุมออกเสียงเป็นเอกฉันท์เลือกพลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี เป็นประธาน แล้วมีการประชุมลับเพื่อลงมติเลือกรองประธาน ๒ คนผลการลงมติได้ พันเอก นที ศุกลรัตน์ และพันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ เป็นรองประธาน สำนักงาน กสทช. ได้แจ้งผลการเลือกนี้ให้ประธานวุฒิสภาทราบ
วันที่ ๑๙ กันยายน พ. ศ. ๒๕๕๔ เลขาธิการวุฒิสภาเสนอผลการคัดเลือก กสทช. ซึ่งประกอบด้วยประธาน ๑ คนรองประธาน ๒ คน และกรรมการอีก ๘ คน ให้ประธานวุฒิสภา เพื่อแจ้งผลการคัดเลือก กสทช. ให้นายกรัฐมนตรีนำความขึ้นกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง
วันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ สำนักราชเลขาธิการเสนอที่ประชุมองคมนตรีเพื่อตรวจสอบและกลั่นกรองก่อนนำความกราบบังคมทูล
วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีว่ามีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติจำนวน ๑๑ รายดังนี้
๑. พลอากาศเอก ธเรศ ปุณศรี |
เป็นประธานกรรมการ |
๒. พันเอก นที ศุกลรัตน์ |
เป็นรองประธานกรรมการ |
๓. พันเอก เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ |
เป็นรองประธานกรรมการ |
๔. พลโท พีระพงษ์ มานะกิจ |
เป็นกรรมการ |
๕. นายสุทธิพล ทวีชัยการ |
เป็นกรรมการ |
๖. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า |
เป็นกรรมการ |
๗. นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ |
เป็นกรรมการ |
๘. นายธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ |
เป็นกรรมการ |
๙. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ |
เป็นกรรมการ |
๑๐. นายประวิทย์ ลีสถาพรวงศา |
เป็นกรรมการ |
๑๑. พลเอก สุกิจ ขมะสุนทร |
เป็นกรรมการ |
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เป็นต้นไปหน้า ๒๑ เล่ม ๑๒๘ ตอนพิเศษ ๑๑๘ ง ราชกิจจานุเบกษา ๗ ตุลาคม ๒๕๕๔
สร้างโดย - 2fellows admin (1/2/2559 14:02:48)