อย.- กสทช. จัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพสู่ระดับพื้นที่ ครอบคลุมทั่วประเทศ

อย. ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ผนึกกำลังจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพจากส่วนกลางสู่ส่วนภูมิภาค ลดขั้นตอนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน ทำให้หยุดยั้งโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฏหมายได้เร็วขึ้น และเพื่อเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ      ในส่วนภูมิภาคให้เหมือนกันทั่วประเทศเพื่อจัดการปัญหาโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพได้อย่างครอบคลุม

นพ. เสรี ตู้จินดา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) มีนโยบายร่วมกันในการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายทางสื่อทุกประเภท เพื่อให้จัดการปัญหาได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ทันต่อเหตุการณ์ และสนองตอบนโยบายของรัฐบาลใน       การเร่งรัดติดตามตรวจสอบและจัดการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ฝ่าฝืนกฎหมายทางสื่อต่าง ๆ เช่น สื่อวิทยุกระจายเสียง      สื่อโทรทัศน์  ดิจิทัล และทีวีดาวเทียม รวมไปถึงสื่อเคเบิ้ลทีวี เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมา อย. และสำนักงาน กสทช. (ส่วนกลาง) ได้บูรณาการทำงานร่วมกัน โดยใช้กลไกการประสานความร่วมมือที่ลดขั้นตอนของกระบวนการบังคับใช้กฎหมายของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อความรวดเร็วในการยุติโฆษณาที่ฝ่าฝืนกฎหมายได้อย่างทันท่วงที โดยได้ส่งเจ้าหน้าที่ทำการตรวจสอบรายการและโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีเนื้อหาผิดกฎหมาย ทางสื่อโทรทัศน์ วิทยุ และเว็บไซต์ ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. (ส่วนกลาง) จากการปฏิบัติงานร่วมกันตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 เป็นต้นมาถึงปัจจุบัน ถือว่าประสบความสำเร็จอย่างมาก

พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า การกำกับดูแลการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพเป็นภารกิจที่ กสทช. และ อย.ต่างก็มีอำนาจหน้าที่ภายใต้กฎหมายของตนเอง โดยที่สำนักงาน กสทช. มีอำนาจหน้าที่โดยตรงเฉพาะการกำกับดูแล    การออกอากาศรายการหรือการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ออกอากาศทางวิทยุและโทรทัศน์ ก่อนหน้านี้ การทำงานเป็นลักษณะที่แต่ละหน่วยงานต่างทำงานไปภายใต้ระบบของตนเอง ทำให้การพิจารณาข้อร้องเรียนแต่ละเรื่องกว่าจะได้ข้อยุติและสิ้นสุดกระบวนการต้องใช้เวลาค่อนข้างนานอย่างน้อย 6 เดือน หรือบางกรณีอาจใช้เวลานานร่วมปี นอกจากนี้ บทลงโทษต่อการกระทำความผิดกรรมเดียวกันยังอาจต้องรับโทษ 2 ทาง ทำให้อาจเกิดความซ้ำซ้อนและเป็นประเด็นปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการร่วมขึ้นใน สำนักงาน กสทช. และมีข้อร้องเรียนเกิดขึ้นหรือการตรวจพบ     การกระทำความผิด เจ้าหน้าที่สามารถวิเคราะห์ วินิจฉัยและชี้มูลได้ทันที โดยปัจจุบันสามารถสรุปเรื่องให้แล้วเสร็จได้ภายใน 3 วัน ซึ่งถือว่าเร็วมาก และสามารถพิจารณาวินิจฉัยข้อร้องเรียนหรือกรณีการโฆษณาผิดกฎหมายที่ตรวจพบได้เป็นจำนวนมาก จึงถือได้ว่าการปฏิบัติงานร่วมกันประสบความสำเร็จอย่างมาก ก่อให้เกิดการตื่นตัวและปรับตัวของผู้ประกอบการอย่างกว้างขวาง เนื่องจากโทษทางปกครองสำหรับผู้ฝ่าฝืนหรือกระทำความผิดตามกฎหมาย กสทช. นั้น ค่อนข้างสูง ทำให้ปัญหาการกระทำที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และเพื่อให้ปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ได้รับการแก้ไข เช่นเดียวกับส่วนกลาง จึงได้กำหนดนโยบายร่วมกันกับกระทรวงสาธารณสุข ขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค ซึ่งขณะนี้     ผลการเฝ้าระวังพบว่า มีสถานีวิทยุกระจายเสียงราว 300 สถานี มีการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพที่อาจเข้าข่ายเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคฯ จึงหวังว่าเวทีในวันนี้ จะประสบความสำเร็จ มีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน และมีผลการพิจารณาการโฆษณาจาก สสจ. ทั่วประเทศ ซึ่ง สำนักงาน กสทช. จะได้นำไปดำเนินการกำกับดูแลตามกฎหมายของ กสทช. ต่อไป

นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวต่อไปว่า เพื่อให้การจัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์อย่างแท้จริง จึงได้ขยายผลการดำเนินการไปยังส่วนภูมิภาค โดยเริ่มจากภาคเหนือ และภาคใต้มีกระบวนการดำเนินการ คือ มีการตรวจสอบเฝ้าระวังการโฆษณาร่วมกันระหว่าง สำนักงาน กสทช. ภาค / เขต และ สสจ. โดย สสจ. ซึ่งได้รับมอบอำนาจตามพระราชบัญญัติเกี่ยวกับอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพจาก อย. จะให้ความเห็นเกี่ยวกับการโฆษณานั้น ๆ ทั้งนี้ อาจประสานสำนักงาน กสทช. ในส่วนภูมิภาคในเรื่องการเฝ้าระวังและข้อมูล หลักฐานต่าง ๆ แล้วส่งผลการวินิจฉัยมายัง สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง เพื่อดำเนินการกำกับดูแลต่อไป

นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้เป็นมาตรฐานวิธีการปฏิบัติงานเดียวกันทั้งประเทศ อย. และ สำนักงาน กสทช. จึงได้จัดทำแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับกลไกการจัดการปัญหาโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพในระดับพื้นที่ เพื่อจัดการปัญหาโฆษณา ทางสื่อวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก (เคเบิ้ลทีวี) โดย ให้ สสจ. บูรณาการร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ซึ่งกรณีที่ได้รับการประสาน ขอให้พิจารณาการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพว่าเป็นไปตามกฎหมายที่อยู่ในความรับผิดชอบหรือไม่ และหลังจากพิจารณาแล้วเสร็จ ให้จัดทำรายงานส่งผลการพิจารณาส่งกลับหน่วยงาน กสทช. โดยเร็ว โดยใช้รูปแบบหนังสือส่งรายงานการปฏิบัติงานให้กับ สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง และเพื่อความรวดเร็วในการปฏิบัติงาน ขอให้ใช้รูปแบบการประสานงานอย่างไม่เป็นทางการเพื่อรับและส่งข้อมูลการเฝ้าระวังและแจ้งผลการพิจารณาตรวจสอบโฆษณา ระหว่าง สสจ. สำนักงาน กสทช. ภาค และเขต ล่วงหน้าไปก่อน  จากนั้นจึงจัดทำหนังสือเพื่อแจ้งรายงานการปฏิบัติงานไปยัง สำนักงาน กสทช. ส่วนกลาง อย่างเป็นทางการต่อไป

สร้างโดย  - เขมอัคคนิจ  ศศิลาวัณย์ (27/11/2561 9:03:05)

Download

Page views: 712