กทค.นำทุกความคิดเห็นปรับร่างประกาศห้ามซิมดับเยียวยาผู้บริโภค ดีเดย์ 14 สิงหาคมนี้ ชงเข้าพิจารณาของบอร์ดกสทช.ก่อนบังคับใช้

มติที่ประชุมกทค. นำทุกความคิดเห็นวิเคราะห์ ปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.... ก่อนนำเสนอเข้าบอร์ดกสทช. 14 สิงหาคม เพื่อเร่งประกาศบังคับใช้ในการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้เกิดวิกฤตการณ์ “ซิมดับ”

            ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า (วันที่ 9 สิงหาคม 2556) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ครั้งที่ 28 /2556 ได้พิจารณาร่างประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ..... (ร่างประกาศห้ามซิมดับ) โดยได้นำข้อเสนอต่างๆ พร้อมเอกสารที่เกี่ยวข้องจากผลการจัดรับฟังความคิดสาธารณะประกอบด้วยความเห็นจากสำนักงานกสทช. ความเห็นจากคณะทำงานที่กำหนดมาตรการรองรับผลกระทบฯ ความเห็นของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และความคิดเห็นจากคณะอนุกรรมการ 1800 MHz เกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ มาประกอบการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงร่างประกาศฯ โดยการพิจารณาเรียงข้อ ซึ่งมีการแก้ไขปรับปรุงประการที่สำคัญ ดังนี้

            ประการแรกในเรื่องของเหตุผลในการออกประกาศนี้ ได้เพิ่มเติมเหตุผลความจำเป็นจากที่ได้ผลจากการวิเคราะห์ของสำนักงาน กสทช. เรื่องการโอนย้ายเลขหมายว่าไม่ว่าจะใช้มาตรการใด ๆ รวมทั้งการ เพิ่มขีดความสามารถต่างๆ ก็ไม่สามารถที่จะโยกย้ายผู้ใช้บริการออกจากระบบได้เสร็จสิ้น ณ วันที่สิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เนื่องจากมีข้อจำกัดทางเทคนิคและปัญหาข้อกฎหมายที่จะกระทบต่อผู้ใช้บริการ และไม่สามารถใช้มาตรการอื่นที่จะคุ้มครองผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงได้เพิ่มเติมในส่วนนี้ เพื่อชี้ให้เห็นชัดเจนว่ามาตรการออกประกาศนี้เป็นมาตรการที่จำเป็นที่จะคุ้มครองผู้ใช้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

            นอกจากนี้ได้เพิ่มฐานอำนาจตามกฎหมาย ในส่วนของมาตรา  27 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553  ในเรื่องอำนาจของ กสทช.ในการกำกับดูแลเลขหมายโทรคมนาคม ตามมาตรา 27 วรรคเจ็ด เพราะแม้สิทธิตามสัญญาสัมปทานหมดไปแต่การบริหารเลขหมายโทรคมนาคมยังคงอยู่ ซึ่งเหตุผลที่รองรับอยู่ในประกาศการจัดสรรและการบริหารเลขหมายโทรคมนาคมมีวัตถุประสงค์ที่สำคัญคือเพื่อประโยชน์สาธารณะ

            พร้อมกับเพิ่มเติมในส่วนมาตรา 15  แห่งพระราชบัญญัติกิจการโทรคมนาคมฯ ซึ่งได้ให้อำนาจ กสทช. ในการแก้ไขเพิ่มเติมในการอนุญาตและในส่วนเงื่อนไขการอนุญาต โดยมาตรา 15 วรรคสาม ได้ระบุเหตุของการปรับปรุงเงื่อนไข ในกรณีที่มีเหตุสำคัญเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ หรือกฎหมายหรือพฤติการณ์เปลี่ยนแปลงไป ให้คณะกรรมการมีอำนาจแก้ไขเพิ่มเติมและอนุญาตแก้ไขได้ตามความจำเป็น นอกจากนี้ ได้ปรับเพิ่มเติมชื่อร่างประกาศให้ชัดเจนโดยเพิ่ม “เพื่อเป็นการชั่วคราว” โดยเรียกประกาศนี้ว่า “ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ....”

            ที่ประชุม กทค. ยังเห็นควรให้กำหนดความหมายของผู้รับผิดชอบ ในการให้บริการตามร่างประกาศฯ ข้อ 2 ให้หมายถึง “ผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานเดิมตามสัญญาการอนุญาต สัมปทานหรือสัญญาที่สิ้นสุดลง” ซึ่งสอดคล้องกับความคิดเห็นส่วนใหญ่จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และความคิดเห็นคณะอนุกรรมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz

            อีกทั้งได้ทำให้เกิดความชัดเจนในระยะเวลาการใช้มาตรการบรรเทาความเดือดร้อนเสียหายของผู้ใช้บริการที่ยังไม่โอนย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้ต่อเนื่อง ว่าจะต้องไม่เกิน 1 ปี นับตั้งแต่วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยจะขยายไม่ได้ แต่หากหมดความจำเป็นในการคุ้มครอง กสทช. สามารถสั่งให้หยุดการคุ้มครองได้ เพื่อแสดงให้เห็นว่าจะใช้มาตรการนี้เท่าที่จำเป็นจริงๆ และมิใช่เป็นการขยายเวลาสัมปทาน จึงได้เพิ่มเติมในส่วนร่างฯ ข้อ 3 วรรคสอง ดังนี้

            “ในกรณีที่ผู้ใช้บริการโอนย้ายออกจากระบบไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นหมดก่อนระยะเวลาหนึ่งปี หรือผู้ให้บริการได้รายงานต่อคณะกรรมการและพิสูจน์ได้ว่าเลขหมายที่ยังคงอยู่ในระบบไม่ปรากฏข้อมูลการใช้บริการเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหกเดือน คณะกรรมการอาจสั่งให้ยุติหน้าที่การให้บริการตามประกาศนี้ได้”

            รวมทั้งได้เพิ่มเติมร่างประกาศ กสทช. ฉบับนี้ ในข้อ 4 วรรคสอง เพื่อให้ประกาศนี้ไม่มีช่องว่างในการบังคับใช้ มีข้อความดังนี้

            “เมื่อประกาศนี้มีผลบังคับใช้แล้ว หากสัญญาสัมปทานมีระยะเวลาสิ้นสุดเหลืออยู่ไม่ถึงเก้าสิบวัน ผู้ให้บริการต้องจัดทำแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการเสนอต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ประกาศนี้มีผลใช้บังคับ”

            ส่วนสาระสำคัญของแผนความคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่มีการแก้ไข แต่ได้เพิ่มเติมเพื่อให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้น ให้ระหว่างระยะเวลาความคุ้มครอง ผู้ให้บริการมีหน้าที่ปฏิบัติตามเงื่อนไข โดยในข้อ 6 วรรคหนึ่ง จะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนไม่ได้

            โดยข้อความในร่างฯ ข้อ 6วรรคหนึ่ง นั้นเป็นการล้อข้อความให้ตรงกับมาตรา 20 ตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ

            ดร.สุทธิพล กล่าวว่า ร่างที่มีการปรับปรุงมากที่สุดเป็นเรื่องการชำระค่าธรรมเนียม โดยจะอยู่ในร่างข้อ 7 ในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง ให้ผู้ให้บริการเป็นผู้รับชำระเงินรายได้จากากรให้บริการแทนรัฐโดยแยกบัญชีการรับเงินไว้เป็นการเฉพาะ แล้วรายงานจำนวนเงินรายได้และดอกผลที่เกิดขึ้นซึ่งได้หักต้นทุนค่าใช้โครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และตุ้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่งสำนักงานเพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป เหตุที่มีการปรับปรุงเนื่องจากได้นำข้อเสนอที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ รวมทั้งข้อห่วงใยที่หลายฝ่ายเป็นห่วงว่าจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในการแข่งขัน จึงกำหนดรูปแบบให้เหมาะสมและชัดเจนขึ้น

            อีกทั้งเพื่อความรอบคอบและชัดเจน ที่ประชุมกทค. ยังได้เพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะทำงานตรวจสอบจากเดิมที่สำนักงานฯ เสนอให้กำหนดไว้ 3 คน เป็น 5 คน โดยใช้ถ้อยคำดังนี้

            “การตรวจสอบการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้สำนักงานแต่งตั้งคณะทำงานคณะหนึ่งจำนวน 5 คนประกอบด้วยผู้แทนกระทรวงการคลัง ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงินและการบัญชีหนึ่งคน และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์หนึ่งคน โดยมีผู้แทนสำนักงานเป็นเลขานุการคณะทำงาน”

นอกจากนี้ยังได้ปรับร่างให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้นในข้อ 10 ดังนี้

            เมื่อสิ้นสุดระยะเวลาการคุ้มครอง หากยังมีผู้ใช้บริการคงเหลือที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่น ให้สิ้นสุดระยะเวลาคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวตามประกาศนี้

            “ในกรณีที่ผู้ให้บริการมีเงินค้างชำระแก่ผู้ใช้บริการตามวรรคหนึ่งผู้ให้บริการต้องคืนเงินนั้นแก่ผู้ใช้บริการ ทั้งนี้การคืนเงินให้เป็นไปตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 34 โดยอนุโลม”

            ทั้งนี้ ที่ประชุม กทค. ได้สั่งการให้สำนักงานฯ จัดเตรียมร่างที่มีการปรับปรุงแก้ไข พร้อมรวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนก่อนส่งให้เลขานุการที่ประชุม กสทช. เพื่อนำเสนอประกอบวาระการประชุม กสทช. ซึ่งจะพิจารณาในวันที่ 14 สิงหาคม นี้

สร้างโดย  -   (18/3/2559 16:05:33)

Download

Page views: 79