กสทช. อนุมัติร่าง เยียวยา 1800 ป้องกันซิมดับยันมีกฎหมายรองรับ

กสทช. เห็นชอบผลการรับฟังความเห็นสาธารณะและเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... หลังจากนี้จะนำร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ให้ทัน 25 สิงหาคมนี้

          นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. แถลงผลการประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2556 วันพุธที่

14 สิงหาคม 2556 โดยมีวาระสำคัญ ดังนี้

          1. ที่ประชุม กสทช. มีมติ 9 ต่อ 2 เห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและประชาชนทั่วไป และเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... โดยหลังจากนี้จะนำร่างประกาศ กสทช. ดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

          การรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ยึดหลักสากลที่เป็นที่ยอมรับ เพื่อให้การรับฟังความคิดเห็นเป็นไปโดยกว้างขวางสร้างสรรค์ประโยชน์กับผู้เกี่ยวข้อง ประเทศชาติ และประชาชน   ผลการรับฟังความเห็นในประเด็นหลัก  ๆ คือ  ก่อนสิ้นสัญญาสัมปทานเป็นสิทธิของผู้ให้บริการ   การย้ายลูกค้าทั้งหมดไปยังผู้ให้บริการรายอื่นก่อนสิ้นสัญญาสัมปทานแม้จะทำได้ทางวิศวกรรมแต่ทางกฎหมายไม่สามารถดำเนินการโดยพละการ ต้องเป็นไปโดยสมัครใจของผู้บริโภค   การให้บริการต่อเนื่องเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคภายในระยะเวลา 1 ปี  โดยให้ประชาสัมพันธ์ผู้ใช้บริการเปลี่ยนไปใช้บริการกับผู้ให้บริการรายอื่นมากที่สุด  และผู้แทนกระทรวงการคลังได้แสดงความเห็นว่าการหยุดรับลูกค้าใหม่เป็นการดำเนินการตามมาตรการชั่วคราว ในส่วนของรายได้ให้แสดงรายได้ รายจ่าย และให้นำรายได้เหลือจากการหักรายจ่ายนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน  และควรให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และบริษัท ทรู มูฟ จำกัด (True Move) รวมถึงบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC) ซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตเดิมตามกฎหมายร่วมกันจัดทำแผนดำเนินการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาเพื่อนำเสนอ กทค. ทั้งนี้ในส่วนของการนำคลื่นที่ประมูลได้ไปใช้ให้บริการกับเทคโนโลยีใดเป็นสิทธิของผู้ประมูลได้ การดำเนินการของ กสทช. ในครั้งนี้เป็นไปโดยฐานอำนาจปกครอง เป็นการทำตามอำนาจหน้าที่ให้เป็นกฎเกณฑ์

            โดยนายแก้วสรร อติโพธิ พร้อมคณะทำงานได้ชี้แจงถึงประเด็นสำคัญ 4 ประเด็นในการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้ ได้แก่ 1. ประเด็นฐานฐานอำนาจทางกฎหมาย 2. ประเด็นผู้ให้บริการตามร่างประกาศฉบับนี้หมายถึงใคร 3. ประเด็นเงินรายได้ที่จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน 4. ประเด็นร่างประกาศฉบับนี้เป็นการขยายเวลาสัมปทานหรือไม่  โดยในประเด็นที่ 1 เรื่องฐานอำนาจทางกฎหมาย กสทช. มีฐานอำนาจในการดำเนินการตามพ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 20 ที่กำหนดว่า ผู้ให้บริการจะหยุดการให้บริการไม่ได้นอกจากจะได้รับความเห็นชอบจาก กสทช.  และมาตรา 15 ว่า ในการคุ้มครองผู้บริโภค กสทช. สามารถกำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการเพิ่มเติมได้ ซึ่งในกรณีนี้สัญญาของ CAT True และ DPC ยังไม่สิ้นสุด ทาง กสทช. จึงได้กำหนดเงื่อนไขการประกอบกิจการเพิ่มเติมเข้าไป เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

            ประเด็นที่ 2 เรื่อง ผู้ให้บริการตามร่างประกาศฉบับนี้ ในร่างประกาศฉบับเดิม “ผู้ให้บริการ” ให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ให้บริการผู้ใช้บริการในระยะเวลาตามมาตรการเยียวยาเท่านั้น เมื่อเข้าสู่การพิจารณาในบอร์ด กทค. ได้มีความเห็นว่าผู้ให้บริการหมายถึง บมจ. กสท โทรคมนาคม และบริษัท ทรูมูฟ จำกัด อีกสัญญาหนึ่งหมายถึง บมจ. กสท โทรคมนาคม และบริษัท ดีพีซี  โดยช่วงเวลาตามมาตรการเยียวยาจะไม่มีผู้รับใบอนุญาต ไม่มีผู้ให้สัมปทาน ผู้รับสัมปทาน คู่สัญญาสัมปทานเดิมเคยดำเนินการอย่างไร    ก็ให้ดำเนินการอย่างนั้นต่อไป (Stand Still)

            ประเด็นที่ 3 เรื่อง เงินรายได้ที่จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน ตามร่างประกาศฉบับนี้ ในช่วงเวลาเยียวยา รายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นถือเป็นรายได้ของแผ่นดิน จะนำส่งรายได้หลังหักค่าใช้จ่าย 3 ส่วน คือ ค่าต้นทุนโครงข่าย ค่าธรรมเนียมเลขหมาย และต้นทุนรายจ่ายในการบริหารจัดการ ส่งเข้ากระทรวงการคลังเป็นรายได้ของแผ่นดิน โดยจะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างมาตรการเยียวยามา คณะทำงานชุดนี้จะประกอบด้วย ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงการคลัง สำนักงานอัยการสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านการบัญชี และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์มาร่วมกันพิจารณารายได้และรายจ่ายดังกล่าวเพื่อให้เกิดความโปร่งใสและเป็นธรรม โดยอาศัยฐานอำนาจ จาก พ.ร.บ. เงินคงคลัง  พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 และ พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 10 ที่ให้ กระทรวงการคลัง มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเงินการคลังแผ่นดิน การประเมินราคาทรัพย์สิน การบริหารพัสดุภาครัฐ กิจการเกี่ยวกับที่ราชพัสดุ ทรัพย์สินของแผ่นดิน ภาษีอากร           การรัษฎากร กิจการหารายได้ที่รัฐมีอำนาจดำเนินการได้แต่ผู้เดียวตามกฎหมายและไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของส่วนราชการอื่น การบริหารหนี้สาธารณะ การบริหารและการพัฒนารัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ และราชการอื่นตามที่มีกฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของกระทรวงการคลังหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวงการคลัง

            ประเด็นที่ 4 เรื่อง ร่างประกาศฉบับนี้เป็นการขยายเวลาสัมปทานหรือไม่ ร่างประกาศฉบับนี้        เป็นแนวทาง เป็นทางเลือกสำหรับประชาชน กรณีเมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน เนื่องจากเลขหมายที่ค้างอยู่ในระบบขณะนี้มีถึง 17 ล้านเลขหมายไม่สามารถดำเนินการให้ยุติการใช้หรือย้ายระบบได้ทันที

          2.   ที่ประชุม กสทช. ได้เห็นชอบ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมสถานีฐาน ซึ่งใช้เทคโนโลยี Evolved Universal Terrestrial Radio Access (E-UTRA) และเห็นชอบ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมลูกข่าย กิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล  International Mobile Telecommunication (IMT) ซึ่งใช้เทคโนโลยี Evolved Universal Terrestrial Radio Access (E-UTRA) และให้นำร่างประกาศดังกล่าวไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อบังคับใช้ต่อไป

         3.   ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ. .... และให้นำร่างประกาศดังกล่าวออกรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย และประชาชนทั่วไป ทั้งนี้ร่างประกาศดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ในการจัดทำเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการจัดลำดับรายการโทรทัศน์ ส่งเสริมให้ประชาชนได้รับบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรม ตลอดจนอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการโทรทัศน์

 

          4.   ที่ประชุม กสทช. ได้มีการพิจารณาเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้ดาวเทียมเพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ และได้เห็นชอบในหลักการให้ใช้ดาวเทียมเพื่อการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ ดังนี้

              4.1 ผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจะต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

              4.2 การประกอบกิจการให้บริการดาวเทียมสื่อสารต้องปฏิบัติตามกฎหมายโทรคมนาคม โดยต้องได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)

              4.3 ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารจะให้บริการช่องสัญญาณดาวเทียมเพื่อนนำไปใช้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมได้เฉพาะผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) เท่านั้น

 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Download

  • Press-Release-ประชุมบอร์ด-กสทช-14-ส-ค-56.doc

สร้างโดย  -   (18/3/2559 16:02:56)

Download

Page views: 244