ครม.กำหนดให้การลงทะเบียนซิมเติมเงินและการลงทะเบียนการใช้บริการอินเทอร์เน็ตฟรีไวไฟเป็นวาระแห่งชาติตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ และที่ประชุม กสทช. มีมติให้ส่งเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับมาตรการเยียวยาผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอลให้ กสท. พิจารณาก่อนนำกลับมาให้ที่ประชุม กสทช. พิจารณาต่อไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้การลงทะเบียนซิมระบบเติมเงิน และการลงทะเบียนการใช้บริการอินเทอร์เน็ตแบบ Free WiFi เป็นวาระแห่งชาติ ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ โดยให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบเติมเงินทุกคนที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน ให้ลงทะเบียนให้เสร็จภายในวันที่ 31 ก.ค. 2558 ตามประกาศของสำนักงาน กสทช. โดยนับตั้งแต่นี้สำนักงาน กสทช. จะขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการต่างๆ อาทิ กระทรวงแรงแรงงานและสวัสดิการสังคม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกรมประชาสัมพันธ์ เป็นต้น เพื่อที่จะดำเนินการในเรื่องดังกล่าวให้สำเร็จ โดยกระทรวงแรงแรงงานและสวัสดิการสังคมจะเร่งออกบัตรประจำตัวแรงงานต่างด้าว กระทรวงมหาดไทย โดยกรมการปกครองส่วนท้องถิ่น สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงกรมประชาสัมพันธ์ จะเร่งประชาสัมพันธ์ ให้ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบเติมเงินรีบมาลงทะเบียน
    สำหรับการประชุม กสทช. วันนี้ (18 ก.พ. 2558) ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเรื่องมาตรการเยียวยาความเสียหายของกลุ่มผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการสถานีโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จากกรณีปัญหาความล่าช้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบบดิจิตอล โดยได้มีมติเห็นชอบให้ส่งเรื่องการขยายระยะเวลาการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี ส่งเงินสมทบเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม ให้คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) พิจารณาก่อนนำกับมาพิจารณาในที่ประชุม กสทช. ต่อไป พร้อมให้สำนักงาน กสทช. เร่งรัดติดตามเรื่องหนังสือที่สอบถามไปยังกระทรวงการคลัง และกฤษฎีกาด้วย ทั้งนี้ ข้อเรียกร้องของสมาพันธ์สมาคมวิชาชีพวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และผู้ประกอบการทีวีดิจิตอที่มายื่นหนังสือถึง กสทช. มี 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอเลื่อนการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์รายปี สำหรับปี 2557 (ทั้งในส่วนของราคาประมูลขั้นต่ำ และส่วนที่ราคาเกินราคาขั้นต่ำในงวดที่ 2) ซึ่งมีกำหนดชำระภายในวันที่ 23 พฤษภาคม 2558 ไปเป็นชำระในปี 2560 และเลื่อนงวดที่เหลือออกไป เป็นระยะเวลา 2 ปี   2.ขอให้เปลี่ยนวิธีการชำระเงินค่าประมูลใบอนุญาตฯให้สอดคล้องกับรายได้ โดยจ่ายเป็นอัตราคงที่ตลอดระยะเวลาใบอนุญาต 12 ปีที่เหลืออยู่       3.ขอยกเว้นการจัดเก็บค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิตอลรายปี ในอัตรา 2% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย รวมถึงยกเว้นการนำส่งเงินรายได้เข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะในอัตรา 2% ของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่าย เป็นระยะเวลาอย่างน้อย     5 ปี ตามแผนการขยายโครงข่ายของคณะกรรมการ กสทช. ให้สามารถครอบคลุมครัวเรือนทั่วทั้งประเทศ และ       4.ขอให้ กสทช. พิจารณาขยายอายุใบอนุญาตประกอบกิจการออกไปอีก 5 ปีจาก 15 ปี เป็น 20 ปี เพื่อเป็นการเยียวยาความเสียหายให้บริษัทฯ และผู้รับใบอนุญาตทั้งหมด
    นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ยังได้มีมติเห็นชอบให้ปรับลดจำนวนคณะอนุกรรมการลงจากเดิมให้เหลือกึ่งหนึ่ง โดยไม่รวมคณะอนุกรรมการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการบริหารกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) และคณะอนุกรรมการภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) พร้อมลดจำนวนองค์ประกอบของคณะอนุกรรมการ ให้เหลือคณะละไม่เกิน 10 คน ซึ่งจะทำให้การใช้งบประมาณในส่วนของค่าเบี้ยประชุมลดลงจากเดิมที่ต้องจ่ายประมาณปีละ 245 ล้านบาท ลงเหลือประมาณ 60 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ประหยัดงบประมาณลงไป
    สำหรับกรณีที่บริษัท อาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง แอนด์ สปอร์ต แมเนจเมนท์ จำกัด ยื่นขออุทธรณ์การสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไปในรายการ “การแข่งขันฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ปี 2014” ที่ประชุมยังไม่ได้พิจารณา โดยให้นำไปศึกษา และจะพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป

Download

  • Press-Release-180258-ผลการประชุม-กสทช-วันที่-18-ก-พ-2558-rev4.doc

สร้างโดย  -   (9/3/2559 14:53:51)

Download

Page views: 1318