บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 17 มีนาคม 2557

กสท.ย้ำคนไทยต้องได้ดูบอลโลกครบ64คู่
    พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.)  กล่าวว่า วันนี้ (17 มีนาคม 2557) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระสำคัญ ดังนี้
    เรื่องที่ 1 ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 60 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 54 ราย กิจการบริการสาธารณะ 3 ราย และกิจการบริการชุมชน 3 ราย รวมทั้งสิ้นถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง  ทั่วประเทศ 4,136 ราย
    เรื่องที่ 2 ที่ประชุม กสท. อนุมัติผลวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ 2 ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เจ เอ แอล โครงข่ายระดับท้องถิ่น จังหวัดพะเยา และ ห้างหุ้นส่วนจำกัด ดีดเคเบิ้ลทีวี โครงข่ายระดับท้องถิ่น จังหวัดอุดรธานี  
   เรื่องที่ 3 ที่ประชุม กสท. อนุมัติผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ดังนี้
    กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตสำหรับบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่เป็นครั้งแรก จำนวน 6 ช่องรายการ อายุใบอนุญาต 1 ปี ได้แก่
         บริษัท ทรู วิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด ได้แก่ ช่อง Aljazeera (ข่าวทั่วไป) และ ช่อง ASN2 (กีฬา)
         บริษัท ยูริมิโกะมีคุณมีเรา จำกัด ได้แก่ ช่อง มีคุณ ทีวี (ปกิณกะบันเทิง)
         บริษัท สมาร์ท ซัคเซส มีเดีย จำกัด ได้แก่ ช่อง สมาร์ท ทีวี (ปกิณกะบันเทิง)
         บริษัท 888 แสนล้าน จำกัด ได้แก่ ช่อง68 Channel (ปกิณกะบันเทิง)
         บริษัท พีทีวี เคเบิลเน็ทเวิร์ค จำกัด ได้แก่ ช่อ พี ทีวี (ข่าวทั่วไป)
    กรณีผู้ขอรับใบอนุญาตสำหรับบริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ยื่นคำขอใหม่ แต่ไม่ได้ยื่นคำขอภายในระยะเวลาที่กำหนด ในกรณีใบอนุญาตสิ้นอายุ และไม่ปรากฏว่าเคยละเมิดต่อเงื่อนไขการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อายุใบอนุญาต 2 ปี ได้แก่
         บริษัท ออโต้-ไลฟ จำกัด ได้แก่ ช่องรายการ Grand Prix Channel (ปกิณกะบันเทิง)
         บริษัท อาร์เอสยู ทีวี จำกัด ได้แก่ ช่อง RSU WISDOM TV (ข่าวทั่วไป)
         บริษัท สปีด แชนแนล จำกัด ได้แก่ ช่อง Speed Channel (ปกิณกะบันเทิง)
    เรื่องที่ 4 ที่ประชุม กสท. อนุมัติ(ร่าง) เงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการประกอบกิจการโทรทัศน์เพื่อให้บริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ
    เรื่องที่ 5 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบ(ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (ฉบับที่ 2) และเตรียมนำเสนอที่ประชุมกสทช.เพื่อพิจารณาเห็นชอบต่อไป
    เรื่องที่ 6 ที่ประชุม กสท. พิจารณาหลักการสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ดังนี้
         1.การสนับสนุนประชาชนในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลอย่างทั่วถึง ตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ มาตรา 52(1) แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
         2.การสนับสนุนให้ดำเนินการโดยวิธีการแจกคูปอง โดยนำไปใช้แลกซื้ออุปกรณ์ที่สามารถรับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลได้โดยไม่จำกัดช่องทาง เพื่อให้สอดคล้องกับการให้ประชาชนได้รับบริการด้านกิจการโทรทัศน์อย่างทั่วถึง โดยอุปกรณ์ดังกล่าวต้องรองรับการแสดงผลตามมาตรฐานความคมชัดสูง (High Definition) และมีการรับประกันคุณภาพตามที่กสท.กำหนด
         3.การสนับสนุนในการรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (DVB-T2) ให้รวมถึงการสนับสนุนอุปกรณ์สายอากาศ (Indoor/outdoor Antenna) ด้วย
         4.มูลค่าของคูปองต้องเพียงพอสำหรับการแลกซื้ออุปกรณ์ที่จำเป็นในการรับบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม
         5.การสนับสนุนของประชาชนให้สนับสนุนทุกครัวเรือนตามทะเบียนราษฎร เป็นลำดับแรก และให้สนับสนุนเพิ่มเติมกับกลุ่มที่อยู่นอกทะเบียนราษฎรที่ได้รับการรับรองจากผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบ เป็นลำดับถัดไป
         6.กรอบเวลาการสนับสนุนให้ดำเนินการตามกรอบเวลาของการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล โดยประชาชนควรได้รับการแจกคูปองหลังการเริ่มออกอากาศบริการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในพื้นที่แล้ว
         7.การสนับสนุนในกรณีประชาชนไม่อยู่ในพื้นที่ครอบคลุมของโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล หรือกรณีเกิดสัญญาณรบกวนระหว่างสัญญาณระบบอนาล็อกกับสัญญาณระบบดิจิตอลในช่วงการออกอากาศคู่ขนาน (Simulcast) ให้คำนึงถึงการบริการด้านโทรทัศน์อย่างทั่วถึง
         8.การสนับสนุนคูปองเป็นการใช้เงินจากการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ จึงควรคำนึงถึงการไม่นำไปใช้สนับสนุนกิจการที่เป็นคู่แข่ง
         9.กระบวนการแจกคูปอง การใช้คูปอง ตลอดจนการนำคูปองที่ใช้แล้วไปรับเงินสนับสนุน ควรเป็นขั้นตอนที่ง่าย ชัดเจน สะดวก โปร่งใส และตรวจสอบได้
    เรื่องที่ 7 ที่ประชุม กสท. มีมติจากกรณีบริษัทอาร์เอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด(มหาชน) ผู้ได้ลิขสิทธิ์ในการถ่ายทอดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์รายการโทรทัศน์สำคัญที่ให้เผยแพร่ได้เฉพาะในบริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป พ.ศ. 2555 (Must Have) โดยศาลได้มีคำสั่งลงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2556ยกคำร้องของบริษัทฯ ดังนั้น ประกาศ Must Have จึงยังมีผลบังคับใช้กับการถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ทุกนัด โดยผ่านช่องทางการให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป หรือ ฟรีทีวี เท่านั้น
    ทั้งนี้ บริษัท อาร์เอส อินเตอร์ฯ ซึ่งได้รับลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย แต่ไม่ใช่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ดังนั้น บริษัทอาร์เอส อินเตอร์ฯจึงไม่ใช่ผู้ที่อยู่ในบังคับของประกาศ Must Have ขณะที่ บริษัท อาร์เอสฯซึ่งเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ประเภทช่องรายการ (ช่อง 8) และเป็นผู้ที่จะได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล หมวดหมู่ความคมชัดปกติ หากต้องการนำรายการดังกล่าวมาออกอากาศในบริการโทรทัศน์ของตน จะต้องอยู่ภายใต้ประกาศ Must Have คือ ต้องถ่ายทอดสดตลอดการแข่งขัน 64 นัด ออกอากาศผ่านช่องฟรีทีวีเท่านั้น หากต้องการนำรายการดังกล่าวไปถ่ายทอดสดผ่านโทรทัศน์ในรูปแบบอื่น เช่น ดาวเทียมหรือเคเบิ้ล จะต้องได้รับอนุญาตจาก กสท.ก่อน
    ดังนั้น การที่บริษัทอาร์เอสฯออกมาให้ข่าว โดยยืนยันที่จะถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้ายผ่านฟรีทีวี ช่อง 7 ในระบบอนาล็อกเดิมหรือ ช่อง 8 ในระบบดิจิตอล หมวดหมู่ทั่วไปความคมชัดปกติ เพียง 22 นัด จึงเป็นการโฆษณาและให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนไม่สอดคล้องกับประกาศ Must Haveที่ยังมีผลบังคับใช้อยู่ การให้ข้อมูลดังกล่าวจึงเป็นการจูงใจประชาชนให้ซื้ออุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียมเพื่อรับชมการแข่งขัน ซึ่งเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคตามมาตรา 31 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553
       จากกรณีดังกล่าว ทางกสท.จึงมีมติดังนี้
       1.แจ้งเตือนให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ทั้งผู้ให้บริการโครงข่ายดาวเทียมหรือเคเบิ้ล และผู้ให้บริการช่องรายการ ปฏิบัติตามประกาศ Must Have โดยเคร่งครัด พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน
       2.มีหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัทอาร์เอสฯ ปฏิบัติตามประกาศ Must Have โดยเคร่งครัดและให้ระมัดระวังการให้ข้อมูลที่มีลักษณะขัดหรือแย้งกับประกาศ Must Have แก่ประชาชน พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน
       3.มีหนังสือแจ้งเตือนให้บริษัท เค มาสเตอร์ จำกัดให้ปฏิบัติตามประกาศ Must Haveและประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาการให้บริการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก พ.ศ. 2556 โดยเคร่งครัด พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน
       4.ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองเพื่อให้มีคำสั่งให้บริษัท อาร์เอส อินเตอร์ฯ และบริษัทในเครือระงับการให้ข้อมูลต่อประชาชนเกี่ยวกับการถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก 2014 รอบสุดท้าย ที่เป็นการขัดหรือแย้งกับประกาศ กสทช. พร้อมแจ้งมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กรณีฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามที่ได้รับแจ้งเตือน

Download

  • Pressreleaseที่ประชุมกสท-17มีค57.docx

สร้างโดย  -   (15/3/2559 10:57:18)

Download

Page views: 22