ราคาการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ทะลุแสนล้านบาทแล้ว กสทช. ย้ำราคาค่าบริการต้องต่ำกว่าอัตราค่าบริการ 3G เดิม

     พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า ขณะนี้เวลา 11.00 น.  ราคาการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ได้ทะลุแสนล้านบาทไปอยู่ที่ 100,110 ล้านบาทแล้ว แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นการเดินทางที่ถูกต้อง ประเทศชาติ และประชาชนได้รับประโยชน์อย่างชัดเจน กสทช. จะไม่หยุดเพียงเท่านี้ แต่จะเดินหน้าดำเนินการต่อไปเพื่อให้ประเทศชาติและประชาชนได้รับประโยชน์จากการใช้งานคลื่นความถี่อย่างเต็มที่

    พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  และประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า ราคาประมูลรอบที่ 113 ล็อตที่ 1 อยู่ที่ 49,250 ล้านบาท และล็อตที่ 2 อยู่ที่ 50,860 ล้านบาท รวมสองล็อตอยู่ที่ 100,110 ล้านบาท ซึ่งเป็นราคาที่สูงมาก แต่ยังไม่ถึงระดับราคาสูงสุดที่เคยมีผู้เข้าร่วมประมูลในต่างประเทศเคยทำสถิติมาแล้ว

    ในปี 2020 จะเป็นจุดเปลี่ยนที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ(ไอทียู) จะมีการนำเทคโนโลยี 5G มาให้บริการในเชิงพาณิชย์ ซึ่งการจัดสรรคลื่นผ่านการประมูลในครั้งนี้ก็จะทำให้ผู้ประกอบการมีคลื่นความถี่รองรับเทคโนโลยี 5G ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และจากการวิเคราะห์ทางเทคนิค ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ควรมีคลื่นความถี่ที่ให้บริการรวมไม่ต่ำกว่า 50 MHz ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การประมูลจะมีการแข่งขันด้านราคาอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้มาซึ่งคลื่นความถี่นำมาประกอบกิจการโทรคมนาคม

    การเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ในปี 2555 ได้ทำให้อันดับการพัฒนาด้านไอซีทีของประเทศไทยขยับขึ้นคราวเดียว 20 อันดับ และจากการที่ประเทศไทยมีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ          900 MHz คาดว่าจะส่งผลให้ในอีก 2 ปีข้างหน้าอันดับการพัฒนาด้านไอซีทีของประเทศไทยจะเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน  และปี 2563  จะมีโอกาสในการพัฒนาขึ้นจะเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนด้วย

    นายประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า จำนวนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และการประมูลย่าน 1800 MHz ที่ กสทช.ได้นำมาประมูลในกิจการโทรคมนาคมเพิ่งมีเพียง 95 MHz เท่านั้น และทั้งประเทศมีการใช้งานโดยรวมไม่ถึง 300 MHz ซึ่งน้อยกว่าที่มีการใช้งานในต่างประเทศ   ดังนั้นในการประมูลคลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม กสทช. คำนึงถึง   2 ส่วน คือ 1. การนำรายได้ส่งเข้ารัฐ และ2. การทำให้ประชาชนได้ใช้บริการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ไม่ได้ดูรายได้จากการประมูลเพียงด้านเดียว

    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ผลการประมูลในวันนี้แสดงให้เห็นว่า นักลงทุนต่างประเทศมีความเชื่อมั่นในเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากผู้ถือหุ้นของบริษัทผู้เข้าร่วมการประมูลทั้ง 4 รายมีต่างประเทศเป็นผู้ถือหุ้นร่วมด้วยทั้งสิ้น การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ซึ่งสิ้นสุดไปแล้ว และการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่อยู่ระหว่างดำเนินการขณะนี้จะมีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศกว่า        1.8 แสนล้านบาท รวมถึงเงินลงทุนในการดำเนินการอีกไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท ซึ่งจะทำให้เกิดเงินหมุนรอบในระบบเศรษฐกิจของประเทศได้อีกจำนวนมาก

    “การประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. ที่ผ่านมาและในวันนี้ จะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ทั้งทางด้านการส่งออก นำเข้า ลงทุน และบริโภค เพื่อให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าได้” นายฐากร กล่าว

    นายฐากร กล่าวว่า ส่วนเรื่องราคาการประมูลที่สูงจะมีส่วนกระทบกับต้นทุนในการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น   ส่วนตัวเห็นว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าร่วมมีการวางแผนและทำศึกษามาอย่างดีแล้ว  อีกทั้งรายได้จากกิจการโทรคมนาคมเกิดจากผู้บริโภคโดยตรง   ต่างจากกิจการโทรทัศน์ที่รายได้มาจากการโฆษณา  เชื่อว่าจะไม่ทำให้เกิดปัญหาในการประกอบกิจการหลังได้รับใบอนุญาต และสามารถรองรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ได้รับรู้และยอมรับไว้ก่อนแล้วว่าอัตราค่าบริการเมื่อเปิดใช้บริการจะต้องมีราคาถูกลงกว่าอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz ที่ให้บริการอยู่ในปัจจุบัน

สร้างโดย  -   (29/1/2559 18:24:58)

Download

Page views: 238