ศาลอาญามีคำสั่งเด็ดขาดคดีมีมูลประทับรับฟ้อง“นักวิชาการ TDRI – สื่อจากไทยพีบีเอส” หมิ่นประมาท กสทช.

“นักวิชาการ TDRI – สื่อจากไทยพีบีเอส” หมิ่นประมาท กสทช.   

    จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ที่ประกอบไปด้วย พอ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ,  ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ , พลเอกสุกิจ  ขมะสุนทร , รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายฐากร  ตัณฑสิทธิ์  ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556  เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556  โดยมีนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ
    ล่าสุดเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 เวลา 9.30 น. ศาลอาญาได้อ่านคำสั่งศาล หลังจากที่มีการไต่สวนมูลฟ้องโดยละเอียดไปก่อนหน้านี้แล้ว ซึ่งศาลได้พิเคราะห์พยานหลักฐานแล้วเห็นว่า “จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และเป็นอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคม ระบบเซลลูล่า ดิจิตอลพีจีเอ็น 1800 เมกกะเฮิทซ์ จำเลยที่ 1 จึงทราบขั้นตอนวิธีการดำเนินการเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุเป็นอย่างดี การให้สัมภาษณ์ทางสื่อมวลชนรวมถึงการออกอากาศทางสถานีวิทยุโทรทัศน์ในรายการ ที่นี่ ไทยพีบีเอส พอสรุปในเนื้อหาได้ว่าการขยายระยะเวลาในการประมูลคลื่นความถี่ 4 จี เป็นเวลานาน 1 ปี เป็นการเอื้อเอกชน ทำให้รัฐสูญเสียรายได้จำนวน หนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท และการต่อเวลาให้กับผู้ได้รับสัมปทานเดิมอีก 1 ปี โดยมิได้เร่งรัดการประมูลนั้นทำให้รัฐสูญเสียรายได้ถึงหนึ่งแสนสี่หมื่นล้านบาท เป็นการยืนยันข้อเท็จจริงว่าโจทก์ทั้งห้า มีเจตนากระทำการเช่นนั้นจริง ซึ่งอาจทำให้ผู้ที่ไม่ทราบ ทั้งปัญหาเกี่ยวกับข้อกฏหมายรวมถึงกระบวนการในการดำเนินการของ กสทช. อาจหลงเชื่อว่าเป็นความจริง และวิธีการเสนอข้อเท็จจริงดังกล่าว อาจหวังผลเพื่อจุดประเด็นให้ประชาชนเข้าใจไปในทำนองว่าผู้บริหาร กสทช. เอื้อประโยชน์ให้กับผู้ได้รับอนุญาตสัมปทาน จนทำให้ประเทศชาติได้รับความเสียหาย แต่ในทางกลับกันคณะกรรมการ กสทช. ได้รับประโยชน์ตอบแทน เป็นการชี้นำว่าคณะกรรมการ กสทช. ปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ซึ่งทำให้คณะกรรมการ กสทช. และ กสทช.ได้รับความเสียหาย”
    “ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นผู้ดำเนินการรายการ ที่นี่ไทยพีบีเอส ดำรงตนในสถานะเป็นสื่อมวลชน การดำเนินรายการไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถาม หรือสรุปเนื้อหาใจความ พึงระมัดระวังมิให้ส่งผลกระทบต่อบุคคลภายนอกในแง่ของความเสียหาย ก่อนการนำเสนอต้องศึกษาข้อเท็จจริงให้เกิดความเข้าใจและจำต้องมีความรู้ขั้นพื้นฐานในเรื่องนั้นๆพอสมควร.... ในชั้นนี้เห็นว่า คดีของโจทก์มีมูลให้ประทับฟ้องสำหรับจำเลยทั้งสองไว้พิจารณา”
    ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ  กสทช.ด้านกฏหมาย เปิดเผยว่า ต้องขอขอบพระคุณศาลยุติธรรมที่กรุณาพิเคราะห์พยานหลักฐานโดยละเอียด ซึ่งหลายประเด็นเป็นความจริงที่ขาดหายไปทำให้กสทช.มีโอกาสได้นำพยานหลักฐานเหล่านั้นมาพิสูจน์ข้อมูลที่ถูกต้องให้ปรากฏต่อสาธารณชน แสดงว่ายังมีความยุติธรรมเหลืออยู่ในสังคมไทย
“คำสั่งศาลในวันนี้แสดงให้เห็นว่า คำฟ้องของ กสทช. และสำนักงานฯมีมูลตามที่กล่าวหาว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดหมิ่นประมาทเอาเรื่องเท็จมากล่าวหา กสทช. ว่าเอื้อประโยชน์แก่เอกชนทำให้ประชาชนเข้าใจว่าโจทก์ทั้งห้าทุจริตต่อหน้าที่ ซึ่งไม่เป็นความจริง โดยผลของการที่ศาลมีคำสั่งให้คดีมีมูลในคดีอาญาย่อมเด็ดขาด จำเลยทั้งสองจะอุทธรณ์ฎีกาไม่ได้  ซึ่งแสดงว่าเราไม่ได้ฟ้องมั่วหรือไปฟ้องเพื่อกลั่นแกล้งใคร จากนี้ไปเป็นกระบวนการซึ่งผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองตกอยู่ในสถานะจำเลยแล้ว และจะต้องยื่นคำให้การ โดยศาลได้นัดพร้อมเพื่อสอบคำให้การจำเลยทั้งสองและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 30 มิถุนายน 2557 เวลา 9.00 น. และจะมีการสืบพยานในคดีต่อไป ซึ่งเรามั่นใจในพยานหลักฐานที่มีอยู่และจะดำเนินคดีให้ถึงที่สุดเพื่อรักษาเกียรติยศและชื่อเสียงขององค์กรไม่ให้ใครมาใส่ความหรือเอาเรื่องไม่จริงมาใส่ความทำให้ประชาชนเข้าใจ กสทช. ผิด ส่วนใครถูกใครผิดก็ต้องว่ากันไป และหากใครทำผิดก็ต้องรับผิดตามกฏหมายต่อไป” ดร.สุทธิพล กล่าวย้ำ
    สำหรับมูลเหตุในการฟ้องร้องในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช.ได้เคยชี้แจงผ่านสื่อมวลชนว่า เพื่อเป็นการปกป้องศักดิ์ศรี เกียรติภูมิ ของกทค.ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช. ที่ถูกละเมิดสิทธิตามที่รัฐธรรมนูญและกฏหมายกำหนดไว้  มิใช่เป็นการฟ้องร้องเพื่อคุกคามนักวิชาการหรือสื่อมวลชนอย่างที่มีคนพยายามไปบิดเบือนข้อเท็จจริง เนื่องจาก กสทช. ไม่ได้ไปข่มขู่หรือใช้อิทธิพลไปห้ามสื่อนำเสนอข่าวการวิพากษ์วิจารณ์กสทช. เพราะการวิพากษ์วิจารณ์ยังสามารถกระทำได้ แต่จะต้องไม่ใช่เอาข้อมูลที่ไม่จริงหรือบิดเบือนมานำเสนอก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่น การฟ้องคดีนี้แท้จริงแล้วจะส่งผลเป็นการปกป้องสื่อไม่ให้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อทำลายองค์กรใดๆ นอกจากนี้ยังทำให้เป็นการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของสถาบันวิจัยให้มีมากขึ้น ตลอดจนจะช่วยให้สื่อต้องตรวจสอบความถูกต้องให้รอบคอบและนำเสนอข้อมูลให้รอบด้านโดยไม่เลือกนำเสนอเฉพาะในบางแง่บางมุม ทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย
    ทั้งนี้การที่นักวิชาการหรือสื่อมวลชนมีการตรวจสอบการทำงานของ กสทช. และ กทค. ถือเป็นเรื่องที่ถูกต้องที่พึ่งจะกระทำเป็นอย่างมาก แต่การตรวจสอบจะต้องอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้ตามหลักวิชาการอย่างครบถ้วน โดยมิใช่กล่าวอ้างหรือการคาดเดา โดยปราศจากเหตุผลทางวิชาการและโดยอาศัยข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนและไม่ถูกต้อง ดังนั้นนักวิชาการที่วิพากษ์วิจารณ์ในลักษณะที่ให้ข้อมูลในเชิงลบจึงต้องเพิ่มความระมัดระวังด้วยการตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบและถูกต้องแม่นยำก่อนที่จะวิพากษ์วิจารณ์ เพราะข้อมูลที่เผยแพร่ออกสู่สาธารณชนอาจทำให้เกิดเสียหายแก่ผู้ถูกวิจารณ์ นักวิชาการเหล่านั้นก็ควรถูกตรวจสอบและหากมีข้อผิดพลาดก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบด้วย

Download

  • ศาลรับฟ้อง-คดีเดือนเด่นฯ.docx

สร้างโดย  -   (15/3/2559 11:04:47)

Download

Page views: 142