สำนักงาน กสทช. ได้รับเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตในส่วนของราคาขั้นต่ำงวดแรกครบแล้ว 11,943 ล้านบาท และที่ประชุม กสทช. ให้ อสมท ดำเนินการแก้ไขการใช้งานคลื่นความถี่ช่อง 58 ความถี่วิทยุ 766-774 MHz ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต และให้กรมประชาสัมพันธ์คืนคลื่นความถี่วิทยุ 2504 – 2512, 2512 – 2520 และ 2520 – 2528 MHz มายังสำนักงาน กสทช. ส่วนสัญญาระหว่าง อสมท และช่อง 3 เป็นสัญญาที่ชอบด้วยกฎหมาย

นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงาน กสทช. ได้รับเงินชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติในส่วนของราคาขั้นต่ำ งวดที่ 1 จากผู้ชนะการประมูลครบทั้ง 20 บริษัท รวม 24 ใบอนุญาตแล้ว เป็นจำนวนเงินทั้งหมดรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 11,943,554,000 บาท แยกเป็นเงินชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ หมวดหมู่เด็ก เยาวชนและครอบครัว จำนวน 390,978,000 บาท หมวดหมู่ข่าวสารและสาระ จำนวน 1,647,586,000 บาท หมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดปกติ (ทั่วไป SD) จำนวน 2,845,130,000 บาท และหมวดหมู่ทั่วไปแบบความคมชัดสูง (ทั่วไป HD) จำนวน 7,059,860,000 บาท จากราคาสุดท้ายที่เสนอราคาประมูลทั้ง 24 ช่อง รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม เป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 54,422,340,000 บาท พร้อมรับหลักประกันค่าธรรมเนียมใบอนุญาตฯ ในงวดที่เหลือรวมภาษีมูลค่าเพิ่มอีกจำนวน 42,478,786,000 บาท ทั้งนี้ เงินรายได้จากการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลทั้งหมดจะนำส่งเป็นเงินเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะตามกฎหมายในการนำไปพัฒนาบริการวิทยุและโทรทัศน์ และสนับสนุนการรับชมทีวีแก่ประชาชน โดยส่วนหนึ่งจะเป็นการสนับสนุนคูปองส่วนลดในการนำไปซื้อกล่องรับสัญญาณโทรทัศน์ หรือเครื่องโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล สำหรับประชาชน
         นายฐากร กล่าวว่า สำหรับผลการประชุม กสทช. ครั้งที่ 2/2557 วันนี้ (12 ก.พ. 2557) มีวาระสำคัญประกอบด้วย ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ ผลการพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาและการพิจารณาความจำเป็น และระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรโทรทัศน์ ระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสี ช่อง 3) ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ คณะอนุกรรมการพิจารณาสัญญาสัมปทานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ และที่ประชุม กสท. ว่าการเข้าทำสัญญาร่วมดำเนินกิจการส่งโทรทัศน์สีระหว่าง บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด เป็นการดำเนินการโดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว และที่ประชุม กสทช. ยังได้เห็นชอบ ผลการพิจารณากิจการโทรทัศน์ระบบ DVB-T/H บนคลื่นความถี่ UHF ช่อง 58 ระหว่างบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กับบริษัท อินเตอร์เนชั่นเนิลเอนจีเนียริง จำกัด (มหาชน) ตามที่อนุกรรมการทั้งสองคณะ และประชุม กสท. พิจารณาโดยเห็นว่า การที่บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) นำคลื่นความถี่ช่อง 58 ความถี่วิทยุ 766-774 MHz ไปใช้ในการให้บริการโทรทัศน์ ระบบ DVB-T/H เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงเห็นควรสั่งการให้ บมจ. อสมท ดำเนินการแก้ไขการใช้งานคลื่นความถี่ช่อง 58 ความถี่วิทยุ 766-774 MHz ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้รับอนุญาต ในส่วนของการใช้งานคลื่นความถี่เห็นว่าคลื่นความถี่ที่ได้รับการจัดสรรยังคงมีระยะเวลาการถือครองเหลืออีก 5 ปี   สำหรับผลการพิจารณาการดำเนินโครงการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ ประเภทบอกรับเป็นสมาชิกระบบ MMDS ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับบริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบตามที่อนุกรรมการทั้งสองคณะ และประชุม กสท. พิจารณา โดยเห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าสัญญาเข้าร่วมและดำเนินโครงการให้บริการส่งวิทยุโทรทัศน์ ประเภทบอกรับเป็นสมาชิกระบบ MMDS ระหว่างกรมประชาสัมพันธ์ กับบริษัท เวิลด์ สตาร์ ทีวี (ไทยแลนด์) จำกัด ไม่มีผลผูกพันอยู่ในวันที่ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มีผลใช้บังคับ จึงไม่ได้รับการคุ้มครองสิทธิประกอบกิจการตามมาตรา 75 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 และสิทธิในการใช้คลื่นความถี่วิทยุและสิทธิในการใช้คลื่นความถี่วิทยุ 2504 – 2512, 2512 – 2520 และ 2520 – 2528 MHz ย่อมกลับคืนสู่กรมประชาสัมพันธ์ในฐานะผู้ได้รับจัดสรรความถี่วิทยุดังกล่าวจากกรมไปรษณีย์โทรเลขเดิม ทั้งนี้ จากการตรวจสอบการแจ้งรายละเอียดและเหตุผลแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ของกรมประชาสัมพันธ์ปรากฎว่าเป็นรายละเอียดการประกอบกิจการโทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิกระบบ MMDS โดยถือตามสัญญากับบริษัทฯ ซึ่งไม่ปรากฎข้อมูลว่ากรมประชาสัมพันธ์จะประกอบกิจการดังกล่าวด้วยตนเอง จึงเห็นได้ว่า เหตุแห่งความจำเป็นในการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวของกรมประชาสัมพันธ์ได้สิ้นสุดลงแล้วตามผลของการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทาน ดังนั้น กรมประชาสัมพันธ์จึงต้องคืนคลื่นความถี่วิทยุ 2504 – 2512, 2512 – 2520 และ 2520 – 2528 MHz มายังสำนักงาน กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่หรือปรับปรุงการใช้คลื่นความถี่ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555)      
         นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง (ฉบับที่ 2) พ.ศ. .... เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยร่างประกาศฉบับนี้ จะทำให้ กสทช. สามารถบริหารจัดการ และกำกับดูแลกิจการวิทยุกระจายเสียงได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงสามารถเข้าไปกำกับดูแลแก้ไขปัญหาสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่มิได้เข้าแสดงตนภายในระยะเวลาที่ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว มีผลบังคับใช้ ทำให้สถานีวิทยุเหล่านั้นอยู่นอกเหนือการกำกับดูแลของ กสทช. ได้   และมีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์กำกับดูแลการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดที่เกี่ยวข้องในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ และมาตรการเฉพาะเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน พ.ศ. .... และ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาและกำหนดมาตรการเฉพาะเพื่อแก้ไขผลที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. .... เพื่อนำร่างประกาศทั้งสองฉบับไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป โดยร่างประกาศฉบับแรกนั้น เพื่อเป็นมาตรการบังคับก่อน (Ex ante) โดยมีวัตถุประสงค์ในการป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ส่วนร่างประกาศฉบับที่ 2 นั้น เป็นมาตรการบังคับหลังในการกำกับดูแล (Ex post) เพื่อแก้ไขผลที่เกิดจากการผูกขาด หรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันโดยระบุพฤติกรรมที่ต้องห้ามอันอาจก่อให้เกิดการผูกขาดหรือความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน
         ด้านกิจการโทรคมนาคม ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานทางเทคนิคของเครื่องโทรคมนาคมและอุปกรณ์สำหรับเครื่องวิทยุคมนาคมสถานีแม่ข่าย (Base Unit) และเครื่องวิทยุคมนาคมลูกข่าย (Pocket Unit) ที่ใช้ระบบเครื่องวิทยุติดตามตัวเฉพาะกลุ่ม (On-site Paging system) เพื่อนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป รวมทั้ง มีมติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียและประชาชนทั่วไป เรื่อง การจัดทำหลักเกณฑ์มาตรฐานทางเทคนิคและอุปกรณ์ ที่ใช้เทคโนโลยี Evolved Universal Terrestrial Radio Access (E-UTRA) โดยขั้นตอนต่อจากนี้จะนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป
         เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ที่ประชุม กสทช. ได้พิจาณาอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2557 ของสำนักงาน กสทช. ในวงเงิน 5,457.21 ล้านบาท ซึ่งเป็นการอนุมัติงบประมาณแบบสมดุล โดยแบ่งเป็นงบค่าใช้จ่ายประจำ 3,418.37 ล้านบาท งบลงทุน 1,788.19 ล้านบาท รวม 5,206.56 ล้านบาท เป็นเงินจัดสรรเข้ากองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ 10 ล้านบาท จัดสรรเข้ากองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) 40 ล้านบาท และงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น  30 ล้านบาท ในส่วนของวงเงินงบประมาณรายจ่าย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงาน (กตป.) ประจำปี 2557 และแผนการดำเนินงาน จำนวน 170.65 ล้านบาท ที่ประชุม กสทช. มอบหมายให้คณะอนุกรรมการพิจาณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. พิจารณาให้ความเห็นก่อน แต่เพื่อไม่ให้กระทบต่อการดำเนินงานของ กตป. ที่ประชุม กสทช. จึงมีมติอนุมัติให้  ใช้จ่ายจากงบประมาณประจำปี 2556 ไปพลางก่อน อนึ่งในปีงบประมาณในปี 2556 จำนวน 3,800 ล้านบาท สำนักงาน กสทช. มีการส่งเงินคืนรัฐเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน 600 กว่าล้านบาท
         นอกจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีการพิจารณา และให้ความเห็นชอบขอบเขตงาน (Term of Reference : TOR) และราคากลาง(อ้างอิง) รถตรวจสอบและหาทิศวิทยุจำนวน 5 คัน ในวงเงิน 79,203,005 บาท และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการซื้อรถตรวจสอบและหาทิศวิทยุ จำนวน 5 คัน โดยวิธีประกวดราคา เพื่อให้การตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุสามารถครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถแก้ปัญหากรณีที่เกิดการรบกวนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ รวมถึงได้มีการพิจารณา และให้ความเห็นชอบขอบเขตงาน (Term of Reference : TOR) และราคากลาง (อ้างอิง) สถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุระบบควบคุมระยะไกล (Remote Control Radio Monitoring Stations) ในวงเงิน 75,500,000 บาท และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการจัดซื้อสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุระบบควบคุมระยะไกล (Remote Control Radio Monitoring Stations) โดยวิธีประกวดราคา โครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินการเพื่อให้การตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุสามารถครอบคลุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของประเทศ สามารถแก้ไขปัญหากรณีที่เกิดการรบกวนเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

Download

สร้างโดย  -   (15/3/2559 12:11:52)

Download

Page views: 114