โฟกัสกรุ๊ป...!ประมูลคลื่น “1800 MHz-900 MHz

โฟกัสกรุ๊ป...!ประมูลคลื่น “1800 MHz-900 MHz

•                  เสียงสะท้อนจาก กสทช. กับบริบทของกฎหมายที่ดำรงอยู่ บนปัจจัยการจัดประมูลต้องสำเร็จ เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชน

                ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.ด้านกฎหมาย)  กล่าวในการประชุม Focus group ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2557 ว่า  การระดมความคิดเห็นในครั้งนี้ถือเป็นกระบวนการเริ่มต้นของการรับฟังความคิดเห็นจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับการนำคลื่นย่าน 1800 MHz และคลื่นย่าน 900 MHz  บางส่วนที่มีความพร้อมออกมาประมูลตามที่กฎหมายกำหนด และจากประสบการณ์ที่ตนเข้ามาทำงานใน กสทช. ก็พบว่าสิ่งที่เป็นปัญหามากที่สุด ก็คือ ตัวกฎหมาย  เพราะเราต้องเริ่มจากตัวกฎหมายก่อน ตัวกฎหมายในที่นี้หมายถึง พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรเคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 เปรียบเหมือนขณะนี้ท่านให้เครื่องมือ กสทช. มาใช้เป็นรถยนต์เก่าๆ ที่วิ่งได้ 50 กิโลเมตรต่อชั่วโมง และบรรทุกผู้โดยสารได้เพียง 2 คน ในขณะเดียวกันท่านจะให้ กสทช.วิ่ง 100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง บรรทุกผู้โดยสาร 100 คน ตรงนี้ที่เป็นประเด็น โดยที่ กสทช. ไม่มีสิทธิที่จะขอเปลี่ยนรถยนต์  แต่ กสทช. จะต้องใช้รถยนต์คันนี้วิ่ง จึงต้องขบคิดว่า กสทช.จะใช้รถยนต์คันนี้วิ่งอย่างไรเพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน

                “เรามักจะพูดกันว่าจะต้องยึดหลักกติกาสากล ซึ่งผมได้ศึกษาและค้นคว้าจากประเทศต่างๆทั่วโลกจนทราบว่ากฎหมายที่ดีที่สุดเป็นอย่างไร และแนวปฏิบัติที่ดีที่สุดเป็นอย่างไรและถ้าถามว่ารัฐธรรมนูญของเราถูกต้องไหม ที่บอกว่า ให้ กสทช.คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน การจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไม่ได้บอกไว้ว่าการจัดสรรคลื่นจะต้องประมูลเท่านั้น แต่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯไปบังคับไว้เลยว่า จัดสรรคลื่นความถี่เพื่อกิจการโทรคมนาคมต้องทำด้วยวิธีการประมูลเท่านั้น ดังนั้นจึงเห็นได้ชัดว่าตัวรัฐธรรมนูญมิได้มีปัญหา แต่พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯต่างหากที่มีปัญหา”

                พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บอกว่า เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดให้คืนคลื่น แต่ไม่ได้บอกว่าจะต้องคืนคลื่นมาที่ใคร  โดยกำหนดหน้าที่ให้กสทช.จะต้องจัดสรร แต่ถ้าผู้ใช้เดิมไม่ยอมคืนมาที่ กสทช.แล้วจะทำอย่างไร และถ้า กสทช.เห็นว่า การประมูลคลื่นไม่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน กสทช.จะต้องจัดการประมูลไหม คำตอบก็คือ ก็ต้องทำการประมูล แต่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์และระยะเวลาให้เหมาะสม ตรงนี้ต่างหากที่เป็นประเด็น ถ้าเราต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และเราทราบว่า 1800 MHz ที่สัญญาสัมปทานหมดอายุ วันที่ 15 กันยายน 2556 แต่มีผู้ใช้บริการยังค้างอยู่กว่า 17 ล้านคน โดยแม้ว่าเราเร่งประมูลเพื่อให้ได้ตัวผู้ที่มีสิทธิในการใช้คลื่น แต่เขาก็ยังเปิดบริการทันทีที่สัมปทานสิ้นสุดไม่ได้ และยังไม่สามารถรับผู้ใช้บริการจำนวนมาก ซึ่งใช้บริการ 2 จี ไปไม่ได้ ผู้ใช้บริการที่ติดค้างอยู่ในระบบจำนวนกว่า 17 ล้านคนจะต้องตกอยู่ในชะตากรรมอย่างไร ที่ผ่านมาก็มีความพยายามที่จะหาทางออกในเรื่องนี้ด้วยการเสนอให้โอนย้ายลูกค้าแบบเป็นล็อตใหญ่ๆ แต่ก็ไปติดปัญหาทางข้อกฎหมายที่ว่าการย้ายผู้ใช้บริการไปใช้บริการอื่นนั้นจะต้องขึ้นอยู่กับความสมัครใจของผู้ใช้บริการ ซึ่งปัญหาเรื่องนี้จะไม่เกิดในประเทศอื่นๆ เนื่องจากกฎหมายในหลายประเทศจะมีความยืดหยุ่นกว่าพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯของเรา โดยที่เขาจะให้อำนาจ กสทช.ของเขาสามารถขยายระยะเวลาการใช้คลื่นออกไปได้ และสามารถใช้วิธีการที่ดีที่สุดสำหรับการจัดสรรคลื่น เช่น อาจจะใช้วิธีการประกวดราคาก็ได้

                ขณะนี้เราต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งก็คือ เราต้องอยู่กับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีปัญหา ดังนั้นเราจะทำอย่างไรที่จะใช้กฎหมายที่มีปัญหานี้ให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ซึ่งผมเชื่อว่าเรายึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นที่ตั้งเราก็จะสามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆไปได้ นอกจากนี้ข้อจำกัดของรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่เป็นประเด็นและยังไม่มีใครพูดในวงกว้างก็คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับการจัดสรรคลื่นในบ้านเรานั้นใจดีเกินไป ซึ่งในต่างประเทศการเปลี่ยนจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตนั้นจะต้องเปลี่ยนทีเดียวเพื่อเข้าสู่ระบบเดียว แต่กฎหมายไทยในขณะนี้เปิดให้มี 2 ระบบ ตามบทเฉพาะกาลโดยยังคุ้มครองสัมปทานที่มีอยู่ตามกฎหมายเดิม ดังนั้นเราจะต้องอยู่กับสิ่งเหล่านี้และยอมรับความจริงที่เกิดขึ้น  ซึ่งส่งผลทำให้ต่างฝ่ายต่างมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไป เช่น กสทช.มองว่าเมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด คลื่นจะต้องคืนกลับมาที่ กสทช. แต่ผู้ให้สัมปทานยังมองว่าคลื่นจะต้องกลับไปสู่การครอบครองของเขาตามเดิม ดังนั้นจึงเกิดข้อถกเถียงในข้อกฎหมาย แต่ตรงนี้คือความเข้าใจของแต่ละคน โดยท่านมองแบบนี้ แต่อีกฝ่ายเขาก็มองอีกแบบหนึ่ง ดังนั้นวิธีการที่ดีที่สุดก็คือ ถ้าคดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาล และศาลวินิจฉัยอย่างไรก็จะทำให้เรื่องนี้ได้ข้อยุติ

                ทำไมประกาศห้ามซิมดับจึงต้องถูกนำมาใช้ แน่นอน จุดประสงค์หลักคือเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านคน มิให้ได้รับผลกระทบจากบริการโทรคมนาคมต้องหยุดชะงัก แต่อีกเหตุผลหนึ่งคือ ต้องการสร้างความชัดเจนให้เป็นที่ยุติว่าอำนาจของ กสทช.เกี่ยวกับคลื่นหลังจากสัมปทานสิ้นสุดมีเพียงใด และเวลานี้มีการฟ้องคดีแล้ว ถ้ากสทช.ชนะคดีนี้ก็จะถูกนำไปใช้เป็นเคสตัวอย่างสำหรับกรณีต่อๆไป เพื่อให้เห็นว่ากสทช.มีอำนาจในการบริหารจัดการคลื่นหลังหมดอายุสัญญาสัมปทาน เพราะถ้า กสทช. บริหารจัดการไม่ได้ กสทช.ก็คงออกประกาศห้ามซิมดับไม่ได้ แม้กระทั่งขณะนี้หลายคนบอกว่าทำไมไม่ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHzพร้อมกับคลื่นย่าน 900 MHz cละทำไมไม่เอาคลื่น 1800 MHz จำนวน 50 MHz  มาร่วมประมูลด้วย ในขณะที่ CAT บอกว่ากรณีคลื่นความถี่ 1800 MHz ที่สัมปทานสิ้นสุดจะต้องคืนคลื่นมาให้ CAT โดยอ้างว่าเขายังมีสิทธิใช้ได้ตลอดไป นี่คือข้อถกเถียงกรณีคลื่น 1800MHz  รวมทั้งย่อมมีข้อถกเถียงในส่วนคลื่น 1800 MHz ที่ยังไม่หมดสัมปทานอีกหลายปี

                ซึ่งในกรณีของทีโอที ข้อโต้แย้งก็คงจะไม่ต่างไปจากของ CAT  ฉะนั้นการที่เรานำคลื่น 900 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2558 มาประมูลล่วงหน้าก็ย่อมมีการถกเถียงกันในข้อกฎหมายอย่างแน่นอน

                “ผมเรียนท่านอย่างตรงไปตรงมาก็คือ ตอนแรกผมฝันอยากจะประมูลพร้อมกัน ซึ่งก็สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในหลายประเทศ ITU ก็เลยสนับสนุนแนวทางนี้แต่เราต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ในประเทศอื่นๆไม่เหมือนในบ้านเรา โดยระบบของเขาการจัดสรรคลื่นความถี่มีระบบเดียวคือระบบการออกใบอนุญาต ในขณะที่บ้านเรามี 2 ระบบคู่กัน คือระบบสัมปทานและระบบใบอนุญาต ซึ่งเห็นได้ชัดว่าบ้านเราไม่เหมือนชาวบ้านเขา และถ้าเราไม่ระมัดระวัง สิ่งที่ท่านฝันอยากเห็นความสำเร็จในการประมูลก็ยากที่จะเกิดขึ้น ดังนั้นเราจึงมีหน้าที่ร่วมกันเพื่อสานฝันให้เป็นความจริง และทำให้ปฏิบัติได้จริงๆ แม้กระทั่งขณะนี้หากทุกคนที่นี่เห็นตรงกันว่าควรจะประมูลพร้อมกันทีเดียวก็อาจไม่ใช่คำตอบที่สะท้อนความต้องการของคนส่วนใหญ่ เพราะท่านต้องไม่ลืมว่าพวกท่านไม่ใช่กลุ่มที่มีส่วนได้ส่วนเสียเพียงกลุ่มเดียว นอกจากกลุ่มของผู้ประกอบการ ก็ยังมีกลุ่มผู้ตรวจสอบ กลุ่มภาคประชาชน ฯลฯ ซึ่งเขาอาจจะเห็นไม่ตรงกับท่าน โดยผมเชื่อว่าถ้าคนทุกกลุ่มเห็นตรงกัน ไม่ว่าเราจะไปทางไหนก็ไปได้ แต่ผมก็เชื่อว่ายากมากที่ทุกคนจะเห็นตรงกัน ดังนั้นเราจึงต้องระมัดระวังและหาทางเลือกที่ดีที่สุดเพื่อตอบโจทย์ได้ครบทุกมิติสำหรับคนทุกกลุ่มในสังคมไทย

                ตอนช่วงที่จะประมูล 3 จี ผมเคยฝันว่า ถ้าผมทำระบบการประมูลคลื่นความถี่ให้มีใบอนุญาตเล็กๆ คือจำนวน MHz มากๆ ราคาประมูลที่ไม่สูงมากนักก็จะเปิดโอกาสให้มีผู้ประกอบการรายใหม่ๆสนใจเข้าประมูลมากขึ้น โดยที่ผมวาดฝัน คือการมองโลกในแง่ดี แต่สุดท้ายเป็นอย่างไรปรากฏว่ามีผู้เล่นอยู่แค่นี้ แถม กสทช.ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์ซะเละ กว่าจะได้รับการพิสูจน์ว่าการประมูล 3 จี ของเราถูกต้องได้มาตรฐานสากล ก็เล่นเอาเหนื่อยและลำบากมาก ซึ่งวันนี้บริบทของกฎหมายมีข้อจำกัดเยอะและถ้าเราเปิดประมูลคลื่นความถี่ 1800MHz และเราไปหย่อนเงื่อนไขให้ต่ำกว่าตอนเราประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz อะไรจะเกิดขึ้น และถ้าเราใช้กติกาที่คล้ายๆกันแต่ราคาต่างกัน ท่านคิดว่าจะมีผู้เข้าประมูลกี่ราย และถ้าคำตอบไม่ต่างกันมากหรือเท่ากับจำนวนเดิม  ในขณะที่ท่านนำเอาสินค้าจำนวนมากๆออกไปประมูลพร้อมๆกัน โดยที่จำนวนผู้เข้าประมูลมีน้อยรายแบบนี้อะไรจะเกิดขึ้น ซึ่งตอนนี้ผมต้องมองโลกแห่งความเป็นจริงและผมมีหน้าที่ต้องทำให้การประมูลคลื่นความถี่ครั้งนี้สำเร็จ ซึ่งหากเราประมูลสำเร็จ จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ แต่ถ้าเราประมูลไม่สำเร็จบอกได้เลยเจ๊งกันหมด ดังนั้นท่านจะต้องมองเรื่องนี้ในมิติของความเป็นจริงด้วย

                “ผมบอกได้เลยว่าเราสามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าคนที่จะเข้ามาประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHz จะมีหน้าตาไม่ต่างไปจากการประมูล 3 จี เท่าไร ซึ่งความเป็นจริงตรงนี้เราต้องยอมรับ โดยเห็นได้จากการประมูลครั้งที่ผ่านมา แม้เราจะทำกติกาต่างๆให้เกิดความยืดหยุ่น แต่เท่าที่ผมได้มีโอกาสพูดคุยกับนักลงทุนต่างชาติ เขาบอกว่าสนใจที่จะเข้ามาลงทุน แต่ติดข้อจำกัดในเรื่องของ พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ที่กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของต่างชาติไว้ไม่เกิน 49% และถามว่าเราแก้เรื่องนี้ได้ไหม บอกได้เลยว่าน่าจะสามารถแก้ไขได้ แต่ต้องเป็นเรื่องของอนาคต ในระยะเวลาอันใกล้นี้เราต้องยอมรับข้อจำกัดตรงนี้ของข้อกฎหมายในปัจจุบันที่มีอยู่และนี่คือ โลกแห่งความเป็นจริง”

                ถ้าเราคิดว่าการประมูลคลื่นพร้อมกันคือวิธีการที่ดีที่สุด เนื่องจากผู้ประกอบการจะได้มีเวลาในการวางแผนในการลงทุนได้ แต่การประมูลคลื่นพร้อมกันล็อตใหญ่ๆก็อาจจะเกิดความเสี่ยงต่อ การที่ กสทช. อาจจะถูกตราหน้าว่า ไป เอาสมบัติอันมีค่าของชาติไปประเคน หรือ เอาไปฮั้วกับผู้ประกอบการให้ซื้อได้ในราคาถูกๆ ซึ่งตรงนี้คืออีกหนึ่งประเด็นที่เป็นความเสี่ยงของ กสทช. อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของการประมูลพร้อมกันทีเดียว

ทั้งนี้หากตั้งโจทย์ที่ว่า กสทช.จะจัดสรรคลื่นความถี่อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน และให้มีความเสี่ยงที่น้อยที่สุดจะทำอย่างไร ดังนั้นจึงมีแนวคิดที่ว่า ถ้าเราแยกการประมูลคลื่นออกจากกันจะทำให้เรามองเห็นตัวปัญหาที่จะเกิดได้ชัดเจนมากขึ้น และผมบอกท่านได้เลยว่าในข้อกฎหมายคลื่นความถี่ทุกตัวที่จะนำมาประมูลนั้นมีปัญหาหมด แต่มีปัญหามากน้อยแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่หมดอายุสัญญาสัมปทานไปแล้วเมื่อวันที่ 15 กันยายน 2556 หรือคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHzที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2561 หรือแม้แต่คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2558  ซึ่งทุกตัวมีปัญหาหมด แต่ระดับของปัญหาต่างกัน ดังนั้นหากเราเอาคลื่นที่มีปัญหามากไปประมูลรวมกับคลื่นที่มีปัญหาน้อยอาจจะทำให้การประมูลคลื่นทั้งหมดไม่ประสบความสำเร็จเลยก็ได้ และที่สำคัญถ้าเราประมูลคลื่นพร้อมกัน แต่ไปออกประกาศแยกออกจากกันอย่างที่บางท่านเสนอ ข้อสงสัยย่อมตามมาและยากในการอธิบาย

                แม้ว่าวันนี้ บอร์ดกทค.จะมีมติว่ามีแนวทางการจัดประมูลในแนวนี้ แต่อยากให้มองว่าตรงนี้คือโจทย์ เพื่อให้ท่านช่วยกันระดมความเห็น ซึ่งถ้าแนวทางของพวกท่านดีกว่ามีเหตุผลมากกว่าและทำให้การประมูลมีโอกาสสำเร็จมากกว่าทาง กทค.ก็ยินดีที่จะใช้แนวทางการประมูลที่ท่านนำเสนอมา เพื่อนำไปชั่งน้ำหนักกับข้อมูลที่จะได้รับจากการจัดโฟกัสกรุ๊ปกับกลุ่มอื่นๆด้วย ซึ่งเราคงไม่จัดโฟกัสกรุ๊ปเพียงแค่กลุ่มของผู้ประกอบการเท่านั้น แต่จะจัดโฟกัสกรุ๊ปเพื่อจะได้ทราบมุมมองของกลุ่มอื่นๆด้วย และถ้าใครบอกว่า กสทช. เป็นองค์กรที่ไม่ถูกตรวจสอบ ผมบอกได้เลยว่าไม่จริง เราเป็นองค์กรที่ถูกตรวจสอบมากที่สุดองค์กรหนึ่ง ฉะนั้นทุกย่างก้าวจึงต้องระมัดระวัง

                สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากท่านทั้งหลายว่าถ้าการขับเคลื่อนใดๆของเรา เมื่อขับเคลื่อนไปแล้วทำให้การประมูลมีจุดอ่อนและเป็นการประมูลที่ล้มเหลว ก็จะทำให้ความฝันที่จะทำให้การประมูลเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน ต้องล้มเหลวไปด้วย ซึ่งตรงนี้ผมอยากจะฝากแง่คิดให้ระมัดระวังให้มาก

สร้างโดย  -   (15/3/2559 11:14:12)

Download

Page views: 74