สทช. จับมือ ตำรวจ ประชุมอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายฯ เพิ่มมาตรการสกัดแก๊งคอลเซ็นเตอร์

          วันนี้ (25 ส.ค.66) เวลา 09.30 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช.ด้านกฎหมายและประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านอาชญากรรมเทคโนโลยีได้เรียกประชุมอนุกรรมการบูรณาการแนวทางบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีโทรคมนาคม เพื่อเร่งเพิ่มมาตรการปราบปราม ซิมผี บัญชีม้าสถานีโทรคมนาคมเถื่อน, เสาสัญญาณตามแนวชายแดนผิดเงื่อนไข, ตลอดจนกำหนดคุณลักษณะเบอร์ต้องสงสัย และ สนับสนุนชุดข้อมูลการใช้ ตำแหน่งที่ใช้  โทรศัพท์ของกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพ แก่ตำรวจ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ณ หอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กสทช.
           พล.ต.อ.ณัฐธรฯ กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่ กสทช. ร่วมกับ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รอง ผบ.ตร. และ พล.ต.ท.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ได้ลงพื้นที่ตามแนวชายแดนกวาดล้างและจับกุมการลักลอบให้บริการโทรคมนาคมผิดกฎหมายบริเวณแนวชายแดนที่ติดกับประเทศเพื่อนบ้าน การตรวจสอบสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่ เสาสัญญาณของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ตรวจสอบทิศทางการกระจายสัญญาณบริเวณชายแดน ให้ดำเนินการตามเงื่อนไขที่ กสทช.กำหนด ถือเป็นมาตรการเชิงรุกในการสกัดกั้นไม่ให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ตามแนวชายแดน ใช้ทรัพยากรทางเทคโนโลยีของไทย ในการหลอกลวงคนไทย โดยได้หารือเพิ่มมาตรการต่างๆ ที่สำคัญ ภายใต้ พรก.มาตรการป้องกันปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี 2566 ดังนี้
           1) กำหนดเหตุอันควรสงสัยของหมายเลขโทรศัพท์ เช่น เบอร์ที่จดทะเบียน โดยไม่ใช่เจ้าของผู้ใช้งาน, เบอร์ที่เปิดโดยบุคคลเดียวเกินกว่า 5 หมายเลข, เบอร์ที่ถูกใช้งานอยู่เป็นประจำในพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนและ เบอร์ของบุคคลที่มีปริมาณการโทรออกมากกว่า 100 ครั้งต่อวัน เป็นต้น เพื่อเป็นแนวทางในการจัดทำระบบ กำหนดให้ผู้ใช้หมายเลขเหล่านี้เข้ามายืนยันตัวตน รวมไปถึงการตรวจสอบข้อมูลการใช้
         2) กำหนดชุดข้อมูลที่จำเป็น อาทิ ชื่อ-นามสกุล ของผู้จดทะเบียน, ข้อมูลการใช้โทรศัพท์, รายละเอียดพื้นที่การใช้งาน (Cell site location), พิกัดเสาสัญญาณโทรศัพท์ (Base station) อื่นๆ และกำหนดระยะเวลาในการจัดส่งข้อมูลจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์ ให้ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยจำแนกเป็นข้อมูลเร่งด่วนที่ใช้ในการสืบสวนติดตามตัวคนร้ายต้องนำส่งโดยเร็ว และข้อมูลที่ใช้ในการสอบสวนดำเนินคดีเชิงลึก ในลำดับถัดมา
      3) กำหนดหมายเลข *179*เลขบัตรประชาชน# แล้วกดโทรออก เพื่อให้สถาบันทางการเงินตรวจสอบชื่อผู้จดทะเบียนหมายเลขโทรศัพท์ ว่าตรงกับชื่อเจ้าของบัญชีธนาคารที่ขอใช้บริการอินเตอร์เน็ตแบงค์กิ้งหรือไม่ เพื่อขจัดปัญหาซิมผี บัญชีม้า
         4) กำหนดมาตรการกรณีผู้ถือครองซิมโทรศัพท์ 6-100 เลขหมาย ต้องลงทะเบียนแสดงตนภายใน 180 วัน นับจากวันที่ประกาศมีผลบังคับใช้ และผู้ถือครอง     ซิมการ์ด ตั้งแต่ 101 เลขหมายขึ้นไป ลงทะเบียนแสดงตนภายใน 30 วัน ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเสนอร่างประกาศ รวมทั้งการพัฒนารูปแบบการยืนยันตัวตนด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย ป้องกันการสวมสิทธิแอบอ้างข้อมูลส่วนบุคคลในการลงทะเบียน
        พล.ต.ท.ธัชชัยฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผบ.ตร.ได้มอบหมายให้ตนซึ่งรับผิดชอบงานด้านอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ทำงานร่วมกับ กสทช. โดยใกล้ชิด เป็น Working group เพื่อกำหนดลักษณะเบอร์ต้องสงสัย และรูปแบบชุดข้อมูลที่จำเป็นในการสืบสวนสอบสวน และกำหนดระยะเวลาในการส่งข้อมูลจากผู้ให้บริการ ให้ตำรวจได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการสืบสวนหาตัวผู้กระทำผิด และระงับยับยั้งความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
       พล.ต.อ.ณัฐธรฯ ยังได้ฝากเตือนไปยังประชาชนให้ระมัดระวังในการค้นหาข้อมูลจากเว็บไซด์ต่างๆ และ Search Engine , โฆษณาทางแพลตฟอร์มออนไลน์ เพราะข้อมูลที่ปรากฎลำดับต้นๆ อาจเกิดจากการจ่ายเงินซื้อโฆษณาของกลุ่มมิจฉาชีพ โดยปลอมเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือหน่วยงานต่างๆ หลอกเอาข้อมูลจากผู้หลงเชื่อ, รวมทั้งให้ระมัดระวังข้อความ SMS แนบลิงค์ และ เพจโฆษณาหลอกลวงในรูปแบบการลงทะเบียนรับเงินดิจิตอล ขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากหน่วยงานของรัฐ หรือแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือ เพราะอาชญากรทางเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการหลอกลวงอยู่ตลอดเวลา

สร้างโดย  - ปฐมพงศ์  ศรีแสงจันทร์ (25/8/2566 13:14:34)

Download

Page views: 103