ปุจฉา-วิสัชนา...! อย่างตรงไปตรงมา กรณีสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz (ตอน4)

เมื่อตอนที่แล้ว (ตอนที่3) เราได้ ปุจฉา – วิสัชนา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการทำหน้าที่ของ กสทช. อย่างเต็มกำลังเพื่อให้การจัดสรรคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ประชาชน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย สำหรับใน (ตอนที่4) ของบทความนี้ เรามา “ปุจฉา-วิสัชนา”กันต่อถึงการที่ กสทช. ออก “ประกาศห้ามซิมดับ” เพื่อรองรับการสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz ในครั้งนี้ และที่สุดแล้ว “ใครได้-ใครเสีย” อะไร...?  

                ปุจฉา: การออกประกาศฯ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการฯ จะทำให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งได้เปรียบผู้ประกอบการรายอื่น ทั้งเป็นการยกคลื่นให้เอกชนใช้ฟรีๆหรือไม่?

                วิสัชนา : การออกประกาศ ไม่ได้เป็นการทำให้ผู้ประกอบการได้เปรียบหรือเสียเปรียบกว่ากัน เพราะในการเยียวยาผู้ใช้บริการหลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดก่อให้เกิด “หน้าที่” ที่ต้องเร่งการโอนย้ายผู้ใช้บริการที่คงเหลือในระบบให้เสร็จสิ้นภายในเวลาที่กำหนดไว้ตามประกาศฯ และห้ามรับผู้ใช้บริการรายใหม่เพิ่มขึ้น

                ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาคุณภาพการให้บริการ (Quality of Service) ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ตามกฎหมายเหมือนเดิมทุกประการ โดยแม้จะมีต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้นแต่ก็ต้องรักษามาตรฐานคุณภาพการให้บริการนี้ไว้ ซึ่งหมายถึงไม่เกิดรายได้แต่กลับมีรายจ่ายเพิ่มขึ้นด้วย จึงถือว่าไม่ได้เปรียบผู้ให้บริการรายอื่นๆในตลาดแต่อย่างใด

                นอกจากนี้ การออกประกาศไม่ได้เป็นการยกคลื่นให้เอกชนใช้ฟรี โดยไม่มีค่าตอบแทนใดๆ เพราะ กสทช. ไม่ได้ “ให้คลื่น”แก่ผู้ใดใช้แต่อย่างใด แต่เป็นการ “บังคับ”ให้ทำหน้าที่และรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการที่คงค้างในระบบโดยต้องห้ามหยุดให้บริการโดยพลการตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 อีกทั้งการให้บริการในช่วงระยะเวลาเยียวยานั้นต้องไม่ใช่เป็นการประกอบกิจการมุ่งแสวงหากำไรเช่นเดียวกับผู้ได้รับใบอนุญาตตามปกติ โดยรายได้ที่ผู้ให้บริการได้รับจากการให้บริการในช่วงมาตรการเยียวยาเมื่อหักต้นทุนค่าเช่าโครงข่าย หักค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ต้นทุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ และต้นทุนค่าใช้จ่ายอื่นที่จำเป็นในการให้บริการแล้ว ส่วนที่เหลือให้นำส่ง กสทช. เพื่อตรวจสอบก่อนนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินต่อไป

                ปุจฉา: การออกประกาศฯ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ จะทำให้ CAT และรัฐบาลเสียรายได้หรือไม่?

                วิสัชนา : ไม่เสียรายได้ เพราะฐานที่จะทำให้เกิดรายได้คือสัญญาสัมปทาน และสัญญาสัมปทานนี้เองก็จะสิ้นสุดแล้ว ซึ่งแปลว่านับตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน 2556 นี้ไป รัฐจะไม่เกิดรายได้ใดๆจากสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดไปแล้ว

                ดังนั้น การที่ กสทช. จะออกประกาศฯหรือไม่ออกประกาศฯนี้ ก็ไม่กระทบหรือไม่ทำให้รัฐเสียรายได้ กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ รัฐต้อง “มีสิทธิ” ก่อน จึงจะ “เสียสิทธิ” ได้   

                ในทางกลับกัน การออกประกาศฯนี้จะทำให้ CAT เกิดรายได้มากกว่าเสียรายได้ เพราะแต่เดิม รายได้จากสัมปทานตอนยังไม่สิ้นสุดต้องส่งให้รัฐ เมื่อสัมปทานสิ้นสุด รัฐขาดรายได้เลย แต่การออกประกาศฯ จะทำให้ CAT มีรายได้จากค่าเช่าโครงข่ายซึ่งเดิมไม่มี เนื่องจากจ่ายค่าสัมปทานแทนค่าเช่าโครงข่ายรวมทั้งค่าธรรมเนียมต่างๆที่เกิดขึ้นที่รัฐจะได้รับ นอกจากนี้ รัฐยังมีรายได้จากการเก็บภาษีเงินได้อีกทางหนึ่งด้วย 

                ปุจฉา: ประกาศฯมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการมีสภาพบังคับหรือไม่?

                วิสัชนา : มีสภาพบังคับ เพราะทั้งผู้ที่อยู่ใต้สัญญาสัมปทานและผู้ให้สัมปทานอยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาตตามมาตรา 80 วรรคสอง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม 2544 ซึ่งการอยู่ในฐานะผู้รับใบอนุญาตทำให้เกิดทั้ง “สิทธิ” และ “หน้าที่” ซึ่งไม่ได้แปลว่าสิทธิใช้คลื่นหมดแล้วจบกันไป เปรียบเสมือนเรื่องหน้าที่และความรับผิดภายหลังการเลิกสัญญาตามหลักกฎหมายเรื่องสัญญา

                ดังนั้น จึงต้องแยกเรื่อง“คลื่น”และ“การเยียวยาลูกค้า”พิจารณาแยกจากกันคนละส่วน เพราะแม้สิทธิการใช้คลื่นสิ้นสุดไปแล้วแต่หน้าที่ที่ห้ามหยุดหรือพักการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน (มาตรา 20) ยังคงอยู่ต่อ โดยกฎหมายมีเจตนารมณ์เพื่อความต่อเนื่องของการให้บริการเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบในอนาคตจากการที่ลูกค้าคงค้างในระบบจะไม่สามารถติดต่อสื่อสารได้โดย ดังนั้น ทั้งคู่สัญญาที่เป็นรัฐวิสาหกิจและเอกชนผู้ประกอบการของสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 ที่กำลังจะหมดอายุสิทธิการใช้คลื่นนี้ไปแล้ว ก็ยังล้วนมีหน้าที่เยียวยาลูกค้าด้วยกันทั้งคู่ ไม่สามารถหยุดให้บริการโดยพลการได้ และหากหยุดก็มีผลเป็นการฝ่าฝืนหน้าที่ตามกฎหมาย กสทช. มีอำนาจสั่งลงโทษตามบทกำหนดโทษได้

                ปุจฉา: หากเร่งรัดดำเนินการโอนย้ายค่าย ตามช่องทางการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ให้เต็มตามศักยภาพที่มีการปรับปรุงใหม่ คือ 300,000 เลขหมาย/วัน ก็จะใช้เวลาโอนย้ายผู้ใช้บริการจำนวน 17 ล้านคน ในเวลาเพียง 50 กว่าวันเท่านั้น ทำให้เสร็จทันก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ดังนั้น กสทช. ก็ไม่จำเป็นต้องออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองฯอีกต่อไป ถูกต้องหรือไม่?

                วิสัชนา : ขอชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องว่า ศักยภาพการโอนย้ายที่เพิ่งได้รับการพัฒนาได้ถึง 300,000 เลขหมาย/วัน นั้น หมายถึงศักยภาพความจุระบบสารสนเทศโดยรวมของศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมาย หรือที่เรียกว่า clearing house ซึ่งเปรียบเสมือนถังใบใหญ่กองกลางที่รวมเอาเลขหมายทั้งหมดเอาไว้ได้ 300,000 เลขหมาย/วัน)

                โดยใน clearing house จะประกอบไปด้วยค่ายผู้ประกอบการ 5 ค่าย ซึ่งแต่ละค่ายก็มีระบบของตนเองโดยเฉพาะแยกออกมาต่างหาก เปรียบเหมือนสายท่อที่เชื่อมจากถังใบใหญ่ที่เป็นกองกลางลำเลียงผ่านท่อมาสู่ค่ายแต่ละค่าย ของใครของมันเอง โดยรองรับได้เฉลี่ยแต่ละรายราว 60,000 เลขหมาย/วัน ดังนั้น จึงไม่ได้แปลว่า หากเพิ่มความจุของระบบใน clearing house ได้ถึง 300,000 เลขหมาย/วันแล้ว จะทำให้ค่ายแต่ละค่ายสามารถเพิ่มขีดความสามารถระบบของตนเองตามไปได้ด้วย ขีดความสามารถในการโอนย้ายจึงต้องขึ้นอยู่กับศักยภาพของระบบของค่ายแต่ละค่ายด้วยว่าสามารถรองรับได้เต็มที่ด้วยหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่น ลูกค้าของ CAT ต้องการโทรไปยังอดีตลูกค้า True Move ที่ปัจจุบันย้ายไปอยู่กับค่ายอื่นแล้ว ระบบของ CAT ก็จำเป็นต้องทราบโดยการอัพเดตข้อมูลด้วยว่าปัจจุบันเลขที่โทรไปหาปลายทางนั้นอยู่ค่ายไหน มิฉะนั้นลูกค้าของ CAT ที่ต้องการโทรไปยังเลขหมายปลายทางที่โอนไปแล้ว หาก CAT ไม่ได้ update ข้อมูลผ่านระบบก็จะไม่สามารถ route ไปยังเลขหมายปลายทางยังค่ายที่ถูกต้องได้ เป็นต้น

                ดังนั้น แม้จะพัฒนาศักยภาพขยายขีดความสามารถความจุในระบบของ clearing house ได้ถึง 300,000 เลขหมาย/วัน ได้แล้วก็ตาม จากจำนวนผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านคน ก็จำเป็นต้องใช้เวลากว่า 283 วันในการโอนย้าย ซึ่งยังไม่นับรวมเวลาติดต่อ ดำเนินการขั้นตอนการลงทะเบียน ซึ่งใช้ระยะเวลาเพิ่มขึ้นไปอีก ฉะนั้นจากตัวเลขกว่า 283 วันก็เกินวันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน วันที่ 15 กันยายน 2556 อยู่ดี

                หากถามต่อไปว่า แล้วเหตุใด กสทช. จึงไม่บังคับให้แต่ละค่ายขยายความจุในระบบของตนเองให้เพิ่มขึ้นตามไปด้วยจนรองรับการโอนย้ายได้มากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ คำตอบก็คือในกรณีของค่ายเอกชน อาจไม่เป็นปัญหาแต่หากเป็นกรณีของรัฐวิสาหกิจแล้ว การเพิ่มขีดความสามารถขยายความจุนั้น ต้องอาศัยเงินลงทุนแก่การพัฒนาระบบจากการตั้งงบประมาณการเบิกจ่ายซึ่งได้จากการขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี โดยอ้างเหตุผล ความจำเป็นและผลประโยชน์ที่จะได้จากการลงทุนนั้น ซึ่งถือเป็นปัญหาในทางปฏิบัติที่การเพิ่มขีดความสามารถขยายความจุของระบบในรัฐวิสาหกิจยังทำไม่ได้หรือติดข้อจำกัดอยู่ 

Download

สร้างโดย  -   (22/3/2560 10:15:38)

Download

Page views: 18