ปุจฉา – วิสัชนา...! อย่างตรงไปตรงมากรณีสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz (ตอน6)

             เมื่อตอนที่แล้ว (ตอนที่5) เราได้ “ปุจฉา-วิสัชนา” ในประเด็นที่เกี่ยวกับกรณีปล่อยให้มีการรับโอนลูกค้า 17-18 ล้านคนที่คงค้างในระบบอย่างไม่ระมัดระวังจะกระทบต่อการแข่งขันในตลาด เพราะจะเกิดการผูกขาดการแข่งขันไว้ที่ค่ายใดค่ายหนึ่ง รวมถึงคำวินิจฉัยของศาลที่ได้วางหลักการบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่องไว้อย่างชัดเจน สำหรับใน (ตอนที่6) นี้ เรามา “ปุจฉา-วิสัชนา”กันเกี่ยวกับประเด็นการเลื่อนจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัมปทานจะทำให้รัฐเสียหาย 1.6 แสนล้าน ตามที่มีนักวิชาการกล่าวอ้างไว้หรือไม่

            ปุจฉา : การเลื่อนจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ก่อนสิ้นสุดสัมปทานฯ จะทำให้รัฐเสียหาย 1.6 แสนล้าน ตามที่มีนักวิชาการกล่าวอ้างหรือไม่ วิสัชนา : ไม่ทำให้รัฐเสียหาย เนื่องจาก กสทช. ยังไม่เคยมีมติกำหนดวันประมูลก่อนสัมปทานคลื่น 1800 MHz จะสิ้นสุด จึงไม่มีการเลื่อนจัดประมูลและไม่มีกรณีประมูลล่าช้า ทั้งนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่ต้องอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม โดยปัจจัยทุกมิติต้องพร้อมจึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน อันเป็นโจทย์สำคัญตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

            กสทช. ไม่ได้ทำให้รัฐเสียรายได้ เนื่องจาก กสทช. ยังไม่ได้กำหนดวันจัดประมูลคลื่น 1800 เมื่อยังไม่เคยกำหนดวัน ก็จะเรียกว่ามีการเลื่อนไม่ได้ ข้อเท็จจริงที่ว่ารัฐเสียหายจากการเลื่อนประมูล จึงไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยที่ถูกต้องคือ นอกจาก กสทช. ไม่เคยเลื่อนจัดประมูลแล้ว กสทช. ก็ไม่ได้จัดประมูลล่าช้าอีกด้วย เนื่องจากการจัดประมูลให้สำเร็จลุล่วงตามที่กฎหมายกำหนดและบรรลุตามเจตนารมณ์วัตถุประสงค์ตามกฎหมายนั้น รัฐธรรมนูญกำหนดว่าให้ กสทช. จัดสรรคลื่นและกำกับดูแลโดย “คำนึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน” ประกอบกับไม่มีกฎหมายใดกำหนดให้เร่งประมูลก่อนหรือทันทีที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุด มีเพียงมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นฯ 2553 ที่กำหนดว่าการประมูลให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ ระยะเวลาและเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ฉะนั้นการจะจัดประมูลเมื่อใด อย่างไรนั้น จึงอยู่ในดุลพินิจของ กสทช. ซึ่ง กสทช. พิจารณาโดยรอบคอบจนมาสู่คำตอบว่า ปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกมิติต้องพร้อม จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับคลื่นความถี่ไว้โดยเฉพาะ เรื่องนี้จึงไม่ใช่การเลื่อนจัดประมูลหรือประมูลล่าช้า แต่เป็นการหาช่วงเวลาที่เหมาะสม เมื่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องทุกมิติพร้อมและทำการเยียวยาผู้ใช้บริการคงค้างในระบบได้แล้วจึงจะสามารถจัดประมูลตามมาตรา 45 ต่อไป ซึ่งในขณะนี้ กสทช. ก็ได้เตรียมความพร้อมการจัดประมูล 1800 โดยเดินหน้าเตรียมการคู่ขนานกันไปด้วย

            การเร่งจัดประมูลโดยเอาวันสิ้นสุดสัมปทานเป็นตัวตั้งโดยไม่คำนึงถึงปัจจัยความพร้อมต่างหากที่จะทำให้ชาติเสียหาย ขณะที่การจัดประมูลเมื่อปัจจัยทุกมิติพร้อมจะนำมาซึ่งประโยชน์และรายได้แก่เศรษฐกิจ สังคมและประเทศชาติโดยรวม

            ในทางกลับกัน สิ่งที่จะทำให้รัฐเสียหายคือการเร่งจัดประมูลในขณะที่ปัจจัยต่างๆไม่พร้อม การเร่งประมูลคลื่นโดยด่วนแบบรีบๆอาจจะสามารถทำได้แต่จะเกิดผลกระทบและความเสียหายตามมา แต่หาก กสทช. จัดประมูลเมื่อปัจจัยที่เกี่ยวข้องพร้อม ผู้เข้าประมูลพร้อม อุตสาหกรรมกิจการโทรคมนาคมพร้อม การจัดประมูลคลื่นก็จะเกิดประสิทธิภาพและเป็นการส่งเสริมให้เกิดการลงทุนอย่างยั่งยืนมีประสิทธิภาพในการวางโครงสร้างพื้นฐานที่ให้บริการแก่ประชาชนทั่วประเทศ ประโยชน์และรายได้ก็จะเกิดแก่ทั้งประเทศโดยรวมอันเนื่องมาจากการให้บริการบนคลื่น 1800 จะเป็นกลไกสำคัญที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคต เกิดการลงทุนในประเทศ การวางโครงข่ายโทรคมนาคม การจ้างงาน การตลาด การลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจต่อการเจริญเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเองและอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องในรูปแบบต่างๆที่เกิดจากการอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 ต่อเมื่อปัจจัยทุกมิติพร้อม

            โดยขอเปรียบเทียบให้เห็นถึงผลดี ผลเสีย เร่งจัดประมูลคลื่น 1800 ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ตามตาราง ดังนี้
 
ผลดีการเร่งจัดประมูล ผลเสียการเร่งจัดประมูล
1. ถ้าจัดประมูลสำเร็จ จะเกิดรายได้จากการประมูลเข้ารัฐเร็วขึ้น 1. รัฐไม่มีรายได้เพิ่มขึ้นถ้าการจัดประมูลคลื่น 1800 ล้มเหลว เนื่องจากมีแนวโน้มสูงว่าจะมีผู้เข้าประมูลน้อยราย ส่งผลมาจากการที่เพิ่งเสร็จสิ้นการประมูล 3G ไปเมื่อปี 2555 และปัจจุบันอยู่ระหว่างการเดินหน้าสร้างโครงข่าย 3Gให้ครอบคลุมทั่วประเทศตามที่ กสทช. กำหนดในเงื่อนไขใบอนุญาต ซึ่งต้องใช้เงินลงทุนสูงนับหมื่นล้านบาทในการสร้างโครงข่ายที่ต้องอาศัยเงินลงทุนจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่เป็นระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ โดยอาจส่งผลกระทบต่อการระดมเงินมาเข้าประมูลคลื่น 1800 ที่จะจัดขึ้นได้ รวมทั้งผู้ประกอบการบางรายยังถือครองคลื่น 1800 ที่สัมปทานยังไม่หมดอายุอยู่จำนวนหนึ่งซึ่งอาจไม่สามารถเข้าประมูลได้
2. มีผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่น 1800 ต่อทันที    2. ผู้ใช้บริการ 2G เดิมส่วนใหญ่จะได้รับผลกระทบเพราะไม่สามารถโอนย้ายไปยังระบบใหม่ได้ทัน เนื่องจากผู้ชนะการประมูลมีแนวโน้มจะใช้คลื่น 1800 ไปให้บริการในระบบ 4G ซึ่งไม่ได้ตอบสนองความต้องการเดิมของผู้ใช้บริการที่เป็นระบบ 2G รวมทั้งการที่จัดการประมูลเร็วแล้วได้ผู้มีสิทธิในการใช้คลื่น 1800 ก่อนสิ้นสุดสัมปทาน ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้สิทธิในการใช้คลื่นนี้จะสามารถเปิดให้บริการได้ทันที เพราะต้องมีขั้นตอนต่างๆที่ต้องดำเนินการโดยเฉพาะการสร้างโครงข่ายซึ่งต้องใช้เวลาดำเนินการเป็นปี

3. หากเป็นไปตามข้อเสนอของนักวิชาการบางคนที่ให้เร่งประมูล โดยไม่ให้ออกประกาศกำหนดมาตรการทางกฎหมายห้ามซิมดับ ผลคือเมื่อสิ้นสุดสัมปทาน ซิมจะดับ ผู้ใช้บริการ 2G ของคลื่น 1800 เดิม อาจถูกลอยแพและอาจต้องโอนย้ายไปใช้บริการ 2G ของค่ายที่สัมปทานยังเหลืออีกหลายปีซึ่งเหลืออยู่เพียงเจ้าเดียวในตลาด ทำให้เกิดการผูกขาดการให้บริการ 2G 

4. การเปิดให้บริการ 4G จะใช้เวลานานขึ้น เนื่องจากการให้บริการไม่สามารถใช้โครงข่าย 2G เดิมได้ จึงต้องทยอยสร้างโครงข่ายขึ้นใหม่ที่ต้องใช้ลงทุนมหาศาลในการจัดสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมในระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ และอาศัยระยะเวลาดำเนินการ ครั้นจะไปใช้โครงข่าย 3G ก็ยังไม่ได้เพราะผู้รับอนุญาตทั้ง 3 ราย ที่เพิ่งได้รับใบอนุญาตในวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ยังติดตั้งโครงข่ายไม่สมบูรณ์

5. อาจมีคลื่นความถี่จำนวนหนึ่งไม่ได้รับการจัดสรร  ซึ่งตามรัฐธรรมนูญกำหนดให้กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุด ดังนั้น การเร่งจัดสรรคลื่นอย่างฉุกเฉินในกรณีที่ยังไม่มีปัญหาขาดแคลนคลื่นและปัจจัยต่างๆยังไม่พร้อม เนื่องจากคลื่น 1800 ตามสัมปทานที่จะสิ้นสุดมีลักษณะเป็นคลื่นฟันหลอ หากจัดสรรไปเร็วมีโอกาสที่จะมีคลื่นเหลือ ทำให้การใช้ทรัพยากรคลื่นความถี่ก็จะไม่เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เกิดประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรสาธารณะ 

6. อุปกรณ์โทรศัพท์มือถือที่รองรับ 4G และเทคโนโลยี 4G ในปัจจุบันยังมีราคาแพงและหายาก เมื่อเทียบกับ 2G และ 3G อันจะกระทบต่อต้นทุนและส่งผลต่อค่าบริการและค่าใช้จ่ายที่ผู้บริโภคผู้ต้องการใช้บริการต้องแบกรับ 

7. คลื่น 1800 ที่ว่างอยู่ไม่สามารถเรียกคืนมาเพื่อปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่ (refarm) เพื่อให้การจัดสรรคลื่นเกิดประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เนื่องจากการขยับ block ปรับช่วงความถี่เพื่อให้ช่วงคลื่นที่อยู่ห่างกัน (คลื่นฟันหลอ) ให้มาติดกัน ต้องอาศัยระยะเวลาเพียงพอดำเนินการดังนี้

1) ต้องมีการเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานเจ้าของสิทธิการใช้งานคลื่นในการขยับช่วงความถี่ให้ตรงกับแผนวิทยุ

2) การปรับปรุงช่วงการใช้คลื่นต้องแก้ไขแผนแม่บทหรือแผนความถี่ที่มีขั้นตอนตามกฎหมายที่ให้จัดประเมินผลและปรับปรุงในภาพรวม การไปแก้ไขบางจุดจะสุ่มเสี่ยงถูกโจมตีว่าเลือกปฏิบัติ ช่วยเหลือผู้ประกอบการบางราย ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขและวัตถุประสงค์ตามกฎหมายในการ refarm

8. มีแนวโน้มว่าการประมูล 4G จะล้มเหลว เนื่องจากผู้เข้าประมูลอาจมีน้อยราย และรายที่ไม่มีสิทธิเข้าประมูลอาจใช้สิทธิฟ้องร้องเพื่อห้ามจัดการประมูล

สร้างโดย  -   (21/3/2560 15:06:27)

Download

Page views: 27