กทค.ทำงานเชิงรุก แก้แบบสัญญาให้บริการ 3 จี เสริมเขี้ยวเล็บการคุ้มครองผู้บริโภคย้ำผู้รับใบอนุญาตต้องปรับปรุงให้เรียบร้อยก่อนเปิดบริการ 3 จี

            ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในกิจการโทรคมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้คนไทยทั้งประเทศกำลังใจจดใจจ่อและรอคอยการเปิดใช้บริการ 3 จี เชิงพาณิชย์ บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 MHz หลังจาก 3 ค่ายมือถือผู้ชนะการประมูล ได้ส่งสัญญาณทางการตลาดว่ามีความพร้อมที่จะเปิดให้บริการ 3 จี ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งนับว่าเป็นเรื่องที่ดีที่คนไทยทั้งชาติจะได้สัมผัสกับเทคโนโลยี 3 จี บนคลื่นความถี่ย่าน 2.1 MHz หลังจากรอคอยกันมานานนับ 10 ปี โดยล่าสุดผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์มือถือ 3จี บนคลื่นความถี่ 2.1 MHz ทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัทแอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ (เอไอเอส) บริษัทดีแทค เนทเวิร์ค จำกัด บริษัทในเครือ บริษัทโทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค และบริษัทเรียลฟิวเจอร์ จำกัด (มหาชน) บริษัทในเครือ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ได้ส่งแบบสัญญาการให้บริการ 3 จี มาให้บอร์ด กทค. พิจารณาแล้ว แต่เนื่องจากสัญญาและเงื่อนไขที่ กทค. จะให้ความเห็นชอบจะต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 โดยแม้การทำสัญญาจะเป็นเรื่องของเสรีภาพระหว่างคู่สัญญา แต่กฎหมายก็เข้าไปคุ้มครองผู้บริโภคในการให้ กสทช. ต้องให้ความเห็นชอบแบบสัญญาให้บริการโทรคมนาคม ซึ่งจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไขขั้นต่ำในการคุ้มครองผู้บริโภค อาทิ ข้อกำหนดเกี่ยวกับหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้รับใบอนุญาตและผู้ใช้บริการที่ชัดเจนและเป็นธรรม ข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการของผู้รับใบอนุญาต ข้อกำหนดเกี่ยวกับประเภทและขอบเขตค่าใช้จ่ายในการให้บริการอย่างครบถ้วน เป็นธรรม และต้องมีข้อกำหนดรับรองการไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่ายนอกเหนือจากที่กำหนดไว้ ฯลฯ จากแบบสัญญาให้บริการฯที่ทั้ง 3 บริษัทส่งมานั้น ในภาพรวมแล้วพบว่าเป็นไปตามกรอบที่กฎหมายกำหนด แต่ยังมีบางประเด็นที่เห็นว่าควรจะมีการปรับปรุงแก้ไขเพื่อให้เกิดความชัดเจน และเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น ประเด็นเรื่องการกำหนดอัตราค่าบริการ ซึ่งตามร่างแบบสัญญาฯกำหนดให้ไม่เกินกว่าอัตราค่าบริการขั้นสูงตามที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ปัญหาคือช่วงเวลาก่อนที่คณะกรรมการจะออกประกาศกำหนดอัตราค่าบริการขั้นสูง กสทช.จะคุมอัตราค่าบริการอย่างไรเพื่อไม่ให้ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ซึ่งตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่ กทค.ออกไปนั้น กำหนดไว้แล้วว่าต้องลดอัตราค่าบริการลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของอัตราค่าบริการเฉลี่ย ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต (7 ธันวาคม 2555) จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ฉะนั้นเงื่อนไขตรงนี้ ต้องเพิ่มเข้าไปเพื่อให้เกิดความชัดเจน หรือกรณีที่มีการให้บริการเสริมนอกเหนือจากการให้บริการปกติ ซึ่งถือว่าผู้ให้บริการเสริมเป็นผู้ร่วมให้บริการ ในกรณีที่เกิดความเสียหายขึ้น ตามแบบสัญญาที่ผู้ประกอบการส่งมาให้ กทค.พิจารณานั้น ยังไม่ได้ระบุว่าจะเรียกร้องจากผู้ให้บริการได้หรือไม่ และมีมุมมองจากกรรมการบางท่านว่าควรจะกำหนดให้ผู้ให้บริการมีหน้าที่รับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการในฐานะตัวแทนของผู้ให้บริการเสริมด้วย ซึ่งตนเห็นว่าเป็นหลักการที่ดี แต่หากมองในแง่ข้อกฎหมายแล้ว ถ้าจะให้ไปบอกว่าผู้ให้บริการเสริมเป็นตัวแทนของผู้ให้บริการก็คงจะไม่ใช่ เพราะความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการและผู้ให้บริการเสริม มิใช่เป็นแบบตัวการ ตัวแทน ดังนั้นตนจึงเห็นว่าหากจะให้รับผิดร่วมกัน ก็ควรกำหนดให้ชัดลงไปเลยว่า “ผู้ให้บริการและผู้ให้บริการเสริม มีหน้าที่ร่วมรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการ” “ด้วยเหตุผลดังกล่าว เพื่อที่จะพินิจพิเคราะห์ลงลึกในรายละเอียดทุกแง่มุมของแบบสัญญา เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภคให้มากที่สุด ภายใต้กรอบของกฎหมายและมิให้เป็นภาระของผู้ประกอบการมากเกินไป ผมจึงอาสาที่ประชุม กทค.เพื่อหารือกับ นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ในประเด็นที่มีความเห็นแตกต่างกัน เพื่อนำไปสู่ข้อยุติเท่าที่สามารถทำได้ โดยอาศัยทีมกฎหมายโทรคมนาคมทั้งของคุณหมอประวิทย์และของผม ทำงานร่วมกันในการระดมความคิดเห็นให้ได้ข้อยุติให้มากที่สุด แล้วก็จะรีบนำผลหารือและผลการปรับปรุงแบบสัญญาเข้าสู่การพิจารณาของ กทค.ในครั้งต่อไป ซึ่งนัดไว้ในวันจันทร์ที่ 29 เมษายนศกนี้ เป็นที่น่ายินดีว่าจากการประชุมร่วมกันหลายครั้งของทั้งสองทีม ขณะนี้ผลการหารือได้ข้อยุติเกือบจะทุกประเด็น โดยจะนำผลจากการประชุมร่วมมาปรับปรุงแบบสัญญาดังกล่าวและรีบเสนอให้ที่ประชุม กทค. พิจารณาภายในกรอบระยะเวลา ซึ่งมั่นใจว่าที่ประชุมกทค.น่าจะสามารถให้ความเห็นชอบแบบสัญญาการให้บริการได้แล้วเสร็จในการประชุมวันที่ 29 เมษายนนี้ จึงขออย่าได้เป็นห่วงว่า กทค.จะให้ความเห็นชอบแบบสัญญาให้บริการไม่ทัน แต่จำเป็นที่บอร์ดจะมีเงื่อนไขให้ผู้รับใบอนุญาตไปปรับปรุงตามข้อสังเกตของบอร์ดเพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค ฉะนั้นเมื่อมติของกทค.ออกมาเป็นอย่างไรแล้ว ก็ขอความร่วมมือให้ผู้รับใบอนุญาตไปดำเนินการปรับปรุงแบบสัญญาตามมติของบอร์ด กทค.ให้เรียบร้อยก่อนนำไปใช้ในการให้บริการ 3 จี เพื่อมิให้เกิดปัญหาในการบังคับใช้” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย

Download

  • NEWS-ปรับแก้สัญญาการให้บริการ-3-จี.doc

สร้างโดย  -   (23/3/2560 16:21:55)

Download

Page views: 17