กทค. แจงกรณี บีเอฟเคที ไม่เข้าข่ายคำจำกัดความ "การประกอบกิจการโทรคมนาคม" เดินหน้าเร่งออกหลักเกณฑ์ควบคุมให้เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล

           กทค. แจงกรณี บีเอฟเคที ไม่เข้าข่ายคำจำกัดความ "การประกอบกิจการโทรคมนาคม" เดินหน้าเร่งออกหลักเกณฑ์ควบคุมให้เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 13/2556 วันศุกร์ที่ 5 เมษายน 2556 ได้พิจารณารายงานผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินกิจการของบริษัท บีเอฟเคทีฯ และรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของคณะทำงานฯ ความเห็นของเลขาธิการ กสทช. ประกอบบทบัญญัติแห่งกฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมาย ความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา แนวปฏิบัติของ กทช. และ กสทช. รวมทั้งรายละเอียดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนได้พิจารณาผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ ผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และผลกระทบผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้องโดยละเอียดรอบคอบ รวมทั้งกรรมการ กทค. แต่ละท่านได้มีโอกาสเพียงพอในการพิจารณารายงานฯ ล่วงหน้าและได้มีการนำเสนอความเห็นในที่ประชุมได้อย่างอิสระ รวมถึงได้ซักถามคณะทำงานฯ และผู้เกี่ยวข้องจนสิ้นสงสัยแล้ว ที่ประชุม กทค. มีความเห็นแตกต่างจากคณะทำงานฯ ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการแปลความหมายของคำว่า “การประกอบกิจการโทรคมนาคม” โดยเห็นว่า ในการตีความกฎหมายต้องตีความตามตัวอักษรและประกอบเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเมื่อพิจารณาบทบัญญัติในมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้กำหนดนิยามคำว่า “การประกอบกิจการโทรคมนาคม” หมายความว่า การประกอบกิจการในลักษณะที่เป็น ผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป โดยคำว่า "บุคคลอื่นทั่วไป" ดังกล่าว มีความหมายชัดเจนตามถ้อยคำตามตัวอักษรที่วิญญูชนทั่วไปเมื่อได้อ่านแล้วย่อมสามารถเข้าใจความหมายโดยชัดแจ้ง ทั้งหากพิจารณาถ้อยคำตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานสถาน พ.ศ. 2542 แล้ว คำว่า “บุคคล” หมายถึง คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย คำว่า "อื่น" หมายถึง นอกออกไป ต่างออกไป และคำว่า "ทั่วไป" หมายความว่า ไม่จํากัด และเมื่อรวมความหมายของคำว่า “บุคคลอื่นทั่วไป” จึงหมายถึง บุคคลที่ต่างออกไป บุคคลที่ไม่จำกัด บุคคลที่ไม่เจาะจง ฉะนั้น นิยามของคำว่า “การประกอบกิจการโทรคมนาคม” จึงมีความชัดเจนในความหมายตามตัวอักษรอยู่แล้ว นอกจากนี้ การตีความถ้อยคำว่า “การประกอบกิจการโทรคมนาคม” จะต้องตีความอย่างเคร่งครัดตามหลักการตีความกฎหมายที่มีบทลงโทษทางอาญา เนื่องจากการตีความ มาตรา 4 ดังกล่าว มีผลต่อการจะต้องได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อ กสทช. ตามมาตรา 7 แห่งพระราชบัญญัติฉบับเดียวกัน และการฝ่าฝืนบทบัญญัติในมาตรา 7 ดังกล่าว จะต้องรับโทษทางอาญาตามมาตรา 67 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 บทบัญญัติดังกล่าว จึงเป็นบทบัญญัติที่มีบทลงโทษทางอาญา รวมทั้งเมื่อพิจารณารายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญประกอบร่าง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ) ซึ่งวุฒิสภาได้ลงมติให้ความเห็นชอบหลักการแห่งร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ประกอบกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 498/2556 เรื่อง การเช่าเครื่องและอุปกรณ์ระบบ CDMA 2000 – 1X ในส่วนภูมิภาค มติ กทช. ในการประชุมครั้งที่ 10/2553 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 เรื่อง การร้องเรียนการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยมิได้รับอนุญาต และมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 4/2556 เมื่อวันพุธที่ 23 มกราคม 2556 กรณีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่งเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริการอินเตอร์เน็ตบนเครื่องบินโดยสาร รวมทั้งความเห็นของเลขาธิการ กสทช. แล้ว มีความสอดคล้องไปในแนวทางที่แปลความว่า ในการประกอบกิจการโทรคมนาคมนั้น ผู้ให้บริการต้องกระทำแก่บุคคลอื่นทั่วๆ ไป โดยไม่เฉพาะเจาะจง ในประเด็นข้อเท็จจริง ที่ประชุม กทค. มีความเห็นสอดคล้องกับเหตุผลของคณะทำงานฯ และเลขาธิการ กสทช. ว่า กสทช. และ สำนักงาน กสทช. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐซึ่งมีหน้าที่ในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้อง จะต้องใช้ดุลพินิจภายในขอบเขตของความชอบด้วยกฎหมายซึ่งต้องอยู่บนรากฐานของความสมเหตุสมผลเพียงพอที่จะนำ ผู้หนึ่งผู้ใดเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา โดยต้องพิจารณาข้อเท็จจริงทั้งพฤติการณ์และพยานหลักฐานต่างๆ เพื่อให้การดำเนินคดีอาญาเป็นไปโดยถูกต้องตามกฎหมายและเกิดความความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ซึ่งเมื่อพิจารณาพฤติการณ์ต่างๆ ของบริษัท บีเอฟเคทีฯ และพยานหลักฐานต่างๆ แล้ว ที่ประชุมจึงมีความเห็นว่า ยังไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอที่น่าเชื่อได้ว่ามีมูลความผิดที่จะนำบริษัท บีเอฟเคทีฯ เข้าสู่กระบวนการยุติธรรมทางอาญา ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 498/2556 เรื่อง การเช่าเครื่องและอุปกรณ์ระบบ CDMA 2000 – 1X ในส่วนภูมิภาคว่า ผู้ประกอบกิจการที่มีเพียงหน้าที่ในการลงทุนจัดหาเครื่องและอุปกรณ์ให้บริษัทใดบริษัทหนึ่งโดยเฉพาะเพื่อให้บริษัทนั้นนำไปใช้ในการให้บริการโทรคมนาคม แต่มิได้มีหน้าที่ให้บริการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป ตามบทนิยามคำว่า “การประกอบกิจการโทรคมนาคม” ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 นั้น ไม่ใช่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในลักษณะที่เป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ทั้งยังปรากฏข้อเท็จจริง จากแนวปฏิบัติที่ผ่านมาว่า กทช. เคยวินิจฉัยกรณีบริษัท ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย จำกัด (ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกับบริษัท บีเอฟเคทีฯ) ถูกร้องเรียนว่าประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต โดย กทช. วินิจฉัยในการประชุมครั้งที่ 10/2553 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2553 ว่าไม่เข้าข่ายเป็นผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งก่อนที่ได้มีการลงนามในสัญญาดังกล่าว ปรากฏข้อเท็จจริงว่า บริษัท กสทฯ ได้หารือต่อสำนักงานอัยการสูงสุดเพื่อให้ตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญา โดยที่ไม่ได้รับการทักท้วงแต่อย่างใด และยังไม่ปรากฏพฤติการณ์ว่า บริษัท บีเอฟเคทีฯ ได้ให้เช่าใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไปนอกเหนือจากบริษัท กสทฯ โดยปรากฏจากคำยืนยันของบริษัท บีเอฟเคทีฯ ที่ได้ชี้แจงต่อคณะทำงานฯ เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2555 ซึ่งสอดคล้องกับคำชี้แจงของบริษัท กสทฯ ว่า การดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคทีฯ เป็นเพียงการให้เช่าใช้เครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมเฉพาะแก่บริษัท กสทฯ เพียงรายเดียวเท่านั้น โดยมิได้เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นใด จึงมิใช่เป็นการประกอบกิจการในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการด้านโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป ทั้งยังเป็นไปตามสาระสำคัญของสัญญาฯ ที่ระบุว่า บริษัท กสทฯ มอบหมายให้บริษัท บีเอฟเคทีฯ เป็นผู้จัดหาและติดตั้งเฉพาะเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคม โดยบริษัท บีเอฟเคทีฯ มีบทบาทเป็นผู้รับจ้างและเป็นการให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์แก่บริษัท กสทฯ แต่เพียงผู้เดียว นอกจากนี้ บริษัท กสทฯ และบริษัท บีเอฟเคทีฯ ได้ชี้แจงข้อเท็จจริงต่อศาลปกครองกลางในคดีหมายเลขดำที่ 871/2554 ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 กับพวกรวม 2 คน ว่า บริษัท บีเอฟเคทีฯ เป็นเพียงผู้ให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์ให้แก่บริษัท กสทฯ เพียงรายเดียว ซึ่งเป็นการประกอบกิจการเฉพาะราย ไม่ใช่การประกอบกิจการโทรคมนาคมในลักษณะที่เป็นผู้ให้บริการด้านกิจการโทรคมนาคมแก่บุคคลอื่นทั่วไป โดยบริษัท บีเอฟเคทีฯ มีเพียงหน้าที่ในการลงทุนจัดหาเครื่องและอุปกรณ์ให้แก่บริษัท กสทฯ เช่า ไปใช้ในการให้บริการโทรคมนาคมโดยทั่วไปเท่านั้น ดังนั้น “การประกอบกิจการให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมของบริษัท บีเอฟเคทีฯ จึงไม่ใช่การประกอบกิจการโทรคมนาคมตามความหมายของ “การประกอบกิจการโทรคมนาคม”” รวมทั้งนับแต่ที่มีการทำสัญญาฯ หลายฝ่ายได้มีการตั้งข้อสงสัยว่า สัญญาฯ ดังกล่าวอาจเข้าข่ายขัดต่อบทบัญญัติมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 โดย กทช. ซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในฐานะ กสทช. ได้ดำเนินการตรวจสอบการดำเนินการทำสัญญาดังกล่าวจนกระทั่งมีการแต่งตั้ง กสทช. เข้ารับตำแหน่งและได้มีการดำเนินการติดตามตรวจสอบการดำเนินการทำสัญญาดังกล่าวมาอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่ง กทค. มีมติในการประชุมครั้งที่ 23/2555 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ให้บริษัท กสทฯ ดำเนินการเพื่อให้มีการแก้ไขข้อสัญญาให้สอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวใน 6 ประเด็น และขณะนี้ยังอยู่ในช่วงระยะเวลาที่บริษัท กสทฯ และบริษัท บีเอฟเคทีฯ ปฏิบัติให้เป็นไปตามคำสั่ง กทค. แต่โดยที่การดำเนินการดังกล่าวมีลักษณะที่เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมตามนัยมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 และการที่สัญญาเช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ HSPA เปิดช่องให้บริษัท บีเอฟเคทีฯ สามารถเพิ่มจำนวนเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมให้เช่าเป็นจำนวนมากและครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศและเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมดังกล่าวสามารถรวมเป็นโครงข่ายโทรคมนาคมได้ แม้ข้อสัญญาระหว่างบริษัท บีเอฟเคทีฯ กับบริษัท กสทฯ จะระบุว่าเป็นการให้บริการเฉพาะราย แต่ต่อมาเมื่อมีการเพิ่มจำนวนเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมเป็นจำนวนมาก จึงทำให้มีปัจจัยที่พร้อมจะให้บริการแก่บุคคลอื่นทั่วไปได้ ทั้งการดำเนินการดังกล่าวอาจเป็นช่องทางที่ทำให้มีการเลี่ยงกฎหมายเพื่อมิให้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจากเป็นการดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานและระบบการติดต่อสื่อสารของประเทศและ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ทำให้โครงข่ายโทรคมนาคมนั้น ผู้ประกอบกิจการรายอื่นไม่สามารถเช่าใช้เครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อนำไปให้บริการได้ รวมถึงอาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการ เนื่องจากหากมีเหตุขัดข้องหรือมีปัญหาเกิดขึ้น กสทช. ไม่อาจเข้าไปกำกับดูแลเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการได้โดยตรง โดยนับแต่อดีตที่มี กทช. จนกระทั่งปัจจุบันเป็น กสทช. โดยมี กทค. ปฏิบัติหน้าที่แทนในส่วนที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคมก็ยังไม่มีแนวนโยบายหรือหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนที่จะกำหนดให้การให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมในลักษณะดังกล่าว เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมและเป็นบริการโทรคมนาคมที่จะต้องขอรับใบอนุญาตจาก กสทช. ดังนั้น จึงมีเหตุผลและความจำเป็นที่ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายที่จะวางแนวทางให้เกิดความชัดเจนและเข้าไปกำกับดูแลในการดำเนินการดังกล่าวเพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งประโยชน์ของผู้ใช้บริการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ โดยกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินกิจการการให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะดังกล่าวเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. โดยเมื่อหลักเกณฑ์ข้างต้นมีความชัดเจนและได้ประกาศโดยเปิดเผยให้ทราบเป็นการทั่วไปและมีผลใช้บังคับแล้ว ผู้ดำเนินกิจการที่อยู่ภายใต้กรอบของหลักเกณฑ์ดังกล่าว รวมทั้งบริษัท บีเอฟเคทีฯ จะต้องเข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. มติที่ประชุม ที่ประชุม กทค. จึงมีมติว่า การที่บริษัท บีเอฟเคทีฯ ให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์โทรคมนาคมแก่บริษัท กสทฯ เพียงรายเดียวเป็นการเฉพาะเจาะจง ไม่เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกอบกับไม่ปรากฏพฤติการณ์และพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า มีการกระทำที่มีมูลความผิดตามกฎหมาย ในชั้นนี้ จึงยังไม่มีเหตุเพียงพอที่สำนักงาน กสทช. จะไปร้องทุกข์กล่าวโทษต่อการดำเนินการของบริษัท บีเอฟเคทีฯ ได้ แต่สมควรที่ กสทช. จะต้องวางแนวทางให้เกิดความชัดเจนและเข้าไปกำกับดูแลในการดำเนินการในลักษณะดังกล่าวเพื่อเป็นการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและการแข่งขัน โดยเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งประโยชน์ของผู้ใช้บริการภายใต้ขอบเขตอำนาจหน้าที่ จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. เร่งดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์เสนอที่ประชุม กทค. พิจารณาภายใน 30 วัน เพื่อให้การดำเนินกิจการการให้เช่าเครื่องและอุปกรณ์วิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในลักษณะดังกล่าวของบุคคลใดๆ เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. อนึ่ง ในระหว่างการยกร่างหลักเกณฑ์ยังไม่แล้วเสร็จ เห็นสมควรให้สำนักงาน กสทช. ติดตาม เร่งรัดการดำเนินการตามมติ กทค. ในการประชุมครั้งที่ 23/2555 เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2555 เพื่อให้บริษัท กสทฯ สามารถบริหารจัดการคลื่นความถี่ด้วยตนเองตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 หากมีการฝ่าฝืนไม่ดำเนินการตามมติ กทค. ดังกล่าว ให้ใช้มาตรการบังคับทางปกครองโดยเคร่งครัด

สร้างโดย  -   (23/3/2560 16:55:32)

Download

Page views: 96