“กสทช.สุทธิพล” จุดประกายเก็บค่าโรมมิ่งอัตราเดียวทั่วอาเซียน

      ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย  พร้อมคณะเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. เข้าร่วมประชุม ในเวที The 20 th ASEAN TELECOMMUNICATION REGULATO REGULATOR’S COUNCIL (ATRC) and RELATED MEETING 12-14 August 2014, Champasak, Lao POR  หรือเวที การประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน  ระหว่างวันที่ 12-14 สิงหาคม 2557 เมืองจำปาสัก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งการประชุมในครั้งนี้  ดร.สุทธิพล ได้รายงานให้ที่ประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ทราบถึงสถานการณ์การเมือง และทิศทางการจัดสรรคลื่นความถี่ของไทย ต่อกรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ชะลอการจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ออกไป 1 ปี และให้ กสทช. ดำเนินการปรับปรุงแก้ไข กฎ กติกา ต่างๆให้มีความรัดกุม และเกิดประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 45 และ มาตรา 46  แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553  ซึ่งที่ประชุมฯ เข้าใจสถานการณ์ของประเทศไทยเป็นอย่างดี และเห็นด้วยที่ กสทช. จะมีการแก้ไข มาตรา 45 เพื่อเปิดโอกาสให้ประเทศไทยมีทางเลือกมากขึ้นในการจัดสรรคลื่นความถี่ ที่ไม่ถูกจำกัดเพียงแค่การประมูลคลื่นความถี่เท่านั้น 
     นอกจากนี้ ดร.สุทธิพล ยังได้รายงานความสำเร็จเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งถือได้ว่าประเทศไทยเป็นต้นแบบของชาติอาเซียน ในการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคม  โดยเห็นได้จากจำนวนผู้บริโภคที่สนใจเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมือถือมากกว่า 200 ราย  ซึ่งปัจจุบันศูนย์ไกล่เกลี่ยฯแห่งนี้เปิดให้บริการรับเรื่องร้องเรียนได้เพียงแค่ 9 เดือนเท่านั้น 
ในโอกาสนี้ ดร.สุทธิพล ยังได้เสนอต่อที่ประชุมฯให้พิจารณาถึงความเป็นไปได้เกี่ยวกับการทำข้อตกลงแบบพหุภาคี กรณีการเก็บค่าโรมมิ่งอัตราเดียว สำหรับการใช้โทรศัพท์ระหว่างประเทศของกลุ่มประเทศอาเซียน หลังจากที่ประเทศมาเลเซียกับสิงคโปร์ และประเทศบรูไนกับสิงคโปร์ บรรลุข้อตกลงแบบทวิภาคี ในการเก็บค่าโรมมิ่งอัตราเดียวกัน ส่งผลทำให้ผู้บริโภคทั้ง 2 ประเทศได้รับประโยชน์จากอัตราค่าโรมมิ่งที่ถูกลง ซึ่งที่ประชุมฯเห็นด้วยต่อแนวคิดนี้ และมีความเป็นไปได้สูงที่จะมีการตั้งคณะทำงานขึ้นมาศึกษารายละเอียดในเรื่องนี้อีกด้วย 
     “ที่ผ่านมาอัตราค่าบริการข้ามแดน หรือโรมมิ่ง เป็นปัญหาใหญ่ของผู้คนที่ต้องข้ามแดนไปทำธุรกิจ หรือทำธุรกรรมระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก เพราะนอกจากอัตราค่าบริการจะสูงไม่เท่ากันทุกประเทศแล้ว ยังมีปัญหาการตัดสัญญาณโรมมิ่งอัตโนมัติ  เมื่อผู้ใช้บริการอยู่ตามแนวชายแดน ทำให้ถูกเรียกเก็บค่าบริการสูงโดยไม่ได้ใช้งานจริง ดังนั้นหากชาติสมาชิกอาเซียนสามารถผลักดันเรื่องนี้ให้ประสบความสำเร็จก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งกับภูมิภาคนี้ที่กำลังจะก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 อีกด้วย” ดร.สุทธิพล ให้ความเห็นทิ้งท้าย

Download

  • กสทช-สุทธิพล-จุดประกายค่าโรมมิ่งทั่วอาเซียน.doc

สร้างโดย  -   (13/3/2560 10:31:28)