รองนายกฯตอบกระทู้ประวัติศาสตร์ ยืนยันกสทช.มีอำนาจจัดทำงบฯเอง-ไม่เคยขอเงินจากรัฐสภา

ดร.วิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ตอบกระทู้ถามนายกรัฐมนตรี เรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ยืนยันกสทช.มีอำนาจจัดทำและอนุมัติงบฯของตนเอง ชี้ที่ผ่านมากสทช.ไม่เคยของบฯจากรัฐสภา
----------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
     ที่รัฐสภาฯ เมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กล่าวตอบกระทู้ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เรื่องการตรวจสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)ว่า การตอบกระทู้ในครั้งนี้ ถือได้ว่าเป็นวาระประวัติศาสตร์  เพราะสนช.ได้ตั้งกระทู้ถามรัฐบาลเป็นกระทู้แรก  โดยความจริงนายกรัฐมนตรีเตรียมมาตอบกระทู้ในเวลาที่สามารถมาได้ แต่เมื่อบรรจุเป็นวาระแรก ท่านนายกฯติดภารกิจจึงได้มอบหมายให้มาตอบคำถามแทน  เนื่องจากองค์กร กสทช. ไม่ได้อยู่ในการควบคุมใดๆ  เป็นองค์กรอิสระ  ไม่ใช่รัฐวิสาหกิจ  ตามมาตรา 27 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 (พ.ร.บ.กสทช.) ได้ให้อำนาจ กสทช. จัดทำและอนุมัติงบประมาณของตนเอง
     จึงขออธิบายว่าเงิน กสทช. มาจากที่ใด  1. มาจากค่าธรรมเนียมต่างๆ 2. ค่าเลขหมายโทรศัพท์หรือบริการอื่นๆ  ซึ่งต่อปี นั้นรายได้มีมากบางปีรายได้ไปถึงตั้งแต่ 3 พันล้านบาทไปถึง 6 พันล้านบาทต่อปีก็จะมีมากกว่านี้ได้ในอนาคต และเมื่อรายได้เข้ามา กสทช. จะจัดสรรไปเป็นรายจ่าย 1.เข้ากองทุน 2. นำรายได้มาเป็นรายจ่ายตั้งงบประมาณเองในกสทช.  
     สำหรับงบประมาณรายจ่ายของกสทช. สามารถแบ่งได้เป็น 3  ประเภทดังนี้
     1. งบด้านบุคลากร ซึ่งกสทช.มีอยู่ 1,300 คน ต่อปี มีรายจ่ายประมาณ 1,200 ล้านบาท โดยประมาณ รวมค่าเบี้ยเลี้ยง ค่าจ้าง เงินเดือน โบนัส
     2. งบลงทุน  แบ่งเป็นค่าอบรม สัมมนา  ซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ ระหว่าง 3,000-4,000ล้านบาท
     3. งบบริหารจัดการองค์กร  แบ่งเป็นค่าน้ำ ค่าไฟ  รวมงบฯดูงานต่างประเทศ
ทั้งนี้รัฐสภาไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบได้ เพราะไม่เข้าในรายการงบประมาณประจำปีของรัฐ หากจะเข้าไปเกี่ยวข้องกับกสทช.ได้ ก็มีกฎหมายตามมาตรา 65 และ 66 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการ วิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ได้กล่าวถึงกรณีที่กสทช.ไม่มีเงินรายได้พอเพียงหรือพอใช้ รัฐจะต้องเข้าไปจัดสรรงบประมาณให้
     กรณีนี้จึงจะมีการจ่ายงบประมาณเข้ากสทช.  แต่จะจ่ายให้ได้ต้องเข้าเงื่อนไขคือ 1. กสทช. ต้องไม่มีเงินเพียงพอกับการจัดการ  รัฐบาลต้องจ่ายงบอุดหนุนให้ เรื่องดังกล่าวจึงจะเข้าสู่กระบวนการทำงานของรัฐสภา   แต่เนื่องจากงบประมาณของกสทช. ที่ผ่านมาเพียงพอ ดังนั้นจึงไม่เคยของบประมาณจากรัฐสภาแต่ประการใด
     “ กสทช. ไม่สบายใจในกระแสสังคมที่ผ่านมา ได้เคยพยายามติดต่อขอนำงบประมาณรายได้ เข้าสู่การพิจารณาของกรรมาธิการงบประมาณ  เพื่ออย่างน้อยเป็นวาระพิเศษ แม้ว่ากสทช.จะไม่ได้ใช้งบประมาณแผ่นดิน” ดร.วิษณุตอบกระทู้
คำถามของสนช.(นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์) น่าจะนำไปถามในคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ได้ ไม่ว่าจะกมธ. ด้านกฎหมายหรือเศรษฐกิจ
     ทั้งนี้รัฐบาลขอตอบกระทู้ของสมาชิกในข้อแรก ได้ว่า 1. รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปดูแลในภาวะปกติได้   ส่วน2. สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ได้มีการตรวจสอบเองและมีการรายงานเข้าสู่คณะรัฐมนตรีในงบของปี 2556 ดังที่ท่านสนช.ได้ข้อมูลและตั้งข้อสังเกตเช่นกัน
     โดยการใช้งบประมาณของกสทช. มีช่องทางที่สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าไปตรวจสอบอยู่แล้ว และในขณะเดียวกันเวลานี้ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้จัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบค่าใช้จ่าย เพื่อตรวจสอบรัฐวิสาหกิจ หน่วยงานราชการ และประสานภายในขอตรวจสอบกสทช.ด้วย ที่ผ่านมา กสทช.ได้ตอบรับเป็นอย่างดี
     สำหรับงบประชุมของกสทช. ของผู้ช่วยนั้น ด้วยรัฐบาลมองว่า กสทช.ได้ถูกสังคมเพ่งเล็ง ตลอดจนความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ สังคม ที่จำเป็นอย่างยิ่งที่จะเน้นให้ความสำคัญกับ “ความพอเพียง”  ดังนั้น เรื่องนี้รัฐบาลเห็นว่า กสทช. องค์กรอิสระต้องทบทวน และที่ผ่านมา กสทช.ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี จากการประสานภายในดังกล่าว
     ส่วนกรณีนายวัลลภขอให้รัฐบาลพิจารณายุบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บอร์ด กสท.) และคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ด กทค.) เป็นหนึ่งเดียว หรือที่แท้จริงแล้วอยากเสนอให้   ยุบกสทช. ให้บริษัทกสท.โทรคมนาคม จำกัด(มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ทำหน้าที่จัดประมูลแทนกสทช.
     รองนายกรัฐมนตรี ตอบคำถามของนายวัลลภ ว่า  พร้อมรับพิจารณาข้อเสนอทุกข้อซึ่งที่ผ่านมาเรื่องเงินเข้ากองทุนนั้น คสช.ได้ดำเนินการเร่งด่วนมาก่อนแล้ว คือ ให้นำเงินที่ต้องเข้ากองทุนมาเข้ากระทรวงการคลัง  และมีผู้แทนจากผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ  ปลัดกลาโหม เข้าไปเป็นกรรมการด้วย  แต่ถ้าจะเลยเถิดไปถึงยุบกสทช.ขนาดนั้น เวลาคงไม่มากพอ และจะเป็นการไม่รอบคอบ เพราะในเมื่อมีสภานิติบัญญัติอยู่แล้ว ก็สามารถมาพิจารณาในนี้ได้ รวมถึงเรื่องการปฏิรูปสื่อก็ตามจะต้องมาพิจารณาร่วมกันอย่างรอบคอบด้วย
     ดร.วิษณุ กล่าวว่า เงินทั้งหลายที่เป็นรายได้ ของกสทช.หามาจะวิธีใดก็ตาม ก็เป็นไปตามกฎหมายที่ได้ให้อำนาจในการจัดเก็บงบประมาณ  และที่ผ่านมา กสทช.เองได้ส่งเงินเข้าคลังทุกปีอยู่แล้วหลักพันล้านบาท บางปี 800 ล้านบาท และมา 500-600 ล้านบาท จะสามารถส่งเงินเข้ารัฐได้มากถึงหลักหลายพันล้าน จนถึงกว่าหมื่นล้านบาทได้ ตามผลประกอบการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
     “ถ้ายุบกสทช. สุดท้ายก็ต้องมีก.อะไรอยู่ดี  ก.ใหม่ก็ประสบปัญหาเดิม ถ้าไม่มีการวางระบบให้รอบคอบเป็นอย่างดีไว้ ทั้งนี้ถึงเวลาปฏิรูปใหญ่ของรัฐบาลแล้วเพราะฉะนั้นจะต้องดำเนินการแก้ไขปัญหารวมทั้งข้อกฎหมายในภาพรวมต่อไป”ดร.วิษณุกล่าวชี้แจงในที่สุด

สร้างโดย  -   (8/3/2560 17:43:53)

Download

Page views: 94