สำนักงาน กสทช. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีบริการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ

         สำนักงาน กสทช. จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การส่งเสริมให้ผู้ประกอบการกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีบริการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง เรื่อง การส่งเสริมให้ผู้ ประกอบกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์มีบริการเพื่อการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของคนพิการ กับหน่วยงานต่างๆ ในวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2556 ณ อาคารหอประชุม ชั้น 1 สำนักงาน กสทช. บันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว มุ่งให้เกิดการพัฒนาบริการที่เป็นประโยชน์ต่อคนพิการในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารผ่านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ รวมทั้ง เป็นการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของ คนพิการและคนด้อยโอกาส ที่ควรมีสิทธิเท่าเทียมในการรับรู้และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวสาร เพื่อการดำรงชีวิต อีกทั้งเพื่อยกระดับคุณภาพการรับรู้ข้อมูล ข่าวสารอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง ทั้งนี้ บริการที่อยู่ภายใต้ข้อตกลงความร่วมมือแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 1. การบริการคำบรรยายเป็นเสียง (Audio Description) คือ เสียงบรรยายที่เพิ่มเติมเข้าไปเพื่อบรรยายรายละเอียดที่สำคัญของภาพ ซึ่งอาจไม่เข้าใจได้ด้วยบทบรรยายเดิมเท่านั้น โดยจะเพิ่มการบรรยายด้วยเสียงในช่วงที่ไม่มีการสนทนา เช่น การแสดงออกเกี่ยวกับหน้า การเคลื่อนย้ายวัตถุ ลักษณะบรรยากาศล้อมรอบ – เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธรรมสาสตร์ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย 2. การบริการคำบรรยายเป็นอักษร (Caption) คือ ข้อความที่บรรยายในช่วงเวลาเดียวกับเสียงบรรยายซึ่งเป็นเสียงบทสนทนาและเสียงอื่น เพื่อให้เข้าใจถึงเนื้อหาสื่อนั้น ได้แก่ คำบรรยายบทสนทนา และคำบรรยายเสียงประกอบอื่น เช่น เสียงดนตรี เสียงหัวเราะ ฯลฯ โดยคำบรรยายแทนเสียงจะต้องชัดเจนและไม่กีดขวางการมองเห็นภาพ – เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และสถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย 3. การบริการภาษามือ (Sign Language) คือ การใช้ภาษามือในช่วงเวลาประสานระหว่างเวลากับข้อมูลเสียงซึ่งเป็นเสียงบทสนทนาและเสียงอื่น เพื่อให้เข้าใจถึงเนื้อหาสื่อนั้น ได้แก่ คำบรรยายบทสนทนา และคำบรรยายเสียงประกอบอื่น เช่น เสียงดนตรี เสียงหัวเราะ ฯลฯ คำบรรยายแทนเสียงจะต้องชัดเจนและ ไม่กีดขวางการมองเห็นภาพ – เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. สมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิต และบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) การดำเนินการในเรื่องดังกล่าว เป็นไปตามมาตรา 36 พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่กำหนดให้ กสทช. กำหนดมาตรการพื้นฐานบางประการ เพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์จัดให้มีบริการที่เหมาะสมเพื่อประโยชน์ของคนพิการและคนด้อยโอกาส ซึ่งหมายถึงบริการกระจายเสียง ที่ออกอากาศรายการอ่านหนังสือเต็มเวลา หรือบริการโทรทัศน์ที่จัดให้มีล่ามภาษามือ บริการคำบรรยายเป็นอักษรวิ่ง หรือบริการคำบรรยายเป็นเสียง
 

สร้างโดย  -   (23/3/2560 17:16:15)

Download

Page views: 18