สำนักงาน กสทช. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “NBTC/ITU Workshop on Roadmap for Introduction of Digital Terrestrial Radio Services in Thailand”

สำนักงาน กสทช. จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “NBTC/ITU Workshop on Roadmap for Introduction of Digital Terrestrial Radio Services in Thailand”

     วันที่ 16 ธันวาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “NBTC/ITU Workshop on Roadmap for Introduction of Digital Terrestrial Radio Services in Thailand” ณ ห้องกมลทิพย์ โรงแรม เดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร. ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กล่าวเปิดการอบรมฯ และ Mr. Ioane Koroivuki ผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิกของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU Regional Office for Asia and the Pacific) นางสาวอรศรี  ศรีระษา รักษาการผู้อำนวยการสำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล กล่าวรายงาน
 กสทช. ผศ. ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. ร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)  จัดการอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง “NBTC/ITU Workshop on Roadmap for Introduction of Digital Terrestrial Radio Services in Thailand” เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลให้แก่ผู้ประกอบการสถานีวิทยุกระจายเสียงภาครัฐและเอกชน 33 หน่วยงานรวมทั้งนักวิชาการจาก 18 สถาบันการศึกษา บริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง 20 บริษัท และผู้ที่สนใจในกิจการกระจายเสียงในระบบดิจิตอล รวมถึงผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน กสทช. จำนวน 200 คน โดยการจัดอบรมดังกล่าว เป็นความร่วมมือทางวิชาการในการดำเนินการโครงการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อจัดทำแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงไปสู่ระบบดิจิตอลกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ภายใต้โครงการ “Project on Roadmap Development for Digital Terrestrial Radio Broadcasting Roll Out in Thailand” เพื่อจัดทำแผนการเริ่มรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลในประเทศ สำหรับหัวข้อการบรรยายที่สำคัญ อาทิ Transition from Analogue to Digital Terrestrial Radio Broadcasting, DAB Global Developments, Digital Radio Options for Thailand และ DAB Network architecture and System Equipment โดยผู้เชี่ยวชาญจาก ITU  Mr.Peter Walop และ Dr.Les Sabel
     ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทยยังคงนิยมฟังวิทยุ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนในพื้นที่ห่างไกลจะนิยมรับฟังข้อมูลข่าวสารในช่วงเวลาสำคัญต่างๆ และเมื่อเกิดเหตุการณ์ภัยพิบัติขึ้น ถือเป็นเรื่องที่สำคัญยิ่งที่ทางสำนักงาน กสทช. จะต้องทำให้ประชาชนมั่นใจในคุณภาพของสัญญาณ บริการ และเนื้อหารายการ รวมถึงความสามารถในการให้บริการและพื้นที่บริการที่จะต้องรองรับการเข้าถึงบริการของประชาชนทั้งประเทศ กสทช. และสำนักงาน กสทช. กำลังศึกษาแผนการเริ่มการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิตอลเพื่อพัฒนาการให้บริการวิทยุกระเสียง ไม่ใช่แค่การพัฒนาคุณภาพเสียงและบริการ แต่ยังเป็นการเพิ่มโอกาสทางธุรกิจในอุตสาหกรรมวิทยุกระจายเสียงของประเทศไทยด้วย
     รายงานผลการศึกษาแผนการเริ่มระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลของประเทศไทย (Roadmap for the Introduction of Digital Terrestrial Radio Services in Thailand) สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ITU เป็นผู้จัดทำขึ้น เป็นการดำเนินการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555 - 2559) ยุทธศาสตร์ที่ 6 การเปลี่ยนผ่านไปสู่การรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ที่ได้กำหนดตัวชี้วัดด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงที่สำคัญ คือ ให้มีนโยบายและแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงเป็นระบบดิจิตอลภายใน 2 ปี ซึ่งนับเป็นภารกิจสำคัญและเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับภารกิจต่อเนื่องอื่น ๆ เพื่อให้สามารถเริ่มการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลได้ภายใน 4 ปี เพื่อศึกษาในด้านการเริ่มระบบรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล มาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล สภาพตลาดของกิจการวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลของต่างประเทศ รวมทั้ง
สำรวจความพร้อมและความหลากหลายของเครื่องรับสัญญาณวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิตอลทั่วโลกนั้น รายงานฉบับนี้มี ข้อเสนอแนะให้เลือกใช้มาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลตามข้อเสนอแนะของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ITU-R BS.1114 System A (DAB+) เป็นมาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลของประเทศไทย โดยใช้งานความถี่ในย่านความถี่สูงมากแบนด์สาม (VHF Band III) เนื่องจากจะมีความถี่ในย่านดังกล่าวว่างลงหลังจากที่ยุติการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกในอนาคต และจากการเปรียบเทียบในด้านประสิทธิภาพการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอลรวมทั้งด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าใช้จ่ายการลงทุนของแต่ละมาตรฐานแต่ละระบบ พบว่ามาตรฐาน DAB+ เป็นระบบมีประสิทธิภาพการใช้งานคลื่นความถี่มากที่สุด เนื่องจากสามารถส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงได้หลายรายการพร้อมกัน ประกอบกับปัจจุบันมาตรฐาน DAB+ เป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมในเชิงพาณิชย์หลายประเทศให้การรับรองเป็นมาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล อาทิ ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร นอร์เวย์ เดนมาร์ก และเยอรมัน เป็นต้น รวมถึงความแพร่หลายของเครื่องรับวิทยุระบบดิจิตอลมาตรฐาน DAB+ และราคาที่ต่ำกว่ามาตรฐานอื่น ๆ
     นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังมีข้อเสนอแนะแนวทางการเริ่มระบบรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล โดยแบ่งออกเป็น 2 ระยะดังนี้
      ระยะที่ 1 หรือแผน A (สำหรับระยะสั้น) ช่วงการทดลองหรือทดสอบการส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิตอล
      ระยะที่ 2 หรือแผน B (สำหรับระยะยาว) เมื่อมีการยุติการรับส่งสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกในย่าน VHF Band III และเริ่มกระบวนการออกใบอนุญาตปัจจุบันย่านความถี่ VHF Band III ใช้ในกิจการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อก ซึ่งภายหลังที่กิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเริ่มออกอากาศบนย่านความถี่ UHF Band IV/V และเริ่มยุติการออกอากาศสัญญาณโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกเดิมบนย่านความถี่ VHF Band III จะสามารถนำคลื่นความถี่มาจัดสรรใช้เพื่อรองรับการรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล
     กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ  โดยกล่าวว่าการอบรมในวันนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นความสนใจของทุกคนในเรื่องการเริ่มรับส่งสัญญาณวิทยุกระจายเสียงในระบบดิจิตอล และสำนักงาน กสทช. กำลังอยู่ในช่วงของการจัดทำแผนการเริ่มการรับส่งสัญญาณวิทยุระบบดิจิตอล ซึ่งเป็นแนวนโยบายภาพรวมและทิศทางของกิจการวิทยุกระจายเสียงที่สำคัญ ในช่วงต้นปีหน้าทุกภาคส่วนก็จะเริ่มเห็นทิศทางและแนวโน้มของกิจการวิทยุกระจายเสียงที่ชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในเรื่องโครงข่ายที่จะรองรับการให้บริการวิทยุกระจายเสียงระบบดิจิตอล ซึ่งก็จะนำบทเรียนจากการให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของประเทศไทยมาปรับใช้ประกอบการพิจารณาต่อไป
.

Download

  • สรุปการอบรมเชิงปฏิบัติการฯ.doc

สร้างโดย  -   (8/3/2560 15:41:43)