กทค. สยบข่าวลือกรณี“อนุกรรมการ ปปช. ชี้มูลจัดประมูล 3 จีส่อ “ฮั้วราคา”

•ย้ำชัดคณะอนุกรรมการปปช.ยังไม่มีมติใดๆทั้งสิ้น ชี้ที่ผ่านมา กทค.ไม่ได้รับความเป็นธรรมในชั้นกรรมาธิการวุฒิสภา วอน ปปช. ให้ความเป็นธรรมอย่างตรงไปตรงมา

      ตามที่ปรากฏเป็นข่าวทางหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันจันทร์ที่ 26 พฤษภาคม 2557 เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี โดยมีการเสนอข่าวว่า “อนุกรรมการ ปปช. ชี้มูลบอร์ด กทค. จัดประมูล 3 จี ส่อ “ฮั้วราคา”นั้น

     พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. และในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า หลังจากที่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ปรากฏในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจฉบับดังกล่าวแล้ว พบว่าเป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นความจริง ทำให้คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และกรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนได้รับความเสียหาย

     สำหรับข้อเท็จจริงที่ถูกต้องมีดังนี้

O กรณีเสนอข่าวว่า“ผลชี้มูลความผิดดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคม 2557 โดย กทค. ทราบผลนี้แล้ว แต่ไม่เปิดเผยต่อที่ประชุมบอร์ด กทค.” เป็นข่าวที่บิดเบือน โดยไม่ได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้รอบด้าน ทำให้ กทค. ได้รับความเสียหาย

     ขอชี้แจงว่า ที่ประชุม กทค. รวมทั้งกรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหายังไม่เคยได้รับทราบข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏเป็นข่าวแต่อย่างใด ว่า คณะอนุกรรมการ ปปช. ได้ชี้มูลบอร์ด กทค. เกี่ยวกับการจัดประมูล 3 จีส่อฮั้วราคา จนกระทั่งได้มีปรากฏเป็นข่าวต่อสื่อดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งคณะอนุกรรมการฯ ยังมิได้มีการแจ้งให้ กทค. ทราบผลในเรื่องดังกล่าว จึงมิใช่เป็นกรณีที่ กทค. รวมทั้งกรรมการ กทค. ผู้ถูกกล่าวหาทราบเรื่องแล้วปกปิดไม่รายงานเรื่องดังกล่าวต่อที่ประชุม กทค. อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ผ่านมา กทค. ก็ได้ชี้แจงเหตุผลทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ตลอดจนวัตถุประสงค์ของการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3 จีดังกล่าวอย่างชัดเจนแล้วว่าได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง

 

O กรณีเสนอข่าวว่า “บอร์ด กทค. ยังพยายามเร่งเปิดประมูลโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ 4 จี และเร่งประชาพิจารณ์ในต้นเดือนมิถุนายน 2557” ก็เป็นการเสนอข้อเท็จจริงที่ทำให้มองว่าแม้ กทค. ทราบว่าคณะอนุกรรมการ ปปช. ชี้มูลความผิดดังกล่าวข้างต้นแล้วก็กลับเร่งประมูลคลื่น 4 จี อย่างผิดปกติ ซึ่งไม่เป็นความจริง

     ขอชี้แจงว่า นอกจากจะปรากฏว่าคณะอนุกรรมการปปช. ยังไม่มีมติชี้มูลความผิดแก่ กทค. ดังกล่าวแล้ว การที่ กทค. กำหนดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz หรือระบบ 4 จี และมีกำหนดประชาพิจารณ์ในต้นเดือนมิถุนายน 2557 นั้น ก็เป็นไปตามนโยบายและกระบวนการดำเนินการที่ กทค. ได้กำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2556 และได้ประกาศให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบนโยบายดังกล่าวล่วงหน้าและดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ไม่ได้เร่งรีบจนผิดปกติโดยได้ใช้ระยะเวลาและมีการพิจารณาไตร่ตรอง ตลอดจนผ่านกระบวนการศึกษาและกำหนดหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าวอย่างละเอียดและรอบคอบด้วยคณะผู้เชี่ยวชาญจากองค์กรระหว่างประเทศและจากคณะทำงานชุดต่างๆ ที่ กสทช. แต่งตั้ง รวมถึงเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กสทช. จนกระทั่งได้มีการยกร่างหลักเกณฑ์ในเรื่องดังกล่าว ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการนำร่างหลักเกณฑ์ไปจัดรับฟังความคิดเห็นตามกระบวนการของกฎหมาย การที่มีการนำเสนอข่าวที่ไม่ถูกต้องและบิดเบือนในเรื่องนี้ จึงทำให้เชื่อว่าผู้ให้ข่าวประสงค์จะทำลายความน่าเชื่อถือของ กทค. ในกระบวนการจัดประมูลคลื่นความถี่ 4 จี ซึ่งหาก กทค. ไม่อาจจัดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวได้อันเนื่องจากการกระทำดังกล่าว ย่อมจะส่งผลกระทบประเทศชาติอย่างมิอาจหลีกเลี่ยงได้

     ด้าน ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ (กสทช.ด้านกฎหมาย) กล่าวว่า ที่ผ่านมา กทค. ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนจากคณะกรรมาธิการ วุฒิสภา โดยมีการเร่งสรุปเรื่องอย่างผิดปกติแล้วยื่นเรื่องต่อ ปปช. ก่อนจะให้ กทค. ไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการฯ ชุดนี้ ในภายหลัง

     โดยเห็นได้ชัดเจนจากการยื่นข้อร้องเรียน กทค. และการพิจารณาเรื่องร้องเรียน จนนำไปสู่การสรุปเรื่องและยื่นต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้ดำเนินการด้วยความเร่งรีบและไม่ให้ความเป็นธรรมต่อ กทค. โดยเร่งสรุปว่า กทค. กระทำผิดและได้ยื่นเรื่องต่อคณะกรรมการ ปปช. ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ก่อนที่จะเชิญ กทค. มาชี้แจง โดยคณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ได้สรุปผลและยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ปปช. ไปเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม 2555 แต่ได้มีหนังสือเชิญ กทค. ไปชี้แจงเมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2555 ดังนั้นผลการพิจารณาเรื่องร้องเรียนที่ส่งไปยังคณะกรรมการ ปปช. ดังกล่าว จึงมีเพียงแต่ข้อเท็จจริงที่มาจากข้อมูลของฝ่ายผู้ที่ร้องเรียนอันเป็นข้อมูลที่หยิบยกมาบางส่วนไม่ครบถ้วนด้วยข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ทั้งที่ในประเด็นข้อร้องเรียนมีความเกี่ยวข้องในมิติต่างๆ ทั้งในด้านเทคนิค ด้านเศรษฐศาสตร์และกฎหมายหลายฉบับ ซึ่ง กสทช. ได้จัดทำหลักเกณฑ์โดยใช้ระยะเวลาในการศึกษาและผ่านการพิจารณาไตร่ตรองโดยผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียดรอบคอบไม่น้อยกว่า 7 ถึง 8 เดือน แต่คณะกรรมาธิการฯ กลับใช้เวลาเพียงแค่ 2 วันทำการ ในการรับเรื่อง สรุปผลและส่งคณะกรรมการ ปปช. ทำให้ กทค. ไม่ได้รับความเป็นธรรมตามกระบวนการของกฎหมาย ซึ่ง กทค. ได้ให้ข้อมูลในเรื่องนี้ต่อคณะอนุกรรมการ ปปช. ไปด้วย การเร่งสรุปผลดังกล่าวจึงอาจทำให้ถูกมองว่า คณะกรรมาธิการฯ กระทำการที่ฝ่าฝืนข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมของสมาชิกวุฒิสภาและกรรมาธิการ พ.ศ. 2553 โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อ 17 และ ข้อ 19 และไม่เป็นไปตาม พ.ร.บ. คำสั่งเรียกของคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา พ.ศ. 2554 หรือไม่

 

O กทค. ได้โต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจในการพิจารณาของคณะกรรมการ ปปช. ว่าไม่อยู่ภายใต้บังคับ พ.ร.บ. ว่าด้วยความรับผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 (พ.ร.บ. ฮั้ว) เพราะการประมูลคลื่นความถี่แตกต่างจากการประมูลสิ่งของทั่วไป

     เนื่องจากมูลเหตุแห่งการยื่นข้อร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในครั้งนี้ มิใช่เป็นกรณีที่ กสทช. โดย กทค. จัดการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการดำเนินการโดยทุจริตแต่อย่างใด แต่เกิดจากการที่ผู้ร้องมีความเข้าใจข้อกฎหมายที่ไม่ถูกต้องและเข้าใจข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ โดยเข้าใจว่าเหมือนเช่นการประมูลสิ่งของทั่วไปซึ่งไม่ถูกต้อง โดยการออกหลักเกณฑ์และใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายในทางปกครองเกี่ยวกับการออกกฎและเป็นขั้นตอนหนึ่งที่จะนำไปสู่การออกคำสั่งทางปกครองและไม่ใช่สัญญาที่เกิดจากการตกลงระหว่างคู่สัญญาและไม่นำไปสู่การทำสัญญาระหว่างกัน ซึ่งต่างจากการประมูลสิ่งของทั่วไปที่อาจกระทำได้หลายวิธี เช่น การจัดซื้อ หรือจัดจ้างหรือวิธีอื่นใดและจะนำไปสู่การทำสัญญากับหน่วยงานของรัฐ

     ทั้งนี้ การประมูลคลื่นความถี่คือวิธีการจัดสรรคลื่นอย่างหนึ่ง ผู้ชนะคือผู้ได้สิทธิในการใช้คลื่นตลอดช่วงเวลาตามใบอนุญาต ในระหว่างเวลานั้น กสทช. ต้องตามไปกำกับดูแลให้ผู้เอาคลื่นความถี่ไปใช้ปฎิบัติตามเงื่อนไขและกติกา และดูว่ามีการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมหรือไม่ ต่างจากประมูลสิ่งของที่ผู้ชนะได้กรรมสิทธิ์ไปเลย ผู้จัดประมูลโอนกรรมสิทธิ์ในของชิ้นนั้นไปแล้ว และไม่มีอำนาจในการกำกับดูแลผู้ชนะการประมูลแต่อย่างใด

     อีกทั้งหากพิจารณาคำว่า “การเสนอราคา” นั้น มีความมุ่งหมายให้เกิดการจัดหาสินค้าหรือบริการที่จะต้องมีการใช้งบประมาณของรัฐ แม้ตามพ.ร.บ. ฮั้ว จะกำหนดให้การเสนอราคารวมถึงการให้สัมปทาน หรือการได้รับสิทธิใดๆ ก็ตาม แต่การออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มีความแตกต่างจากระบบการให้สัมปทานโดยสิ้นเชิง เพราะมีกฎหมายกำหนดในเรื่องดังกล่าวไว้เป็นการเฉพาะและ กสทช. ไม่ต้องเข้าทำสัญญากับผู้ชนะการประมูล แม้จะมีการออกเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต แต่เงื่อนไขดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นคำสั่งทางปกครองซึ่งออกโดย กสทช. แต่ฝ่ายเดียว ฉะนั้น มูลเหตุแห่งการยื่นข้อร้องเรียนดังกล่าวจึงเกิดจากการที่ผู้ร้องมีความเข้าใจในข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อน มิได้เป็นเรื่องที่ กทค. ปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริตแต่อย่างใด

 

O กรณีเสนอข่าวว่า “การประมูล 3 จี ของ กสทช. ซึ่งมีผู้ให้บริการรายใหญ่เพียง 3 ราย เข้าร่วมการแข่งขันอาจเป็นสิ่งที่ตั้งข้อสังเกตได้ว่า ผู้บริการทั้ง 3 รายจะได้รับใบอนุญาตตั้งแต่ ยังไม่ประมูล” นั้น ขัดต่อข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

     ขอเรียนว่า ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องนั้น กสทช. ได้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลในวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ส่วนขณะที่มีการยกร่างหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการประมูล 3 จีนั้น จะมีผู้เข้าร่วมประมูลและผ่านคุณสมบัติเข้าแข่งขันจนชนะการประมูลจะมีกี่รายในอนาคตนั้น กสทช. ไม่อาจจะทราบได้ ล่วงหน้าและไม่อาจกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อผู้เข้าร่วมประมูลคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เพราะมิฉะนั้น จะเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย

 

O กรณีเสนอข่าวว่า ผู้วิจัยได้ยกตัวอย่างไว้ว่า หากมีบริษัทเข้าร่วมประมูลเพียง แค่ 3 ราย กสทช. ต้องตั้งราคาไม่ต่ำกว่า 82 เปอร์เซ็นต์ ของมูลค่าคลื่นความถี่ 1 สล็อต แต่ กสทช. กลับตั้งราคาเริ่มต้นไว้เพียง 70 เปอร์เซ็นต์ นั้น ไม่เป็นความจริง

     ขอเรียนว่า การเสนอข่าวดังกล่าวเป็นการบิดเบือนรายงานวิจัยการประมูลมูลค่าคลื่นความถี่โดยหยิบยกเนื้อหามาเพียงบางส่วน และเป็นการเสนอข่าวที่ทำให้เข้าใจผิดว่า คณะผู้วิจัยฯได้เสนอให้ กสทช. กำหนดราคาตั้งต้นไม่ต่ำกว่า 0.82 หรือ 82 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าคลื่นความถี่ 1 สล็อต แต่ กสทช. ไม่เอาด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงที่ถูกต้องคือตามรายงานฯ ของคณะผู้วิจัยฯ ที่ระบุราคาตั้งต้น 82 เปอร์เซ็นต์นั้นเป็นเพียงผลลัพท์ที่ได้จากแบบจำลองจากสมการทางคณิตศาสตร์ แต่ยังมิใช่ข้อเสนอสุดท้ายแต่อย่างใด โดยคณะผู้วิจัยฯ เสนอความเห็นสุดท้ายว่า “ในกรณีของประเทศไทย หากภาครัฐให้ความสำคัญต่อรายรับจากการประมูลพอสมควรเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ของผู้บริโภคและผู้ใช้บริการซึ่งมีจำนวนไม่มาก สัดส่วนของราคาเริ่มต้นต่อมูลค่าคลื่นความถี่ไม่ควรต่ำกว่า 0.67 หรือ 67 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งคือค่าเฉลี่ยของราคาเริ่มต้นต่อมูลค่าคลื่นความถี่จากกรณีการประมูลของประเทศต่างๆ” โดยเมื่อ กทค. ได้พิจารณาข้อเสนอฯ ดังกล่าวแล้วเห็นว่า การกำหนดราคาตั้งต้นควรคำนึงถึงเงินเฟ้อด้วย จึงเพิ่มเป็น 70 เปอร์เซ็นต์อันเป็นการแสดงว่า กทค. กำหนดราคาตั้งต้นการประมูลสูงกว่าข้อเสนอขั้นต่ำของคณะผู้วิจัยฯ และราคาตั้งต้นฯ ที่ กทค. กำหนดยังสูงกว่าราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นความถี่ ย่านนี้ ซึ่ง กทช. เคยกำหนดอีกด้วย แต่มีการบิดเบือนรายงานการศึกษาของคณะผู้วิจัยที่คำนวณมูลค่าคลื่นความถี่และมูลค่าขั้นต่ำของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ โดยให้ข้อมูลบางส่วนเพื่อให้เกิดความเข้าใจผิดว่า กทค. มีการหมกเม็ดและมีพฤติการณ์ไม่ชอบมาพากล ซึ่งไม่เป็นความจริง

     นอกจากนี้ ในขณะที่ กสทช. เริ่มมีกระบวนการกำหนดหลักเกณฑ์ในการประมูล กสทช. มิได้กำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะต้องมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงแค่ 3 ราย แต่ได้มีการวิเคราะห์บนพื้นฐานของผู้ประกอบการกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ซึ่ง กสทช. มีฐานข้อมูลรายชื่อผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอยู่ในตลาด ณ ขณะนั้น เป็นจำนวนถึง 20 ราย และเมื่อได้ออกประกาศดังกล่าวไปแล้วก็ได้มีผู้ขอเอกสารแบบคำขอเพื่อจะเข้าร่วมประมูลมากถึง 17 ราย แต่เมื่อครบกำหนดวันยื่นคำขอมี     ผู้ยื่นคำขอเพียง 4 ราย และผ่านคุณสมบัติจำนวน 3 ราย แต่ในท้ายที่สุดแล้วจะมีผู้ผ่านคุณสมบัติและมีสิทธิเข้าร่วมการประมูลกี่รายนั้น กสทช. ก็ไม่อาจทราบล่วงหน้าในขณะออกแบบการประมูลได้ ต่อมาเมื่อมาถึงขั้นตอนการประมูล และ กสทช. ทราบภายหลังว่ามีผู้ผ่านคุณสมบัติ 3 ราย กสทช. ก็จำเป็นต้องดำเนินการจัดประมูลตามกระบวนการตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. ได้กำหนดไว้แล้วต่อไป โดยไม่อาจไปแก้ไขหรือเริ่มกระบวนการกำหนดราคาตั้งต้นใหม่อีกได้ เพราะไม่ปรากฏเงื่อนไขที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์     แต่อย่างใด มิฉะนั้นแล้ว จะเป็นการกระทำโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผิดขั้นตอนและวิธีการที่เป็นสาระสำคัญตามหลักเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ในทางตรงกันข้ามหาก กสทช. โดย กทค. ดำเนินการตามที่ผู้ร้องเรียนเรียกร้องย่อมทำให้ กทค. กระทำผิดต่อกฎหมาย เอื้อประโยชน์ให้กำหนดผู้ประกอบการรายใหญ่และกีดกันรายเล็ก เนื่องจากเป็นการกำหนดและออกแบบกฎการประมูลที่เอื้อต่อผู้เข้าร่วมประมูลเพียงแค่ 3 ราย          

     ทั้งนี้ หาก กทค. กำหนดราคาตั้งต้นตามความเห็นดังกล่าว โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียง 3 ราย นอกจากไม่มีหลักการทางวิชาการรองรับและไม่สอดคล้องกับรายงานฯ ของผู้วิจัยแล้ว ก็จะเป็นการกระทำที่สมรู้กับผู้เข้าร่วมประมูลรายใหญ่ที่มีทุนทรัพย์สูง เพื่อกีดกันรายเล็ก และจะเป็นการขัดต่อกฎหมายและเข้าข่ายการกระทำความผิดตาม พ.ร.บ. ฮั้ว ทั้งยังอาจจะทำให้ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz จำนวน 45 MHz ได้หมดทำให้คลื่นความถี่ดังกล่าวถูกทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้ประโยชน์ต่อไป ปัญหาของการขาดแคลนคลื่นความถี่ ปัญหาคุณภาพของการให้บริการโทรคมนาคมที่กระทบต่อสาธารณะก็จะไม่ได้รับการแก้ไข โอกาสที่รัฐบาลจะมีรายได้จากการประมูลและจากการลงทุนต่างๆ รวมทั้งโอกาสในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศก็จะสูญเสียไป  นอกจากนี้ การกำหนดราคาตั้งต้นที่สูงเกินไปยังขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการให้การจัดสรรคลื่นความถี่เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ไม่ได้มุ่งในการให้ กสทช. เป็นหน่วยงานหาเงินให้รัฐบาล แต่ละเลยผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชน มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นในหลายประเทศประมูลคลื่นความถี่ได้เงินประมูลสูง แต่สุดท้ายผลการประมูลล้มเหลวเพราะผู้ชนะการประมูลได้คลื่นความถี่ไปใช้ แต่ไม่มีเงินลงทุนที่จะนำคลื่นนั้นไปเปิดบริการ จึงไม่สามารถเปิดบริการตามเงื่อนไขที่กำหนดทำให้สุดท้ายต้องเอาคลื่นความถี่มาคืนคนรับกรรมที่แท้จริงคือประชาชนผู้บริโภค

 

O ข้อเสนอของ ITU ต่อกรณีการกำหนดราคาตั้งต้นของการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่านความถี่ 900 MHz สอดคล้องกับการกำหนดราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ 3 จี ที่ร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่น

     ขอเรียนว่า ในการจัดทำหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่านความถี่ 900 MHz นั้น กสทช. ได้รับความร่วมมือจาก ITU ซึ่งได้ส่งคณะผู้เชี่ยวชาญด้านต่างๆ เข้าร่วมทำงานกับคณะผู้เชี่ยวชาญของสำนักงาน กสทช. โดยมีการนำข้อมูลต่างๆ จากในประเทศและระหว่างประเทศมาใช้ประกอบการพิจารณาอย่างละเอียดครบถ้วนและนำมาคำนวณตามหลักการคำนวณของแนวปฏิบัติสากลจนนำไปสู่ข้อสรุปของราคาตั้งต้น ซึ่งหลังจากที่ ITU ได้รวบรวมข้อมูลและตรวจสอบสภาพตลาดในปัจจุบันแล้วเห็นว่าในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะมีบริษัทที่เข้าร่วมประมูลจำนวนไม่มาก อย่างไรก็ตาม ITU ก็ยังเสนอราคาตั้งต้นของของการประมูล          คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และย่านความถี่ 900 MHz อยู่ที่ร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นความถี่อยู่ดี แสดงให้เห็นว่า ข้อเสนอดังกล่าวมีความสอดคล้องกับการกำหนดราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ กสทช. กำหนดเช่นเดียวกัน ดังนั้น ตามข้อเสนอของ ITU ยิ่งทำให้เห็นว่า การกำหนดราคาตั้งต้นของ กทค. เกี่ยวกับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz มีความเหมาะสม สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสากล และมิใช่เป็นการกระทำที่ผิดต่อกฎหมายแต่อย่างใด

O การร้องเรียนและการตรวจสอบเป็นการอ้างความเห็นของผู้ร้องเรียนที่ไม่เห็นด้วยในการใช้ดุลพินิจของ กสทช. ในลักษณะโต้แย้งดุลพินิจที่เกิดจากการใช้ความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เป็นเพียงความเห็นที่แตกต่างกัน แต่มิใช่เรื่องการกระทำที่ผิดต่อกฎหมาย

     ขอเรียนว่า ข้อร้องเรียนในกรณีนี้ เป็นการขอให้คณะกรรมการ ปปช. เข้ามาตรวจสอบการใช้ดุลพินิจของ กสทช. ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังอย่างยิ่งเพื่อมิให้เป็นการเข้าไปก้าวล่วงการใช้ดุลพินิจขององค์กรชำนัญพิเศษที่ออกโดยชอบ เนื่องจากองค์กรที่จะตัดสินใจว่าการออกกฎเกณฑ์อย่างไรจึงจะเหมาะสมในการทำให้กระบวนการพิจารณาการจัดประมูลคลื่นความถี่มีประสิทธิภาพ ออกใบอนุญาต รวมถึงการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมย่อมเป็นดุลพินิจโดยแท้ของ กสทช. หากไม่ปรากฏว่าขั้นตอนในการออกกฎเกณฑ์และการดำเนินการตามกฎเกณฑ์ดังกล่าวมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างไร ก็ควรให้เป็นดุลพินิจหน่วยงานที่รับผิดชอบซึ่งเชี่ยวชาญเฉพาะด้านนั้นๆ ที่จะต้องพิจารณาให้เหมาะสมในเนื้อหาและความเหมาะสมหลังจากที่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของผู้มีส่วนได้เสียตามกฎหมายแล้ว

     เมื่อ กสทช. พิจารณาความเห็นตามข้อเสนอของคณะผู้วิจัยฯ ที่เสนอว่า ควรกำหนดราคาตั้งต้นไม่น้อยกว่าร้อยละ 67 ของมูลค่าคลื่น โดยผ่านการกลั่นกรองและเห็นชอบมาตามลำดับจากคณะอนุกรรมการฯ คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และ กทค. แล้วจึงเห็นตรงกันว่า ราคาตั้งต้นควรปรับเป็นร้อยละ 70 ของมูลค่าคลื่นความถี่ย่านนี้ แต่มีนักวิชาการบางคน รวมทั้งกลุ่มเคลื่อนไหวบางกลุ่มมีความเห็นแตกต่างโดยหยิบยกเนื้อหาของรายงานฯ เพียงบางส่วนมาอ้างอิง แต่ในขณะเดียวกันในอีกมุมมองหนึ่งก็ได้มีนักวิชาการ นักกฎหมายและผู้เกี่ยวข้องส่วนใหญ่อีกฝ่ายหนึ่งได้สนับสนุนความเห็นของ กสทช. นั่นยิ่งแสดงให้เห็นว่า เรื่องนี้เป็นประเด็นเรื่องความแตกต่างในความเห็นเกี่ยวกับการใช้ดุลพินิจเท่านั้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งผิดและมิใช่เรื่องที่การดำเนินงานของ กสทช. ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากแต่เป็นเรื่องที่บุคคลบางกลุ่มมีความเห็นที่ไม่ตรงกับดุลพินิจของ กสทช. เท่านั้น     

     โดยในเรื่องการใช้อำนาจดุลพินิจในการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานนั้น แม้ศาลปกครองสูงสุดเองก็ได้มีแนวคำวินิจฉัยที่จะไม่ก้าวล่วงไปพิจารณาดุลพินิจขององค์กรฝ่ายปกครองผู้เชี่ยวชาญ ดังปรากฏตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ. 80/2547 ระหว่าง นายเทพ เวชวิสิฐ ผู้ฟ้องคดี กับกระทรวงสาธารณสุข ที่ 1 และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ที่ 2 ผู้ถูกฟ้องคดี

 

O ผลการประมูลคลื่นความถี่ที่ได้ราคาประมูลเท่ากับราคาตั้งต้นหรือสูงกว่าเล็กน้อยมิใช่สิ่งผิดปกติ และไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมาย แต่สอดคล้องกับกฎหมายและแนวปฏิบัติทั่วโลก

     ขอเรียนว่า การที่มีผู้ชนะการประมูลได้คลื่นไปขณะที่ราคาที่ได้ไปรวมแล้วสูงกว่าราคาตั้งต้นไม่มาก ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดกฎหมาย ไม่ขัดกับกติกาการประมูลคลื่นความถี่ที่ประกาศเป็นกฎหมาย และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ. ฮั้ว เนื่องจากไม่มีแนวปฎิบัติสากล หรือกฎหมายของประเทศใดในโลกกำหนดให้กรณีผลจากการประมูลที่ได้เงินจากการประมูลสูงกว่าราคาตั้งต้นไม่มากเป็นความผิดปกติหรือเป็นความผิดทางอาญาที่จะเอาตัว กสทช. และผู้ประกอบการมาเข้าคุกรับผิดอย่างร้ายแรง นอกจากนี้ การโจมตีว่า กสทช. ทำผิดพลาด ผิด พ.ร.บ. ฮั้ว โดยโจมตีว่าทำให้ประเทศชาติเสียหายเป็นหมื่นๆ ล้านยังขัดต่อความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในประเทศไทยและแนวปฎิบัติที่เป็นแนวทางสากล จึงอยากให้ดูให้ชัดๆ ว่าหลังประมูลคลื่นความถี่ 3 จี สำเร็จ ประเทศไทยและคนไทยได้ประโยชน์มากขึ้นอย่างไรบ้าง แม้จะมีบางกลุ่มพยายามโจมตีว่าประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ไม่มีผลดี ก็ขอให้ลองพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่าเป็นจริงอย่างที่มีผู้โจมตีหรือไม่ ซึ่งจะเห็นว่าหลังจากที่มีการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี สำเร็จ คงจะปฏิเสธไม่ได้ว่ามีการลงทุนในโครงข่าย 3 จี อย่างมหาศาล มีเงินสะพัดในการลงทุน มีการแข่งขันของค่ายมือถือต่างๆ อย่างมากมาย มีบริการใหม่ๆ เกิดขึ้น มีการโฆษณา เกิดการลงทุน การจ้างงาน การให้บริการ การลดราคาค่าบริการ ฯลฯ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยได้ประโยชน์มหาศาล ไม่ใช่เกิดความเสียหายอย่างที่มีผู้พยายามบิดเบือนโจมตี

 

O ผลการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3 จีของ กสทช. เป็นที่ยอมรับและสร้างมาตรฐานในการประมูลคลื่นความถี่ในระดับสากล และเกิดผลในทางตรงกันข้ามกับที่มีการกล่าวหาว่าประเทศได้รับความเสียหาย

     ขอเรียนว่า ผลการประมูลคลื่นความถี่ 3 จีของ กสทช. ได้รับการยอมรับจาก ITU ว่าประสบความสำเร็จ และมีความสอดคล้องกับหลักปฏิบัติสากลตลอดจนบรรลุวัตถุประสงค์ของการจัดการทรัพยากรคลื่นความถี่วิทยุของ กสทช. โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นเรื่องราคาที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งมีข้อมูลว่าเมื่อเทียบกับราคาที่ได้จากการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ตามมาตรฐานระหว่างประเทศพบว่า เป็นราคาที่เหมาะสมหรือค่อนข้างจะเป็นราคาที่สูงกว่าในหลายๆ ประเทศ นอกจากนี้ ยังได้สร้างมาตรฐานการประมูลคลื่นความถี่ในระดับสากล โดย ITU ได้นำกรณีความสำเร็จในการจัดประมูลของไทยไปยกตัวอย่างให้ชาวโลกได้รับรู้อย่างชื่นชม

     นอกจากนี้ เป็นที่ยอมรับในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งหน่วยงานและองค์กรต่างๆ เห็นตรงกันว่าผลจากการที่ กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ทำให้เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยมหาศาล ช่วยผลักดันตลาดการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดด อีกทั้งมีอานิสงค์ที่ก่อให้เกิดการพัฒนาช่องทางบริการธุรกิจใหม่ๆ บนเครือข่ายสื่อสารไร้สาย 3 จี ในหลายรูปแบบ รวมถึงเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในธุรกิจการสร้างโครงข่ายเกิดขึ้น มีการโฆษณา เกิดการลงทุน การจ้างงาน การให้บริการ การลดราคาค่าบริการ ฯลฯ อันเป็นการยืนยันอย่างชัดเจนแล้วว่าผลการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี เกิดผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยและทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์เป็นอย่างมากและเกิดผลในทางตรงกันข้ามกับฝ่ายที่กล่าวหาและพยายามบิดเบือน           

     “ด้วยเหตุผลข้างต้น ขอย้ำว่า กสทช. โดย กทค. ได้ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ สุจริต ไม่ได้กระทำความผิดใด ๆ กทค. เพียงคิดต่างและใช้ดุลพินิจในกรอบของกฎหมายตามความชำนาญพิเศษ ที่เห็นว่าจะทำให้สามารถจัดสรรคลื่น 3 จี ได้สำเร็จ เกิดประสิทธิภาพ และประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด โดย กทค. ได้พิจารณาเสียงเรียกร้องส่วนน้อยที่ต้องการให้กำหนดราคาประมูลสูงๆ อย่างรอบคอบแล้วเห็นว่ามีความเสี่ยง ไม่มีหลักวิชาการที่น่าเชื่อถือรองรับ รวมทั้งยังมาจากกลุ่มเดียวที่เคยให้ข้อแนะนำแก่ กทช. แต่ก็ปรากฎว่าการจัดประมูล 3 จี ครั้งนั้นล่มไป กทค. จึงเลือกตามแนวทางที่ดำเนินไปจนทำให้การจัดประมูล 3 จี ของ กทค. ประสบผลสำเร็จ ที่ผ่านมา กทค. เป็น  ฝ่ายถูกกระทำและไม่ได้รับความเป็นธรรมมาโดยตลอด จึงขอเรียกร้องความยุติธรรมและความเป็นธรรมจากทุกฝ่ายด้วย” พันเอกดร.เศรษฐพงค์ และดร.สุทธิพล ได้แสดงความรู้สึกเหมือนกันในตอนท้าย

................................................................................................................................................................

Download

  • กทค-สยบข่าวลือ.doc

สร้างโดย  -   (14/3/2559 15:41:49)

Download

Page views: 97