กสทช. ผนึก กระทรวงไอซีที เห็นพ้องมาตรการเยียวยา 1800 MHz

กสทช. หารือร่วม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที)  หาทางออก 4 ประเด็นหลัก เบื้องต้นเห็นพ้องมาตรการเยียวยาคุ้มครองผู้บริโภค 1800 MHz ที่จะมีผลตั้งแต่ 16 ก.ย. 56 ไปอีกไมเกิน 1 ปี ย้ำ กสทช. ชี้แจงดำเนินการอยู่ภายใต้ฐานรองรับทางกฎหมาย พร้อมจะส่งหนังสืออย่างเป็นทางการถึง กสทช. เพื่อหารือเพิ่มเติม

            พล.อ.อ. ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวถึงผลการประชุมหารือร่วมกับ น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (กระทรวง ไอซีที) ว่า ในวันนี้ (29 สิงหาคม 2556) รัฐมนตรี ไอซีที ในฐานะผู้ประสานงานเรื่องคลื่น 1800 MHz ตามมติคณะรัฐมนตรีได้มาร่วมประชุมหารือกับ กสทช. ในประเด็นเรื่องคลื่นความถี่ 1800 MHz

            น.อ. อนุดิษฐ์ นาครทรรพ  รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ไอซีที  กล่าวว่า ผลการหารือ ได้ความชัดเจนในประเด็นต่างๆ และพบว่าทั้ง กสทช. และกระทรวง ไอซีที มีความเห็นตรงกันในการดำเนินการกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1800 MHz คือ ผู้ใช้บริการในระบบจะต้องไม่ได้รับผลกระทบ จะไม่มีเรื่องซิมดับเกิดขึ้นอย่างเด็ดขาด ซึ่ง กสทช. ได้ชี้แจงเรื่องการออกมาตรการเยียวยารองรับ  เรื่องภายหลังหมดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ได้ชัดเจน

            นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า กสทช. ได้ให้ชี้แจงประเด็นหลักๆ รวมถึงตัวประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... ซึ่งใช้ในการเยียวผู้ใช้บริการในระบบ 1800 MHz ในครั้งนี้ ในเรื่องของฐานอำนาจของ กสทช. ตามกฎหมาย ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 27 และพ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 20 และมาตรา 25 และได้ชี้แจงถึงประเด็นคำนิยาม ผู้ให้บริการ ว่าจะหมายถึงทั้ง ผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทาน ส่วนรายได้ขณะดำเนินการในช่วงมาตรการเยียวยา เมื่อหักต้นทุนค่าเช่าโครงข่ายและต้นทุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการของผู้ให้บริการก็จะนำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินทั้งหมด

            ทั้งนี้ จะมีการตั้งคณะทำงานพิจารณารายได้และรายจ่ายที่เกิดขึ้นระหว่างมาตรการเยียวยา ซึ่งประกอบด้วย ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากกระทรวง ไอซีที ผู้แทนจากสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้เชี่ยวชาญด้านบัญชี และผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์ มาเป็นผู้พิจารณา และได้ชี้แจงชัดเจนว่า มาตรเยียวยาตามประกาศฯ เป็นการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นการชั่วคราวเท่านั้น ไม่ใช่เป็นการให้ใบอนุญาตใหม่แต่อย่างใด

            ในการชี้แจง ยังพูดถึง การดำเนินการตามมาตรการเยียวยา ว่า ผู้ให้บริการจะต้องส่งแผนคุ้มครองให้ กสทช. พิจารณาภายใน 15 วันหลังประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. .... ประกาศในราชกิจจานุเบกษา  ซึ่งตัวแผนจะครอบคลุม 4 ส่วนหลักคือ 1. ข้อมูลการให้บริการ เช่น ข้อมูลผู้ใช้บริการ จำนวนคงค้างในระบบ 2. แผนงานประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน 3. แผนงานส่งเสริมให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ย้ายค่ายเบอร์เดิม) ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นไปอย่างทั่วถึง 4. ค่าใช้จ่ายในการให้บริการ และภาระที่เกิดขึ้นจากการที่ต้องรักษาคุณภาพมาตรฐานในขณะที่จำนวนผู้ใช้บริการลดลงตลอดเวลา

            พ.อ. ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) กล่าวว่า  กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลจะต้องบริหารคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ภายใต้ข้อกำหนดทางกฎหมายนั้นจะมีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมกันโดยเร็ว เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ ในการปรับปรุงคลื่นความถี่ และดูความเป็นไปได้ให้ประโยชน์แก่ประชาชน ส่วนเรื่องการหมดสัญญาสัมปทาน กสทช.ดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งจะต้องนำคลื่นความถี่ที่หมดอายุสัมปทานกลับมา ที่ กสทช. เพื่อจัดสรรในเวลาที่เหมาะสมตามกระบวนการต่อไป  ส่วนคลื่นความถี่ที่ยังไม่หมดสัญญาสัมปทาน จะต้องพิจารณาว่าจะสามารถปรับปรุงคลื่นความถี่ได้หรือไม่ โดยการดำเนินการจะต้องเป็นไปตามข้อกฎหมายด้วย


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (18/3/2559 15:57:28)

Download

Page views: 135