กสทช. ผ่านหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz เน้นประโยชน์ประชาชนและรัฐเป็นหลัก พร้อมผ่านหลักเกณฑ์การเรียงช่อง ให้เคเบิ้ลทีวี และทีวีดาวเทียม ต้องนำช่องรายการทีวีดิจิตอลทั้ง 36 ช่องเรียงไว้ในลำดับที่ 1-36

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (16 ก.ย. 2558) ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะและแนวทางดำเนินการต่อ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พร้อมทั้งเห็นชอบร่างประกาศดังกล่าวที่ปรับปรุงแล้ว ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอและให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป สำหรับสาระสำคัญของร่างประกาศดังกล่าว กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้บริการโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ อาทิ ช่องดาวเทียม เคเบิ้ลทีวี ต้องจัดให้มีรายการโทรทัศน์ที่ให้บริการเป็นการทั่วไป (ช่องทีวีดิจิตอล) ไว้ที่ช่องรายการ 1-36 ส่วนช่องรายการที่ 37-60 เป็นช่องที่ผู้ประกอบการเลือกนำรายการใดมานำเสนอก็ได้ โดยร่างประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ภายหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 60 วัน

    จากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 900 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 895-915/940-960 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) รวมทั้งเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. ทั้ง 2 ฉบับ และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป และจะเริ่มประกาศเชิญชวนเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 24 ก.ย. ถึง 25 ต.ค. 2558 และจะเปิดให้ยื่นเอกสารการประมูลในวันที่ 26 ต.ค. 2558

    สำหรับสาระสำคัญของหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ภายหลังจากที่ได้มีการปรับปรุงแก้ไขหลังจากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะจากผู้มีส่วนได้เสีย และประชาชนทั่วไปแล้ว ในส่วนหลักๆ ยังคงมีรายละเอียดเหมือนหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz แต่มีส่วนที่แตกต่างคือ

    1.เรื่องความครอบคลุมของโครงข่าย หลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี แต่สำหรับหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz นั้นกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 50% ภายใน 4 ปี และไม่น้อยกว่า 80% ภายใน 8 ปี เพื่อเป็นการประกันการใช้งานคลื่นความถี่และให้มีการกระจายบริการให้ทั่วถึงเพิ่มขึ้น

    2.ราคาขั้นต่ำและงวดการชำระเงินประมูล โดยราคาขั้นต่ำในกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลมากกว่า 2 ราย จะอยู่ที่ 12,864 ล้านบาท และราคาประมูลรอบแรกเท่ากับ 13,508 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมน้อยกว่า     2 ราย ราคาขั้นต่ำจะอยู่ที่ 16,080 ล้านบาท และราคาประมูลรอบแรกเท่ากับ 16,402 ล้านบาท สำหรับงวดการชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งการชำระออกเป็น  3 งวด โดยงวดแรกชำระ 50% งวดที่ 2 ชำระ 25% งวดที่ 3 ชำระ 25% เช่นเดิม ยกเว้นในกรณีที่ราคาประมูลสูงสุดมากกว่า 100% (หรือ 16,080 ล้านบาท) จะแบ่งการชำระออกเป็น 4 งวด โดยค่าประมูล 16,080 ล้านบาท แบ่งชำระเป็น 3 งวด ส่วนเหลือชำระในงวดที่ 4 ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันการสมยอมราคาจากการเปิดเผยวงเงินประมูลของผู้เข้าร่วมการประมูลแต่ละรายในตอนที่ไปกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำมาประมูล

    3.กำหนดวันประมูลเป็นวันที่ 15 ธ.ค. 2558 แต่หากมีกรณีเปลี่ยนแปลงวันประมูลที่แตกต่างจากเดิมให้เป็นอำนาจของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ที่จะดำเนินการได้ และสำนักงาน กสทช. จะแจ้งผู้เข้าร่วมประมูลให้ทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 15 วัน นับจากวันประมูล

    4.เงื่อนไขในส่วนของมาตรการทางสังคมและการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย  ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส เช่นเดียวกับเงื่อนไขในการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz

    และที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (ฉบับที่ 2) และให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ทั้งนี้ ร่างประกาศดังกล่าวเป็นการคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ได้ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยในช่วงระยะเวลาคุ้มครอง เงินรายได้จากการให้บริการที่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินจะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่าอัตราร้อยละของส่วนแบ่งรายได้ที่ผู้ให้บริการเคยนำส่งภายใต้สัญญาสัมปทาน ณ วันสุดท้ายก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

    ถัดจากนั้น ที่ประชุม กสทช. ได้พิจารณาเห็นชอบ (ร่าง) คำสั่ง กสทช. เรื่อง ระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดโทรคมนาคมที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด ซึ่งส่งผลให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่เดิมที่เคยประกาศไว้ถูกยกเลิกไป เนื่องจากสภาพตลาดในปัจจุบันมีการแข่งขันกันมากขึ้นทำให้ไม่มีผู้มีอำนาจเหนือตลาดในตลาดดังกล่าว ยังคงมีแต่ตลาดบริการอินเทอร์เน็ตประจำที่ที่มี บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด

    นายฐากร กล่าวว่า สำหรับเรื่องการชำระเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอล ที่ประชุม กสทช. มีมติให้สำนักงาน กสทช. ทำหนังสือแจ้งรายละเอียดไปยัง ปปช. สตง. และสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อขอความเห็นอีกครั้งหนึ่ง พร้อมทั้งให้มีหนังสือกราบเรียนนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อรายงานความคืบหน้าในการดำเนินการต่อไป

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (8/3/2559 12:28:32)

Download

Page views: 373