กสทช. เดินหน้าประมูลคลื่น 1800 MHz ใบอนุญาตละ 15 MHz หลังก.ไอซีทีมีหนังสือยืนยันการคืนคลื่น 4.8 MHz อย่างเป็นทางการ

    นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กสทช. ได้รับหนังสือแจ้งยืนยันการคืนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 4.8 MHz ตามสัญญาสัมปทานระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร   (ไอซีที) แล้วภายในระยะเวลาที่กำหนด คือ ภายในวันที่ 25 ก.ย. 2558 เพื่อนำไปร่วมประมูลกับคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิม 25.2 MHz รวมเป็นจำนวน 30 MHz ตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 15/2558 เมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2558

    สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะพิจารณาอนุญาตให้ใช้ตามประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 1800 MHz ได้แก่ คลื่นความถี่ย่าน 1710-1740 MHz คู่กับ 1805-1835 MHz (2x30 MHz) โดยจะแบ่งเป็นคลื่นความถี่จำนวนสองชุดๆ ละ 2 x 15 MHz ได้แก่ ชุดที่หนึ่ง ช่วงความถี่ 1710 – 1725 MHz คู่กับ 1805 – 1820 MHz ชุดที่สอง ช่วงความถี่วิทยุ 1725 – 1740 MHz คู่กับ 1820 – 1835 MHz

    นายฐากร กล่าวว่า การดำเนินการขณะนี้อยู่ในขั้นตอนของการเปิดให้เข้ามารับเอกสารการประมูลโดยสำนักงาน กสทช. จะเปิดให้ผู้สนใจเข้ามาขอรับเอกสารการประมูลได้จนถึงวันที่ 28 ก.ย. 2558 และจะเปิดให้ยื่นเอกสารขอเข้าร่วมการประมูลในวันที่ 30 ก.ย. 2558 จากนั้นสำนักงานจะตรวจคุณสมบัติ ก่อนประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติที่มีสิทธิเข้าร่วมการประมูลภายใน 15 วัน สำหรับการประมูลกำหนดเป็นวันที่ 11 พ.ย. 2558

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จะประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz โดยใบอนุญาตมีอายุ 18 ปี ราคาเริ่มต้นการประมูล กรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่าจำนวนใบอนุญาตจะอยู่ที่ 80% ของมูลค่าคลื่นความถี่ คือ กำหนดไว้ที่ราคา 15,912 ล้านบาท ส่วนกรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาต ราคาเริ่มต้นจะเป็น 100% ของมูลค่าคลื่นความถี่ คือ 19,890 ล้านบาท และในการประมูลจะต้องมีการเคาะราคาอย่างน้อย 1 ครั้ง ทั้งนี้ ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดการจัดให้มีโครงข่ายเพื่อให้บริการอย่างน้อย 40% ภายใน 4 ปี และต้องจัดให้มีโครงข่ายไม่น้อยกว่า 50% ภายใน 8 ปี และเมื่อเปิดให้บริการแล้วอัตราค่าบริการทั่วไปจะต้องถูกลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ยของอัตราค่าบริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และต้องมีแพ็คเกจพิเศษที่มีราคาถูกกว่าปกติสำหรับผู้มีรายได้น้อย  ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส โดยผู้รับใบอนุญาตจะต้องมีการกำกับดูแลคุณภาพของการให้บริการด้วย โดยคุณภาพการให้บริการต้องไม่ต่ำกว่าคุณภาพการให้บริการเฉลี่ยของการให้บริการ 3G บนคลื่นความถี่ 2.1 GHZ ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน

    “การประมูลยังเป็นไปตามกรอบระยะเวลาเดิม สำนักงาน กสทช. เดินหน้าด้วยความมั่นใจว่าการประมูลในครั้งนี้จะสร้างดุลยภาพในการใช้คลื่นความถี่ การแข่งขันในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เน้นผลประโยชน์รัฐ และคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก รวมทั้งจะนำมาซึ่งประโยชน์ของประชาชนผู้บริโภคและเศรษฐกิจของประเทศชาติ รวมทั้งอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย” นายฐากร กล่าว

 
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (8/3/2559 11:31:26)

Download

Page views: 218