กสทช. เผย10เดือน ยอดคนดูดิจิตอลทีวีช่องใหม่ 21 ช่องพุ่งประมาณ 14.5 ล้านคน คอลล์เซ็นเตอร์ 1200 รับเรื่องสอบถามใช้สิทธิคูปอง 2.6 แสนราย ร้องเรียนแค่ 5สาย เตรียมแจกคูปองล็อตใหม่ 10 กุมภาฯ นี้

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยผลการศึกษาของสำนักงาน กสทช. ภายหลังการแพร่ภาพโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลตั้งแต่เดือนเมษายน 2557 (ดิจิตอลทีวี) อย่างต่อเนื่องจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2558 พบว่า ประชาชนรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลา10เดือน  โดยเฉพาะภายหลังสำนักงานกสทช. แจกคูปองดิจิตอลทีวีให้ประชาชนนำไปแลกกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ทำให้ยอดผู้รับชมดิจิตอลทีวีช่องใหม่ (21ช่อง) พุ่งสูงขึ้นจากเดิมเมื่อตอนเริ่มต้นออกอากาศเดือนเมษายน 2557 ที่มีผู้ชมอยู่ร้อยละ 7 เป็นร้อยละ 24 ในเดือนมกราคม 2558 ซึ่งคิดเป็นยอดผู้รับชมช่องดิจิตอลทีวีใหม่ประมาณ 14.5 ล้านคน
    นายฐากร กล่าวว่า ผลการศึกษาดังกล่าวสอดคล้องกับข้อมูลการสำรวจของบริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัด ที่ระบุภายหลังจากที่มีการออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลเมื่อเดือนเมษายน 2557 ความนิยมในการรับชมช่องรายการทางโทรทัศน์ระบบภาคพื้นดินเพิ่มขึ้นโดยในสิ้นปีความนิยมอยู่ที่ร้อยละ 78 ขณะที่ความนิยมในการรับชมช่องรายการทางเคเบิลทีวีและทีวีดาวเทียมโดยสิ้นปีความนิยมอยู่ที่ร้อยละ 22 นอกจากนี้ยังมีปัจจัยของแนวโน้มที่ดีจากการปรับผังรายการใหม่ที่มีนำละครและรายการสาระบันเทิงที่ผลิตใหม่และการนำรายการที่ได้รับความนิยมอยู่แล้วมานำเสนอต่อประชาชน อาทิ ช่อง 23 (เวิร์คพอยท์ทีวี) ช่อง 31 (จีเอ็มเอ็ม วัน เอชดี) , และ ช่อง 27 (ช่อง 8) โดยในผังรายการของช่องในปี 2558 ได้นำรายการที่ได้รับความนิยมจากช่องทีวีเดิมมาใส่ในผังรายการของช่องรายการดิจิตอลทีวีของบริษัทด้วย
    นายฐากร กล่าวว่า สำหรับการปรับผังรายการของเวิร์คพอยท์ ทีวี และจีเอ็มเอ็ม วัน เอชดี โดยนำรายการที่ได้รับความนิยมสูงจากผังรายการโทรทัศน์ระบบรายเดิมมาออกอากาศในช่องของตนเอง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ความนิยมในการรับชมของทั้งสองช่องเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  สำหรับช่อง 27 (ช่อง 8) ช่อง 22 (เนชั่นแชนแนล)  ช่อง 21( วอยซ์ทีวี) ช่อง 19 (สปริงนิวส์) ซึ่งเป็นช่องที่มีประสบการณ์จากการออกอากาศผ่านระบบดาวเทียมสามารถรักษาความนิยมได้เป็นอย่างดี
    ทั้งนี้ช่อง 8 เป็นช่องที่สามารถเพิ่มฐานผู้ชมรายการได้อย่างรวดเร็วจากการผลิตรายการที่ตอบสนองความนิยมประชาชนในวงกว้าง อาทิ ละครหลังข่าวที่มีเนื้อหาเจาะตลาดประชาชนส่วนใหญ่ ในกลุ่มช่องรายการใหม่ อาทิ ช่อง29 (โมโน) ช่อง 32 (ไทยรัฐทีวี) ช่อง34 (อมรินทร์ทีวี) ช่อง 18 (นิวส์ทีวี) ในกลุ่มนี้ ช่อง 29  เป็นช่องที่มีความนิยมสูงที่สุดโดยการนำซีรี่ส์ละครที่เดิมต้องจากค่ารับชมในเคเบิลทีวีมาออกอากาศให้รับชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย  ผลการศึกษาพบว่า การมีแผนการตลาดและกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงการนำเอาเลขลำดับช่องรายการใส่ไว้ในชื่อช่องรายการเป็นปัจจัยที่มีผลส่งให้ช่องได้รับความนิยม
    นายฐากร ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า ผู้ชมโทรทัศน์เปลี่ยนพฤติกรรมการรับชมช่องรายการอย่างเห็นได้ชัดเจนจากการที่ช่องรายการโทรศัพท์ในระบบแอนะล็อกมีแนวโน้มจำนวนผู้ชมที่ลดลง  โดยส่วนแบ่งผู้ชมได้ย้ายมารับชมผ่านช่องดิจิตอลทีวีใหม่ทั้ง 21 ช่องรายการ จากข้อมูลของบริษัท เดอะ นีลเส็น คอมปะนี (ประเทศไทย) จำกัดพบว่าเมื่อเริ่มแพร่ภาพช่องดิจิตอลทีวีครั้งแรกในเดือนเมษายน 2557 มีจำนวนผู้รับชมร้อยละ 7 เพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 24 ในช่วงกลางเดือนมกราคม 2558 เติบโตอย่างรวดเร็วถึงเกือบ 4 เท่าตัวในช่วงระยะเวลา10 เดือน   ขณะที่ช่องรายการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกเดิม (3, 5, 7, 9,11 และไทยพีบีเอส ) ส่วนแบ่งผู้ชมค่อยๆ ลดลงจากร้อยละ 93 ในเดือนเมษายน 2557 เหลือร้อยละ 76 ในช่วงกลางเดือน มกราคม 2558หรือ ลดลงร้อยละ 20 นับตั้งแต่ กสทช.เปลี่ยนผ่านสู่ระบบดิจิตอลทีวี
    จากผลการศึกษาข้างต้น  สามารถสรุปได้ว่าประเทศไทยเป็นสังคมที่มีแนวโน้มการตอบรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีจากการเติบโตของการรับชมดิจิตอลทีวีที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีการเปลี่ยนเครื่องรับสัญญาณโทรทัศน์จากระบบแอนะล็อกไปเป็นระบบดิจิตอลเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคม2557 และการรับชมช่องรายการโทรทัศน์ผ่านกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้ (วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2558 เวลา 10.00 น.) ทั่วประเทศมีการนำคูปองแลกซื้อทีวีดิจิตอลและกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์แล้วจำนวน 3,057,004 ครัวเรือน  
    ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าวข้างต้นส่งผลให้ราคาค่าโฆษณาของช่องดิจิตอลทีวีในปี 2558 ในหลายช่องปรับตัวสูงขึ้น บางช่องนาทีละเกือบ 50,000 บาท ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมโทรทัศน์ทั้งในด้านการลงทุนและเกิดการแข่งขันด้านเนื้อหาสาระของรายการ ทำให้มีรายการดีมากขึ้น เป็นทางเลือกในการรับชมของประชาชน  และแนวโน้มอุตสาหกรรมโทรทัศน์เติบโตเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2558 นี้  
    เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ในส่วนของเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคูปองดิจิตอลทีวีทั่วประเทศระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ถึง 31 มกราคม 2558 ของศูนย์รับเรื่องร้องเรียนสำนักงาน กสทช. หมายเลขโทรศัพท์ 1200 พบว่ามีแนวโน้มการร้องเรียนลดน้อยลงมาก   โดยมีจำนวนผู้โทรสอบถามรวม 265,306 เรื่อง แบ่งเป็นการสอบถามเรื่องสิทธิในการได้รับคูปอง 160,230 เรื่อง โทรสอบถามเรื่องการแจก 64,643 เรื่อง สอบถามการได้รับคูปอง 4,934 เรื่อง สอบถามเรื่องการแลกคูปอง 23,531 เรื่อง สอบถามเกี่ยวกับบริการหลังการขาย 10,355 เรื่อง และโทรสอบถามเกี่ยวกับการขยายโครงข่าย 1,613 เรื่อง สำหรับเรื่องร้องเรียนมีผู้โทรเข้ามา 5 เรื่อง
    นายฐากร กล่าวอีกว่า ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ สำนักงาน กสทช. เตรียมพร้อมแจกคูปองดิจิตอลทีวีรอบที่ 5 อีก 517,463 ฉบับ ในพื้นที่อำเภอที่มีสัญญาณครอบคลุมไม่น้อยกว่าร้อยละ 8 ใน 36 อำเภอ ของ 7 จังหวัด คือ จ.สกลนคร จ.นครพนม จ.ลำปาง จ.น่าน จ.เพชรบูรณ์ จ.ประจวบคีรีขันธ์ และจ.นครศรีธรรมราช จำนวน 517,463 ครัวเรือน
    ทั้งนี้นับตั้งแต่10ตุลาคม 2557 เป็นต้นมา สำนักงาน กสทช. แจกคูปองดิจิตอลทีวีทั้งสิ้น 5 ครั้งรวมยอดแจกทั้งหมด 8,197,679 ฉบับ
สำหรับอำเภอที่จะแจกในรอบที่ 5 นี้ ได้แก่           
1.จ.สกลนคร 15 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองสกลนคร อ.กุสุมาลย์ อ.กุดบาก อ.พรรณานิคม อ.พังโคน อ.วาริชภูมิ อ.นิคมน้ำอูน อ.วานรนิวาส อ.ตำตากล้า อ.อากาศอำนาจ อ.สว่างดินแดง อ.ส่องดาว อ.โคกศรีสุพรรณ อ.เจริญศิลป์   และอ.โพนนาแก้ว
2.จ.นครพนม 9 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองนครพนม อ.ปลาปาก อ.ท่าอุเทน อ.เรณูนคร อ.ศรีสงคราม อ.นาหว้า อ.โพนสวรรค์ อ.นาทม และอ.วังยาง
3.จ.ลำปาง 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองลำปาง อ.เกาะคา อ.แม่ทะ  และอ.ห้างฉัตร
4.จ.น่าน 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองน่าน และอ.ภูเพียง
5.จ.เพชรบูรณ์ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.บึงสามพัน  
6.ประจวบคีรีขันธ์ 2 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองประจวบคีรีขันธ์ อ.หัวหิน
7.จ.นครศรีธรรมราช 2 อำเภอ ได้แก่ อ.ร่อนพิบูลย์ และอ.พรหมคีรี

Download

สร้างโดย  -   (9/3/2559 15:06:21)

Download

Page views: 126