กสทช. แย้ง CAT ใช้สิทธิไม่สุจริตในการฟ้อง“ประกาศห้ามซิมดับ”

 • ย้ำหมุด...! สัมปทานสิ้นสุด หมดสิทธิใช้คลื่น แนะในฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐที่เป็นผู้รับใบอนุญาต ควรปฏิบัติตามกฎหมาย โดยยึดประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลักชัย มากกว่าเอาผลประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับเป็นตัวตั้ง

            จากกรณีที่ ที่ประชุม (บอร์ดกสท) เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2556 มีมติให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT ยื่นฟ้องร้องต่อศาลปกครอง เพื่อขอเพิกถอน ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2556 (ประกาศห้ามซิมดับ) ที่ออกโดย กสทช. ตามที่เป็นข่าวนั้น

            ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. ด้านกฎหมาย เปิดเผยเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า ถือเป็นสิทธิที่ CAT สามารถกระทำได้ แต่จะสมเหตุสมผลตามที่ CAT กล่าวอ้างหรือไม่นั้นกระบวนการทางศาลจะเป็นผู้ตัดสินเอง ซึ่งกรณีนี้เป็นเรื่องที่ กสทช. ได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าอยู่แล้ว ว่า CAT ในฐานะเป็นผู้ประกอบการที่เคยได้ประโยชน์จากสัญญาสัมปทานย่อมพยายามใช้สิทธิของตนอย่างเต็มที่เพื่อปกป้องผลประโยชน์ที่ CAT คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ 1800 MHz และจากการออกประกาศห้ามซิมดับดังกล่าว แต่ในบทบาทของ กสทช. ที่ทำหน้าที่เป็นองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับดูแล ย่อมมีหน้าที่ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญที่จะต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะและคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน อีกทั้งยังต้องคุ้มครองผู้ใช้บริการไม่ให้ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนผ่านของระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต รวมทั้งต้องบังคับใช้ “ประกาศห้ามซิมดับ” ให้เกิดประสิทธิภาพเพื่อปกป้องประโยชน์ของประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนกว่า 18 ล้านคนให้สามารถใช้บริการต่อไปโดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ ดังนั้นจึงขอให้ประชาชนผู้ใช้บริการอย่าตื่นตระหนกกับข่าวการฟ้องคดีดังกล่าว เพราะ กสทช. เชื่อมั่นในฐานอำนาจและดุลพินิจโดยชอบ ซึ่งตั้งอยู่บนประโยชน์สูงสุดของประชาชน

            “ตราบใดที่ศาลปกครองกลางยังไม่มีคำสั่งเพิกถอนหรือสั่งห้ามบังคับใช้ประกาศห้ามซิมดับ การคุ้มครองประชาชนผู้ใช้บริการตามเงื่อนไขของประกาศดังกล่าว ก็ยังคงดำเนินต่อไป โดยประชาชนผู้ใช้บริการที่ยังตกค้างอยู่ในระบบ 2 จี บนคลื่น 1800 MHz ที่สิ้นสุดสัมปทานจะไม่ได้รับผลกระทบ จึงขอให้ประชาชนอย่าได้ตื่นตระหนกต่อกรณีที่ CAT ยื่นฟ้องในคดีดังกล่าว และกสทช.เองก็พร้อมและยินดีจะเข้าสู่กระบวนการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายจากกระบวนการยุติธรรม โดยมั่นใจว่ามีข้อกฎหมายรองรับชัดเจนว่าประกาศนี้ชอบด้วยกฎหมาย และเป็นมาตรการทางกฎหมายที่จำเป็นโดยไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่าที่จะสามารถคุ้มครองประโยชน์สาธารณะของประชาชนผู้ใช้บริการกว่า 18 ล้านคน ส่วนที่มีการอ้างว่าคลื่นความถี่ 1800 MHz หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดเป็นสิทธิของ CAT เพียงผู้เดียว ก็เป็นเรื่องที่มีข้อกฎหมายชี้ชัดแล้วว่า CAT ไม่มีสิทธิใช้คลื่นความถี่หลังสัญญาสัมปทานสิ้นสุดแล้ว โดยคลื่นความถี่ต้องกลับมาอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อนำไปจัดสรรใหม่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชนต่อไป ข้อเรียกร้องของ CAT จึงเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และหากมีการไปกระทำการใดๆเพื่อให้ CAT มีสิทธิใช้คลื่นความถี่โดยปราศจากความชอบธรรมทางกฎหมายแล้ว ก็เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้มีการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมาย”

            อย่างไรก็ตาม หากประกาศนี้ถูกยกเลิกไปเพื่อจะรักษาผลประโยชน์ของ CAT เพียงรายเดียวก็จะเกิดผลเสียหายต่อประชาชนจำนวนมาก ทั้งยังจะเป็นอุปสรรคต่อการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โดย CAT ไม่สามารถไปยึดโยงโดยอ้างสิทธิตามกฎหมายเก่า ซึ่งปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงไปแล้วและกฎหมายปัจจุบันไม่เปิดช่องให้มีการยื้อสิทธิตามสัญญาสัมปทานอีกต่อไป จำเป็นที่องค์กรที่เกี่ยวข้องจะต้องเร่งปรับแต่งองค์กรเพื่อให้ก้าวทันต่อกฎกติกาที่เปลี่ยนไป

            ทั้งนี้ กสทช. มีข้อกฎหมาย ข้อเท็จจริง และเหตุผลสนับสนุนที่หนักแน่นอย่างชัดเจนว่าข้อกล่าวหาของ CAT ไม่มีน้ำหนัก และไม่มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับ โดยหาก CAT ได้พิจารณาข้อกฎหมายทั้งรัฐธรรมนูญและพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 อย่างละเอียดรอบคอบและตระหนักถึงหน้าที่และความรับผิดชอบในการเยียวยาผู้ใช้บริการโดยตลอดแล้ว ก็จะทำให้ทราบได้ว่า CAT ไม่อาจอ้างสิทธิใดๆ ทั้งรัฐธรรมนูญ และตามสัญญาสัมปทานต่อไปได้อีก เพราะสิทธิดังกล่าวที่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญหมดสิ้นไปแล้ว เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายนที่ผ่านมา ครั้นจะไปอ้างสิทธิที่เกิดจากการสิ้นสุดของสัญญาสัมปทานก็ฟังไม่ขึ้นเพราะศาลปกครองเคยมีคำพิพากษาที่วางบรรทัดฐานเอาไว้ว่า สิทธิตามสัญญาสัมปทานจะไปขัดต่อบทบัญญัติของกฎหมายในปัจจุบันไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด CAT จึงไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากคลื่น 1800 MHz อีกต่อไป คลื่นความถี่ดังกล่าวจะต้องกลับมาสู่การกำกับดูแลของ กสทช. เพื่อรอที่จะมีการจัดสรรในช่วงเวลาที่เหมาะสมต่อไป

            ส่วนที่ CAT อ้างสิทธิในการได้รับโอนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดเสมือนกับว่าเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นสมบัติของ CAT ก็ฟังไม่ขึ้นเพราะทั้งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติตรงกันว่าเลขหมายโทรคมนาคมอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. ไม่ได้เป็นทรัพย์สินของรัฐวิสาหกิจอีกต่อไป ซึ่งเรื่องนี้มีหลายฝ่ายเข้าใจผิดและไม่ทราบว่า กติกาในเรื่องนี้ได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมไปแล้ว โดยที่ กสทช.มีอำนาจในการอนุญาตและกำกับดูแลการใช้เลขหมายโทรคมนาคม ซึ่งหากปรากฏว่าผู้รับใบอนุญาตไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขการอนุญาต โดยไม่มีเหตุผลอันสมควร กสทช.ก็มีอำนาจถอนคืนเลขหมายโทรคมนาคมได้ การที่ CAT อ้างว่ามีสิทธิในเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ หลังจากสิ้นสุดสัญญาสัมปทานโดยไปอ้างสิทธิตามสัญญาสัมปทานที่ผูกอยู่กับกฎหมายเดิม จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เมื่อ CAT ไม่มีสิทธิในการใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่ หลังจากสัญญาสัมปทานสิ้นสุดไปแล้ว CAT จึงไม่ได้รับความเสียหายใดๆ ในการที่ กสทช. ออกประกาศห้ามซิมดับ เพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชนโดยไม่ให้บริการสาธารณะหยุดชะงัก ตรงกันข้าม ผลจากการที่บริการโทรคมนาคมยังคงดำเนินการต่อไป CAT จะยังคงมีรายได้ ที่จะเกิดจากการให้เช่าโครงข่ายที่ผู้รับสัมปทานจะส่งมอบให้หลังสัมปทานสิ้นสุด ซึ่งเมื่อตามประกาศห้ามซิมดับกำหนดให้ CAT เป็นผู้ให้บริการด้วย ผู้ให้บริการที่ต้องใช้โครงข่ายในการให้บริการคลื่น 1800 MHz จึงต้องจ่ายค่าเช่าโครงข่ายแก่ CAT ตามที่จะตกลงกัน ประกาศห้ามซิมดับนี้จึงไม่ได้ไปทำให้ CAT เสียสิทธิใดๆ แต่กลับไปทำให้ CAT มีรายได้จากการให้เช่าโครงข่าย ตรงกันข้ามหากมีการเพิกถอนประกาศนี้ CAT เองก็จะได้รับความเสียหาย เพราะไม่สามารถให้บริการโดยใช้คลื่นความถี่นี้ได้ แต่ถ้า CAT ไปให้บริการโดยไม่มีประกาศนี้รองรับ ก็จะเป็นการกระทำความผิดต่อกฎหมายทันที นอกจากนี้ข้อกล่าวหาของ CAT ยังขัดแย้งกันเอง โดยอ้างว่าประกาศห้ามซิมดับไม่ชอบและยอมรับว่าสัญญาสัมปทานสิ้นสุด แต่กลับยืนยันว่าจะเป็นผู้ให้บริการแต่ผู้เดียวในระหว่างระยะเวลาคุ้มครองตามประกาศดังกล่าว นอกจากนี้ในขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ CAT ก็มีส่วนร่วมและแสดงความคิดเห็นตลอดกระบวนการ โดยได้ให้ความเห็นว่ายอมรับในอำนาจตามกฎหมายของ กสทช.ในการออกประกาศห้ามซิมดับ แต่ประสงค์จะเป็นผู้ดูแลผู้ใช้บริการและต้องการให้ขยายระยะเวลาคุ้มครองเป็น 2 ปี ซึ่งแสดงอยู่ในตัวว่า CAT ยอมรับในหลักการและความชอบด้วยกฎหมายของประกาศแล้ว แต่ไม่พอใจในรายละเอียดของเงื่อนไขจึงต้องการให้มีการปรับปรุงให้ชัดเจนเท่านั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบความเห็นเรื่องดังกล่าวของ CAT ได้จากผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะที่ กสทช. ได้เผยแพร่ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช.

            พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช. แสดงความเห็นว่า การใช้สิทธิในการฟ้องร้องคดีของ CAT ในครั้งนี้น่าจะเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต เพราะเป็นการเรียกร้องสิทธิทั้งๆที่ CAT รู้ดีว่าไม่มีสิทธิตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลงแล้ว นอกจากนี้ CAT ยังเข้าร่วมในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของร่างประกาศนี้มาโดยตลอดและหลายประเด็นที่ปรากฎในข่าว CAT ก็ไม่ได้หยิบยกขึ้นในช่วงที่มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ จึงเหมือนมีการเพิ่มเติมประเด็นขึ้นมาใหม่เพื่อจะได้ใช้เป็นข้ออ้างในการฟ้องคดี รวมทั้งมีการหยิบยกข้อมูลที่ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นมาอ้าง กล่าวคือเรื่องการเร่งการโอนย้ายเลขหมายนั้น ข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง คือ กสทช. ไม่ได้เข้าไปก้าวล่วงสิทธิของคู่สัญญาสัมปทานก่อนที่สัญญาสัมปทานยังไม่สิ้นสุด และยึดหลักการที่ว่า การโอนย้ายต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจ แม้ว่าจะมีข้อเรียกร้องของนักวิชาการบางคนที่ต้องการให้มีการโอนย้ายแบบเหมาเข่งก็ตาม แต่ กสทช. ก็ไม่ได้ปฏิบัติตาม ซึ่งตัวแทนของ CAT เองก็รับรู้ในเรื่องนี้มาโดยตลอด

            “การออกประกาศห้ามซิมดับนี้ไม่ได้เป็นการให้ “สิทธิ” ใดๆในการใช้คลื่นความถี่แก่ผู้ประกอบการรายใด แต่เป็นการกำหนด “หน้าที่” ให้ผู้ให้บริการต้องให้บริการต่อไป เพื่อมิให้บริการสาธารณะต้องหยุดชะงัก จึงไม่ได้เป็นเรื่องของการประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่เป็นเรื่องที่จะต้องช่วยเหลือประชาชนในระหว่างเปลี่ยนผ่านระบบไม่ให้ได้รับผลกระทบ ซึ่งประกาศนี้ยืนยันชัดเจนว่า ผู้ให้บริการประกอบด้วยทั้งผู้ให้สัมปทานเดิมและผู้รับสัมปทานเดิม ฉะนั้น ทั้ง CAT รวมทั้งผู้รับสัมปทานเดิมจึงมีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามประกาศฯ โดยไม่สามารถอ้างสิทธิเดิมตามสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดไปแล้ว เพื่อมาลบล้างหน้าที่ตามประกาศนี้ได้” รองประธาน กสทช. กล่าวทิ้งท้าย ด้านแหล่งข่าวในวงการกิจการโทรคมนาคม ได้ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่า ประเด็นการฟ้องของ CAT เหมือนกับอ้างการเป็นหน่วยงานของรัฐเพื่อเรียกร้อง “สิทธิ” ในการปกป้องประโยชน์ของหน่วยงาน โดยไม่ได้คำนึกถึงประโยชน์ของประชาชน ซึ่งในฐานะที่ CAT ไม่ได้เป็นเพียงผู้รับใบอนุญาต แต่เป็นรัฐวิสาหกิจด้วย จึงไม่ควรมุ่งแสวงหากำไรเข้าหน่วยงานของตนเพียงอย่างเดียว แต่ควรมีจิตสำนึกที่จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและประโยชน์ของประชาชน ตลอดจนควรดำรงตนให้เป็นตัวอย่างที่ดีในการปฏิบัติตามกฎหมาย ดังนั้นการที่ยื่นฟ้องเพื่อให้เพิกถอนประกาศห้ามซิมดับและเรียกร้องการได้สิทธิในการใช้คลื่นความถี่ แม้สัญญาสัมปทานจะหมดไปแล้วเพียงเพื่อปกป้องประโยชน์ของ CAT แต่อย่างเดียวนั้นจึงดูไม่สมเหตุสมผล และที่สำคัญ CAT รู้อยู่เต็มอกว่าตนไม่มีสิทธิตามสัญญาสัมปทานอีกต่อไป และเมื่อไม่มีสิทธิจึงไม่มีความเสียหายเกิดขึ้น และที่ประหลาดใจมากไปกว่านั้น ก็คือ ประกาศฯนี้ถือเป็นอาวุธลับที่ช่วยให้ CAT ได้รับประโยชน์จากการให้เช่าโครงข่าย 2 จี เพราะถ้าไม่มีประกาศฯนี้ก็ไม่มีใครสามารถใช้คลื่น 1800 MHz ที่หมดอายุสัมปทานได้ และเมื่อไม่มีการใช้คลื่น 1800 MHz โครงข่าย 2จี ที่อยู่ในมือ CAT ก็จะกลายเป็นซากเศษเหล็กที่ไร้คุณค่าไปโดยปริยาย

            ดังนั้นการที่ CAT ฟ้องเรียกค่าเสียหายกว่า 3 แสนล้านบาทที่ไม่มีจริงนั้น จึงฟังไม่ขึ้น อีกทั้งยังจะต้องใช้งบประมาณของรัฐในกรอบวงเงินสูงถึง 280 ล้านบาท เพื่อเป็นค่าขึ้นศาลในการฟ้องคดีต่อ กสทช.นั้น แสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตและทำให้รัฐเสียหายอย่างมาก ซึ่งหากผลการดำเนินการฟ้องคดีดังกล่าวมีความเสียหายเกิดขึ้นก็ควรที่ผู้บริหารที่เกี่ยวข้องของ CAT จะต้องออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย

............................................……………………………………………………………………………………………………………… 

Download

  • กสทช-แย้ง-CAT.docx

สร้างโดย  -   (18/3/2559 14:25:10)

Download

Page views: 722