ผลการหารือรองวิษณุ ได้ข้อเสนอ 3 แนวทางเพื่อเสนอนายกรัฐมนตรี/หัวหน้า คสช. พิจารณา

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า วันนี้ (8 เม.ย. 2559) สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) ได้เข้าชี้แจงต่อนายวิษณุ เครืองาม
รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะคณะทำงานคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมทั้ง นายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) อัยการสูงสุด เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และตัวแทนจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เข้าร่วมประชุมด้วย ณ ทำเนียบรัฐบาล กรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (เอไอเอส) ได้ทำหนังสือถึงสำนักงาน กสทช. เพื่อเสนอต่อหัวหน้า คสช. กรณีเอไอเอสจะรับช่วงคลื่น 900 MHz ต่อจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ในราคา 75,654 ล้านบาท ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. ได้เสนอแนวทาง 3 แนวทาง ให้ที่ประชุมพิจารณา ดังนี้
    แนวทางที่ 1 ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ตามกรอบระยะเวลาและร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่ผ่านมติของที่ประชุม กสทช. เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2559 ที่ผ่านมา
    แนวทางที่ 2 เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 ให้ผู้ที่เสนอราคาประมูลลำดับถัดไปรับช่วงคลื่น 900 MHz ต่อจากบริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด จำกัด ในราคา 75,654 ล้านบาท และขอขยายมาตรการเยียวยาซิมดับจากเดิมที่จะครบกำหนดในวันที่ 14 เม.ย. นี้
    แนวทางที่ 3 เสนอให้ คสช. ใช้มาตรา 44 โดยยึดร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz
ที่ผ่านมติของที่ประชุม กสทช. มาปรับแก้และลดกระบวนการให้เร็วขึ้น ทำให้การประมูลจะเกิดขึ้นในวันที่ 22 พ.ค. 2559 เร็วขึ้นกว่าเดิม 1 เดือน พร้อมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการรายใหม่ๆ ในตลาดเข้าร่วมประมูลด้วย รวมทั้งให้ขยายมาตรการเยียวยาซิมดับของเอไอเอส
    โดยข้อสรุปในการประชุมวันนี้ได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. วิเคราะห์แนวทางทั้ง 3 แล้วนำเสนอแนวทางที่ดีที่สุดไปยังนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้า คสช. เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าสำนักงานฯ จะทำหนังสือเสนอต่อหัวหน้า คสช. อีกครั้ง ไม่เกินวันที่ 9 เม.ย. นี้ เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวเป็นไปอย่างรวดเร็ว
    “ สาเหตุที่ขอใช้มาตรา 44 จะทำให้กระบวนการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เร็วขึ้น เพื่อให้ปราศจากการแทรกแซงหรือเหตุอื่นที่อาจทำให้การประมูลต้องสะดุดหยุดลง ทั้งยังเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ เกิดรายได้เข้าสู่รัฐ และประชาชนได้ใช้คลื่นเร็วขึ้นอีกด้วย” นายฐากร กล่าว

สร้างโดย  -   (12/4/2559 10:07:54)

Download

Page views: 30