สรุปเนื้อหาการประชุมเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT และการเป็นผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT” โดย พันเอก ดร. นที ศุกลรัตน์"

ตามที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้พิจารณาในการประชุม นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 กำหนดให้ การให้บริการกระจายเสียงหรือบริการโทรทัศน์ผ่านโครงข่ายอื่นที่ไม่ใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ (Over The Top) เป็นกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ในการประชุมครั้งที่ 16/2560 เมื่อวันจันทร์ที่ 12 มิถุนายน 2560 ได้พิจารณาข้อเท็จจริงที่ปรากฏในปัจจุบันพบว่า มีบุคคลที่มีการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือการให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องตามมติที่ประชุม กสทช. นัดพิเศษ ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560 จึงมีมติกำหนดแนวทางและขั้นตอนการแจ้งเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ในรูปแบบ OTT และแนวทางการกำกับดูแล ดังนี้
  1. ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หมายถึง ผู้ดำเนินการส่งข่าวสารหรือรายการ ที่เป็นเสียง หรือภาพและเสียง ไปสู่สาธารณะด้วยการใช้ภาษาไทยหรือการใช้สัญลักษณ์ใดๆ ที่ทำให้คนไทยสามารถเข้าใจได้ในลักษณะเดียวกับการใช้ภาษาไทย หรือเป็นเนื้อหาเกี่ยวกับประเทศไทย ผ่านทางโครงข่ายอื่นที่มิใช่โครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ ไปยังเครื่องรับภายในประเทศไทย โดยประชาชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่อง หรือมีอิทธิพลต่อการรับรู้ของประชาชนจนอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
  2. ผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หมายถึง ผู้ให้บริการเชื่อมโยงหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียงหรือภาพของผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ไปยังเครื่องที่สามารถรับสัญญาณผ่านทางระบบการเชื่อมโยงสัญญาณโดยสื่อตัวนำที่เป็นสาย คลื่นความถี่ แสง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือสื่อตัวนำอื่นใด โดยประชาชนให้ความนิยมและใช้งานกันอย่างแพร่หลาย หรือเป็นระบบการเชื่อมโยงหรือถ่ายทอดสัญญาณเสียงหรือภาพที่สร้างการรับรู้ของประชาชนจนอาจส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือความมั่นคงของรัฐ
  3. การยื่นแจ้งแบบการให้บริการหรือโครงข่าย OTT ให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือเพื่อให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หากประสงค์จะให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือบริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ให้แจ้งต่อคณะกรรมการหรือผู้ที่คณะกรรมการมอบหมาย เพื่อพิจารณากำหนดเงื่อนไขการให้บริการเพิ่มเติม ส่วนผู้ที่มีรูปแบบการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ให้คณะกรรมการหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการ แจ้งให้บุคคลดังกล่าวแสดงตนและเข้าแจ้งเป็นผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ภายใน 30 วันนับตั้งแต่ได้รับการแจ้ง ทั้งนี้ การยื่นแจ้งแบบการให้บริการหรือโครงข่าย OTT สามารถดำเนินการด้วยตนเองโดยจะต้องเป็นผู้ที่มีถิ่นพำนักหรือสถานที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการให้บริการในประเทศไทย หรือสามารถดำเนินการโดยตัวแทน ซึ่งเป็นผู้แทนการให้บริการในประเทศไทย ซึ่งมีถิ่นพำนักหรือสถานที่ประกอบกิจการในประเทศไทย ตลอดระยะเวลาการให้บริการในประเทศไทย
  4. การกำกับดูแลการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือให้บริการโครงข่ายในรูปแบบ OTT ให้ปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการให้บริการเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ เว้นแต่ ประกาศ หลักเกณฑ์ หรือระเบียบว่าด้วยผังรายการ ค่าธรรมเนียม การหารายได้ การให้บริการโทรทัศน์ที่เป็นการทั่วไป การเผยแพร่รายการโทรทัศน์สำคัญ และการจัดลำดับหมวดหมู่บริการ มิให้นำมาบังคับใช้จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้ ผู้ให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT หรือผู้ให้บริการโครงข่ายกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ที่ไม่ดำเนินการตามแนวทางหรือขั้นตอนที่กำหนดไว้ ถือว่าเป็นผู้ที่ไม่ได้รับอนุญาตให้บริการกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ OTT ในประเทศไทย

Download

  • Presentation-OTT-23-06-2560.pptx
  • สรุปเนื้อหาการประชุม-OTT-23-มิ-ย-60.docx

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (23/6/2560 15:27:20)

Download

Page views: 337