สำนักงาน กสทช. ยกทีมลงพื้นที่นครพนม เปิดกิจกรรมให้ความรู้เรื่องโรมมิ่งชายแดน 7 จังหวัด ริมโขง

กสทช. เปิดกิจกรรมและเปิดตัวรถแห่ประชาสัมพันธ์และออกบูทนิทรรศการให้ความรู้ เรื่อง การใช้บริการโรมมิ่ง และโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่บริเวณชายแดน ทั้ง 7 จังหวัด ณ บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม เพื่อป้องกันปัญหาการสูญเสียเงินจำนวนมากจากการถูกคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ
    วันนี้ 8 พฤษภาคม 2557 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดงานพิธีเปิดกิจกรรมและเปิดตัวรถแห่ประชาสัมพันธ์ และการออกบูทนิทรรศการให้ความรู้ เรื่อง การใช้บริการโรมมิ่งและโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่บริเวณชายแดน ขึ้น ณ บริเวณหน้าวัด พระธาตุพนมวรมหาวิหาร อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม โดยมี ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นประธานในพิธีเปิดและพิธีปล่อยขบวนรถแห่ประชาสัมพันธ์ และมีนายอดิศักดิ์ เทพอาสน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ร่วมในพิธีเปิดด้วย
    ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. กล่าวว่า ภารกิจสำคัญประการหนึ่งของ กสทช. คือ การคุ้มครองผู้บริโภคในการใช้บริการโทรคมนาคมต่างๆ ทั้งโทรศัพท์บ้าน โทรศัพท์มือถือ โทรศัพท์สาธารณะ และอินเทอร์เน็ต เพื่อให้ประชาชนผู้บริโภคสามารถเข้าถึงและใช้บริการเหล่านี้ได้อย่างเท่าเทียมและเท่าทันต่อเทคโนโลยีที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งในปีที่ผ่านมา กสทช. ได้มอบนโยบายให้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการต่างๆ เพื่อสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนผู้บริโภคทั่วประเทศเกี่ยวกับสิทธิในการใช้บริการโทรคมนาคม ประโยชน์ของการใช้งานโทรคมนาคมประเภทต่างๆ ตลอดจนรับทราบข้อมูลหรือข้อเท็จจริงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้สามารถใช้บริการโทรคมนาคมได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะประชาชนทั้งผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะประเทศลาว และนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่เดินทางไปในพื้นที่ดังกล่าวที่จำเป็นต้องใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่และอุปกรณ์โทรคมนาคมต่างๆ ในการติดต่อสื่อสาร แต่ยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในเรื่องการใช้บริการและอาจนำไปสู่การสูญเสียเงินจำนวนมาก ซึ่ง สำนักงาน กสทช. ได้พยายามหาวิธีการและแนวทางต่างๆ ในการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเบื้องต้น รวมทั้งส่งเสริมความรู้ความเข้าใจให้แก่ผู้บริโภคโดยการจัดกิจกรรมต่างๆ เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยในพื้นที่บริเวณชายแดน
    การจัดกิจกรรมในวันนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กสทช. จังหวัดนครพนม และอีก 6 จังหวัด ที่มีชายแดนติดกับประเทศลาว ในการส่งเสริมให้ผู้บริโภคและประชาชนทั่วไปมีความตระหนักรู้ในเรื่องใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณชายแดนได้อย่างเท่าทัน รวมทั้งสามารถป้องกันปัญหาการถูกคิดค่าบริการโรมมิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นโดยไม่รู้ตัวแล้ว ยังเป็นการสนับสนุนให้หน่วยงานต่างๆ ในระดับจังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ได้มีส่วนร่วมในการคุ้มครองผู้บริโภคและการส่งเสริมให้ประชาชนรับรู้ถึงสิทธิในการใช้บริการโทรคมนาคม และสามารถใช้บริการโทรคมนาคมต่างๆ ได้อย่างเท่าทันและคุ้มค่าอีกด้วย โดยพิธีเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และปล่อยรถประชาสัมพันธ์เคลื่อนที่ในวันนี้จะเป็นไฮไลท์ของกิจกรรมเพื่อให้เกิดความสนใจและการตื่นตัวในเรื่องนี้
    ดร.สุทธิพลฯ กล่าวอีกว่า ความร่วมมือของทุกฝ่ายในวันนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ประชาชนผู้บริโภค และจะนำไปสู่การเลือกใช้บริการโทรคมนาคมของประชาชนได้อย่างเหมาะสม คุ้มค่า และมีประสิทธิภาพต่อไป
    ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า การจัดกิจกรรมเผยแพร่ความรู้เรื่องการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บริเวณชายแดนเพื่อป้องกันปัญหาการถูกคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติในครั้งนี้ เป็นโครงการระยะที่ 2 ต่อเนื่องจากโครงการในปีที่แล้ว ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาการถูกคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติ หรือ บริการโรมมิ่งของผู้บริโภค ทั้งในกรณีเดินทางไปต่างประเทศและการใช้โทรศัพท์ในพื้นที่บริเวณชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยมีสาเหตุมาจาก การรบกวนกันของสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ระบบ GSM จากเครือข่ายผู้ให้บริการในประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อผู้ใช้บริการเปิดบริการโรมมิ่งอัตโนมัติไว้ ระบบจะค้นหาเครือข่ายเอง จากนั้นเมื่อพบสัญญาณระบบ GSM ของผู้ให้บริการในประเทศเพื่อนบ้าน ก็จะเชื่อมต่อสัญญาณโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่โดยเฉพาะสมาร์ทโฟน หรืออุปกรณ์โทรคมนาคมอื่นๆ อย่างเช่น แท็บเล็ต พอโทรออกหรือรับสายหรือเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ในขณะที่มีการเชื่อมต่อสัญญาณดังกล่าว ก็จะทำให้ถูกคิดค่าบริการโรมมิ่งทันที หรืออีกสาเหตุหนึ่งคือ ผู้ใช้บริการมักจะสมัครใช้บริการโรมมิ่งไว้ในครั้งแรกแล้วไม่ได้แจ้งยกเลิก จึงทำให้เครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่มีการเชื่อมต่อสัญญาณโดยอัตโนมัติ และเมื่อมีการใช้งานก็จะถูกคิดค่าบริการโรมมิ่งทันที ทั้งนี้ เนื่องจากความอัจฉริยะของสมาร์ทโฟน
    การดำเนินโครงการฯ ระยะที่ 1 ได้มุ่งเน้นเรื่องการจัดอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการถูกคิดค่าบริการข้ามแดนอัตโนมัติของผู้ใช้บริการ ทั้งในกรณีที่นำโทรศัพท์เคลื่อนที่หรืออุปกรณ์สื่อสารไปใช้ในระหว่างการเดินทางไปต่างประเทศ และการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่บริเวณชายแดนติดกับประเทศเพื่อนบ้าน ตลอดจนวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาดังกล่าวให้แก่หัวหน้าส่วนราชการและผู้นำชุมชนต่างๆ เพื่อให้มีการเผยแพร่ข้อมูลต่อไปยังประชาชน รวมทั้งมีการจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์ในรูปแบบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจกับประชาชนในพื้นที่ในจังหวัดบึงกาฬ จังหวัดหนองคาย และจังหวัดเชียงราย ซึ่งโครงการในระยะนี้ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2556 โดยผลลัพธ์ออกมาเป็นที่น่าพอใจ และประชาชนมีการรับรู้ข้อมูลดังกล่าวเพิ่มมากขึ้น
    สำหรับโครงการในระยะที่ 2 จะขยายวงกว้างให้ครอบคลุมพื้นที่ในจังหวัดอื่นที่ประสบปัญหาเช่นเดียวกันอีก 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี โดยการดำเนินกิจกรรมในระยะนี้จะประกอบด้วยการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ อาทิ สปอตวิทยุ โดยออกทางสถานีวิทยุกระจายเสียง คลื่น FM จำนวน 25 สถานี ใน 7 จังหวัด รวมทั้งการจัดรถแห่ประชาสัมพันธ์ขนาดเล็ก จำนวน 7 คัน เพื่อวิ่งประชาสัมพันธ์ในทั้ง 7 จังหวัด การออกบูธนิทรรศการและการจัดกิจกรรมให้ความรู้โดยการใช้รถประชาสัมพันธ์ขนาดใหญ่เพื่อส่งเสริมการตระหนักรู้เรื่องการใช้บริการโรมมิ่งและโทรศัพท์เคลื่อนที่ในพื้นที่บริเวณชายแดน จำนวน 3 ครั้ง ครั้งที่ 1 ในวันที่ 8 พฤษภาคม ณ บริเวณหน้าวัดพระธาตุพนมวรมหาวิหาร จังหวัดนครพนม ครั้งที่ 2 ในวันที่ 17 พฤษภาคม ณ บริเวณอำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย และครั้งที่ 3 ในวันที่ 24 พฤษภาคม ณ บริเวณสามเหลี่ยมทองคำ อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย
    ส่วนรายละเอียดภายในงานนั้น จะเป็นการเปิดกิจกรรมประชาสัมพันธ์และเปิดตัวรถแห่ประชาสัมพันธ์ และพิธีปล่อยขบวนรถแห่ประชาสัมพันธ์ขนาดเล็ก “เตือนภัย..ใช้มือถือริมโขง ระวังโรมมิ่ง” โดยรถแห่ประชาสัมพันธ์ดังกล่าว จะวิ่งประชาสัมพันธ์ในอำเภอต่างๆ ที่อยู่ติดกับประเทศเพื่อนบ้านของ 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดหนองคาย จังหวัดบึงกาฬ จังหวัดเชียงราย จังหวัดเลย จังหวัดนครพนม จังหวัดมุกดาหาร และจังหวัดอุบลราชธานี
    นอกจากนี้ สำนักงาน กสทช. ยังมีการออกบูธนิทรรศการเคลื่อนที่และจัดกิจกรรมให้ความรู้ในเรื่องสิทธิของผู้บริโภคในการใช้บริการโทรคมนาคม ในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศเป็นระยะๆ รวมทั้งการประชาสัมพันธ์ผ่านป้ายบิลบอร์ด ป้ายไวนิล เอกสารประชาสัมพันธ์ เอกสารแผ่นพับต่างๆ และมีการเผยแพร่ช่องทางในการรับเรื่องร้องเรียนเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้บริการโทรคมนาคมอีกด้วย

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (14/3/2559 16:04:41)

Download

Page views: 505