“สุทธิพล”เคลียร์ปมการออกใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม

“สุทธิพล”เคลียร์ปมการออกใบอนุญาตดาวเทียมไทยคม
• กสทช. ปกป้องผลประโยชน์ของชาติสำเร็จ อัดกลุ่มหน้าเดิมบิดเบือนข้อมูล ซ้ำรอยกรณีประมูลคลื่น 3 จี 


               ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย และในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. เปิดเผยถึง กรณีที่มีการนำประเด็นที่ กสทช. โดย กทค. ให้ใบอนุญาตประกอบกิจการแก่บริษัทไทยคม จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ให้บริการช่องดาวเทียม ที่มีอายุ 20 ปี โดยไม่ผ่านการประมูลคลื่นความถี่ ไปร้องต่อคณะกรรมาธิการของวุฒิสภา ว่า การนำประเด็นนี้ไปร้องต่อคณะกรรมาธิการนั้น น่าจะเกิดจากการที่ผู้วิจารณ์และผู้ร้องไม่ได้ตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบ จึงทำให้มีความคลาดเคลื่อน ทั้งในข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย และเกิดความเสียหายต่อ กทค. จึงขอชี้แจง ว่า เรื่องที่โจมตี กทค. ดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด  เนื่องจาก ใบอนุญาตที่ กสทช. โดย กทค. อนุมัติให้ บมจ.ไทยคมเป็นใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมมิใช่ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ ตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 จึงไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับของบทบัญญัติดังกล่าว และไม่ต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่  ข้อมูลที่คลาดเคลื่อนน่าจะเกิดจากการนำเอาเรื่องการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมกับเรื่องการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่มาปนกันทำให้เกิดความสับสน

               กรรมการ กสทช. กล่าวด้วยว่า แท้จริงแล้วการที่ กทค. อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมในครั้งนี้เป็นการปกป้องผลประโยชน์ของชาติ เนื่องจากทำให้ประเทศไทยสามารถรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมไว้ได้  ในขณะที่ บมจ.ไทยคม ได้ดำเนินการภายใต้มติ ครม. ที่อนุมัติให้ บมจ.ไทยคม ดำเนินการรักษาสิทธิวงโคจรและจัดสร้างดาวเทียมดวงใหม่ขึ้นตามข้อกำหนด ITU ซึ่งหาก กสทช.ไม่ดำเนินการอนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้กับ บมจ.ไทยคม จะส่งผลทำให้ บมจ.ไทยคม ไม่สามารถดำเนินการติดต่อประสานงานเพื่อจัดหาดาวเทียมอื่นมาไว้ที่วงโคจรเป็นการชั่วคราวได้ และหากไม่มีดาวเทียมขึ้นให้บริการภายในเวลาที่กำหนด (ตามหลัก ITU) ประเทศไทยก็จะเสียสิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ 120 องศาตะวันออกที่ได้รักษาไว้ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายอย่างยิ่งต่อประเทศไทย

               โดยการประกอบกิจการดาวเทียมสื่อสารมีองค์ประกอบหลักสอง ประการ ได้แก่ ประการแรก การมีสิทธิเป็นผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะต้องได้รับการอนุญาตให้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ภายใต้อำนาจหน้าที่ของ กสทช.  และประการสอง จะต้องดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารจองสิทธิในวงโคจรและย่านความถี่ (Filing)  ที่จะใช้งานสำหรับดาวเทียมที่จะนำมาให้บริการ ซึ่งเอกสารดังกล่าวจะได้มาโดยผ่านกระบวนการระหว่างประเทศตามข้อกำหนดของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU)  ประเด็นที่มีการโจมตีนั้นเป็นเรื่องขั้นตอนในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามอำนาจหน้าที่ของกทค. ซึ่งในการดำเนินการ กทค.ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ทำให้ บมจ.ไทยคมเข้ามาอยู่ในระบบการควบคุมภายใต้กติกาโทรคมนาคมเสียก่อน  ซี่งการออกใบอนุญาตประเภทนี้ไม่ต้องดำเนินการโดยประมูลคลื่นความถี่ แต่หากภายหลัง บมจ.ไทยคม ต้องการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ เพื่อกิจการโทรคมนาคมก็ต้องดำเนินการโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ตามมาตรา 45 ส่วนการดำเนินการให้ได้มาซึ่งเอกสารจองสิทธิในวงโคจรและย่านความถี่ (Filing) นั้นจะต้องดำเนินการโดยกระบวนการระหว่างประเทศตามข้อกำหนด ITU

               นอกจากนี้ที่มีการโจมตีเงื่อนไขประกอบใบอนุญาต ว่า ให้บริษัท ไทยคม ส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานวงโคจรเพิ่มเติมที่ตำแหน่งวงโคจรใดๆ ได้ ซึ่งเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับบริษัท ไทยคม ที่เป็นผู้ประกอบการรายเก่าในการขยายสิทธิการใช้วงโคจรที่มีอยู่อย่างจำกัด จนอาจทำให้ไม่มีวงโคจรเหลือสำหรับผู้ประกอบการรายใหม่นั้น ก็ไม่เป็นความจริง ทั้งนี้เพราะตามข้อเท็จจริงนั้น ITU มิได้มีการจำกัดจำนวนสิทธิวงโคจรดาวเทียมที่ประเทศหนึ่งประเทศใดจะจองสิทธิแต่อย่างใด  ดังนั้นการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวจึงเป็นการกำหนดเพื่อผู้ประกอบการดาวเทียมสื่อสารทุกรายที่เป็นผู้ได้รับอนุญาตจาก กสทช. จะได้สามารถส่งเอกสารจองสิทธิการใช้งานวงโคจร (Filing) ที่วงโคจรใดๆ ก็ได้เช่นกัน มิใช่เป็นการอนุญาตหรือให้สิทธิเป็นการเฉพาะแก่ บมจ.ไทยคม

               “จึงขอยืนยันว่า กสทช. โดย กทค.  ได้พิจารณาออกใบอนุญาตดาวเทียมสื่อสารถูกต้องตามกฎหมาย และตามแนวทางการออกใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่คณะอนุกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการอนุญาตและกำกับดูแลกิจการบริการดาวเทียมสื่อสาร นำเสนอ ส่งผลให้สามารถปกป้องผลประโยชน์ของชาติ โดยรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกไว้ได้  และจะเป็นแนวทางที่จะช่วยส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการดาวเทียมรายใหม่ๆ  อันจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนากิจการดาวเทียมสื่อสารของไทยต่อไป ดังนั้นการที่มีกลุ่มคนบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวในเรื่องนี้ จึงควรศึกษ าข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้เข้าใจเสียก่อน มิเช่นนั้นอาจจะเกิดประวัติศาสตร์ซ้ำรอยจนเกือบจะทำให้ประเทศชาติเสียประโยชน์เหมือนกับกรณีการประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ที่ผ่านมา” ดร.สุทธิพล กล่าวทิ้งท้าย

Download

  • สุทธิพล-เคลียร์ปมไทยคม.pdf

สร้างโดย  -   (30/3/2559 15:09:55)

Download

Page views: 391