สุ่มศึกษาสปอตวิทยุโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงาม พบ 96%ผิด กม. ผู้บริโภคเสี่ยง "เสียรู้- เสียทรัพย์- เสียสุขภาพ -เสียชีวิต" เสนอ อย. กสทช. สตช. ดำเนินการอย่างเข้มงวด จริงจัง ฉับพลัน เพื่อปกป้องคุ้มครองประชาชน

 เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2556 ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)  ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ ร่วมกับ ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผศ.ภญ.ดร.สุนทรี ท.ชัยสัมฤทธิ์โชค คณะเภสัชศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมเสนอผลการศึกษา เรื่องการศึกษาวิเคราะห์ สปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามทางวิทยุกระจายเสียงที่ปรากฏในเว็บไซต์ พร้อมข้อเสนอแนะ ไปเสนอต่อ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พร้อมด้วย ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

                จากการศึกษาพบว่าปี 2555-2556 จำนวน 71 ชิ้นสปอต จาก 52 ผลิตภัณฑ์ ที่ส่วนใหญ่เป็นสปอตวิทยุ การใช้ข้อความที่เข้าข่ายการกระทำที่ต้องห้ามตามกฎหมาย แบ่งตามประเภทผลิตภัณฑ์ คือ โฆษณายา 26 ชิ้นสปอต จาก 18 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าผลิตภัณฑ์ยาทั้งหมดที่ส่งให้ตรวจสอบนั้นไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณา ซึ่งเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.ยา พ.ศ.2510 ในส่วนของเนื้อหาการโฆษณามีข้อความที่พบมากที่สุด คือ การโอ้อวดสรรพคุณว่าสามารถบำบัด บรรเทา รักษาหรือป้องกันโรคหรือความเจ็บป่วยได้อย่างศักดิ์สิทธิ์หรือหายขาดทั้งหมด 12 ชิ้นสปอต จาก 7 ผลิตภัณฑ์ ตัวอย่างข้อความ เช่น ไม่มีผลข้างเคียงปลอดภัยสูงสุด ช่วยฟื้นฟูได้อย่างมีประสิทธิภาพ คืนความสวยตัวช่วยดีๆ ไม่มีอันตราย สมุนไพรมหัศจรรย์ 14 ชนิดเกิดคุณประโยชน์อย่างมหาศาล รองลงมา คือ การแสดงสรรพคุณยาอันเป็นเท็จหรือเกินจริง พบ 11 ชิ้นสปอต จาก 9 ผลิตภัณฑ์  เช่น มีพลังอย่างน่าตื่นตาตื่นใจในการขับไล่เลือดเน่าเลือดเสียที่คอยจะจับกันเป็นลิ่มเลือด ช่วยให้มดลูกเข้าอู่ตึงกระชับ บรรเทาอาการเจ็บปีกมดลูก ช่วยวัยสาวกลับคืนมา ไล่จับไขมันส่วนเกินที่ร่างกายคุณไม่ต้องการ

                ด้านการโฆษณาอาหาร 41 ชิ้นสปอต จาก 30 ผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ ทางสำนักคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แจ้งว่าสปอตโฆษณาผลิตภัณฑ์ที่เข้าข่ายเป็นอาหารทั้งหมด ซึ่งตรวจพบว่าไม่ได้รับการอนุญาตโฆษณาจำนวน 39 ชิ้นสปอต จาก 29 ผลิตภัณฑ์ ฝ่าฝืนพ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 41 และมีการอ้วดอ้างว่ารักษาโรคได้สารพัด เช่น อ้างว่าช่วยในการบำบัดโรคเบาหวาน โรคภูมิแพ้ โรคหัวใจ โรคเอดส์ โรคไขข้ออักเสบ โรคเก๊าท์ โรคไต ฯลฯ

               ส่วนที่เหลือเป็นการโฆษณาเครื่องสำอางจำนวน 4 ชิ้นสปอต จาก 4 ผลิตภัณฑ์ แต่ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางไม่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณา

ทั้งนี้ทางมีเดียมอนิเตอร์และแผนงานพัฒนากลไกเฝ้าระวังระบบยามีข้อเสนอแนะ ดังนี้ คือ

               1. กสทช. ควรมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่ตรวจสอบเฝ้าระวัง ในระดับภูมิภาค เช่น กสทช. เขต และควรร่วมมือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบการปราบปรามผู้กระทำความผิด เช่น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ดำเนินการเพื่อให้มีการระงับการเผยแพร่อย่างทันเหตุการณ์ เร่งให้มีมาตรการหรือหลักเกณฑ์ ในทางจริยธรรมและการกำกับดูแลกันเองของสื่อในด้านการโฆษณาผลิตภัณฑ์ใช้เป็นแนวทางปฏิบัติกำกับดูแลกันเอง

               2. การบังคับใช้กฎหมาย ต้องดำเนินคดีในประเด็นโฆษณาคุณประโยชน์ คุณภาพ หรือสรรพคุณของอาหารอันเป็นเท็จหรือเป็นการหลอกลวงให้เกิดความหลงเชื่อโดยไม่สมควร เนื่องจากมีบทลงโทษถึงขั้นจำคุก ต้องพิจารณาพักใช้ใบอนุญาตผู้ประกอบการที่โฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมาย ควรมีฐานข้อมูลให้ประชาชนตรวจสอบการอนุญาตโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ต้องขออนุญาตก่อนการโฆษณาและฐานข้อมูลความผิดของผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ยังต้องเพิ่มการประสานงานในการบังคับใช้กฎหมายระหว่าง อย.กับกสทช. เช่น การขอหลักฐานบันทึกรายการที่ได้ออกอากาศไปแล้ว โดยให้ กสทช.เรียกผู้เกี่ยวข้องเพื่อให้ส่งหลักฐานให้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ออกอากาศแล้วพบโฆษณาที่ผิดกฎหมาย

               3. ผู้ประกอบการหากพบว่ามีผู้แอบอ้างโฆษณาผลิตภัณฑ์ของตนโดยผิดกฎหมาย ควรดำเนินคดีกับผู้แอบอ้างนั้น เพื่อยืนยันว่าไม่มีส่วนรู้เห็นกับการโฆษณานั้นแต่อย่างใด

               4. ประชาชน  ควรงดการฟังวิทยุ และการรับชมโทรทัศน์ ที่มีการโฆษณาผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ผิดกฎหมายเพื่อหลีกเลี่ยงหรือลดผลจากการถูกกล่อมจนเกิดความหลงเชื่อในโฆษณานั้น รู้เท่าทันการโฆษณา ร่วมกันเฝ้าระวัง เป็นนักร้องเรียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดการปัญหา เช่น ร้องเรียนไปยังสายด่วน อย. หมายเลข 1556 หรือร้องเรียนไปยังสำนักงาน กสทช.หมายเลข 1200

               5. ด้านการปรับปรุงกฎหมาย ควรเร่งให้เกิดมาตรการการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ โดยไม่ให้มีการตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ในลักษณะโอ้อวดเกินจริง ซึ่งสามารถใช้สื่อสารในการโฆษณาได้ และไม่ให้ตั้งชื่อผลิตภัณฑ์ชื่อเดียวกับผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถโฆษณาได้ ควรปรับปรุงบทลงโทษในส่วนของการโฆษณาให้มีโทษหนักขึ้น เนื่องจากปัจจุบันบทลงโทษโดยเฉพาะค่าปรับต่ำมาก มีความคุ้มค่าที่จะดำเนินการกระทำผิดกฎหมาย ควรเร่งผลักดันร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. … (ฉบับประชาชน) ให้มีผลบังคับใช้จริง

               ทั้งนี้ น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. จะนำเรื่องร้องเรียนเสนอเข้าคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อนำเสนอต่อ กสท.  ในเร็วๆ นี้ และในทางปฏิบัติจะรวบรวมข้อมูลและนำเสนอต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติต่อไป ส่วนด้าน ภญ.ศรีนวล กรกชกร รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาจะนำข้อมูลจากผลการศึกษานี้ไปตรวจสอบและดำเนินตามกฎหมายต่อไป ในขณะเดียวกัน อย.อยู่ในระหว่างการจัดทำหลักสูตรอบรมผู้ประกอบการด้านวิทยุชุมชน  และสร้างวิทยุชุมชนสีขาวที่เป็นแบบอย่างในการนำเสนอข้อมูลอาหารและยาที่ถูกต้องแก่ผู้บริโภค


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (24/3/2559 17:30:00)

Download

Page views: 599