อนุกรรมการฯ เห็นชอบร่างประกาศฯ และหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น 900 MHz

วันนี้ (7 พฤษภาคม 2557) คณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และคลื่นความถี่ 900 MHz ได้มีมติเห็นชอบการกำหนดราคาตั้งต้นในการประมูล (Reserve Price) คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz และได้มีการพิจารณา “ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 897.5 – 915.0 MHz/942.5 – 960.0MHz พ.ศ. ….” และ “ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ย่านความถี่ 897.5 – 915.0/942.5 – 961.0 เมกะเฮิรตซ์ (MHz)” โดยจะเสนอต่อที่ประชุม กทค. ต่อไป

    อนุกรรมการฯ จัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz โดยกำหนดให้ใช้วิธีประมูลชุดคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่จะให้อนุญาตพร้อมกัน และดำเนินการประมูลหลายรอบ โดยราคาประมูลในแต่ละรอบจะเพิ่มขึ้นตามลำดับ (Simultaneous Ascending Bid Auction) โดยคลื่นความถี่ที่จะประมูลในครั้งนี้ประกอบด้วยชุดคลื่นความถี่สำหรับการใช้งานคลื่นความถี่ในลักษณะแบบเป็นคู่ (paired band) ซึ่งจะมีแถบความถี่ขาขึ้นหรือ Uplink และแถบความถี่ขาลงหรือ downlink จำนวน 2 ชุดความถี่ ได้แก่

    ชุดที่ 1 ช่วงความถี่วิทยุ 897.5 – 905 MHz (Uplink) คู่กับ 942.5 – 950 MHz (Downlink)

    ชุดที่ 2 ช่วงความถี่วิทยุ 905 – 915 MHz (Uplink)  คู่กับ 950 – 960 MHz (Downlink)

    อนุกรรมการฯ เห็นชอบการกำหนดราคาตั้งต้นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz (Reserve Price) ซึ่งคำนวณโดยคณะผู้เชี่ยวชาญจากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ในราคา 563 ล้านบาทต่อเมกะเฮิรตซ์ ดังนั้นการประมูลจะเริ่มต้นที่ราคาตั้งต้นของชุดคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งแต่ละชุดจะมีราคาตั้งต้นดังต่อไปนี้

    ชุดที่ 1 มีคลื่นความถี่จำนวน 2 x 7.5 MHz ได้แก่ช่วงความถี่วิทยุ 897.5 – 905 MHz คู่กับ 942.5 – 950 MHz มีราคาตั้งต้นของใบอนุญาตให้ใช้ความถี่คือ 2x7.5x563 = 8,445 ล้านบาท

    ชุดที่ 2 มีคลื่นความถี่จำนวน 2 x 10 MHz ได้แก่ช่วงความถี่วิทยุ 905 – 915 MHz คู่กับ 950 – 960 MHz มีราคาตั้งต้นของใบอนุญาตให้ใช้ความถี่คือ 2x10x563 = 11,260 ล้านบาท

    ซึ่งหากรวมคลื่นความถี่ทั้งสองชุดจำนวน 2x17.5 MHz จะมีราคาตั้งต้นทั้งสิ้น 2x17.5x563 = 19,705 ล้านบาท

    หากเปรียบเทียบราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ย่าน 900 กับราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 2100 MHz ด้วยจำนวนคลื่นความถี่ต่อบล๊อกเท่ากับคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่กำหนดไว้ 4,500 ล้านบาท ต่อคลื่นความถี่จำนวน 1 บล็อก หรือ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz จะเท่ากับ 4,640 ล้านบาท ต่อคลื่นความถี่ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz จะเท่ากับ 5,630 ล้านบาท ต่อคลื่นความถี่ 2x5 เมกะเฮิรตซ์ ซึ่งมากกว่าราคาตั้งต้นของคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz และ 1800 MHz

    โดยวิธีการที่ได้มาถึงตัวเลขดังกล่าว เป็นวิธีการที่เป็นหลักสากลซึ่ง ITU ได้มีการใช้หลากหลายวิธีประกอบกัน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด ทั้งหมด 3 วิธี ซึ่งเป็นวิธีที่หน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมหลายหน่วยงานในต่างประเทศนิยมใช้ ได้แก่ วิธี Full enterprise value, วิธี Cost reduction value และ การทำ Benchmark โดยนำสถิติการประมูลคลื่นความถี่ทั่วโลกจำนวนกว่าร้อยการประมูลมาพิจารณา ทั้งนี้ กสทช. โดย กทค. ได้ดำเนินการพิจารณาเปรียบเทียบผลการประมาณการมูลค่าคลื่นความถี่ด้วยวิธีการที่หลากหลายดังกล่าวข้างต้นร่วมกัน เพื่อมากำหนดราคาตั้งต้นในการประมูล ซึ่งเป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพ มีความเหมาะสม รัดกุม ในด้านการคำนวณที่แม่นยำและรอบคอบที่มากขึ้นกว่าเดิม  และมีการคำนึงถึงความสามารถในการเข้าร่วมประมูลของผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ รวมทั้งผลการประมูลที่เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศประกอบด้วย และที่สำคัญยิ่งการกำหนดราคาเริ่มต้นในการประมูลจะต้องสร้างความมั่นใจได้ว่า เป็นราคาตั้งต้นที่จะสามารถทำให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ และสำหรับราคาที่ชนะการประมูลนั้นจะเป็นไปตามกลไกการแข่งขันในการประมูลเอง

    โดยขอบเขตที่ได้รับอนุญาต 15 ปี เริ่มต้นนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต ทั้งนี้ระยะเวลาการอนุญาตจะเริ่มต้นหลังจากวันที่สัญญาอนุญาตให้ดำเนินกิจการบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Cellular Mobile Telephone) ระหว่างองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย กับบริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด สิ้นสุดลง โดยผู้รับใบอนุญาตมีสิทธิให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะของการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อให้เช่าใช้และเพื่อให้บริการโทรคมนาคม (Network Provider and Service Provider) และการให้บริการสิ่งอำนวยความสะดวกด้านโทรคมนาคม (Telecommunications Facility) โดยมีขอบเขตในการประกอบกิจการโทรคมนาคมดังกล่าวทั่วราชอาณาจักรไทย โดยจะต้องจัดให้มีโครงข่ายเพื่อการประกอบกิจการครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปี นับจากวันที่ได้รับอนุญาต โครงข่ายโทรคมนาคมของผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องรองรับอัตราความเร็วในการส่งข้อมูลไม่น้อยกว่าอัตราที่กำหนดตามหลักเกณฑ์ว่าด้วยมาตรฐานและคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ผู้ได้รับใบอนุญาตจะต้องปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่องบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ. 2556 และจะต้องจัดให้มีบริการโครงข่ายโทรคมนาคม โดยมีขนาดความจุ (capacity) อย่างน้อยร้อยละ 10 ของโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งหมดของตนเอง ให้แก่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน

    นอกจากนี้ ร่างประกาศฯ ยังได้กำหนดเงื่อนไขและขอบเขตใบอนุญาตฯ ซึ่งผู้ขอรับใบอนุญาตต้องทำการรับรองตามข้อกำหนดในมาตรการข้อจำกัดพฤติกรรมสมยอมในการตกลงราคาประมูล การรับรองว่าเมื่อได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่แล้ว ผู้ขอรับใบอนุญาตยินยอมที่จะจัดให้มีและปฏิบัติตามแผนความรับผิดชอบต่อสังคม (Corporate Social Responsibility - CSR) ที่คณะกรรมการเห็นชอบ และลงนามรับรองในหนังสือยินยอมของผู้เข้าร่วมการประมูล โดยชำระค่าพิจารณาคำขอใบอนุญาตในอัตรา 500,000 บาท และวางหลักประกันการประมูลเป็นเช็คจากสถาบันการเงินประเภทธุรกิจธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ที่สั่งจ่ายสำนักงาน ซึ่งเป็นเช็คลงวันที่ที่ใช้เช็คนั้นชำระต่อสำนักงาน หรือก่อนหน้านั้นไม่เกินสามวันทำการ จำนวนร้อยละ 5 ของราคาขั้นต่ำของคลื่นความถี่ที่สามารถประมูลได้ ซึ่งคิดเป็นจำนวนเงิน 985,250,000 บาท

    ภายหลังจากการรับฟังความคิดเห็นร่างประกาศฯ ข้างต้น กทค. จะมีการนำเสนอต่อที่ประชุม กสทช. เพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อประกาศลงในราชกิจกานุเบกษา ในเดือนกรกฎาคม 2557 จากนั้นจะประกาศเชิญชวน และเผยแพร่ สรุปข้อสนเทศ (IM) ฉบับสมบูรณ์ พร้อมกำหนดระยะเวลาให้ผู้ยื่นประมูลมารับเอกสารเพื่อใช้ในการยื่นประมูลในปลายเดือนตุลาคม 2557 จากนั้นจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านคุณสมบัติเข้าร่วมการประมูลต้นเดือนพฤศจิกายน 2557 และจัดการประมูลพร้อมประกาศผลการประมูลในเดือนพฤศจิกายน 2557 ต่อไป ซึ่งเป็นไปตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553

    รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่จะเข้าสู่รัฐ ซึ่งโดยหลักการสากลนั้นไม่ได้มุ่งเน้นการแข่งขันในการประมูลเพื่อให้ได้รายได้สูงสุดเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมโทรคมนาคมด้วย  เพื่อให้เกิดนวัตกรรมการให้บริการใหม่ๆ เกิดการแข่งขันทางด้านคุณภาพและราคาค่าบริการ รวมไปถึงการสร้างงาน สร้างธุรกิจใหม่ๆขึ้นมากมาย จนเกิดการเติบโตในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ส่งผลต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวม ซึ่งนอกเหนือจากรายได้ที่รัฐได้จากการประมูลคลื่นความถี่แล้ว รัฐยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากค่าธรรมเนียม USO ด้วย ในที่สุดจะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติ และประชาชนต่อไป

Download

  • Press-Release-070557-อนุกรรมการฯ-เห็นชอบร่างประกาศฯ-และหลักเกณฑ์การประมูลคลื่น-900-MHz.doc

สร้างโดย  -   (14/3/2559 16:08:02)

Download

Page views: 54