สรุปมติที่ประชุม กทช. 27/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 27/2553
วันพุธที่  1  กันยายน 2553   เวลา  09.30  น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

 


ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.  ศาสตราจารย์ประสิทธิ์           ประพิณมงคลการ           ประธานกรรมการ
2.  นายสุชาติ                          สุชาติเวชภูมิ                  กรรมการ  
3.  นายสุรนันท์                        วงศ์วิทยกำจร                กรรมการ
4.  พันเอก นที                         ศุกลรัตน์                      กรรมการ
5.  นายบัณฑูร                         สุภัควณิช                     กรรมการ
6.  นายฐากร                           ตัณฑสิทธิ์                    รองเลขาธิการ กทช. รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช.
 


 
ระเบียบวาระที่  1    :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.  เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ได้เข้าร่วมพิธีเปิดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง Infrastructure Sharing : Policy & Regulatory Issue ที่โรงแรม Pullman  ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง ITU และสำนักงาน กทช. โดยมีผู้เข้าร่วมที่เป็นต่างชาติเกือบ 50 คน ในช่วงเย็นได้จัดให้มีงานเลี้ยง Cocktail เพื่อเป็นเกียรติแก่ชาวต่างชาติ ที่มาโดยทุนของตนเอง ได้พบกับ Regulator จาก ๒-๓ ประเทศ รวมทั้งที่มาจากปากีสถานด้วย ขอเชิญ กทช. ทุกท่านที่พอจะมีเวลาว่างไปรับฟัง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญด้าน Infrastructure Sharing มาบรรยาย ในช่วงเช้าวันนี้ทาง IDA ก็มาบรรยายเรื่อง Infrastructure Sharing ของหน่วยงาน ซึ่งก็เป็นเรื่องดี    มีเรื่องที่น่าสนใจจะได้สำเนาเอกสาร Agenda เพื่อมาแจกให้
2.  ประธาน กทช.กำลังจะลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรฐานฯ กทช. ท่านใดที่มีความประสงค์จะปรับปรุงแก้ไขขอให้นำเสนอในวันนี้จะได้ลงนามให้เรียบร้อย ซึ่ง กทช.บัณฑูรฯ จะมีเรื่องแจ้งให้ที่ประชุมทราบในเรื่องนี้ต่อไปด้วย

หมายเหตุ                  กทช. ได้มีเรื่องแจ้งต่อที่ประชุม รวมทั้งได้มีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ ในระหว่างวาระนี้ สรุปได้ดังนี้ 
3. กทช.บัญฑูรฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้สอบถาม ศาสตราจารย์เศรษฐพรฯ แล้วเพื่อทาบทามท่านเข้าร่วมในคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. ชุดใหม่ ซึ่งท่านเห็นว่าผู้ที่ดูแลเรื่องนี้ควรเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมเพราะเป็นการกำหนดมาตรฐานต่างๆจะได้ประโยชน์ ดังนั้น สำหรับตำแหน่งที่ว่างอยู่จึงจะขอเสนอ นายสุชัย รอยวิรัตน์ ซึ่งเป็นนายกสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ขณะนี้กำลังรอเอกสารอยู่ ซึ่งประธาน กทช. ได้แจ้งเพิ่มเติมว่า กทช.สุรนันท์ฯ ก็ได้เสนอ รศ.ดร.อภิรัฐ ศิริธราธิวัตร เป็นกรรมการเพิ่มเติมอีก 1 ท่าน
4.  กทช.พันเอก นทีฯ ได้เสนอชื่อ รศ.เอกชัย แสงอินทร์ เป็นกรรมการอีกท่านหนึ่ง ซึ่ง ประธาน กทช. ขอให้ กทช.พันเอก นทีฯ เสนอเป็นหนังสือเข้ามาด้วย ทั้งนี้ ขอให้มีการตรวจสอบคุณสมบัติว่าผู้ที่เป็นกรรมการ สรรหา กทช. จะเป็นกรรมการชุดอื่นด้วยได้หรือไม่ และถ้าหากมาเป็นกรรมการชุดใดแล้ว จะต้องลาออกจากกรรมการสรรหาหรือไม่ เพราะมิฉะนั้นอาจจะมีผลกระทบต่อคณะกรรมการสรรหาให้ต้องล้มไปได้เพราะคำสั่งแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการชุดอื่น
5.  กทช.พันเอก นทีฯ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงาน 3G ให้ที่ประชุมว่า ที่ผ่านมาเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ได้มีบริษัทยื่นเอกสารเข้าประมูล ทั้งสิ้น 4 ราย และมี 1 ราย  ที่ไม่มีเอกสาร 2 ชิ้นที่สำคัญ ซึ่งได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องนำมายื่นวันที่มายื่นเอกสาร ได้แก่แคชเชียร์เช็ค 1,280 ล้านบาท หรือเงินสด และหนังสือสนับสนุนจากธนาคาร ซึ่งเจ้าหน้าที่ไม่สามารถรับเอกสารไว้พิจารณาได้ เพราะขาดเอกสารในส่วนที่เป็นเงื่อนไขสำคัญซึ่งระบุชัดเจนว่าต้องนำมายื่นวันที่ยื่นเอกสาร ดังนั้นจึงมีผู้ยื่นเอกสารเข้าประมูลทั้งสิ้น 3 ราย ที่เข้าร่วมการแข่งขันในครั้งนี้ ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสเน็ทเวิร์ค บจ.ดีแทค อินเตอร์เน็ต เซอร์วิส และ บจ.เรียลมูฟ ซึ่งถ้าหาก 3 บริษัทผ่านคุณสมบัติเบื้องต้นจะเข้าสู่เงื่อนไข N-1 คือ แข่งขัน 3 ได้ 2 ซึ่งก็จะเป็นตัวอย่างของการดำเนินการตามเงื่อนไขดังกล่าว และขณะนี้ทุกๆคนก็ได้รับทราบข่าวแล้ว และสื่อมวลชนก็ให้ความสนใจ ในวันพรุ่งนี้จะมีการแถลงข่าวเกี่ยวกับกระบวนการในการดำเนินการประมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี เมื่อวานนี้ได้ไปชี้แจงกับคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์วุฒิสภา ได้รับทราบข้อมูลว่าโชคดีที่วันที่ 30 สิงหาคม 2553  “ฮั้วแตก” เพราะมีการเตรียมการบริษัทที่ 4 ไว้ แต่บังเอิญเกิดอุบัติเหตุทำให้ฮั้วแตก ซึ่งคิดว่ากฎกติกาของ กทช. มีความศักดิ์สิทธิ์เพียงพอที่จะทำให้การฮั้วทำได้ลำบาก เงื่อนไขที่ 1 คือ เงิน 1,280 ล้านบาท เงินจำนวนนี้อาจไม่มากนัก แต่ก็ต้องมีที่มาที่ไป ประการที่ 2 คือหนังสือรับรองจากธนาคาร ดังนั้น บริษัทโนเนม คิดจะเข้ามาป่วนการประมูลรับรองได้ว่าไม่มีธนาคารใดเซ็นหนังสือสนับสนุนให้ นั่น หมายความว่า ธนาคารมี Commitment ที่จะต้องสนับสนุนเงินจำนวน 4-5 หมื่นล้านบาท เพราะฉะนั้นคงไม่มีการที่จะออกหนังสือได้ง่ายๆ หลังจากที่ได้ชี้แจงไปแล้ว ก็มีกรรมาธิการบางท่านแสดงการสนับสนุนและขอให้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ของ กทช. ต่อไปเพราะท่านเห็นถึงความชอบธรรมและความโปร่งใสที่ได้ปฏิบัติงานกันมาซึ่งกรรมาธิการประมาณ 2-3 ท่าน ก็ได้โทรมาให้กำลังใจด้วย
6.  ประธาน กทช. ได้เรียนให้ที่ประชุมทราบเพิ่มเติมว่า กทช.สุธรรมฯ ได้ส่งหนังสือให้ประธาน กทช. ลงนามในประกาศกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 ว่า List 5 บริษัท มีบริษัท Mobile 3 บริษัท คือ บมจ.AIS บมจ. TRUE และ บมจ.DTAC  รวมทั้งมีของ บมจ. CAT และบมจ. TOT ด้วยซึ่งเป็นไปตามมติที่ประชุม จึงนำมาแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และขอหารือว่าโอกาสนี้เป็นเวลาที่เหมาะสมที่จะออกประกาศหรือไม่ และขอให้ กทช.พันเอก นทีฯ ให้ความเห็น ซึ่ง กทช.พันเอก นทีฯ เห็นว่าขณะนี้ทุกอย่างนิ่งแล้ว เป็นห้วงเวลาที่จะทำสิ่งดีๆสู่สังคม และได้หารือกับ รทช.ประเสริฐฯ เรื่อง การกำหนดอัตราขั้นสูงหรือเพดานของค่าบริการโทรคมนาคมใหม่ที่ราคา 1.50 บาท ตามประกาศ กทช.เรื่องอัตราขั้นสูงฯ โดยสมควรเร่งให้ที่ประชุม กทช. พิจารณา จึงทำให้เห็นว่า กทช. มีภารกิจ 2 ส่วน ส่วนหนึ่งคือ การคุ้มครองผู้บริโภค และอีกส่วนหนึ่งคือ การดำเนินการในเรื่องกระบวนการออกใบอนุญาต ซึ่งควรที่จะดำเนินการสิ่งเหล่านี้ คงไม่เสียหายถ้าจะประกาศเรื่องนี้ หลังวันที่ 30 กันยายน 2553
7.  กทช.สุรนันท์ฯ ได้เรียนให้ที่ประชุมทราบว่า ในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2553 จะเสนอเรื่อง USO ให้ที่ประชุม กทช. พิจารณา และขอให้สำนักงานฯ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์เรื่องดีๆ เช่นมาตรการช่วยเหลือโทรศัพท์ประจำที่ การลดค่าธรรมเนียม มาตรการในเชิงบวกให้สาธารณชนได้รับทราบ ซึ่ง กทช.สุชาติฯ มีความเห็นพ้องให้มีการเผยแพร่ในเรื่องที่ดี อาทิ เรื่องเครื่องหมายบวก เรื่อง 107 บาท ควรจะเน้นย้ำ และสนับสนุนความเห็นที่ กทช.สุรนันท์ฯ เสนอ ก็เป็นเรื่องดีอะไรที่ยังค้างคาใจประชาชน คือไม่ได้ออกในนาม กทช. เป็นความเห็นสำนักงานฯ อะไรที่ยังสับสนในเรื่องโทรคมนาคม ให้ไปแจ้งข้อมูลให้ทราบ
8.  นอกจากนี้ กทช.บัณฑูรฯ ได้เสนอต่อที่ประชุมว่า สมควรให้มีการเร่งรัดศึกษาและหาข้อยุติ เรื่องเงินที่ประชาชนซื้อบัตรเติมเงินล่วงหน้าที่ค้างอยู่ในระบบ เพราะ กทช. ทำหน้าที่กำกับดูแลในเรื่องนี้ จึงควรจะต้องเตรียมคำตอบไว้ให้กับสังคมและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง ที่จะรับเรื่องราวร้องทุกข์ของประชาชนซึ่งหากได้มีการศึกษารวบรวมไว้ก็จะเป็นเรื่องที่ดีกับภาพพจน์การทำงานของ กทช. ซึ่งประธาน กทช. เห็นว่า เป็นข้อเสนอแนะที่ดีควรที่จะมีการศึกษาเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคเป็น Issue ต่างๆไว้ โดยจะมอบหมายให้ ผอ.สบท. รวบรวมเรื่องนี้ไว้ 
9.  กทช.สุรนันท์ฯ ได้เสนอที่ประชุมว่าได้ ขอให้สำนักงานฯไปดำเนินการตรวจสอบว่าคำสั่งทางปกครองเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ได้มีการปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใด ในเรื่องการ Enforcement ซึ่งเมื่อวานนี้ได้เชิญ สบท. และ กท. มาหารือเพื่อให้จัดเตรียมเอกสารไว้ให้พร้อม หากจำเป็นต้องชี้แจงต่อศาล ดังนั้น จึงขอให้สำนักงาน กทช.มารายงานสถานการณ์การให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อที่ประชุมในวันนี้ เป็นวาระอื่นๆด้วย
10.  รทช.ฐากรฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบเพิ่มเติมเกี่ยวกับเรื่องรายงานการตรวจสอบงบการเงินประจำปี 2552 ของสำนักงาน กทช. ว่าสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้เข้ามาพบเมื่อวันจันทร์ ขณะนี้ก็ได้ตรวจงบผ่านไปแล้ว ซึ่งจะได้นำเสนอรายงานผลการตรวจให้ กทช. รับทราบต่อไป อย่างไรก็ดี สตง. มี  Comments รวม 3 ประเด็น ได้แก่
1) เรื่องเงินบริจาคปี 2552 มีปริมาณมากเกินไป คงจะต้องมีการ Set ระบบเรื่องเงินบริจาคให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น
2)  เรื่องเจ้าหน้าที่การคลังมีการเบิกจ่ายเงินเกินความเป็นจริงไป ขณะนี้สำนักงาน กทช. รายงานให้ สตง. ทราบว่าได้มีการตั้งกรรมการสอบข้อเท็จจริงแล้ว หากผลสอบปรากฏว่ามีมูลของการทุจริตจริง ก็จะ ส่งเรื่องไปให้ ปปท. ดำเนินการต่อไป เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับเรื่องของการทุจริต
3)  เรื่องติดตามสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ ว่ามีการดำเนินงานอย่างไรจะมีการต่อสัญญาหรือไม่ ซึ่งก็ได้ชี้แจงไปว่าที่ประชุม กทช. ได้มีมติในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีความชัดเจนในการดำเนินงานตามมาตรการต่างๆ ซึ่งจะได้จัดส่งรายละเอียดให้ สตง. ต่อไป ทั้งนี้ สตง. ได้แสดงความชื่นชมว่าในปี 2552 มีการจัดทำรายงานงบประจำปีดีกว่าในปี 2550 และ 2551 โดยมีการทำงานที่เป็นระบบมากขึ้น และตรวจสอบง่ายขึ้นกว่าเดิม 
11.  ในท้ายสุด ประธาน กทช. ได้แจ้งต่อที่ประชุมเพิ่มเติมว่า ในวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2553 กำหนดให้มีการประชุม กทช. เนื่องจาก ประธาน กทช. จะเดินทางไปต่างประเทศ ในระหว่างนี้ถ้าหากมีเรื่องจำเป็นเร่งด่วนก็ขอให้โทรแจ้ง ก็จะบินกลับมายกเว้นวันพุธ ที่จะต้องไปเป็น Keynote Speaker ในงาน ISMAC 2010 ที่จัดโดย University of the Philippines ที่ฟิลิปปินส์ และยกเว้นวันศุกร์ เพราะได้นัด Commissioner ของ NTC ฟิลิปปินส์ไว้แล้ว อย่างไรก็ดี เที่ยวบินที่ฟิลิปปินส์ มีน้อยมาก

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.  รับทราบกรณีศาสตราจารย์เศรษฐพร คูศรีพิทักษ์ ไม่ขอรับเป็นกรรมการในคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. เนื่องจากเห็นว่าสมควรเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านวิศวกรรมจะได้ประโยชน์มากกว่า เพราะเป็นการกำหนดมาตรฐานต่างๆ ตามที่ กทช.บัณฑูรฯ แจ้งต่อที่ประชุม และรับทราบเรื่อง การพิจารณาเสนอชื่อผู้ทรงคุณวุฒิเพิ่มเติมเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. ตามที่ กทช.บัณฑูรฯ กทช.สุรนันท์ฯ และ กทช.พันเอก นทีฯ ได้เสนอชื่อต่อที่ประชุม ซึ่งที่ประชุมจะได้มีการนำเข้าสู่การพิจารณาต่อไป 
3.  รับทราบรายงานความคืบหน้าผลการยื่นเอกสารการประมูลคลื่นความถี่  3G เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ตามที่ กทช.พันเอก นทีฯ รายงานให้ที่ประชุมทราบ
4.  รับทราบเรื่อง การพิจารณาลงนามในร่างประกาศ กทช. เรื่อง ประกาศกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 ตามที่ประธาน กทช. รายงานให้ที่ประชุมทราบ ซึ่งสมควรดำเนินการหลังวันที่ ๓๐ กันยายน ๒๕๕๓ คงไม่เสียหายถ้าจะประกาศเรื่องนี้ ตามข้อคิดเห็นของ กทช.พันเอก นทีฯ
5.  มอบหมายให้สำนักงานฯ ตรวจสอบว่าคำสั่งทางปกครองเรื่องการให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (MNP) ได้มีการปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ โดยให้รายงานสถานการณ์การให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่อที่ประชุมในวันนี้ เป็นวาระอื่นๆด้วย ตามที่ กทช.สุรนันท์ฯ เสนอต่อที่ประชุม
6.  รับทราบผลการตรวจสอบงบการเงินประจำปี 2552 ของสำนักงาน กทช. โดยได้ผ่านการตรวจจากสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เรียบร้อยแล้ว พร้อมทั้งประเด็นข้อคิดเห็นของ สตง. เกี่ยวกับเงินบริจาคปี 2552 การตรวจสอบกรณีเบิกจ่ายเงินเกินความเป็นจริงของเจ้าหน้าที่การคลัง และการติดตามการดำเนินงานของสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ ตามที่ รทช. ฐากรฯ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช. รายงานให้ที่ประชุมทราบ
 
ระเบียบวาระที่   2   :  รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 26/2553 วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 

มติที่ประชุม           รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 26/2553 วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ  โดยมีข้อแก้ไขดังนี้ 
1.  วาระที่ 4.1   ข้อ 3  ให้แก้ไขชื่อคณะกรรมการให้ถูกต้อง ตรงกันกับที่ระบุไว้ในข้อ 2 ดังนี้
1.1  บรรทัดที่ 1 จากเดิม “ เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ประเมินมูลค่าคลื่นความถี่แล้ว...” เป็น “ เมื่อคณะกรรมการฯ ได้ประเมินค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ของสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ. แล้ว...
1.2  บรรทัดที่ 3 จากเดิม “คณะกรรมการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ความถี่กำหนด” เป็น “คณะกรรมการประเมินค่าตอบแทนการใช้ประโยชน์ของสถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ.” 
2.  วาระที่ 4.15 บรรทัดที่ 3 แก้ไขตัวสะกดคำว่า “Metric” ให้ถูกต้องเป็น  “Matrix”
3.  วาระที่ 4.54  เพิ่มเติมข้อความในข้อ 2 ให้สมบูรณ์เป็นดังนี้  “มอบหมายให้สำนักงาน กทช. จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เสนอประธาน กทช. ลงนามต่อไป  และขอให้สำนักงาน กทช.ประสานงานกับกรรมการทุกท่าน เพื่อทาบทามว่าจะรับเป็นกรรมการหรือไม่ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งก่อนด้วย”
4. วาระที่ 4.61  ข้อ 2  บรรทัดที่ 2 แก้ไขตัวสะกดคำว่า “ผลิดได้”  ให้ถูกต้องเป็น “ผลิตได้”
5.  วาระที่ 5.3 แก้ไขถ้อยคำให้ถูกต้องเหมาะสมจากเดิม “สำนักงานแห่งใหญ่” เป็น “สำนักงานแห่งใหม่”
6.  วาระที่ 6.4  แก้ไขตัวสะกดคำว่า “(Non-Release From)” ให้ถูกต้องเป็น “(Non-Release Form)” 
7.  วาระที่ 6.5 แก้ไขชื่อ “Thailand Roadshow and Investors’ Day” ให้ ถูกต้องเป็น “Thailand Roadshow and Investor’s Day”   
8.  วาระที่ 6.8  แก้ไขคำว่า “ Lawyerin Process” ให้ถูกต้องเป็น  “Lawyering Process”

หมายเหตุ                 ในระหว่างการพิจารณารับรองรายงานการประชุม กทช. วาระที่ 4.14 เรื่อง การพิจารณาคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการที่ กทช.ชุดเดิมแต่งตั้ง ที่ประชุมได้มีการหารือและอภิปรายในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับแนวทางและวีธีการที่รวดเร็วและเหมาะสมยิ่งขึ้นในการพิจารณาความเหมาะสมของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการชุดต่างๆ ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ปฏิบัติงานอยู่ในขณะนี้ แล้วมอบหมายให้สำนักงาน กทช.เร่งจัดทำข้อมูลของคณะกรรมการ และคณะอนุกรรมการดังกล่าวเสนอ กทช. เพื่อประกอบการพิจารณาโดยเร็วต่อไป

ระเบียบวาระที่    3      :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.
ระเบียบวาระที่    3.1   :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 26/2553 วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553 


มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 26/2553 วันพุธที่ 25 สิงหาคม 2553
2.  รับทราบรายงานผลการพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1523/2550 ระหว่าง บมจ.ทีโอที ผู้ฟ้องคดี กับ กทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และ ลทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส   คอมมูนิเคชั่น ผู้ถูกฟ้องคดีร่วม และคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1653/2550 ระหว่าง บมจ.ทีโอที ผู้ฟ้องคดี กับ กทช. ผู้ถูกฟ้องคดี เมื่อวันศุกร์ที่ 27 สิงหาคม 2553 ซึ่งผลการพิจารณาคดี ตุลาการผู้แถลงคดีได้มีความเห็นให้ยกฟ้อง เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ประกาศหลักเกณฑ์ที่ กทช. ออกไปเป็นการดำเนินการภายใต้ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และคำสั่ง ลทช. ก็ถูกต้องแล้ว โดยตุลาการผู้แถลงคดีจะได้ส่งความเห็นให้องค์คณะพิจารณาต่อไป ตามที่นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ รองเลขาธิการ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช. รายงานให้ที่ประชุมทราบ

ระเบียบวาระที่   3.2   :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 25/2553 วันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553 
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 25/2553 วันพุธที่ 18 สิงหาคม 2553



ระเบียบวาระที่   4     :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่   4.1  :  ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. .... (วาระ 4.12 ครั้งที่ 7/53) : กทช.พนาฯ, กลุ่มงานสำนักเลขานุการคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์


มติที่ประชุม              รับทราบ และเห็นชอบผลการพิจารณาร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา  พ.ศ. ....  ตามความเห็นของ กทช.พนาฯ ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นว่า “เป็นร่างที่มีประโยชน์และเหมาะสม กทช.ควรให้ความเห็นชอบ” ซึ่งสอดคล้องกับผลการพิจารณาของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งที่ 25/2553 เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553 (วาระที่ 4.1) ด้วยแล้ว

ระเบียบวาระที่ ๔.๒    :   ความเห็นของคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) กรณีรายการส่งเสริมการขาย iPhone 3G (วาระที่ 4.63 ครั้งที่ 18/2553)  :  กทช. พันเอก นทีฯ 
 
มติที่ประชุม              
1.  รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณา เรื่อง ความเห็นของคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) กรณีรายการส่งเสริมการขาย iPhone 3G  ตามความเห็นของ กทช.พันเอก นทีฯ  ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553  ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้
1.1  เรื่องการเรียกเก็บค่าบริการ กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน  ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 57 และประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 16 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บจ.ทรู มูฟ ได้กำหนดค่าบริการขัดต่อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ภายหลังบริษัทฯ ได้ปรับรายการส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ใช้บริการ แต่ไม่สามารถชดเชยค่าบริการได้ครบทุกแพ็คเกจ และไม่เพียงพอต่อส่วนต่างของอัตราค่าบริการในบางแพ็คเกจ 
1.2  เรื่องแบบสัญญาการให้บริการ ในส่วนเงื่อนไขการชำระค่าบริการกรณีผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าอุปกรณ์และค่าบริการที่เหลือทั้งหมดเป็นค่าเสียหายขั้นต่ำ ข้อกำหนดดังกล่าวขัดกับประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 15 และข้อ 32  
                                ดังนั้น  ทั้งสองกรณีดังกล่าว เห็นควรมอบหมาย เลขาธิการ กทช. ดำเนินการบังคับทางปกครองสั่งให้ บจ.ทรูมูฟ แก้ไขปรับปรุงรายละเอียดการส่งเสริมการขายและแก้ไขแบบสัญญาการให้บริการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
1.3  เรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรับทราบถึงสิทธิที่ กทช. ให้ความคุ้มครองในกิจการโทรคมนาคม  เช่น  สิทธิการยกเลิกสัญญา  สิทธิในการรับบริการหรือคิดค่าบริการ  โดยไม่เลือกปฏิบัติ นั้น เห็นควรให้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เป็นผู้ดำเนินการ  
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการเพื่อตรวจสอบในประเด็นทางกฎหมายว่าจะต้องกำหนดเป็นมาตรการบังคับเป็นการทั่วไปหรือไม่ เพราะอาจจะไม่ใช่เฉพาะ บจ.ทรูมูฟ เพียงรายเดียว แต่อาจจะมีผู้ประกอบการรายอื่นอีกที่ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน เช่น ในกรณีการให้บริการ Smart Phone ด้วย แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.ต่อไป
3. มอบหมายให้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปดำเนินการต่อไป โดยเฉพาะการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้สาธารณชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องตามมติที่ประชุมข้อ 1.3 ในเรื่องที่มีความสำคัญๆ ตลอดจน สบท.ควรต้องศึกษาตรวจสอบผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการออกนโยบายการกำกับดูแลด้านต่างๆ ของ กทช. ว่าเป็นอย่างไร แล้วรายงานต่อ กทช. เช่น ในเรื่อง MNP ว่ามี Feedback หรือมีผลอย่างไร โดยเฉพาะกรณีผู้ให้บริการไม่สามารถเปิดให้บริการ MNP ได้ตามกำหนดเวลา ผู้บริโภคมีความเห็นอย่างไร อันจะนำไปสู่การสะท้อนถึงภาพลักษณ์ของ กทช. ในแง่มุมของผู้บริโภคที่มีต่อ กทช. แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.ต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.3    :   บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กล่าวหาบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ลักลอบใช้อุปกรณ์คู่สายของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในพื้นที่ 26 จังหวัด (วาระที่ 4.4  ครั้งที่ 7/2553) (วาระต่อเนื่อง) : กทช.สุรนันท์ฯ, รทช.ประเสริฐฯ, กท. 

มติที่ประชุม              
1.  ให้ยุติเรื่อง และยกคำร้องในมูลฐานความผิดตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544  เนื่องจากการกระทำของ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB) ที่ บมจ.ทีโอที กล่าวหาว่าลักลอบใช้อุปกรณ์คู่สายของ บมจ. ทีโอที ในพื้นที่ 26 จังหวัด ไม่เข้าข่ายการกระทำตามมาตรา 44 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งเมื่อวินิจฉัยแล้วเห็นว่า บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ เข้าใช้โครงข่ายของ บมจ.ทีโอที ที่ได้รับโอนมาจาก บจ.ทีทีแอนด์ที (TT&T) ได้กระทำโดยอาศัยสิทธิ ตามข้อตกลงในสัญญาการให้บริการวงจรเช่าระหว่าง บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ และ บจ.ทีทีแอนด์ที กอปรกับการกระทำดังกล่าวมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ จึงไม่มีเหตุผลจำเป็นที่ กทช. ต้องมีคำสั่งลงโทษ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ และ บจ.ทีทีแอนด์ที ตามมาตรา 72 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามที่ บมจ.ทีโอที ร้องขอ ตามความเห็นของกรรมการกลั่นกรอง และข้อเสนอของสำนักงาน กทช.
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งคู่กรณีทั้งสอง (บมจ.ทีโอที  และ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์)  เพื่อทราบมติที่ประชุมตามข้อ 1 ต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.4   :   บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) รายงานปัญหาและผลกระทบในการให้บริการและขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะ (วาระที่ 4.52 ครั้งที่ 18/2553)    : รทช. ประเสริฐฯ, กท. 

มติที่ประชุม               รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณา เรื่อง บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) รายงานปัญหาและผลกระทบในการให้บริการและขอให้กำหนดมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะอันเป็นเหตุมาจากการเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของ บมจ. ทีทีแอนด์ที ตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ดังนี้
1.  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอว่าไม่เห็นควรที่ กทช. ต้องกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะตามที่ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) ร้องขอ นั้น ผมเห็นตามที่เสนอดังกล่าว เนื่องจากกรณีนี้เป็นกรณีของการพักหรือหยุดการให้บริการ ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน ตามบทบัญญัติมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ซึ่งต้องได้รับการอนุญาตจากคณะกรรมการตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำหนดต่อไป
2.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. มีหนังสือชี้แจงความเห็นตามข้อ 1  ให้ บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) และ บมจ.ทีทีแอนด์ที  เพื่อทราบตามแนวทางการดำเนินการที่สอดคล้องประกาศ ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องของคณะกรรมการต่อไป
 
ระเบียบวาระที่   4.6  :   โครงการเตรียมความพร้อม ในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ  19th ITS Biennial Conference ๒๐๑๒  ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย  : กทช.สุธรรมฯ   
  
มติที่ประชุม              
1.  รับทราบหนังสือยืนยันการเป็นเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ  19th ITS Biennial Conference 2012  ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย  จากประธานองค์กร International Telecommunications Society ตามเอกสารแนบท้ายวาระการประชุมที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
2.  รับทราบรายชื่อคณะกรรมการวางแผนงานสัมมนาทางวิชาการ 19th ITS Biennial Conference 2012 (International Planning Committee) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
3.  อนุมัติในหลักการโครงการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ  19th ITS Biennial Conference ๒๐๑๒ ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
4.  อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการเตรียมความพร้อมการเป็นเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ  19th ITS Biennial Conference 2012 (Organizing Committee) โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ 
5.  อนุมัติให้นำเงินเหลือจ่ายจากงบประมาณปี 2553 สำนักกิจการกรรมการ รายการค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสมด้านการพัฒนาองค์กร โครงการจัดทำข้อเสนอเพื่อจัดตั้งสถาบัน Regional Anchor Institute ที่ประเทศไทย จำนวน 7,447,995 บาท เพื่อเป็นงบประมาณค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินโครงการเตรียมความพร้อมในการเป็นเจ้าภาพการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ ๑๙th ITS Biennial Conference 2012  ณ จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย ตามรายละเอียดการประมาณการงบประมาณค่าใช้จ่ายที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอขอ

ระเบียบวาระที่   4.7   :  ข้อเสนอโครงการการวิเคราะห์และประเมินขั้นตอนการประมูลการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz (วาระต่อเนื่อง)  : กทช.สุธรรมฯ 
  
มติที่ประชุม            
1.  อนุมัติโครงการการวิเคราะห์และประเมินขั้นตอนการประมูลการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz  ตามข้อเสนอและความเห็น/ข้อเสนอแนะของ กทช.สุธรรมฯ เพื่อให้กระบวนการประมูลที่จะเกิดขึ้นมีประสิทธิภาพและเป็นไปตามระยะเวลาที่กำหนด จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะทำการศึกษาและประเมินขั้นตอนทั้งหมดของการประมูลการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz เพื่อระบุถึงกิจกรรมที่สำคัญหรือกิจกรรมวิกฤต (Critical Activities)  ที่อาจเกิดความล่าช้าของการประมูล หรืออาจก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตลอดเส้นทางวิกฤต (Critical Path) ของขั้นตอนการดำเนินงานทั้งหมด เพื่อแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนใดบ้างที่อาจก่อให้เกิดความล้าช้าหรือก่อให้เกิดปัญหาในการประมูลทั้งหมด  พร้อมทั้งระบุความเสี่ยงในมิติต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้  เพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันรับมือกับความเสี่ยงเหล่านั้น โดยว่าจ้างมหาวิทยาลัยของรัฐที่มีความเชี่ยวชาญและมีความพร้อมในการดำเนินงานได้ทันที 
2.  อนุมัติการจัดสรรงบประมาณของสำนักงาน กทช. จำนวน 649,000 บาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% = 45,430 บาท) โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักกิจการกรรมการ เพื่อดำเนินโครงการตามข้อ 1 ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบของราชการ โดยให้ทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงาน กทช. ต่อไป และรายงานผลการใช้จ่ายงบประมาณในการดำเนินงานให้ กทช. รับทราบด้วย

ระเบียบวาระที่    4.17   :  การพิจารณาคำขอใช้สิทธิตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปัก หรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ใดในการให้บริการโทรคมนาคม (หรือหลักเกณฑ์สิทธิแห่งทาง) และมาตรา 39 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 :  รทช.พิทยาพลฯ, พต. 

มติที่ประชุม              เห็นชอบแผนผังการพาดสายสื่อสารโทรคมนาคมกับเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวม 7 ราย (บมจ.ทีโอที บมจ.กสท โทรคมนาคม  บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์  บจ.ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์  บจ.ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส และ บจ.ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์) จำนวน  112  คำขอ 580 เส้นทาง 108 ชุมสาย และกำหนดเงื่อนไขตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาสิทธิแห่งทาง (กพส.) ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสาหรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม และมาตรา 39 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยให้เพิ่มเงื่อนไขว่าห้ามมิให้นำไปใช้ในกิจการกระจายเสียง ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทฯ อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า สิทธิที่ได้รับตามมาตรา 39 แห่ง พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เป็นสิทธิเชิงทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะอยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงาน ดังนั้น จึงต้องแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบก่อนดำเนินการ และการอนุมัติของ กทช. ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะขัดหรือแย้งกับสิทธิการร่วมงานดังกล่าว รวมทั้งให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กทช. กำหนด โดยเคร่งครัดต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.18   :   การมอบนโยบายการดำเนินงานและงบประมาณ ประจำปี 2554   : รทช.ฐากรฯ, รทช.พิทยาพลฯ, รทช.ประเสริฐฯ, พต., คง., งป. 

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 – 2553) ณ ไตรมาสที่ 2 ปี 2553 และการวิเคราะห์การบริหารจัดการองค์กร และรายงานสรุปผลการดำเนินงานและการเบิกจ่ายเงินงบประมาณตามยุทธศาสตร์ของสำนักงาน กทช. ประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2553  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
2.  เห็นชอบประมาณการรายรับของสำนักงาน กทช. ประจำปี 2554 ตาม Scenario 1 ไม่รวมรายได้จากกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งได้ประมาณการรายรับไว้จำนวน 4,006.38 ล้านบาท
3.  สำหรับกรอบงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2554  เห็นควรให้สำนักงาน กทช. วิเคราะห์จัดทำรายละเอียดเสนอให้ที่ประชุม กทช. พิจารณาภายหลังจาก กทช. ได้พิจารณากำหนดนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของสำนักงาน กทช.ในปี 2554 เรียบร้อยแล้ว

ระเบียบวาระที่   4.19   :   โครงการนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมสำหรับการให้บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ทุรกันดารหรือห่างไกล : รทช.พิทยาพลฯ, ทถ. 

มติที่ประชุม                มอบหมายให้ กทช.สุรนันท์ฯ  เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเรื่องโครงการนำร่องเพื่อศึกษารูปแบบการใช้เทคโนโลยีโทรคมนาคมสำหรับการให้บริการสาธารณสุขเคลื่อนที่ในพื้นที่ทุรกันดารหรือห่างไกล ตามที่ กทช. มีมติเห็นชอบการมอบอำนาจให้ กทช. พิจารณาเรื่องแล้ว ตามมติ กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 และให้นำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.20   :  แผนนำร่องการสื่อสารโดยใช้ Digital Media  ของ กทช. :  รทช.ฐากรฯ, ปส. 

มติที่ประชุม               อนุมัติแผนนำร่องการสื่อสารโดยใช้ Digital Media ของ กทช. ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ  โดยมีแนวทางการดำเนินงานในเรื่องต่างๆ และให้กำหนดเป็น KPI ด้วย ดังนี้
1.  การจัดตั้งกลุ่มปฏิบัติงานพิเศษเฉพาะกิจ สำหรับการแก้ไขปัญหาการสื่อสาร ระหว่าง กทช. กับประชาชนในระยะสั้น
2.  การสร้างช่องทางการสื่อสารแบบ Digital Media
3.  การจัดซื้ออุปกรณ์ในการสร้าง Content โดยใช้งบประมาณเพื่อการนี้จำนวน 100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วน)  
4.  การจัดหาสถานที่เพื่อรองรับการปฏิบัติงานชั่วคราว (ถ้ามี)
5.  การมอบหมายให้หน่วยงานหรือทรัพยากรบุคคลภายในสำนักงาน กทช. ให้ความร่วมมือกับกลุ่มปฏิบัติงานพิเศษเฉพาะกิจ ในการให้ข้อมูลข่าวสารเพื่อให้เกิดการสร้าง Content ที่ถูกต้อง 
6.  การมอบหมายให้หน่วยงานหรือทรัพยากรบุคคลภายในสำนักงาน กทช. ให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูลข่าวสารกับกลุ่มปฏิบัติงานพิเศษเฉพาะกิจ เพื่อให้เกิดการสร้าง Content ในรูปแบบ Digital Media  ก่อนดำเนินการเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ระเบียบวาระที่   4.22    :   โครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางวิชาการเกี่ยวกับการกำกับดูแลโทรคมนาคมในแง่มุมเศรษฐศาสตร์และการเงิน : รทช. พิทยาพลฯ, ศฐ. 

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติการดำเนินโครงการจ้างที่ปรึกษาเพื่อให้คำปรึกษาและช่วยเหลือทางวิชาการเกี่ยวกับการกำกับดูแลโทรคมนาคมในแง่มุมเศรษฐศาสตร์และการเงิน (Economic and Financial consultancy Service for Regulation of Telecommunications) ภายในกรอบวงเงิน 15 ล้านบาท ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2553 จำนวน ๕ ล้านบาท และผูกพันงบประมาณปี 2554 จำนวน 10 ล้านบาท ทั้งนี้ ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ. 2548 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
2.  โดยที่ปัจจุบันเหลือเวลาอีกไม่นานก็จะสิ้นปี 2553 แล้ว แต่การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปี 2553 เพื่อดำเนินการโครงการต่างๆ ของสำนักงาน กทช. ยังมีจำนวนน้อยมาก ซึ่งอาจมีสาเหตุของปัญหาอุปสรรคมาจากความยุ่งยากของการดำเนินงานในขั้นตอนต่างๆ ดังนั้น จึงมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปรวบรวมข้อมูลโครงการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการใหม่ภายใต้แผนงบประมาณรายจ่ายปี ๒๕๕๓ ที่ กทช.มีมติเห็นชอบให้ทบทวนกรอบวงเงินใหม่แล้ว พร้อมประเด็นปัญหาอุปสรรคที่ทำให้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.โดยด่วนในการประชุม กทช.ครั้งต่อไป เพื่อพิจารณาหาสาเหตุของปัญหาที่แท้จริง เพื่อที่ กทช.จะได้มีมติในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้อย่างชัดเจน และตรงจุด มิให้เกิดความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณของโครงการต่างๆ อีก

ระเบียบวาระที่    4.36   :   บริษัท เอส ที ซี เน็ทเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขอเปลี่ยนแปลงความถี่วิทยุย่าน C-Band เพื่อให้บริการ VSAT : รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม              โดยที่ความถี่ที่ บริษัท เอส ที ซี เน็ทเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด แจ้งขอเปลี่ยนแปลงความถี่วิทยุที่อยู่ในย่าน C-Band กอปรกับการย้ายการให้บริการ VSAT จากดาวเทียมไทยคม 2 ไปดาวเทียมไทยคม 5 ยังอยู่ในกรอบที่ได้อนุมัติไว้เดิม จึงมีมติอนุมัติให้บริษัท เอส ที ซี เน็ทเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปลี่ยนแปลงบริการความถี่วิทยุย่าน C-Band เพื่อย้ายการใช้งาน (Traffic Transfer) ของการให้บริการ VSAT จากดาวเทียมไทยคม 2 ไปยังดาวเทียมไทยคม 5 ได้ ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ 
  
ระเบียบวาระที่   4.38   :   บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ขอนำรายการ CDMA Data Content มาขอหักลดหย่อนค่าธรรมเนียมประจำปี 2551 เพิ่มเติม : รทช. ประเสริฐฯ, ปก.
 
มติที่ประชุม               มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปวิเคราะห์ในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติมให้ชัดเจน แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อาทิ ความชัดเจนในประเด็นการหักลดหย่อนจากรายได้บางส่วนที่มิใช่ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม หากแต่เป็นรายได้ของผู้ร่วมการงาน (Partner)  เช่น รายได้ของ Hutch ซึ่งเป็นผู้ร่วมการงานกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม รวมถึงควรต้องศึกษาวิเคราะห์การหักลดหย่อนในกรณีอื่นๆ ในลักษณะเดียวกันนี้ประกอบด้วยเช่น ระหว่าง บมจ. ทีโอที กับ AIS ตลอดจนการตรวจสอบข้อมูลด้วยว่าที่ผ่านมาเคยมีการหักลดหย่อนรายได้จากบริการที่เป็น Data Content หรือไม่ อย่างไร เป็นต้น ทั้งนี้ กรณีดังกล่าวถือเป็นเรื่องสำคัญที่ กทช.ต้องพิจารณากำหนดเป็นนโนบายให้เหมาะสม และรอบคอบ ชัดเจน เนื่องจากในอนาคตแนวโน้มการให้บริการประเภท Data จะมีมากขึ้นในขณะที่การให้บริการประเภท Voice จะค่อยๆลดลงไปเรื่อยๆ 
 
ระเบียบวาระที่  4.42  :   การขอทบทวนมติที่ประชุม กทช. กรณีการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ถือครองหุ้นในบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด : รทช. ประเสริฐฯ, กท. 

มติที่ประชุม                มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ  เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเรื่องการขอทบทวนมติที่ประชุม กทช. กรณีการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกันของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ถือครองหุ้นในบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด ตามที่ กทช. มีมติเห็นชอบการมอบอำนาจให้ กทช. พิจารณาเรื่องแล้ว ตามมติ กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 และให้นำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่ 4.43 : ความเหลื่อมล้ำในการกำหนดอัตราค่าบริการ iPhone : รทช. ประเสริฐฯ, กท.
 
มติที่ประชุม              
1.  เรื่องการเรียกเก็บค่าบริการ กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจะต้องเรียกเก็บจากผู้ใช้บริการของตนในอัตราเดียวกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน  ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 57 และประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 16 ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บจ.ทรู มูฟ ได้กำหนดค่าบริการขัดต่อกฎหมายดังกล่าวข้างต้น แม้ภายหลังบริษัทฯ ได้ปรับรายการส่งเสริมการขายเพื่อเพิ่มผลประโยชน์ทดแทนให้แก่ผู้ใช้บริการ แต่ไม่สามารถชดเชยค่าบริการได้ครบทุกแพ็คเกจ และไม่เพียงพอต่อส่วนต่างของอัตราค่าบริการในบางแพ็คเกจ 
2.  เรื่องแบบสัญญาการให้บริการ ในส่วนเงื่อนไขการชำระค่าบริการกรณีผู้ใช้บริการต้องการยกเลิกสัญญาก่อนครบกำหนด ผู้ใช้บริการต้องชำระค่าอุปกรณ์และค่าบริการที่เหลือทั้งหมดเป็นค่าเสียหายขั้นต่ำ ข้อกำหนดดังกล่าวขัดกับประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 15 และข้อ 32  
ดังนั้น  ทั้งสองกรณีดังกล่าว จึงมอบหมายให้เลขาธิการ กทช. ดำเนินการบังคับทางปกครองสั่งให้ บจ.ทรูมูฟ แก้ไขปรับปรุงรายละเอียดการส่งเสริมการขายและแก้ไขแบบสัญญาการให้บริการให้ถูกต้องตามกฎหมายต่อไป
3.  เรื่องการประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรับทราบถึงสิทธิที่ กทช. ให้ความคุ้มครองในกิจการโทรคมนาคม  เช่น  สิทธิการยกเลิกสัญญา  สิทธิในการรับบริการหรือคิดค่าบริการ  โดยไม่เลือกปฏิบัติ นั้น เห็นควรให้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.) เป็นผู้ดำเนินการต่อไป 

หมายเหตุ                   ที่ประชุมได้พิจารณาวาระนี้ พร้อมกับวาระที่ 4.2  เนื่องจากเป็นเรื่องเดียวกัน

ระเบียบวาระที่  4.45  :  การขอรับจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ ของ บริษัท ไฮเออร์ อิเล็คทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด  :  รทช.ประเสริฐฯ, กบ.

มติที่ประชุม               ไม่อนุมัติจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม หมายเลข 17YX  ให้แก่ บริษัท ไฮเออร์ อิเล็คทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด  เนื่องจากการขอกำหนดให้หมายเลขพื้นฐานติดตั้งอยู่ที่เมืองชิงเตา ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีน ซึ่งไม่เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ข้อ 48 กอปรกับการที่บริษัทต้องการให้ลูกค้าติดต่อกับบริษัทฯ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ก็สามารถใช้บริการหมายเลข 1800 ซึ่งเป็นบริการเลขหมายโทรฟรี (Free Phone Service) ที่บริษัทฯ มีอยู่แล้ว และสามารถขอเพิ่ม Capacity ได้  ตามความเห็นของคณะกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม

ระเบียบวาระที่  4.46  :  การทำความเห็นเรื่อง การพิจารณาหาแนวทางและวิธีการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น : สำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

มติที่ประชุม               มอบหมายให้ กทช.สุรนันท์ฯ เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเรื่อง การทำความเห็นเรื่อง การพิจารณาแนวทางและวิธีการบริหารจัดการเงินกองทุนฯ ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ตามแนวทางที่ กทช. มีมติเห็นชอบการมอบอำนาจให้ กทช. พิจารณาเรื่องแล้วตามมติ กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ทั้งนี้ โดยหารือร่วมกับคณะกรรมการกำกับการบริหารกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ  แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาภายใน 30  วัน โดยมีข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณา อาทิ
1) ควรต้องมีการวิเคราะห์และทบทวนประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ
2) ควรต้องพิจารณาทางเลือกเพื่อเป็นแหล่งรายได้เข้ากองทุนฯ ในอนาคต เช่น การพิจารณาความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการตั้ง Based Stations และ
3) การพิจารณาถึงผลกระทบจากการแปรสภาพของกองทุนฯ ภายหลังกฎหมายพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่มีผลใช้บังคับ เป็นต้น
 
ระเบียบวาระที่  4.47  :  ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 (เพิ่มเติม) ของสำนักงานกองทุนฯ : สำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 

มติที่ประชุม             มอบหมายให้ กทช.สุรนันท์ฯ เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเรื่อง ขออนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี ๒๕๕๓ (เพิ่มเติม) ของสำนักงานกองทุนฯ ตามแนวทางที่ กทช. มีมติเห็นชอบการมอบอำนาจให้ กทช. พิจารณาเรื่องแล้ว ตามมติ กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553

หมายเหตุ               ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือ  ได้แก่  วาระที่ 4.5, 4.8 – 4.16 , 4.21 4.23 - 4.35, 4.37 , 4.39 - 4.41 , 4.44 และ  4.48 - 4.54  จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป
 

ระเบียบวาระที่  5     :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่  5.1  :  รายงานสรุป และผลการประเมินการจัดสัมมนาเรื่อง “Digital Broadcasting” :  ประธาน กทช.


มติที่ประชุม               รับทราบ รายงานสรุป และผลการประเมินการจัดสัมมนาเรื่อง “Digital Broadcasting”  ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่าง สำนักงาน กทช. และกระทรวง MIC ประเทศญี่ปุ่น และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในระหว่างวันที่ 12 – 13 กรกฎาคม 2553  ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กทช.  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.2    :  รายงานความก้าวหน้าและสถานะการดำเนินคดีปกครองที่ กทช., สำนักงาน กทช., ลทช., คณะกรรมการ, คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานสำนักงาน กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครองประจำเดือนกรกฎาคม 2553 :  รทช.ฐากรฯ, กม.  

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานความก้าวหน้าและสถานะการดำเนินคดีปกครองที่ กทช., สำนักงาน กทช., ลทช., คณะกรรมการ, คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานสำนักงาน กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครองประจำเดือนกรกฎาคม 2553 จำนวน 33 คดี  แยกเป็นคดีที่ กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง จำนวน 21 คดี และคดีที่สำนักงาน กทช., ลทช., คณะกรรมการ, คณะอนุกรรมการ หรือพนักงานสำนักงาน กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง จำนวน 12 คดี  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ               
ระเบียบวาระที่   5.3    :   รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498  :  รทช.ฐากรฯ, กม.  

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานตามที่ กทช. ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือมอบหมายให้เลขาธิการ กทช. ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498  ประจำเดือนกรกฎาคม 2553  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
                        
ระเบียบวาระที่  5.4   :   รายงานความก้าวหน้าการดำเนินโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1  :  รทช.พิทยาพลฯ, ทถ.

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามแผนปฏิบัติงานโครงการพัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ครั้งที่ 1  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ    
              
ระเบียบวาระที่  5.5   :  บริษัท เทเลโฟน จำกัด  แจ้งเปิดให้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ  :  รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม             รับทราบผลการตรวจสอบการเปิดให้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ของ บริษัท เทเลโฟน จำกัด  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
 

ระเบียบวาระที่  6     :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่  6.1  :  คำสั่งเรียกให้ทำคำให้การในคดีฟ้องขอเพิกถอนมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 และคำสั่ง ลทช.กรณีให้ดำเนินการจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 : รทช.ฐากรฯ, กม.


มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีแทน
2.  มอบหมายให้ ประธาน กทช., กทช.สุธรรมฯ และ กทช.สุรนันท์ฯ เป็นผู้รับผิดชอบคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายเป็นผู้ประสานงานและจัดทำรายละเอียดคำให้การตามแนวทางดังกล่าวต่อไป
3.  เห็นชอบแนวทางการจัดทำคำให้การในฟ้องขอเพิกถอนมติ กทช.ครั้งที่   8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 และคำสั่ง ลทช. กรณีให้ดำเนินการจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 โดยให้ชี้แจงและยืนยันว่า มติของ กทช. และคำสั่งเลขาธิการ กทช. ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายทุกประการ และได้มี  การพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องอย่างเพียงพอแก่การที่จะมีคำสั่ง  แล้ว

ระเบียบวาระที่  6.2  :  รายงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่และรายงานการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและกำหนดค่าปรับทางปกครอง กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ : รทช.ประเสริฐฯ

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานสถานการณ์การให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจากการตรวจสอบข้อเท็จจริงในการดำเนินการ ของผู้ให้บริการเพื่อเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ตามที่ กทช. ได้มีคำสั่งทางปกครองตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 วันที่ 2 เมษายน 2553 และมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 23/2553 วันที่ 4 สิงหาคม 2553 แล้วพบว่า ผู้ให้บริการไม่สามารถเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรคมนาคมตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าวได้ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  รับทราบการแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาและกำหนดค่าปรับทางปกครอง กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อดำเนินการตามมาตรา 66 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. โดยคณะกรรมการฯ ตามข้อ 2 เร่งศึกษาพิจารณาเสนอมาตรการบังคับทางปกครองที่เหมาะสม (จากเบาไปหาหนัก) รวมทั้งรายละเอียดการกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีผู้ให้บริการไม่สามารถเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรคมนาคมตามระยะเวลาที่กำหนด ให้ กทช. พิจารณาโดยด่วนในการประชุมครั้งต่อไป ทั้งนี้ โดยมีประเด็นที่สำคัญ อาทิ ควรต้องศึกษาถึงผลกระทบจากการไม่สามารถเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP) ได้ตามกำหนดเวลา หรือจากการเปิดให้บริการ MNP ล่าช้า รวมทั้งมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นต้น
4.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเพิ่มเติมของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปเพื่อเตรียมการประมวลรวบรวม และจัดทำรายละเอียดข้อมูลการดำเนินการเรื่องนี้ทั้งหมด ให้ครบถ้วน ชัดเจนทุกขั้นตอนและกระบวนการ รวมถึงข้อมูลแสดงลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน (Chronicle) ตลอดจนการศึกษารายละเอียดถึงสาเหตุต่างๆให้ชัดเจนว่าด้วยเหตุใด หรือมีความยากเพียงใดจึงไม่สามารถเปิดให้บริการได้ รวมทั้งศึกษา  พิจารณาความเป็นไปได้ถึงกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการเปิดให้บริการ MNP ได้

สร้างโดย  -   (9/3/2559 17:33:41)

Download

Page views: 141