1800 MHz .....! คลื่นของประชาชน และประโยชน์สาธารณะ

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กสทช. ด้านกฎหมาย ตอบข้อซักถามทุกประเด็นเกี่ยวกับความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากหลายฝ่ายในกรณีการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน การจัดสรรคลื่นด้วยวิธีการประมูล และการออกมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมฯ คลื่น
            การสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานโทรศัพท์มือถือคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ระหว่างผู้ให้สัมปทาน บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กับผู้รับสัมปทานอย่าง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด (True Move) และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด (DPC) จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน ปีนี้ เป็นประเด็นที่คนในแวดวงโทรคมนาคมกำลังจับตามอง ทั้งวิพากษ์วิจารณ์ในแง่มุมต่างๆจนเกิดความเข้าใจที่ไม่ตรงกัน ตลอดจนข้อสงสัยในการตัดสินใจดำเนินมาตรการแก้ปัญหาของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่สำคัญกรณีดังกล่าวกระทบโดยตรงต่อลูกค้า บริษัท ทรูมูฟ จำกัด กว่า 17 ล้านเลขหมาย และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด อีกกว่า 5 หมื่นเลขหมาย ที่หวั่นเกิดปัญหา “ซิมดับ” หลังจากหมดสัญญาสัมปทานลง
สิ่งที่ปรากฏในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว คือ กสทช.มีมติเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2556 เห็นชอบ “ร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...” และเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศดังกล่าวตามกฎหมาย เพื่อเป็นการเยียวยาลูกค้า
            ซึ่งมีผู้ออกมาวิจารณ์ว่าไม่สามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีฐานอำนาจทางกฎหมายรองรับ เป็นการขยายระยะเวลาสัมปทาน ตลอดจนรัฐจะเสียผลประโยชน์ จึงควรที่จะเร่งให้มีการประมูลคลื่นความถี่ และวิพากษ์วิจารณ์ว่าเหตุใด ในช่วงสองปี ที่ผ่านมา กสทช. จึงไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์
            ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ได้เปิดโอกาสให้ CIO World&Businessได้รับฟังคำชี้แจงถึงเหตุผลต่างๆ เพื่อนำเสนอข้อเท็จจริงและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อกรณีดังกล่าว 
 
  • เร่งประมูล ไม่ใช่ทางออกของปัญหา 1800
 
            จากข้อสงสัยที่ว่า เหตุใด กสทช.จึงไม่เร่งจัดสรรคลื่นด้วยการประมูลความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ให้เกิดขึ้นก่อนหมดสัญญาสัมปทานและบอร์ดกสทช.ดูเหมือนไม่ได้ดำเนินการอะไรในการเตรียมการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และปล่อยให้เวลาผ่านไปถึง 2 ปี 
            ข้อนี้ ดร.สุทธิพล ให้ความกระจ่างว่า “ในการแก้ปัญหานี้เรามองถึงการแก้ปัญหาให้ตรงจุด โดยมองเป็นสองเรื่องนั่นคือ หนึ่ง การจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูล จะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค ที่ต้องยึดหลักของรัฐธรรมนูญ แต่ถ้ามุ่งการจัดประมูลให้เร็วและตอบโจทย์แค่การผ่องถ่ายลูกค้าจากระบบ 1800 เมกะเฮิรตซ์ เก่าเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถตอบเรื่องประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภคได้” 
            “และสอง สภาพความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งในสภาพความเป็นจริงผู้ให้บริการหลายๆ ค่ายที่ทุ่มเงินมหาศาลในการประมูลและลงทุนโครงข่ายไปยังเครือข่าย 3G จะส่งผลต่อสภาวะความพร้อมในการลงทุนของผู้ประกอบการ ประกอบกับผู้ใช้เองก็ยังไม่พร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี 4G ที่ต้องอาศัยเครื่องลูกข่ายที่รองรับ”
“เพราะฉะนั้นการเร่งจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยการประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ในสภาพที่ไม่พร้อมในหลายๆ แง่มุมจึงไม่เกิดผลประโยชน์สูงสุดกับผู้บริโภค และเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ตรงจุด ซึ่งจริงๆ แล้วปัญหาอยู่ที่การถ่ายโอนลูกค้ากลุ่มนี้ที่ค้างอยู่ในระบบ ซึ่งต้องหาวิธีการถ่ายโอน จุดนี้เองที่เป็นการแก้ปัญหาที่ตรงจุดกว่า ดังนั้นการมองว่า กสทช.ทำงานล่าช้าจึงคลาดเคลื่อน และไม่เป็นธรรมต่อองค์กรกสทช.” ดร.สุทธิพล กล่าว
 
  • เฟ้นมาตรการแก้ไข คุ้มครองผู้บริโภค 
 
            แน่นอนว่าการแก้ปัญหาเรื่องการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ทาง กสทช.ได้มีการดำเนินการมาระยะหนึ่งแล้ว นั่นคือ มีการตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ ตั้งแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2555 และตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบรายละเอียดการจัดสรรคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2555 โดยคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ได้รายงานผลการทำงานต่อ กทค.ในช่วงต้นปี 2556 
            โดยการแก้ปัญหาหลักประการแรกคือ การเร่งขยายศักยภาพในการโอนย้ายคนในระบบ จากศักยภาพเดิมของเคลียริ่งเฮ้าส์ที่สามารถทำได้ 40,000 เลขหมายต่อวัน ได้ขยายความสามารถในการรองรับการโอนได้ถึง 3 แสนเลขหมายต่อวัน ประเด็นนี้หลายคนก็ยังคลาดเคลื่อน โดย ดร.สุทธิพล อธิบายว่า 
            “การเพิ่มศักยภาพการโอนผู้ใช้งานได้ 3 แสนเลขหมายต่อวันยังเกิดความคลาดเคลื่อนว่าภายในระยะเวลาไม่เกิน 2 เดือน จะสามารถโอนลูกค้าได้เสร็จสิ้น สิ่งที่ถูกต้องคือ 3 แสนเลขหมายต่อวัน หมายถึง ความสามารถสูงสุดของท่อใหญ่ที่จะต้องรองรับท่อย่อยจากผู้ประกอบการแต่ละรายย่อยๆ นั่นหมายถึง 60,000 รายต่อวันสำหรับผู้ให้บริการแต่ละราย ภายใต้เงื่อนไขว่าผู้โอนและผู้รับโอนจะต้องโอนย้ายพร้อมๆ กัน ซึ่งขึ้นอยู่กับศักยภาพและความพร้อมของแต่ละค่าย” 
            “ดังนั้นการแก้ปัญหาของ กสทช.จะใช้วิธีการเร่งโอนย้ายอย่างเดียวไม่พอ แม้จะทำการขยายศักยภาพการโอนย้ายอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม อย่างไรก็ตาม คาดหมายได้ว่า ณ เวลาที่สิ้นสุดสัมปทานจะยังคงมีผู้ค้างอยู่ในระบบ ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาก็มีผู้เสนอทางออกหลายๆ วิธี อาทิ หนึ่ง การเร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ ซึ่งจะเกิดปัญหาทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ประกอบกับสภาพบรรยากาศความพร้อมของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมก็ยังไม่พร้อม เทคโนโลยีต่างๆ ก็ยังไม่พร้อม ซึ่งไม่ได้ผล หรือ สอง เร่งการพัฒนาศักยภาพการถ่ายโอน แต่ก็คาดว่ายังต้องมีผู้ตกค้างในระบบ”
            “และ สาม แก้แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และขยายระยะเวลาสัมปทานให้นานขึ้น ซึ่งเป็นวิธีการที่เสี่ยง เพราะแผนแม่บทการบริหารจัดการคลื่นความถี่ไม่ได้มีแค่การประกอบกิจการโทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว ยังประกอบด้วยกิจการกระจายเสียงและกิจการวิทยุโทรทัศน์ ขณะเดียวกันการแก้แผนแม่บทต้องมีการประเมิน และตรวจสอบว่าการแก้ไขต้องเป็นไปตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป และที่สำคัญมีโอกาสขัดกับรัฐธรรมนูญ”
            “เมื่อพิจารณาแล้ว ไม่ว่าจะใช้วิธีการอะไรก็ดี ก็มีความเสี่ยงในการเกิดปัญหาการโอนย้ายและยังมีโอกาสที่มีผู้ค้างอยู่ในระบบหลังจากที่สัญญาสัมปทานสิ้นสุด เกิดสุญญากาศขึ้น หากไม่มีมาตรการทางกฎหมายมาเยียวยา จะคุ้มครองผู้บริโภคอย่างไร ซึ่ง กสทช.ต้องมองให้รอบด้านทั้งผู้บริโภค อุตสาหกรรม และผู้ประกอบการ ทั้งหมดนั้นจึงเป็นที่มาของ “ร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. ...” ที่ กสทช.ต้องคิดอย่างรอบคอบ ไม่ผลีผลามสำหรับเรื่องนี้ และเป็นมาตรการที่ดีที่สุด” ดร.สุทธิพล กล่าว
 
  • ย้ำมาตรการคุ้มครองฯ ต้องไม่มีซิมดับ
 
            ดร.สุทธิพล สรุปสาระสำคัญของร่างประกาศฯ ว่า “เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด ผู้ได้รับสัมปทานเดิมจะต้องให้บริการสาธารณะต่อเนื่อง หยุดไม่ได้ และจะต้องทำหน้าที่ในการประชาสัมพันธ์ให้คนที่ค้างอยู่ภายใต้ระบบเดิมโอนย้ายไปสู่ระบบใหม่ ซึ่งต้องมีมาตรการเยียวยาต่างๆ ให้ผู้บริโภค”
            สำหรับมาตรการเยียวยานั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในเงื่อนไขของสัญญาสัมปทานระบุว่า ก่อนที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดผู้ได้รับสัมปทานจะต้องออกมาตรการเยียวยาเพื่อคุ้มครองผู้ใช้บริการซึ่งร่างประกาศนี้จะอ้างไปถึงแผนที่ผู้ได้รับสัมปทานต้องดำเนินการตามสัญญาที่ให้ไว้ ณ ช่วงสุญญากาศ เพื่อรองรับระบบใหม่
            “ข้อสำคัญต่อมาคือ ผู้รับสัมปทานห้ามรับลูกค้าใหม่ และต้องประชาสัมพันธ์ ภายในระยะเวลาการคุ้มครองนาน 1 ปี ซึ่งยังพิจารณาว่าจะเริ่มเมื่อไหร่ ระหว่างเริ่มตั้งแต่วันที่ประกาศมีผลใช้บังคับ หรือตั้งแต่สัญญาสัมปทานสิ้นสุดลง โดยผู้รับผิดชอบควรจะเป็นผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทาน รับผิดชอบร่วมกัน”
 
  • มาตรการคุ้มครองฯ ไม่ใช่ต่อสัมปทาน
 
            หลายคนกังวลว่า ร่างประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองฯ เป็นการยืดระยะเวลาสัมปทานหรือไม่นั้น ตรงจุดนี้ ดร.สุทธิพล ยืนยันว่า “ไม่ได้เป็นการต่อสัมปทาน เพราะไม่ได้มีการจัดสรรคลื่นใหม่ เราต้องการให้บริการสาธารณะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคมมาตรา 20 ผู้รับใบอนุญาตหรือสัมปทานต้องไม่หยุดให้บริการ ถึงแม้ว่าหมดสัญญาก็ยังต้องให้บริการอย่างต่อเนื่องจบหมดภาระ จุดนี้มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนไป”
            และนอกจากนั้นตามร่างได้กำหนดว่ามีระยะเวลาการคุ้มครองแค่ 1 ปี เกิดมีการย้ายลูกค้าได้เสร็จสิ้นก่อนหรือเกิดการประมูลขึ้นก่อน ระบบการคุ้มครองจะหยุดทันที ถ้าเกิดระบบต่างๆ ยังไม่เสร็จ ทั้งการโอนย้ายหรือการประมูล ต้องมีมาตรการในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคอีกที
            “ทุกอย่างมีการดำเนินการควบคู่กันไปทั้งเตรียมการเพิ่มศักยภาพการโอนย้าย และการเตรียมการประมูล ทั้งมาตรการด้านกฎหมาย นี่คือการเตรียมการไว้รองรับ คือแผนที่ได้คิดอย่างรอบคอบเพื่อการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับเกิดสถานการณ์สะดุด มีความเข้าใจจากบางกลุ่มที่อาจคลาดเคลื่อนไป ซึ่งก็ไม่ใช่การต่ออายุสัญญาสัมปทานแต่อย่างใด” ดร.สุทธิพล กล่าวย้ำ
 
  • อำนาจของการออกประกาศ
 
            หลายฝ่ายมองว่า กสทช.ไม่มีอำนาจในการออกประกาศเรื่องมาตรการคุ้มครองฯ แต่ด้วยเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญและหน้าที่ของ กสทช. ไม่เฉพาะการจัดสรรคลื่นความถี่เท่านั้น ยังรวมถึงการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมให้เรียบร้อยและเป็นธรรม ดังนั้น กสทช. จึงต้องคำนึงถึงหลักการอยู่ตลอดเวลาก็คือ หนึ่ง ประโยชน์สูงสุดของประชาชน และสอง ประโยชน์สาธารณะที่ต้องบริการต่อเนื่อง
            “ถ้าเรามองใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในบทเฉพาะกาล แม้จะระบุให้คืนคลื่นความถี่เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุด แต่ก็ไม่ได้ระบุว่าต้องดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูลทันที ขณะเดียวกันในกฎหมายปกครองยังมีหลักการว่า ผู้ใดที่ให้บริการสาธารณะจะต้องดำเนินการโดยต่อเนื่อง ผู้ใดที่มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะแล้วไม่ปกป้องผลประโยชน์ของผู้บริโภค เกิดการหยุดชะงัก เช่น ซิมดับ ผมคิดว่าตรงนี้ย่อมมีความผิด”
            “และที่สำคัญที่สุดใน พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดไว้ชัดเจนว่า การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อใช้สำหรับกิจการโทรคมนาคม ที่ต้องดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ ผู้ที่เป็นคนกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาคือ กสทช. ดังนั้นหลักการที่ กสทช.ต้องยึดในการดำเนินการตรงนี้ ต้องมองผู้บริโภคและประโยชน์สาธารณะ”
            “นี่คือสิ่งที่ยืนยันว่า กสทช. มีภาระหน้าที่โดยตรงและอำนาจตามกฎหมายในการแก้ปัญหาเรื่องดังกล่าว ถ้าเราไม่ออกมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค เพื่อไม่ให้เกิดสุญญากาศ มันจะไม่มีทางออกสำหรับอนาคตของประเทศไทยเลย เกิดภาวะซิมดับ โดยกระบวนการขณะนี้อยู่ในช่วงของการรับฟังความคิดเห็น ทุกเสียง ทุกความเห็นมีความสำคัญ ต่อการปรับร่างที่ดีที่สุด” ดร.สุทธิพล กล่าว
 
  • รัฐยังคงมีรายได้จากค่าเช่าโครงข่าย
 
            นอกจากนั้นประเด็นเรื่องการสูญเสียรายได้ของรัฐอันเนื่องมาจากหมดอายุสัญญาสัมปทาน และยังไม่ได้ทำการจัดสรรคลื่นความถี่ได้ก่อนหมดอายุสัญญานั้น ดร.สุทธิพลให้ข้อเท็จจริงคือ “ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่ารายได้ของรัฐที่มาจากค่าสัมปทานนั้น เมื่อสัมปทานหมดรายได้ก็หมดลงตามไปด้วย แต่ระหว่างที่หมดสัญญาสัมปทานและมีการดำเนินการต่อเนื่องไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือ การบริหารรายได้แบบ วิน-วิน ระหว่างรัฐและผู้ประกอบการ”
            “โดยปกติแล้ว กสท. มีรายได้จากค่าสัมปทาน แต่เมื่อสัมปทานหมดลง บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัดจะต้องส่งมอบโครงข่ายให้กับ กสท. ซึ่งจากเงื่อนไขสัญญาสัมปทานที่ต้องให้บริการแบบต่อเนื่องจากลูกค้าที่ยังคงอยู่ในระบบ หมายความว่า กสท. ยังมีโอกาสในการเก็บค่าเช่าใช้บริการโครงข่ายจากผู้รับสัมปทานที่จำเป็นต้องให้บริการต่อเนื่อง เป็นเรื่องที่ กสท.กับ บริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด ต้องตกลงกัน”
            “รายได้ของรัฐยังมีจากค่าเช่าใช้โครงข่ายจากบริการต่อเนื่อง รวมถึงภาษีจากการให้บริการต่อเนื่องก็ยังคงต้องจ่ายให้กับรัฐอยู่ดี ภาพรวมแล้วรัฐยังได้ประโยชน์คือ การคุ้มครองผู้บริโภค ค่าเช่าโครงข่าย และภาษีจากเงินได้ ทางฝั่งผู้ประกอบการเองไม่ได้มีรายได้เพิ่มขึ้น กลับกันต้องมีค่าใช้จ่ายในการทำการตลาดเพื่อประชาสัมพันธ์ในการย้ายคลื่น” 
 
  • ตั้งเป้า ตุลาคม 2557 ประมูลคลื่น 1800
 
            จริงๆ แล้วกสทช.มีการดำเนินแผนรับมือการหมดอายุสัมปทาน และการจัดสรรคลื่นความถี่ด้วยวิธีการประมูลมาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 และตั้งคณะอนุกรรมการตรวจสอบรายละเอียดการจัดสรรคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อวันที่ 22 กันยายน 2555 โดยคณะอนุกรรมการฯ ทั้ง 2 ชุด ได้รายงานผลการทำงานต่อ กทค.ในช่วงต้นปี 2556
            กสทช.ได้เดินหน้ากิจกรรมต่างๆ ไปแล้ว นั่นคือ ยกร่างประกาศเพื่อหามาตรการคุ้มครองฯ การประเมินมูลค่าคลื่น และร่างกฎกติกาในการประมูล โดยได้ความร่วมมือจาก สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) โดยประมาณไม่เกินเดือนตุลาคม 2557 จะสามารถประมูลคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ และต้นปี 2558 ก็สามารถให้บริการ 4G ได้ นั่นคือช่วงเวลาที่เหมาะสม
            นอกจากนั้นยังมีแนวคิดหนึ่งในการประมูลคือ ต้องการนำคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ออกมาประมูลพร้อมกับย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ จำนวน 25 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้เปิดประมูลเป็นแพ็คเกจเดียวกัน โดยไม่ต้องรอคลื่น 900 เมกะเฮิรตซ์ ครบกำหนดสิ้นสุดสัญญาสัมปทานในปีหน้า เพื่อสร้างแรงจูงใจ และให้เอกชนที่ได้รับสัมปทานได้เตรียมตัววางระบบรองรับลูกค้าผู้ใช้บริการ และไม่เกิดปัญหารอยต่อเหมือนกับคลื่น 1800 เมกะเฮิรตซ์ เพราะต้องการยึดหลักไม่ให้การบริการมือถือกับประชาชนสะดุดลง
            “และในช่วงที่ผ่านมาเราออกคำสั่งให้ผู้ที่อยู่ภายใต้สัมปทานมีหน้าที่ส่ง SMS แจ้งลูกค้าให้ทราบ และสำนักงาน กสทช.ก็ทำการประชาสัมพันธ์ควบคู่กันไป โดยมีคณะทำงานเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภค คอยพิจารณาแผนการเยียวยาจากผู้ประกอบการเป็นอย่างไร ต้องปรับปรุงอะไร”
 
  • ให้ความมั่นใจประชาชน
 
            “ผมให้คำมั่นว่าลูกค้าจำนวน 17 ล้านรายจะได้รับความคุ้มครองอย่างเต็มที่ โดยจะมีทางเลือกในการใช้ระบบเดิมหรือการย้ายไปสู่ระบบใหม่ ภายใต้มาตรการคุ้มครองจากประกาศฯ ถ้าจะมีการโอนย้ายจริงๆ ก็มีความสะดวกในการโอนย้ายทั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ ขีดความสามารถในการโอนย้ายก็ดีขึ้น ค่าใช้จ่ายในการโอนย้ายก็ถูกลง แม้สัญญาสิ้นสุดลง การโอนย้ายก็ยังสามารถทำได้อย่างต่อเนื่อง”
            “และขอให้มั่นใจว่าการเตรียมการในการจัดสรรคลื่นความถี่โดยการประมูลเมื่อกสทช.มีเวลา อุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความพร้อมอย่างแท้จริง ประโยชน์สูงสุดก็จะเกิดกับประชาชน” ดร.สุทธิพล สรุป

Download

  • สัมภาษณ์พิเศษ-ดร-สุทธิพล-ทวีชัยการ-กสทช-ด้านกฏหมาย.doc

สร้างโดย  -   (22/3/2560 14:44:07)