สื่อท้องถิ่นแนะ กสทช. ยกเครื่องกฎระเบียบ เร่งส่งเสริมเนื้อหาท้องถิ่น ปรับวิธีส่งเสริมชุมชนและสนับสนุนบริการชุมชนตาม กม.


                   ตัวแทนสื่อท้องถิ่นทั้งเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน และทีวีชุมชนจากทุกภูมิภาคร่วมสะท้อนปัญหาท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แจงอยู่รอดได้แบบหืดขึ้นคอ ทีวีชุมชนปรับตัวสื่อสารบนแพลตฟอร์มทุกประเภท วิทยุชุมชนรอดได้เพราะเงินบริจาค ส่วนเคเบิลทีวีชี้ปัญหาใหญ่คือถูก กสทช. บังคับเรียงช่อง ด้าน กสทช. พิรงรอง ยืนยัน พร้อมส่งเสริมให้สื่อมีเนื้อหาหลากหลาย พร้อมกำกับดูแลให้เอื้อต่อการอยู่ได้ของสื่อท้องถิ่น

                   วันที่ ๒๐ กันยายน ๒๕๖๕ สำนักงาน กสทช. ได้จัดเวทีเสวนา NBTC Public Forum ครั้งที่ ๒ ประจำปี ๒๕๖๕ หัวข้อ “การปรับตัวของสื่อท้องถิ่นในยุค Disruption” ณ อาคารหอประชุม ชั้น ๑ สำนักงาน กสทช. โดย ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. กล่าวว่า เป้าหมายสำคัญขององค์กรกำกับดูแลสื่อในทางสากลคือการสร้างความหลากหลายของสื่อ ด้วยวิธีการออกใบอนุญาต การสร้างเสริมศักยภาพให้มีความพร้อม การสร้างเงื่อนไขของการกำกับดูแลให้เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสื่อท้องถิ่น ซึ่งเป็นหน้าที่ของผู้กำกับดูแลสื่อโดยเฉพาะในประเทศที่เป็นประชาธิปไตย หากนับการปฏิรูปสื่อในประเทศไทยตั้งแต่ปี ๒๕๔๐ รวมเวลากว่า ๒๕ ปีแล้ว แต่ในแง่ของการครอบครองคลื่นความถี่ หน่วยงานรัฐยังคงเป็นผู้ครอบครองคลื่นความถี่มากที่สุด โดยได้รับใบอนุญาตบริการสาธารณะและบางส่วนหารายได้จากโฆษณาได้ ส่วนกลุ่มที่เข้าถึงใบอนุญาตน้อยที่สุดคือกลุ่มชุมชน ทั้งที่มีรัฐธรรมนูญรองรับ ขณะที่สื่อเคเบิลทีวีอยู่ยากขึ้น จากที่ตนเองได้ลงพื้นที่จังหวัดพะเยา พบว่าชุมชนที่ต้องการดำเนินการทีวีชุมชนในท้องถิ่น เห็นว่าทุกภาคส่วนพยายามต่อสู้เพื่อให้เกิดความหลากหลายของสื่อท้องถิ่นเพราะแต่ละพื้นที่มีอัตลักษณ์ที่แตกต่างและมีความหลากหลาย ประชาชนไม่ต้องการรับสารชนิดเดียวแบบเดียวกันทั้งหมด ภาพตัวแทนของสังคมไทยไม่ใช่กรุงเทพฯ แต่มีอีกหลายพื้นที่และหลายท้องถิ่น การประชุมหารือครั้งนี้จึงหวังว่า จะได้บทเรียนจากกันและกันเพื่อให้ กสทช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐสามารถดูแลสื่อทุกประเภทให้อยู่ได้อย่างเท่าเทียม

 วิทยุชุมชนปิดตัว ๗๐% เคเบิลปิดกิจการเกินครึ่งในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา
                    สาโรจน์ แววมณี นักวิชาการอิสระด้านสื่อท้องถิ่นและสื่อชุมชน กล่าวทบทวนสถานะและการดำรงอยู่ของสื่อท้องถิ่นในรอบ ๑๐ ปี (พ.ศ. ๒๕๕๕ – ๒๕๖๕) ว่า เงื่อนไขที่ทำให้สื่อท้องถิ่นต้องปรับตัวคือ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้รูปแบบของธุรกิจและการดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว บวกกับหลักเกณฑ์เงื่อนไขต่างๆ ที่ กสทช. กำหนดให้สื่อท้องถิ่นต้องปฏิบัติตาม หากรายใดไม่สามารถทำตามได้ก็ต้องยุบหรือปิดกิจการไป และเงื่อนไขสุดท้ายคือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อโควิด ๑๙

                   ปัจจุบันมีวิทยุออกอากาศในลักษณะทดลองทั้งหมด ๓,๙๖๖ สถานี เป็นประเภทบริการชุมชน ๑๖๗ สถานี ประเภทบริการสาธารณะ ๖๒๕ สถานี และประเภทกิจการทางธุรกิจอีก ๓,๑๗๔ สถานี จากเดิมในปี ๒๕๕๗ มีจำนวน ๕,๖๔๖ สถานี เป็นประเภทบริการชุมชน ๕๕๔ สถานี ประเภทบริการสาธารณะ ๑,๐๗๗ สถานี และประเภทกิจการทางธุรกิจ ๔,๐๑๕ สถานี เท่ากับว่าสถานีวิทยุประเภทบริการชุมชนหายไปถึงร้อยละ ๗๐ และประเภทบริการสาธารณะหายไปร้อยละ ๕๐
ด้านเคเบิลทีวีท้องถิ่น ปี ๒๕๕๗ มีจำนวนครัวเรือนที่ใช้บริการจำนวน ๒,๔๑๙,๐๐๐ ครัวเรือน ในปี ๒๕๖๔ เหลือจำนวนครัวเรือนที่ใช้บริการจำนวน ๗๒๖,๐๐๐ ครัวเรือน ผู้ใช้บริการลดลงไปราวร้อยละ ๗๐ ด้านรายได้ของเคเบิลทีวีท้องถิ่น ในปี ๒๕๕๗ จากจำนวน ๑๓๗๙.๗๙ ล้านบาท ในปี ๒๕๖๓ รายได้ของเคเบิลทีวีท้องถิ่นเหลือเพียง ๖๘๕.๓๓ ล้านบาท ลดลงร้อยละ ๕๐ นอกจากนี้ยังพบว่า การได้รับใบอนุญาตของเคเบิลทีวีก็ลดน้อยลงทุกปี โดยในปี ๒๕๖๔ มีผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเพียง ๒๒๕ ราย จากปี ๒๕๕๘ มีผู้ได้รับใบอนุญาตจำนวน
๓๘๑ ราย เหตุผลสำคัญคือ การไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตรายปี การแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการเคเบิลทีวีท้องถิ่นหรือทีวีดาวเทียมเผชิญปัญหาหนักและมีผู้ประกอบการจำนวนมากทยอยปิดกิจการมากกว่าร้อยละ ๕๐ ของตลาด รวมถึงการที่ผู้ให้บริการเคเบิลทีวีไม่สามารถจัดเรียงช่องรายการได้ตามที่ กสทช. กำหนด
อย่างไรก็ตามมีวิทยุชุมชนและเคเบิลทีวีท้องถิ่นบางส่วนที่ยังคงสามารถอยู่รอดได้ เพราะคนจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถเข้าถึง หรือไม่ปรารถนาที่จะใช้สื่อออนไลน์ เช่น กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง นอกจากนี้ยังมีกลุ่มที่ยังรับฟังข่าวสารและความบันเทิงจากทั้งสองแพลตฟอร์ม คือสื่อดั้งเดิมและสื่อออนไลน์ หรือกรณีเคเบิลทีวี จังหวัดเชียงราย แถวดอยแม่สลองซึ่งผู้ใช้บริการเป็นกลุ่มชุมชนคนจีน ผู้ให้บริการจึงได้นำช่องรายการภาษาจีนมาให้บริการเพื่อตอบสนองความต้องการของสมาชิกถือเป็นการปรับตัวของเคเบิลท้องถิ่นอย่างชัดเจน หรือกรณีของเคเบิลทีวี จังหวัดพะเยา มีสมาชิกเป็นกลุ่มคนในหอพัก และต้องหาช่องทางหารายได้เพิ่มเติม เช่น การรับติดตั้งอินเทอร์เน็ต รับส่งพัสดุ และรับชำระค่าบริการต่างๆ

            ด้านปัญหาจากการออกหลักเกณฑ์ต่าง ๆ ของ กสทช. เช่น หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และหลักเกณฑ์ทดสอบมาตรฐานทางเทคนิคเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียง ซึ่งวิทยุชุมชนหลายแห่งไม่สามารถดำเนินการตามหลักเกณฑ์ของ กสทช. ได้ ทั้งด้านเอกสารและการทดสอบทางเทคนิคเพราะต้องใช้เงินจำนวนมากสำหรับวิทยุชุมชนขนาดเล็ก ทำให้วิทยุชุมชนเริ่มผันตัวเองไปทำสื่อออนไลน์ซึ่งสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่า ด้านเคเบิลทีวีก็ประสบปัญหาจากหลักเกณฑ์มัสต์แครี่และการจัดเรียงช่องรายการ ซึ่ง ต้องนำช่องรายการทีวีดิจิทัลมาไว้ในหมวดแรก จนทำให้กลุ่มผู้ประกอบการเคเบิลทีวีรวมตัวกันฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองสูงสุด ทั้งที่การจัดเรียงช่องควรเป็นอำนาจของผู้ดำเนินกิจการเพื่อตอบสนองความต้องการตามกลุ่มลูกค้าของผู้ประกอบการแต่ละราย แม้ว่าการจัดเรียงช่องของ กสทช. อาจดีต่อผู้ใช้บริการทั่วไปที่สามารถจดจำช่องได้ง่าย แต่เคเบิลทีวีต้องรับภาระมากว่า ๗ ปีแล้ว จึงควรมีการตกลงร่วมกันระหว่างกลุ่มเคเบิลทีวีและ กสทช. เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด
 
เสนอ กสทช. ทำโครงการทีวีชุมชนนำร่องเพื่อให้ทดลองออกอากาศภาคพื้นดิน
       ในปี ๒๕๕๙ กสทช. ได้จัดให้มีโครงการทีวีชุมชนนำร่อง โดยคัดสรรทีวีชุมชน ๓ แห่ง คือ พะเยาทีวี ทีวีชุมชนอุบลราชธานี และทีวีอันดามันมั่นคง ในจังหวัดภูเก็ต กระบี่ และพังงา ที่ได้รับการสนับสนุนจากโครงการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) ทั้งนี้นายสาโรจน์เห็นว่าในระยะถัดไป กสทช. ควรสนับสนุนให้มีการทดลองออกอากาศภาคพื้นดินเช่นเดียวกับทีวีดิจิทัลระดับชาติ
“กสทช. ควรทำโครงการทีวีนำร่องเฟสที่ ๒ โดยสนับสนุนค่าอุปกรณ์และค่าเช่าในระยะเริ่มต้น และออกหลักเกณฑ์ในการทดลองและสนับสนุนต่าง ๆ ให้ผู้ประกอบการ MUX ส่งสัญญาณผ่านไฟเบอร์และสัญญาณผ่านดาวเทียม ซึ่งต้องมีการหารือระหว่างทีวีชุมชนและ MUX ขณะเดียวกันทีวีชุมชนต้องมีความพร้อมทางเนื้อหาทางเทคนิคและการเงิน รวมถึงแหล่งรายได้ที่แน่นอนด้วย” นายสาโรจน์กล่าว

            ชัยวัฒน์ จันธิมา ผู้จัดการโครงการก่อตั้งสถานีโทรทัศน์ชุมชนและบรรณาธิการ “พะเยาทีวี” ให้ความเห็นว่า กฎระเบียบของ กสทช. ไม่ส่งเสริมคนในท้องถิ่นและไม่สนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ ควรแก้ไขกฎระเบียบที่มีความเหลื่อมล้ำ ควรส่งเสริมศักยภาพของสื่อท้องถิ่นและสนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการรายใหม่ในท้องถิ่น
 “สื่อก็เหมือนป่า ที่ต้องไม่ใช่เพียงอุทยานแห่งชาติ แต่ต้องมีป่าชุมชนที่ให้ชุมชนสามารถหากินและเลี้ยงตัวเองได้ด้วย”  นายชัยวัฒน์กล่าว

ออกแบบการให้ทุนและปรับกฎกติกาที่ส่งเสริมสื่อท้องถิ่นให้อยู่ได้
               หลังจากนั้นในการเสวนา เรื่อง “การปรับตัวของสื่อท้องถิ่นในยุค Disruption” โดยนายธีรภัทร
เอื้ออารีวรกุล  ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กลุ่มเจริญเคเบิลทีวี เสนอให้ กสทช. ปรับเปลี่ยนกฎการเรียงช่องบนโครงข่ายของเคเบิล  รวมถึงสนับสนุนข่าวท้องถิ่นที่เคเบิลเป็นผู้ผลิตเพื่อให้รายการข่าวท้องถิ่นสามารถดำเนินการต่อไปได้ การจัดระเบียบสายและท่อร้อยสายทำให้ต้องตัดสายเคเบิลและต้องลงทุนใหม่สร้างภาระต้นทุนจำนวนมากจึงต้องการการสนับสนุนจาก USO รวมถึงกรณีการลงสายใต้ดิน เช่น กรุงเทพฯ หรือภูเก็ต ขอให้ กสทช. ปรับหลักเกณฑ์การให้ผู้ประกอบการเช่าท่อร้อยสาย โดยขอให้กันพื้นที่ไว้ร้อยละ ๑๐ สำหรับผู้ประกอบการรายเล็กได้เช่าพื้นที่นั้นด้วยในราคาย่อมเยาว์

              ด้านนายกันต์ อนันต์ธนวัฒน์ กรรมการบริษัท พี เอ บิสสิเนส ภูเก็ต จำกัด เสนอให้กองทุน กสทช. ศึกษารูปแบบการให้ทุนสนับสนุนของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติโดยกรรมการพิจารณาให้ทุนควรมีความหลากหลายและให้ทุกภาคส่วนเข้าไปมีส่วนร่วมด้วย ควรมีการจัดอบรม workshop  ส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากร การพิจารณาให้การสนับสนุนควรพิจารณาอย่างยุติธรรม

               ด้านนายกฤษฎา วงศ์ไข่ วิทยุชุมชนคนเมืองลี้ จากจังหวัดลำพูน ให้ความเห็นว่าวิทยุชุมชนมีรายได้จากการบริจาคร้อยเปอร์เซ็น โดยในเดือนตุลาคมของทุกปีทางสถานีจะจัดให้มีการทอดผ้าป่า มีการแสดงและจัดกิจกรรมในตลาดทำให้ได้รับงบประมาณพอสมควร อีกทั้งยังเป็นการวัดผลตอบรับจากคนฟังไปด้วย หากมีคนบริจาคแสดงว่ามีผู้ต้องการให้มีวิทยุชุมชนอยู่ มีรายได้แต่ละปีจากการบริจาคประมาณเจ็ดหมื่นถึงหนึ่งแสนบาทต่อปี หากไม่เพียงพอเช่น สถานีประสบปัญหาจากพายุก็จะมีการประกาศระดมเงินเพื่อซ่อมแซมเพิ่มเติม ช่วงเกิดสถานการณ์โควิด จะใช้วิธีทอดผ้าป่าผ่านระบบออนไลน์ มีการไลฟ์สดระดมทุน และได้เสนอให้ กสทช. พิจารณาปรับปรุงกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เช่น ควรรื้อกฎเกณฑ์การกำหนดสัดส่วนรายการใหม่ เช่น การกำหนดให้ต้องมีรายการสำหรับเด็กและผู้พิการในทุกวัน ซึ่งไม่สอดคล้องกับความพร้อมและการออกอากาศของสถานี
ส่วนนายเข็มพร เชื้อตาหมื่น วิทยุชุมชนชาวธาตุพนม จังหวัดนครพนม เสนอว่า กสทช. ควรทบทวนหลักเกณฑ์วิธีการปฏิบัติเพื่อสนับสนุนให้วิทยุชุมชนสามารถอยู่รอดได้ 

“เราพยายามยืนหยัด เพื่อให้ชุนชนมีศักดิ์ศรี ทำอย่างไรให้วิทยุชุมชนของเราอยู่รอดได้ พยายามสร้างกลุ่มเยาวชน กลุ่มผู้สูงอายุ ให้เข้ามามีส่วนร่วมและมีความแข็งแกร่ง” นายเข็มพรกล่าว

           นายประสาร สถานสถิตย์ มูลนิธิรักษ์ไทย ผู้ประสานงานทีวีชุมชนอันดามันมั่นคง กล่าวว่า หลังจากร่วมโครงการทีวีชุมชนนำร่องแล้ว ปัจจุบันได้ใช้พื้นที่สื่อสารผ่านสื่อสังคมออนไลน์เป็นหลัก ตามพฤติกรรมการใช้งานของผู้ชมผู้ฟังในพื้นที่ จึงเสนอให้ กสทช. สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายสื่อชุมชนท้องถิ่นเพื่อแลกเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนางาน ให้สื่อชุมชนเข้าถึงช่องทางการสื่อสาร ทั้งในด้านคลื่นความถี่หรือแพลตฟอร์มออนไลน์
 

สร้างโดย  -   (21/9/2565 11:59:52)

Download

Page views: 241