กทค.สรุปผลงานเด่นส่งท้ายปีงูเล็ก“ปีแห่งการคุ้มครองผู้บริโภค”

       ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย  และในฐานะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า ผ่านพ้นไปเป็นปีที่ 2 กับบทบาทการทำหน้าที่ กสทช. ด้านกฎหมาย ในการปรับปรุงและพัฒนา กฎ กติกา ระเบียบต่างๆ ในกิจการโทรคมนาคมให้ก้าวทันต่อเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างต่อเนื่อง  ซึ่งตลอดปี 2556 บอร์ดกทค. ได้ขับเคลื่อนกิจการโทรคมนาคมและมีผลงานที่โดดเด่นออกมาหลายเรื่อง ภายใต้แนวทางการทำงานของ“ปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม” ส่งผลให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่คาราคาซังมาเนินนานสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม อาทิเช่น สามารถแก้ไขปัญหาบัตรเติมเงิน (พรีเพด) ที่เป็นปัญหาคาราคาซังมานานจนเป็นผลสำเร็จ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานขั้นต่ำ ในการคุ้มครองผู้บริโภคว่าในการเติมเงินทุกมูลค่าทุกโปรโมชั่นต้องได้วันสะสมอย่างน้อย 30 วัน และสามารถสะสมได้ถึง 365 วัน นอกจากนี้ กทค. ยังได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจการจำหน่ายบัตรเติมเงินพรีเพด ในพื้นที่ต่างๆ ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเกิดความตื่นตัวและเพื่อบังคับตามเงื่อนไขมาตรฐานขั้นต่ำที่ กทค.กำหนดไว้
     ผลงานเด่นอีกชิ้นหนึ่งในการคุ้มครองผู้บริโภค คือ การออกประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการโทรคมนาคมในกรณีสิ้นสุดอายุการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2556  หรือที่เรียกกันว่า  “ประกาศห้ามซิมดับ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นไฮไลต์ในการทำงานของกทค.ที่ใช้มาตรการทางกฎหมายผ่าทางตัน โดยการอุดช่องโหว่ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ที่มีอยู่ระหว่างรอยต่อของการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz  ส่งผลทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการระบบ 2 จี ที่อยู่ในคลื่น 1800 MHz กับการอนุญาตให้ใช้คลื่นฯ สามารถใช้บริการได้โดยไม่สะดุดและมีเวลาในการย้ายเครือข่ายไปสู่ระบบใหม่ได้อย่างราบรื่นภายในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งทำให้สามารถข้ามผ่านวิกฤตการณ์สภาวะ “ซิมดับ”มาได้เป็นผลสำเร็จ
     ผลงานเด่นอื่นๆ ยังรวมถึงการผลักดันให้มีการลดอัตราค่าธรรมเนียมการคงสิทธิเลขหมาย จากเดิมมีค่าธรรมเนียม 99 บาท ให้เหลือเพียง 29 บาท รวมทั้งการกำกับดูแลมาตรฐานการให้บริการในระบบ 3 จี อย่างมีประสิทธิภาพ  โดย กทค. ได้ลงพื้นที่สุ่มตรวจสัญญาณการให้บริการ 3 จี ด้วยรถไดร์ฟเทสอย่างต่อเนื่อง
     ในส่วนการให้ความสำคัญต่อประชาชนทุกภูมิภาคนั้น กทค.ได้ริเริ่มให้มีการจัดประชุม “กทค.สัญจร พบประชาชน” ในทุกภูมิภาค โดยลงพื้นที่ด้วยตนเองเพื่อรับฟังปัญหาและความคิดเห็นต่างๆของประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ทั้ง 5 ภูมิภาค เพื่อนำข้อมูลต่างๆกลับมาปรับปรุงแก้ไขในการทำงานให้สอดคล้องกับความต้องการของพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริง
กทค. ยังได้ริเริ่มให้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการการมีส่วนร่วมในกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ประชาชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นในการออกกฎ กติกา ต่างๆ รวมไปถึงการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในกิจการโทรคมนาคมอย่างเต็มรูปแบบครั้งแรกของประเทศไทย โดยนำกระบวนการการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนมาใช้กับกระบวนการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz
     นอกจากนี้ ได้เร่งรัดพิจารณาเรื่องร้องเรียนโทรศัพท์เคลื่อนที่จนสำเร็จลุล่วง ส่งผลให้เกิดการคุ้มครองผู้บริโภคโดยผ่านการพิจารณาชี้ขาดของบอร์ด กทค. จำนวนกว่า 70 เรื่อง
     ผลงานในปี 2556 ยังรวมถึงการปรับปรุง แก้ไข กฎระเบียบต่างๆในกิจการโทรคมนาคม อาทิ การออกประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ.2556 หรือที่เรียกกันว่า “ประกาศอินฟราสตรัคเจอร์แชร์ริ่ง” ซึ่งประกาศฉบับนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้รับใบอนุญาตสามารถนำโครงสร้างพื้นฐานที่มีสิทธิตามสัญญาเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นใช้ร่วมกันอันเป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 47 แห่งรัฐธรรมนูญฯ
     นอกจากนี้ กทค. ยังได้กำหนดอัตราการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมชั่วคราวในกรณีใบอนุญาต 3จี  จากเดิมที่มีอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่าย 1 บาท ให้ลดลงมาอยู่ที่ 45 สตางค์   ทำให้การเชื่อมต่อโครงข่ายของค่ายมือถือต่างๆมีต้นทุนที่ถูกลง และส่งผลทำให้ค่าใช้บริการของผู้บริโภคถูกลงตามไปด้วย โดยปัจจุบันนี้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายได้ตกลงร่วมกันที่จะใช้อัตรา 45 สตางค์เป็นอัตรากลางในการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
รวมทั้งยังได้ออกประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2556 โดยมีผลบังคับใช้ไปแล้ว เมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2556 ส่งผลให้มีการพลิกโฉมกติกาการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมจนสามารถก้าวทันการพัฒนาเทคโนโลยีในปัจจุบันได้
      สำหรับผลงานความร่วมมือกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นั้น มีความร่วมมือกับ ITU  ในหลายด้านที่โดดเด่นคือการที่ ITU เข้ามาจัดทำประเมินผลงานการจัดประมูล 3 จี โดยใช้หลักเกณฑ์สากลมาเป็นตัววัด ซึ่งผลที่ได้รับก็คือ ในต้นปี 2556 ITU ได้ประเมินและให้การรับรองการจัดประมูล 3 จี ของไทยว่า ถูกต้อง มีประสิทธิภาพตามมาตรฐานสากล โดยยกย่องการจัดประมูล 3 จีของไทยให้เป็นต้นแบบที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม นอกจากนี้ กสทช.ยังได้ร่วมมือกับ ITU และกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จัดงานประชุมระหว่างประเทศ คือ ITU Telecom World  2013 ส่งผลทำให้ประเทศไทยมีบทบาทที่สำคัญและสามารถผลักดันแนวคิดเรื่องโทรคมนาคมของไทยต่อชาติสมาชิก ITU กว่า 190 ประเทศ ได้อย่างเป็นที่น่าพอใจ
     ดร. สุทธิพล เปิดเผยต่อไปว่า ความร่วมมือในการทำ MOU กับประเทศต่างๆนั้น เป็นผลจากที่ตนได้มีโอกาสเดินทางไปร่วมประชุมในเวทีต่างๆ ในปี 2556 ไม่ว่าจะเป็นเวทีระดับโลก หรือระดับภูมิภาคที่มีการประชุมเกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคม จึงได้พบปะหารือกับ กสทช. ของประเทศต่างหลายประเทศเพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านกิจการโทรคมนาคม  โดยเฉพาะการได้หารือกับประธาน กสทช. ของประเทศโปแลนด์ และของประเทศตุรกี  ซึ่งแสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับ กสทช. ของไทยในด้านโทรคมนาคม ทำให้ต่อมามีการลงนาม MOU ในเดือนพฤศจิกายน 2556   เพื่อแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระหว่างกัน นอกจากนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่สนใจจะเข้ามาทำ MOU กับ กสทช.ของไทย ซึ่งในปี 2557 ประเทศเกาหลี มาเลเซีย และปากีสถาน ฯลฯ ได้ติดต่อเข้ามาแล้วว่าสนใจที่จะทำ MOU กับ กสทช. ของไทย
     สำหรับความร่วมมือในระดับภูมิภาคเอเซียนและอาเซียนในปี 2556 นั้น จากการที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม ITU-KCC Asia-Pacific Regulators’ Roundtable ณ สาธารณรัฐเกาหลี  และได้รับเกียรติให้เป็นวิทยากรนำเสนอมุมมองในหัวข้อหลัก ก็คือ การคุ้มครองผู้บริโภคในยุคดิจิตอล ซึ่งตนได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับสภาพปัญหาและความท้าทายของ Regulators ที่ กสทช. ไทยให้ความสำคัญในการคุ้มครองผู้บริโภค  นอกจากนี้ยังได้เข้าร่วมประชุมคณะมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมที่ประเทศอินโดนีเซียและประเทศเมียนมาร์ ซึ่งต่อมา กสทช.ของไทยก็ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพในการจัด ASEAN Workshop เรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2556 ณ กรุงเทพฯ โดยตนได้ชี้ให้ชาติสมาชิกของอาเซียนให้ความสำคัญต่อการสร้างระบบการกำกับดูแลในอาเซียนและการนำเอาระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทในกิจการโทรคมนาคมมาใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดข้อขัดแย้งระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการมือถือ ทั้งนี้ได้ใช้โอกาสนี้นำร่องด้วยการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้ใช้บริการกับผู้ให้บริการมือถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกในภูมิภาคอาเซียนด้วย โดยมีผู้แทนในกลุ่มประเทศอาเซียน รวมไปถึง กสทช. ของอิตาลี และผู้เชี่ยวชาญในด้านคุ้มครองผู้บริโภคของประเทศอิตาลีได้ให้เกียรติมาร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยฯ ของ กสทช.ไทยอีกด้วย  ซึ่งภายหลังจากที่ สำนักงาน กสทช. เปิดศูนย์ไกล่เกลี่ยฯอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 หรือเพียงแค่ 1 เดือนเท่านั้น ก็สามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาทที่มีความยากและซับซ้อนสำเร็จแล้วจำนวน 3 เรื่อง  ซึ่ง 1 ใน 3 เรื่องนี้ มีกรณีที่ผู้ใช้บริการนำโทรศัพท์มือถือไปใช้ที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย และถูกคิดค่าโรมมิ่งมูลค่ากว่า 1.3 ล้านบาท แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยฯก็สามารถยุติข้อพิพาทนี้ได้ภายในระยะเวลาอันสั้นและเป็นที่พึงพอใจด้วยกันทั้งสองฝ่าย        

Download

  • กทค-สรุปผลงานเด่นส่งท้ายปีงูเล็ก.doc

สร้างโดย  -   (20/3/2560 11:05:46)