กสทช. ชี้ 12 คำถามที่จี้ให้ TDRI ตอบ

กสทช. ชี้ 12 คำถามที่จี้ให้ TDRI ตอบ 

• หวังยกมาตรฐานสถาบันวิจัยต่างๆให้ใช้ข้อมูลถูกต้องรอบด้าน ก่อนสายเกินแก้ (ตอนที่ 1) 
            จากที่สำนักงาน กสทช. จี้ให้ TDRI โดย ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ตอบคำถามสาธารณะ เรื่องสัมปทาน 1800 ให้กระจ่าง ก่อนที่จะมาเบี่ยงเบนประเด็นทำให้สังคมเกิดความสับสนหนักขึ้นไปนั้น
            ต่อมา ดร. สมเกียรติ ได้เขียนบทความ “10 คำถามที่ กทค. ไม่สะดวกใจที่จะตอบ?” ในหนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับวันจันทร์ที่ 9 กันยายน 2556 โดยแสดงความประหลาดใจต่อท่าทีล่าสุดของ สำนักงาน กสทช. และตำหนิว่า กทค. และสำนักงาน กสทช. ไม่เป็นมิตรต่อการวิพากษ์วิจารณ์รวมทั้งหยิบยกว่า 
            ดร. สมเกียรติ และนักวิชาการจำนวนมากตั้งข้อสังเกตถึงความชอบด้วยกฎหมายของการดำเนินการของ กทค.
            สำนักงาน กสทช. ขอชี้แจงว่า คำถามที่ สำนักงาน กสทช. ถาม ดร. สมเกียรติ กลับไปทั้ง 12 คำถามนั้น เป็นประเด็นที่มีความสำคัญอย่างยิ่งและเกี่ยวเนื่องกับ 10 คำถามที่ ดร. สมเกียรติ เพิ่งถาม กทค. ให้ตอบ เมื่อมีการฟ้องคดีหมิ่นประมาทนักวิชาการระดับผู้บริหารของสถาบัน TDRI ซึ่งมีความใกล้ชิดและอยู่ภายใต้ การกำกับดูแลของ ดร. สมเกียรติ ในฐานะประธานสถาบัน TDRI 
            ขอย้ำว่า กทค. พร้อมถูกวิจารณ์และน้อมรับการตรวจสอบ แต่การใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นจะต้องไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น และในกรณีนี้มีหลักฐานยืนยันว่ามิได้เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ทั้งมิได้เป็นการติชมด้วยความเป็นธรรม ทั้งนี้ คำถามทั้ง 12 ข้อ หากมีการตอบอย่างถูกต้องและตามความเป็นจริง จะสะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานในการทำงานของสถาบันฯ ภายใต้การกำกับดูแลของ ดร. สมเกียรติ ซึ่งอาจจะถึงเวลาที่ต้องหันกลับไปดูสถาบันฯ ที่ตนรับผิดชอบเพื่อยกระดับคุณภาพให้มีมาตรฐานทางวิชาการเป็นที่ยอมรับในระดับสากลอย่างแท้จริง โดยเฉพาะในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับกิจการโทรคมนาคม ซึ่งยังไม่สายเกินไปที่จะปรับปรุงก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินแก้
            เรื่องที่ สำนักงาน กสทช. เป็นห่วงอย่างยิ่งคือ การวิพากษ์วิจารณ์จากนักวิชาการที่ใช้ข้อมูลเพียงบางส่วนและเพียงด้านเดียวจากมุมมองเดียวแล้ววิเคราะห์โจมตีองค์กรของรัฐที่มีความคิดเห็นแตกต่างจากกลุ่มนักวิชาการนั้น เป็นเรื่องที่จะต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง เพราะขณะที่องค์กร กสทช. ได้ใช้ข้อมูลต่างๆ
            มาประกอบการพิจารณาจนนำไปสู่การใช้ดุลพินิจด้วยความรอบคอบ แต่กลุ่มผู้วิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบการทำงานขององค์กรกลับไม่มีความรอบคอบ ซึ่งหากไม่มีมาตรฐานทางวิชาการรองรับว่าสิ่งที่กลุ่มนักวิชาการนำเสนอเป็นสิ่งที่ถูกต้อง การกดดันให้องค์กรของรัฐต้องเชื่อตามและเดินไปในทิศทางที่กลุ่มนักวิชาการต้องการทั้งในด้านนโยบายและการดำเนินงานทางด้านโทรคมนาคม จะเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อทิศทางการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของไทย 
            จากที่ ดร. สมเกียรติ ในฐานะประธานสถาบัน TDRI ให้สัมภาษณ์ว่า เป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ที่ TDRI ก่อตั้งและถูกฟ้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าคิดเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะเป็นการที่ถูกฟ้องหลังจากที่ ดร. สมเกียรติเข้ามารับตำแหน่งประธานสถาบันฯ แล้ว จึงเป็นเรื่องที่แปลกและจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึง “เหตุ” มากกว่าที่จะหาทางมาแก้ตัวและเยียวยาที่ “ผล” เพราะจะไม่สามารถแก้ปัญหาในระยะยาวได้
            เป็นธรรมดาที่ไม่มีใครอยากจะเป็นความและขึ้นโรงขึ้นศาล โดยเฉพาะต้องเป็นความกับนักวิชาการระดับหัวกะทิของสถาบัน TDRI และเป็นความกับบรรณาธิการของสื่อโทรทัศน์ที่มีเครือข่ายทั่วประเทศ เพราะการนำคดีอาญาไปฟ้องต่อศาลยุติธรรมนั้น หากนำเรื่องเท็จไปฟ้องก็อาจจะถูกดำเนินคดีฐานฟ้องเท็จ และหากมีการนำเสนอข้อความอันเป็นเท็จไปเบิกความต่อศาล ก็อาจถูกดำเนินคดีฐานเบิกความเท็จได้ ฉะนั้น หากไม่เดือดร้อนคับข้องใจและมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่านี้ ก็คงจะไม่ต้องไปพึ่งศาลยุติธรรม เหมือนกับที่มีผู้กล่าวว่า “ศาลยุติธรรมคือที่พึ่งสุดท้ายของประชาชน” และที่สำคัญการฟ้องคดีของ กทค. ทั้งสี่และสำนักงาน กสทช. ในครั้งนี้ จะเป็นคดีประวัติศาสตร์ที่จะวางบรรทัดฐานเรื่องมาตรฐานทางวิชาการของสถาบันวิจัยต่างๆ ผู้ฟ้องคดีจึงต้องมั่นใจว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะเอาผิดต่อผู้ถูกฟ้องคดี
            ขอแสดงจุดยืนว่า การฟ้องคดีครั้งนี้ ไม่ได้หวังเพียงเพื่อชนะคดี ทั้งไม่ได้หวังที่จะให้กลุ่มเครือข่ายที่ต่อต้านการทำงานตามแนวคิดใหม่ด้านโทรคมนาคมของ กสทช. จะหยุดกระบวนการต่อต้าน แต่อยากให้มีการนำความจริงในทุกแง่มุมเกี่ยวกับประเด็นข้อพิพาทมาตีแผ่ให้สาธารณชนได้รู้ความจริงว่าใครผิดใครถูก ใครเอาข้อมูลมั่วมาโจมตี มาตรฐานทางวิชาการในการนำเสนอต่อสาธารณชนมีเพียงใด เนื่องจากการพิจารณาในชั้นศาลต้องเปิดเผย และผู้ที่นำเสนอความเท็จมาเบิกความ หากพบว่ามีความผิดจะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 7 ปี และปรับไม่เกิน 14,000 บาท ซึ่งผู้ฟ้องคดีเองก็ต้องระมัดระวัง จึงต้องนำเฉพาะความจริงเท่านั้นมานำเสนอต่อศาล
            ฉะนั้น บรรทัดฐานของคำพิพากษาในคดีนี้ มิใช่จะมีประโยชน์ต่อการกำหนดทิศทางของกิจการโทรคมนาคมของไทยให้สามารถเดินไปได้ในทิศทางที่ควรจะเป็น โดยไม่ถูกครอบงำ หรืออยู่ภายใต้อิทธิพลของนักวิชาการกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ในการยกระดับมาตรฐานทางวิชาการของนักวิชาการในสถาบันวิจัยต่างๆ ให้แม่นยำ และเป็นกลาง นอกจากนี้ จะช่วยสร้างบรรทัดฐานให้องค์กรของรัฐที่ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ของชาติบ้านเมือง และมั่นใจในการใช้ดุลพินิจโดยชอบของตน มีสติในการเผชิญกับกระบวนการกดดันจากภายนอก และกล้าที่จะยืนหยัดต่อสู้อย่างไม่ไหวหวั่นต่อกลุ่มอิทธิพลใดๆ ในแนวทางที่องค์กรนั้นพิจารณาโดยรอบคอบแล้วเห็นว่าถูกต้อง
            สำนักงาน กสทช. ขอเรียนว่า การวิพากษ์วิจารณ์ในประเด็นใดๆ ไม่สามารถเน้นเฉพาะบางแง่มุม โดยไม่ได้พิจารณาถึงประเด็นอื่นที่เป็นประเด็นที่สำคัญ เพราะจะทำให้การวิพากษ์วิจารณ์นั้น มีความคลาดเคลื่อน
            ตัวอย่างเช่น ถ้ามีการนำเสนอว่า สุนัขมี 4 ขา และเก้าอี้มี 4 ขา แล้วนำมาสู่ข้อสรุปว่า สุนัขกับเก้าอี้นั้นเหมือนกัน เช่นนี้ หากผู้ฟังไม่พิจารณาให้รอบคอบ ก็จะเชื่อคล้อยตามไปทันทีว่า สุนัขกับเก้าอี้คือสิ่งเหมือนกัน ทั้งๆ ที่สุนัขเป็นสัตว์ ส่วนเก้าอี้เป็นสิ่งของ จึงไม่ใช่เป็นสิ่งที่เหมือนกัน คงเหมือนกันแต่เฉพาะจำนวนขาเท่านั้น ที่มีจำนวน 4 ขา เท่ากัน หากนักวิชาการคนใดมุ่งเสนอประเด็นอย่างฉาบฉวยโดยเฉพาะประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะเข้าลักษณะตัวอย่างเรื่อง “สุนัขและเก้าอี้” ที่ได้หยิบยกมาให้เห็น  
            สำหรับประเด็นคำถามที่ ดร. สมเกียรติ หยิบยกขึ้นมาถามก็สามารถเปรียบเทียบได้กับตัวอย่างเรื่อง “สุนัขและเก้าอี้” ด้วยเหตุผล ดังนี้ ประเด็นเรื่องสัมปทาน True Move และ DPC หมดเมื่อใด และประเด็นเรื่องเนื้อหาของแผนแม่บท
            การบริหารคลื่นความถี่ ที่กำหนดให้คืนคลื่น เมื่อสัมปทานหมดอายุ ประเด็นเหล่านี้เป็นข้อเท็จจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ (เปรียบเหมือนกับจำนวนขาของสุนัขและเก้าอี้) กทค. เองก็ไม่เคยปฏิเสธข้อเท็จจริงในเรื่องนี้
            นอกจากนี้ ข้อกฎหมายที่ว่า เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดก็ต้องถือว่าสิ้นสุดต่ออายุไม่ได้ และการจัดสรรคลื่นความถี่ทางด้านโทรคมนาคมต้องกระทำด้วยวิธีประมูลเท่านั้น ก็เป็นข้อกฎหมายที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ (เปรียบเหมือนกับจำนวนขาของสุนัขกับเก้าอี้) กทค. ก็ไม่เคยปฏิเสธข้อกฎหมายข้อนี้
            จากประเด็นคำถามทั้ง 10 ข้อ ล้วนจงใจหยิบยกเฉพาะข้อมูลเพียงส่วนเดียว เพื่อนำไปสู่ข้อสรุปของ ดร. สมเกียรติในประเด็นที่สำคัญ คือ กทค. มีเวลาตั้ง 420 วัน นับตั้งแต่ประกาศแผนแม่บทฯ จนถึงวันที่มีมติขยายเวลาการใช้เวลาการใช้คลื่น เหตุใดจึงไม่ยอมแก้ปัญหา ดร. สมเกียรติ เคยไปออกรายการของช่องไทยพีบีเอส ประดิษฐ์วาทกรรมว่า กสทช. รู้อยู่แล้วว่าจะมีคนเผาบ้าน เหตุใดจึงไม่แก้ไขก่อน การแก้ไขที่ว่าตามข้อเสนอของ ดร. สมเกียรติ คือการเร่งประมูลคลื่น 1800 ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน การดำเนินการใดของ กทค.
            ที่นอกเหนือจากนั้น ดร. สมเกียรติ สรุปว่า เป็นการขยายเวลาสัมปทาน ให้สิทธิแก่ผู้รับสัมปทานรายเดิมใช้คลื่นต่อไป จึงผิดกฎหมาย จึงมาสู่ข้อสรุปทำนองที่ว่า กทค. ขี้เกียจ และไม่ซื่อสัตย์ จึงกระทำผิดกฎหมายและนำมาเชื่อมต่อกับข้อวิพากษ์วิจารณ์ของ ดร. เดือนเด่น ที่ว่า ผลจากความขี้เกียจและความไม่ซื่อสัตย์ของ กทค. ทำให้ต้องเลื่อนการประมูลคลื่น 1800 จึงเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายถึง 1.6 แสนล้านบาท 
            ถ้าเปรียบเทียบก็เหมือนกับใช้ข้อมูลเพียงด้านเดียว สรุปว่า สุนัขกับเก้าอี้ คือสิ่งเดียวกัน แต่ต่างกันที่เรื่องนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเพียงข้อคิดเรื่องสุนัขกับเก้าอี้ธรรมดาๆ แต่ผลจากการวิพากษ์วิจารณ์ส่งผลต่อการกล่าวหา กทค. ทั้งสี่ และสำนักงาน กสทช. ให้เสื่อมเสีย ต่อชื่อเสียงและเป็นการกล่าวหาว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย ซึ่งไม่เป็นความจริง เพราะหากพิจารณาข้อมูลให้ครบถ้วนทุกด้านแล้ว ก็จะเห็นทันทีว่า ข้อสรุปของ ดร. สมเกียรติ เป็นข้อสรุปที่ไม่ถูกต้อง คลาดเคลื่อน และละเลยข้อมูลที่สำคัญๆ หลายเรื่อง
            สำนักงาน กสทช. ขอวิเคราะห์และให้ข้อมูลที่ถูกต้องในอีกมุมมองที่ ดร. สมเกียรติ ไม่เคยหยิบยกให้สังคมได้ตระหนักและรับทราบ เพราะยังคงจงใจนำเสนอที่วนอยู่ในข้อมูลเพียงส่วนเดียวเท่านั้น ซึ่งหากสังคมได้รับทราบและใช้วิจารณญาณพิจารณาให้รอบคอบแล้วก็จะสามารถเข้าใจได้ว่า เหตุใด ดร. สมเกียรติ 
            จึงไม่พยายามที่จะตอบคำถามทั้ง 12 ข้อ ที่สำนักงาน กสทช. จี้ ให้ตอบเพื่อให้ความจริงปรากฏต่อสาธารณชน จึงถึงเวลาแล้วที่ความจริงที่ขาดหายไปจะต้องปรากฏต่อสาธารณชนเพื่อให้เกิดความเป็นธรรม
 
 
     (โปรดติดตามตอนต่อไป)  

Download

  • กสทช-ชี้-12-คำถามที่จี้ให้-TDRI-ตอบ.doc

สร้างโดย  -   (21/3/2560 15:39:24)

Download

Page views: 190