กสทช. มั่นใจเดินหน้าออกใบอนุญาต 3G หลังศาลปกครองไม่รับฟ้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราว

กสทช. มั่นใจเดินหน้าออกใบอนุญาต 3G หลังศาลปกครองไม่รับฟ้องกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นฟ้องขอคุ้มครองชั่วคราว

               นายฐากร  ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวภายหลังศาลปกครองกลางมีคำสั่งไม่รับคำฟ้องคดีหมายเลขดำที่ 2865/2555 ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) (ผู้ถูกฟ้องคดี) เรื่อง คดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ขอให้ศาลพิจารณาเพิกถอนการกระทำทางปกครองในการจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ของสำนักงาน กสทช. รวมถึงประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555 และขอให้ศาลพิจารณาเป็นกรณีฉุกเฉินเร่งด่วน และขอให้มีคำสั่งกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาคดีของผู้ฟ้องคดี ว่า ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคำเสนอเรื่องพร้อมความเห็นและคำขอให้ศาลกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษาของผู้ฟ้องคดีไว้พิจารณาและให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ

               นายฐากร กล่าวว่า สำนักงาน กสทช. น้อมรับคำสั่งของศาลปกครอง และขอขอบคุณองค์กรต่างๆ ที่ตรวจสอบในเรื่องดังกล่าว และจะนำคำสั่งศาลปกครองในวันนี้ พร้อมด้วยความคิดเห็นของทุกหน่วยงานเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในวันศุกร์นี้ (7 ธันวาคม 2555) พิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ส่วนเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องอัตราค่าบริการที่จะต้องลดลงจากปัจจุบัน 15-20 % และมาตรฐานเรื่องคุณภาพของบริการเป็นเรื่องที่ท่านประธาน กสทช. และกทค. ได้ประกาศเจตนารมณ์ต่อสาธารณะอย่างชัดเจนแล้ว

               นอกจากนี้ สำนักงานจะเสนอแนวทางให้ผู้ประกอบการต้องทำประกันคุ้มครองความเสียอันอาจจะเกิดกับผู้บริโภคเนื่องจากโครงข่ายล่ม โทรติดยาก รวมถึงคุณภาพบริการเสียงและข้อมูลมีปัญหากับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมด้วย เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค

                การประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz เริ่มต้นตั้งแต่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เข้ารับตำแหน่งเมื่อ 7 ตุลาคม 2554 โดยถือเป็นภารกิจสำคัญที่ กสทช. จะนำพาคนไทยทั้งประเทศเปลี่ยนผ่านเข้าสู่การใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในยุคที่ 3 หรือ 3G วันที่ 20 มกราคม 2555 มีการแต่งตั้งอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT – 2000 หรือ IMT ADVANCE หลังจากจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ. 2555 แผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559) แผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2555-2559)

               จากนั้น กสทช. ได้จัดทำร่างหลักเกณฑ์การประมูลความถี่ 2.1GHz ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดและใช้ระยะเวลายาวนานที่สุดในกระบวนการนี้  โดยประกาศ กสทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ย่าน 2.1GHz พ.ศ. 2555 ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาและมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 สิงหาคม 2555 เล่ม 129 ตอนพิเศษ 130 ง หน้า 53

                ซึ่งการจัดทำประกาศดังกล่าว เป็นไปตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 ที่ได้กำหนดวิธีการประมูลคลื่นความถี่ว่าให้ใช้วิธีการประมูลซึ่งเป็นวิธีจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพโปร่งใสและยุติธรรมที่สุดที่สากลยอมรับ

วันที่ 28 สิงหาคม 2555 แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อดำเนินการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz

               จากนั้นได้มีการประกาศเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมการประมูลให้มารับแบบคำขอรับใบอนุญาตตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม ถึง 27 กันยายน 2555 ซึ่งมีผู้มาขอรับแบบคำขอจำนวนทั้งสิ้น 17 ราย และมีการเปิดให้ยื่นขอรับใบอนุญาตได้ในวันที่ 28 กันยายน 2555 โดยมีผู้มายื่นจำนวน 4 ราย แต่ผ่านคุณสมบัติ3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด และได้มีการประกาศรายชื่อผู้เข้าร่วมการประมูลในวันที่ 9 ตุลาคม 2555  วันที่ 11 ตุลาคม 2555 มีการนำสื่อมวลชนเข้าชมสถานที่ที่ใช้ในการประมูล  จากนั้นได้มีการประชุมเพื่อชี้แจงรายละเอียดและจัดการประมูลรอบสาธิต (Mock Auction) สำหรับผู้เข้าร่วมการประมูลในวันที่ 12 และ 13 ตุลาคม 2555  และจัดการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในวันที่ 16 ตุลาคม 2555

                วันที่ 18 ตุลาคม 2555  กทค. มีมติเห็นชอบผลการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล(International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz ตามผลดังนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 14,625 ล้านบาท ได้เลือกย่านความถี่ชุดที่ 7-9 (1950 MHz -1965 MHz และ 2140 MHz – 2155 MHz) บริษัท เรียล  ฟิวเจอร์ จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท เลือกย่านความถี่ชุดที่ 4-6 (1935 MHz – 1950 MHz และ 2125 MHz – 2140 MHz) บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด เสนอราคาเป็นเงิน 13,500 ล้านบาท เลือกย่านความถี่ชุดที่ 1-3 (1920 MHz – 1935 MHz และ 2110 MHz – 2125 MHz) และให้สำนักงานดำเนินการตามที่กำหนดในประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. 2555

                ผู้ประมูลคลื่นความถี่ 3 รายนำเงินงวดแรกชำระเงิน 50% ของมูลค่าการประมูลพร้อมหนังสือ  โดย บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ชำระเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2555 บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ชำระเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2555 และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด ชำระเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2555    รวมเป็นเงิน 22,269.375  ล้านบาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและยังไม่ได้หักค่าใช้จ่าย)

               วันที่ 24 ตุลาคม 2555 กสทช. พร้อมด้วยเลขาธิการ กสทช. นำเอกสารการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz ยื่นต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.), สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) และ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อยืนยันความโปร่งใสในการประมูล

วันที่ 25 ตุลาคม 2555 ปปช. มีมติให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนคณะ กรรมการกิจการโทรคมนาคม(กทค.) ที่ออกใบอนุญาตการประมูลคลื่น 3 จี ตามที่คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล วุฒิสภา ยื่นคำร้องเข้ามา

               วันที่ 26 ตุลาคม 2555 ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (ประธาน กทค.) พ.อ. ดร.     เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ยื่นเอกสารคำชี้แจงเพิ่มเติมต่อ ปปช. และในวันเดียวกัน สำนักงาน กสทช. แต่งตั้งคณะทำงานตรวจสอบพฤติกรรมการเสนอราคาของผู้ร่วมการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz

                วันที่ 31 ตุลาคม 2555 กสทช. ยื่นเอกสารการประมูลคลื่นความถี่เพิ่มเติมต่อสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินเพื่อยืนยันความโปร่งใสในการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 GHz

                 วันที่ 5 พฤศจิกายน 2555 สำนักงาน กสทช. มีหนังสือด่วนที่สุดขอหารือกระทรวงการคลัง เพื่อให้เกิดความชัดเจนเกี่ยวกับปัญหาการนำเงินส่งกระทรวงการคลังเป็นรายได้ของรัฐ

               วันที่ 14 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกำหนดให้ ผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปให้ถ้อยคำต่อศาลประเด็นเกี่ยวกับคำฟ้อง ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ

                วันที่ 15 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกำหนดให้ กสทช. ไปให้ถ้อยคำต่อศาลประเด็นเกี่ยวกับคำฟ้องของผู้ฟ้องคดี ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ

               วันที่ 20 พฤศจิกายน 2555 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งนัดไต่สวนเอกชน 3 บริษัทที่เข้าร่วมการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ 3G 2.1 GHz ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ

               วันที่ 28 พฤศจิกายน 2555 กรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ ดีเอสไอ แถลงผลการตรวจสอบการเปิดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) ของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า เบื้องต้นยังไม่พบการกระทำความผิด และให้ กสทช.ส่งเอกสารกระบวนการประมูลดำเนินการอย่างไร การเคาะราคา

               วันที่ 3 ธันวาคม 2555 ศาลปกครองนัดผู้ตรวจการแผ่นดิน และสำนักงาน กสทช. เข้ารับฟังคำสั่งศาลคดีหมายเลขดำที่ 2865/2555 ระหว่างผู้ตรวจการแผ่นดิน (ผู้ฟ้องคดี) กับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) (ผู้ถูกฟ้องคดี) ในเวลา 13.30 น. ณ ศาลปกครอง ถนนแจ้งวัฒนะ

Download

สร้างโดย  -   (29/3/2560 10:31:52)