บทความ:เรื่องวุ่นวายของฐานอำนาจกฎหมาย กับ ประกาศ กสทช.ห้ามซิมดับ (ตอน1)

  • ต้องตั้งโจทย์ให้ถูกและมองรอบทิศ จึงจะเห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ (ตอน1)

 โดย... ดร.สุทธิพล  ทวีชัยการ กสทช.ด้านกฎหมาย

 

            มาถึงวันนี้หลายคนคงจะพอทราบแล้วว่าในวันที่ 15 กันยายน 2556 สัมปทานให้ใช้คลื่นความถี่โทรศัพท์เคลื่นที่ 1800 MHz ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด กับบริษัททรูมูฟ และบริษัทดิจิตอลโฟน จะสิ้นสุดลง และตามกฎหมายปัจจุบันจะไปต่อสัมปทานไม่ได้ คลื่น 1800 MHz ดังกล่าวจะต้องคืนกลับมาให้ กสทช. เตรียมการในการจัดสรรโดยการประมูลคลื่นความถี่เพื่อออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ชนะการประมูลตามระบบกฎหมายปัจจุบัน
  • คลื่น 1800 MHz เจ้าปัญหา จัดสรรยากกว่าประมูล 2.1 GHz  

            ปัญหาเรื่องคลื่น 1800 MHz สัมปทานจะสิ้นสุด  เป็นเรื่องที่ยุ่งยากกว่าเมื่อครั้ง กสทช. ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz  (ประมูล 3 จี) เพราะขณะที่คลื่นย่าน 2.1 GHz เป็นคลื่นว่างไม่มีผู้ใช้งาน แต่สำหรับคลื่น 1800 MHz  เจ้าปัญหาเป็นคลื่นที่มีการใช้งานอยู่ โดยผ่านระบบสัมปทานให้บริษัทเอกชนไปดำเนินธุรกิจให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่และปัจจุบันมีผู้ใช้บริการอยู่ในระบบประมาณ 17-18 ล้านราย และสัมปทานจะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 กันยายน 2556 

            ประเด็นที่ทุกฝ่ายเป็นห่วงกันมาก คือจะเยียวยาผู้ใช้บริการจำนวนมหาศาลในระบบนี้ได้อย่างไร เพื่อไม่ให้ผู้ใช้บริการเหล่านี้ได้รับผลกระทบ หรือกระทบน้อยที่สุด เนื่องจากการสิ้นสุดสัมปทานและการเปลี่ยนแปลงของกฎหมายนั้นผู้ใช้บริการเหล่านั้นไม่ได้มีส่วนรู้เห็นและต้องการให้เกิดขึ้นเลย แต่สิทธิ เสรีภาพ ในการสื่อสารทางด้านโทรคมนาคมของเขาจะได้รับผลกระทบโดยผลของกฎหมายนี้ ซึ่ง กสทช. ควรจะอยู่เฉยๆ โดยปล่อยให้ปัญหานี้เป็นภาระของผู้ประกอบการ หรือควรเข้ามากำกับดูแลเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้ใช้บริการเหล่านี้เพื่อให้การเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตเป็นไปด้วยความราบรื่น
  • มองต่างมุม...! บทบาท กสทช. ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหัวใจที่สำคัญ 

            ในเรื่องนี้ มีมุมมองในการแก้ปัญหาที่แตกต่างกัน ฝ่ายหนึ่งมองว่าบทบาทของ กสทช. ควรจำกัดอยู่ในกรอบของกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษร หากกฎหมายไม่ได้เขียนไว้ชัดว่า กสทช. มีอำนาจในการกำหนดมาตรการทางกฎหมายในการเยียวยาผู้ใช้บริการในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต กสทช. ย่อมทำได้เพียงประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการรับทราบ เร่งการจัดประมูลคลื่นความถี่ก่อนสัมปทานสิ้นสุด เร่งการโอนย้ายให้มากที่สุด  เร่งแก้ไขปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แต่หากการใช้วิธีการต่างๆ ที่เสนอมามีข้อจำกัด หรือไม่ได้ผล และยังคงมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบ ณ วันสิ้นสุดสัมปทาน กลุ่มที่สนับสนุนแนวทางนี้ ก็มองว่า กสทช. คงไปทำอะไรมากไม่ได้ ต้องปล่อยให้ผู้บริโภครับกรรมไป ซิมจะดับก็ต้องดับ หาก กสทช. ไปดำเนินการอะไรก็จะเสี่ยงต่อการกระทำผิดกฎหมาย โดยเห็นว่ามาตรา 45 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บอกจะจัดสรรคลื่นความถี่ได้จะต้องกระทำโดยวิธีการประมูลเท่านั้น การไปออกมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อมิให้ซิมดับเท่ากับเป็นการจัดสรรคลื่นความถี่โดยไม่ได้รับอนุญาต สรุปคือ กสทช. ไปออกมาตรการทางกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อเยียวยาปัญหาซิมดับไม่ได้ เพราะจะขัดกฎหมาย

            ขณะที่ กสทช. มองที่ประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก และมุ่งใช้กฎหมายเพื่อให้คลื่นความถี่ ซึ่งเป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติเป็นไปเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยการดำเนินงานในส่วนของการกำกับดูแลของ กสทช. นั้น ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหัวใจที่สำคัญ เมื่อประชาชนผู้ใช้บริการผู้บริสุทธิ์ต้องเดือดร้อนจากการเปลี่ยนผ่านซึ่งเป็นผลของกฎหมาย กสทช.ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแล (regulator)   คงไม่สามารถอยู่เฉยๆ โดยมองแต่เฉพาะข้อจำกัดของกฎหมายในส่วนที่เป็นลายลักษณ์อักษร แล้วบอกว่าไม่สามารถทำอะไรได้ ซึ่งถ้าไปดูบทบาทของ regulator ทั่วโลก เขาก็คงจะต้องคุ้มครองไม่ให้บริการคมนาคมที่เป็นบริการสาธารณะหยุดชะงัก แต่ถ้า กสทช. ไปตั้งโจทย์โดยมองเฉพาะข้อจำกัดของกฎหมาย แล้วบอกว่าคุ้มครองผู้บริโภคมิให้บริการสาธารณะหยุดชะงักไม่ได้ กสทช. ก็คงจะถูกประณามว่าเป็น regulator ที่เห็นแก่ตัวที่สุดในโลก และอาจจะถูกผู้บริโภคฟ้องร้องว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่

            นี่คือสาเหตุที่ กสทช. ต้องเดินหน้าในการปกป้องประโยชน์ของผู้บริโภคที่จะได้รับผลกระทบจากสัมปทานคลื่น 1800 สิ้นสุดลง โดยเมื่อพิจารณาจากทางเลือกอื่นๆ แล้ว เช่น แนวทางการปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ โดยแก้ไขให้มีการยืดระยะเวลาคืนคลื่นดังกล่าวออกไป ก็จะติดขั้นตอนที่จะต้องทำการติดตามประเมินผลให้เรียบร้อยก่อน และจะต้องพิจารณาว่ากรณีแก้ไขนี้อยู่ในเงื่อนไขที่กฎหมายเปิดช่องให้ทำได้หรือไม่ ทั้งการแก้ไขแผนแม่บทฯ เฉพาะจุดเฉพาะประเด็นจะเหมาะสมหรือไม่ และจะสุ่มเสี่ยงว่าเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ ซึ่งจะมีข้อจำกัดในการดำเนินการอย่างมาก
  • ยึดรัฐธรรมนูญเป็นธงนำ - แยกปัญหาเยียวยาออกจากปัญหาการประมูลคลื่น 1800 MHz

            สำหรับข้อเสนอในการให้เร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ให้เสร็จก่อนสัมปทานสิ้นสุด ก็เป็นแนวทางที่มีผู้เห็นว่าหากประมูลได้ทันก็จะสามารถโอนย้ายลูกค้าที่อยู่ในระบบเดิมไปสู่บริษัทผู้ชนะการประมูลได้ ซึ่งฟังแล้วดูดี และทำให้หลายฝ่ายออกมาตำหนิ กสทช. ว่ารู้อยู่แล้วว่าสัมปทานจะสิ้นสุดเมื่อใด ถ้าเมื่อ กสทช. เริ่มเข้ามาทำงานแล้วเร่งประมูลเลย ก็จะสามารถประมูลได้ทันก่อนสัมปทานสิ้นสุด แล้วจึงกล่าวหา กสทช. ว่า เป็นเพราะ กสทช. ไม่เร่งประมูล จึงต้องหันมาใช้มาตรการอื่นๆ เพื่อจับผู้บริโภคเป็นตัวประกัน

            ข้อกล่าวหาดังกล่าวเกิดจากผู้วิจารณ์ไปมองกฎหมายเพียงฉบับเดียว โดยไม่ได้มองหลักการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติ ทั้งยังขาดความเข้าใจในพัฒนาการของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม

            ขอเรียนว่า กสทช. มองถึงการแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด โดยมองเป็นสองเรื่อง เรื่องที่หนึ่ง คือการจัดสรรคลื่นความถี่ซึ่งแม้กฎหมายจะกำหนดให้ต้องทำโดยวิธีการประมูลคลื่นความถี่ แต่ต้องไปดูที่มาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดให้ต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ฉะนั้น การเร่งประมูลคลื่น1800 โดยไม่ได้วิเคราะห์ปัจจัยต่างๆ ให้ครบถ้วน แต่เร่งประมูลเพื่อต้องการผ่องถ่ายผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบเป็นหลัก จึงมิใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ที่จะเกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน ยิ่งในขณะนี้ การเร่งสร้างโครงข่ายเพื่อเปิดให้บริการ 3 จี เต็มรูปแบบ ก็ยังไม่เรียบร้อย ใบอนุญาต 3 จี เพิ่งออกไปยังไม่ถึงปี อุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยไม่พร้อม ผู้ประกอบการไม่พร้อม เทคโนโลยีที่รองรับยังไม่สมบูรณ์ ผู้ใช้บริการยังไม่พร้อม ฯลฯ แล้วถ้าดันทุรังเร่งประมูลไปก็มีแต่จะเกิดความเสียหาย

            ส่วนเรื่องที่สองคือ การเยียวยาประชาชนผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านคน ที่อยู่ในระบบ ถ้ามองว่าจะใช้วิธีการเร่งประมูลก่อนสัมปทานสิ้นสุด โดยคิดว่าจะสามารถแก้ปัญหาผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบได้ ก็ต้องขอให้ความเห็นว่า “คิดผิด” เพราะแม้จะเร่งประมูลและมีบริษัทชนะการประมูลได้สิทธิในการใช้คลื่น 1800 นี้ไป ก็ไม่แน่ว่าผู้ประกอบการรายเดิมจะชนะการประมูล ซึ่งหากผู้ชนะการประมูลเป็นผู้ประกอบการรายใหม่ ก็ย่อมจะเน้นการใช้คลื่นย่านนี้เพื่อให้บริการ 4 จี โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะไม่ใช้โครงข่ายของบริษัท กสทฯ เนื่องจากโครงข่ายนี้รองรับได้เฉพาะบริการ 2 จี เท่านั้น ผู้ชนะการประมูลจึงต้องเร่งสร้างโครงข่ายขึ้นใหม่ และต้องใช้ระยะเวลาพอสมควรก่อนที่จะเปิดให้บริการ 4 จี ได้ แต่ปัญหาคือผู้ใช้บริการจำนวนกว่า 17 ล้านคน ที่อยู่ในสัมปทานคลื่น 1800 เป็นผู้ใช้บริการ 2 จี และหลายคนก็คงจะไม่พร้อมที่จะย้ายไปใช้บริการ 4 จี หรือหากจะไปใช้ค่ายที่จะเปิดบริการ 4 จี ซึ่งรวม 2 จี อยู่ด้วย ในปัจจุบันเทคโนโลยีบริการทางเสียงของระบบนี้ก็ยังไม่ดีพอ ฉะนั้น การเร่งการประมูลก่อนสัมปทานสิ้นสุดจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ถูกจุด โดยนำสองเรื่องที่มีวิธีการจัดการกับปัญหาที่แตกต่างกันมารวมกัน ทำให้นอกจากจะไม่สามารถแก้ปัญหาผู้ใช้บริการที่ค้างอยู่ในระบบได้แล้ว ยังจะทำให้การจัดประมูลคลื่น 1800 ล้มเหลวและไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประชาชน เนื่องจากเร่งจัดประมูลโดยปัจจัยต่างๆ ไม่มีความพร้อม 

            หากจะไปเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ตามที่มีผู้อ้างว่าเหตุใดเขาจึงจัดประมูลคลื่น 1800 เพื่อให้บริการ 4 จี ก่อนใบอนุญาตหมดอายุได้ ก็ต้องให้ข้อมูลว่าหลายประเทศเขาเปิดประมูล 3 จี ไปเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว ถึงขณะนี้ บางประเทศก็เพิ่งจัดประมูลคลื่น 4 จี ไป ขณะที่หลายประเทศกำลังเตรียมการจัดประมูล 4 จีอยู่  ซึ่งจะเห็นว่าจัดประมูล 4 จี ภายหลังการเปิดให้บริการ 3 จี มีการ เดินหน้าอย่างเต็มที่และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมีความพร้อมแล้ว
  • เพิ่มช่องทางโอนย้ายอย่างเต็มพิกัดก็ยังมีผู้ใช้บริการตกค้างอยู่ในระบบ

            ทางเลือกอีกทางหนึ่งที่มีผู้เสนอคือ การให้เร่งโอนย้ายผู้ใช้บริการให้หมดก่อนสัมปทานสิ้นสุด ทั้งใช้วิธีผ่านกระบวนการบริการคงสิทธิเลขหมายฯ (กระบวนการ MNP) และวิธีไม่ใช้กระบวนการ MNP โดยเสนอให้โอนผู้ใช้บริการแบบรายจำนวน หรือโอนผู้ใช้บริการแบบทั้งกลุ่ม ซึ่งจากการวิเคราะห์ของคณะผู้เชี่ยวชาญในเรื่องนี้สรุปว่า แม้จะสามารถขยายขีดความสามารถของระบบกลางเพิ่มขึ้นเต็มที่เป็น 300,000 เลขหมายต่อวัน แต่เมื่อพิจารณาที่ขีดความสามารถของผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือแต่ละราย ซึ่งเพิ่มเต็มที่ถึง 60,000 เลขหมายต่อวันแล้ว ก็ยังต้องใช้เวลากว่า 283 วัน หรือประมาณ 9 เดือน เพื่อจะโอนย้ายผู้ใช้บริการกว่า 17 ล้านเลขหมายให้หมด ส่วนวิธีอื่น เป็นเรื่องที่จะต้องพัฒนาระบบและลงทุน โดยกรณีโอนย้ายผู้ใช้บริการแบบทั้งกลุ่มที่มีผู้เสนอมาว่าน่าจะทำได้นั้น ยังติดขัดในเรื่องความพร้อมของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะต้องสมัครใจด้วย  หากในกลุ่มที่วางแผนจะโอนย้ายมีผู้ใช้บริการหลายคนที่ไม่สมัครใจ การโอนย้ายทั้งกลุ่มก็ไม่อาจกระทำได้ การดำเนินการด้วยวิธีนี้ นอกจากจะต้องเตรียมความพร้อมด้านเทคนิคแล้ว ยังจะต้องเตรียมความพร้อมของผู้ใช้บริการอีกด้วย ฉะนั้น การใช้มาตรการการเร่งการโอนย้ายนี้ แม้ขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ก็คาดหมายว่า ณ เวลาที่สิ้นสุดสัมปทาน จะมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบเป็นจำนวนมาก  นอกจากนี้ก่อนสัมปทานสิ้นสุด ขอบเขตการดำเนินงานของ กสทช. ในการไปเร่งการโอนย้ายมีข้อจำกัดที่จะต้องกระทำด้วยความระมัดระวัง เพราะทั้งผู้ให้สัมปทานและผู้รับสัมปทานยังมีสิทธิโดยชอบตามที่กฎหมายคุ้มครอง หาก กสทช. ไปดำเนินการใดๆ ในลักษณะเร่งการโอนย้าย ก็อาจถูกมองว่าทำให้รัฐเสียประโยชน์ และขาดความเป็นกลางเพราะผลการดำเนินการย่อมจะทำให้ผู้ประกอบการคู่แข่งขันได้ประโยชน์ ฉะนั้นหากพึ่งพาช่องทางการเร่งโอนย้ายอย่างเดียวจะเกิดความเสี่ยงสูงมาก
  • ย้ำการออกประกาศห้ามซิมดับ คือแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์บนข้อจำกัดของกฎหมาย

            จากเหตุผลข้างต้น เมื่อคำนึงถึงทางเลือกต่างๆ แล้ว การใช้มาตรการทางกฎหมายในการออกประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการชั่วคราวในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... (ประกาศห้ามซิมดับ) จึงเป็นมาตรการจำเป็นที่จะต้องกำหนดโดยไม่มีทางเลือกอื่นที่จะสามารถใช้ให้เกิดประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้ใช้บริการที่ได้รับผลกระทบจากสัมปทานสิ้นสุด 
  • ข้อมูลจากเวทีสาธารณะชี้ชัดหนุน กสทช. เดินหน้า “ประกาศห้ามซิมดับ” เต็มสูบ

            แม้จะมีผู้วิพากษ์วิจารณ์ไม่เห็นด้วยกับร่างประกาศห้ามซิมดับก็ตาม แต่จากการเปิดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศนี้ ในระหว่างวันที่ 28 มิถุนายน ถึงวันที่ 28 กรกฎาคม 2556 โดยมีการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอย่างเต็มรูปแบบในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ซึ่งมีผู้ให้ความคิดเห็นตามแบบสอบถามจำนวน 2,848 ชุด และเข้าร่วมประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ถึง 382 คน สำหรับในประเด็นเรื่องฐานอำนาจทางกฎหมายของ กสทช. ในการออกประกาศห้ามซิมดับ ผู้ตอบแบบสอบถามจำนวนถึง 2,728 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 95.80 เห็นด้วยว่า กสทช. มีฐานอำนาจทางกฎหมาย โดยมีผู้ไม่เห็นด้วยเพียง 8 ราย หรือคิดเป็นร้อยละ 0.30 รวมทั้งในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในประเด็นนี้ ก็มีผู้แสดงความเห็นด้วยเป็นจำนวนมาก นอกจากนี้คณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอกทั้งสามท่านได้พิจารณาร่วมกันโดยละเอียดรอบคอบแล้ว ก็มีความเห็นพ้องตรงกันว่า กสทช. มีอำนาจที่จะออกประกาศดังกล่าวเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ อันได้แก่ สิทธิเสรีภาพของประชาชนและการคุ้มครองผู้บริโภคตลอดจนความต่อเนื่องของการให้บริการสาธารณะ ซึ่งเป็นนิติวิธีในการใช้และการตีความตามหลักกฎหมายมหาชน
  • น่าสงสัยเงื่อนงำการเคลื่อนไหวคัดค้านมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคห้ามซิมดับ

            ประเด็นที่น่าสงสัย คือ เหตุใดนักวิชาการบางท่าน จึงออกมาเคลื่อนไหวแสดงความไม่เห็นด้วยกับการออกประกาศห้ามซิมดับของ กสทช. ทั้งๆ ที่ การออกประกาศนี้มีเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการคุ้มครองผู้บริโภค มิใช่ไปขยายสัมปทาน และไม่ได้ทำให้ผู้ประกอบการรายใดรายหนึ่งได้เปรียบ การออกมาแสดงความเห็นดังกล่าวที่สอดรับและดำเนินการร่วมกับการเคลื่อนไหวคัดค้านร่างประกาศฯ ของกรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคซึ่งแพ้โหวตในการลงมติของ กสทช. มีวัตถุประสงค์ใดกันแน่ ? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นการเคลื่อนไหวทันทีที่ช่วงเวลารับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามกรอบขั้นตอนของกฎหมายในเรื่องร่างประกาศฯ สิ้นสุดลง

            หากถามประชาชนทั่วไป โดยไม่ต้องไปเปิดกฎหมายดูว่า กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ควรจะดูแลประชาชนผู้ใช้บริการโทรคมนาคมหรือไม่ และหากกฎหมายมีการเปลี่ยนแปลงทำให้ประชาชนผู้ใช้บริการได้รับผลกระทบ กสทช. ควรจะพยายามเต็มที่หรือไม่ในการคุ้มครองและเยียวยาประชาชนจากเหตุการณ์ดังกล่าว คำตอบก็คงจะสามารถคาดเดาได้ไม่ยากว่า “ควร” แต่ถ้า กสทช. ไม่ดำเนินการ โดยไปอ้างข้อจำกัดของกฎหมายว่าทำไม่ได้ ลองไปถามประชาชนดูได้เลยว่าเขาจะรู้สึกอย่างไร คำตอบก็คงจะเป็นทิศทางเดียวกัน ก็คือ ความไม่พอใจและความผิดหวังจนอาจกลายเป็นความเกลียดชังว่า กสทช. ไม่ปฏิบัติหน้าที่ที่พึงจะกระทำ

            ถ้าเรามองว่ากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานในภารกิจของ กสทช. เป็นกฎหมายปกครอง ก็น่าคิดว่า กสทช. ควรจะใช้และตีความกฎหมายดังกล่าวเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ หรือจะใช้และตีความกฎหมายเพื่อจำกัดสิทธิของประชาชน จึงน่าสงสัยว่านักกฎหมายที่มีมุมมองคัดค้านการออกประกาศห้ามซิมดับ ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีเจตนารมณ์จะคุ้มครองสิทธิของประชาชน เหตุใดจึงไม่ใช้และตีความกฎหมายปกครองเพื่อประโยชน์ของประชาชน

 

                                                             (โปรดติดตามตอนต่อไป)

Download

  • เรื่องวุ่ยวายประกาศห้ามซิมดับ-(ตอน1).docx

สร้างโดย  -   (22/3/2560 12:11:59)

Download

Page views: 156