ปุจฉา-วิสัชนา...! อย่างตรงไปตรงมา : กรณีสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz (ตอน3)

ปุจฉา-วิสัชนา...! อย่างตรงไปตรงมา : กรณีสิ้นสุดอายุสัมปทานคลื่น 1800 MHz (ตอน3) 
 

              เมื่อ (ตอนที่2)  เราได้ ปุจฉา – วิสัชนา ในประเด็นที่เกี่ยวกับการออกประกาศห้ามซิมดับมีความจำเป็นในช่วงเวลาสุญญากาศระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไปสู่ระบบการกำกับดูแลภายใต้การออกใบอนุญาต ซึ่งมีลูกค้าตกค้างอยู่ในระบบ จึงเป็นหน้าที่ของ กสทช. ที่ต้องหามาตรการมาคุ้มครองผู้บริโภคในช่วงเวลาดังกล่าว ขณะเดียวกันการออก “ประกาศห้ามซิมดับ” ไม่ใช่เป็นการขยายสัญญาสัมปทาน และไม่ใช่การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ แต่เป็นเพียงมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการจำนวน 17 ล้านคน ไม่ให้ได้รับผลกระทบจากบทบัญญัติของการบังคับใช้กฎหมายใหม่  
             สำหรับใน (ตอนที่3) นี้  เรามา “ปุจฉา-วิสัชนา”กันต่อถึงการทำหน้าที่ของ กสทช. อย่างเต็มกำลังเพื่อให้การจัดสรรคลื่น 1800 MHz ครั้งนี้ เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ประชาชน และอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย

ปุจฉา : 2 ปีที่ผ่านมา กสทช. ได้ดำเนินการใดเกี่ยวกับคลื่นความถี่ 1800 MHz ไปแล้วบ้าง?
วิสัชนา : กสทช. ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายทำให้การจัดสรรคลื่นความถี่ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ได้ทำงานด้วยความล่าช้า
             การที่มีผู้กล่าวหาว่า กสทช. เข้ามารับตำแหน่งแล้วไม่ทำอะไร ไม่เร่งจัดประมูลคลื่น 1800 เป็นข้อเท็จจริงที่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเมื่อเริ่มปฏิบัติหน้าที่ มีขั้นตอนตามกฎหมายกำหนดให้ กสทช. ดำเนินการเป็นขั้นตอน จากการทำงานเชิงรุก ทำให้ กสทช. ทำแผนแม่บททั้ง 3 แผนประกาศใช้สำเร็จ และจัดประมูลคลื่น 2100 MHz ที่ให้บริการ 3G เพื่อให้มีจำนวนผู้ประกอบการ 3G เพิ่มขึ้น แก้ปัญหาขาดแคลนคลื่นความถี่โทรคมนาคมได้สำเร็จ เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรมในตลาด นอกเหนือไปจากผู้ที่ประกอบการรายเดิมและเป็นรายเดียวที่ถือครองคลื่น 2100 MHz อยู่คือ ทศท. และทำให้ประชาชนไทยได้ติดต่อสื่อสารเข้าถึงข้อมูลได้จากการเปิดให้บริการ 3G โดย กสทช. กำหนดให้ผู้ประกอบการสร้างโครงข่าย 50% ของพื้นที่ประเทศใน 2 ปี และ 80% ใน 4 ปี และเมื่อเปิดบริการแล้วก็ยังดำหนดเงื่อนไขควบคุมราคาค่าบริการให้ลดลง 15% เพื่อประโยชน์ผู้บริโภค สร้างความเท่าเทียม ลดความเหลื่อมล้ำและเพิ่มความสามารถในการติดต่อสื่อสารและเข้าถึงข้อมูล นอกจากนี้ กสทช. ยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่มีผู้พยายามล้มการประมูล โดยใช้เวลาทำความเข้าใจต่อสาธารณะและเข้าชี้แจงต่อองค์กรของรัฐต่างๆ รวมถึงตกเป็นจำเลยเนื่องจากมีผู้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ก่อนจะชนะคดีและพิสูจน์ให้เห็นว่า กสทช. จัดสรรคลื่นความถี่สอดคล้องตามกฎหมาย คำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน มุ่งให้เกิดการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม สอดคล้องตามหลักวิชาการและแนวปฏิบัติสากลจนเปิดบริการแก่ประชาชนไทยได้สำเร็จ  ขณะที่เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจดังกล่าวแล้ว ก็ได้เดินหน้าเตรียมการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ที่ได้มีความคืบหน้าไปมาก จนกำหนดแผนเยียวผู้ใช้บริการและวางกรอบการทำงานที่ชัดเจนได้สำเร็จลุล่วงไปเรียบร้อยแล้ว

             ผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ 1800 ชี้ชัด การเตรียมจัดประมูลใช้เวลาอย่างน้อย 10-11 เดือน
 ผลการศึกษาจากคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 ที่ กสทช. แต่งตั้งไปแต่วันที่ 14 สิงหาคม 2555 ได้ชี้ชัดว่าการเตรียมจัดประมูลจะมีกรอบเวลาอย่างเร่งสุดประมาณ 10-11 เดือนนับแต่ กทค. ให้ความเห็นชอบ ซึ่งจากข้อเสนอสะท้อนให้เห็นว่าการดำเนินการจัดประมูลมีขั้นตอนต่างๆที่ต้องอาศัยระยะเวลา ไม่สามารถเร่งรัดให้จัดประมูลโดยทันทีได้ 
             ในส่วนของการเตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz กสทช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานขึ้น ประกอบด้วยคณะอนุกรรมการเตรียมการเกี่ยวกับการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz ซึ่งเป็นชุดที่ 2 ที่รับช่วงต่อจากคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ จนมีการทำรายงานเสนอบอร์ด กทค. พิจารณาในวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 และเห็นชอบแนวทางป้องกันซิมดับเมื่อวันที่ 20 มีนาคม 2556 นอกจากนี้ยังมีการแต่งตั้งคณะทำงานอีก 3 ชุดเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ เพื่อแยกทำงานตามความถนัดในส่วนที่เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากภายนอก และภายในสำนักงาน อันได้แก่ คณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz คณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz คณะทำงานศึกษาเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz และคณะทำงานฯก็ได้เดินหน้าเตรียมความพร้อมไปแล้วอย่างต่อเนื่อง ตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม เช่น การปรับปรุงมาตรการการโอนย้ายเลขหมาย การเร่งรัดให้ผู้ประกอบใช้ smsแจ้งผู้ใช้บริการที่อยู่ในระบบ การยกร่างประกาศมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานและการทำงานร่วมกับสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศในการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และยกร่างกฎการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 และ 900 เป็นต้น

 

ปุจฉา : ที่กล่าวว่าการประมูลคลื่น 1800 MHz ยากกว่า และซับซ้อนกว่าการประมูลคลื่น 2100 MHz ที่จัดไปเมื่อตุลาคม 2555 ที่ผ่านมา หมายความว่าอย่างไร?
วิสัชนา : การเตรียมการประมูลคลื่น 1800 MHz มีประเด็นที่ยากและซับซ้อนมากกว่าการประมูลคลื่น 2100 MHz  โดยสามารถเปรียบเทียบได้ดังต่อไปนี้
 

คลื่น 2100 MHz ที่ประมูลไปเมื่อปี 2555

คลื่น 1800 MHz ที่กำลังเตรียมการประมูล

อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยตกอยู่ในสภาวะขาดแคลนคลื่นความถี่ และเกิดความไม่เท่าเทียมกันในการแข่งขันเกี่ยวกับการใช้คลื่น 2100 MHz เนื่องจาก TOT ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ไปก่อนหน้านี้จำนวน 15 MHz ทำให้ต้องเร่งประมูลคลื่น 2100 MHz โดยเร็ว

 

ไม่ได้อยู่ในช่วงสภาวะขาดแคลนคลื่น เพราะกสทช. เพิ่งเสร็จสิ้นการจัดประมูลคลื่น 2100 MHz ที่แต่ละค่ายนำไปให้บริการ 3G จึงถือว่าคลื่นใหม่ที่เพิ่งประมูลมีอยู่ในตลาด ณ ขณะนี้ 45 MHz รวมกับที่ TOT ถือครองอยู่อีก 15 MHzรวมเป็น 60 MHz ในขณะนี้จึงมีคลื่นอยู่เพียงพอสำหรับให้บริการแก่ประชาชนจำนวน 60 ล้านคน

 

 

เป็นคลื่นที่ว่างอยู่ ไม่มีผู้ใดครอบครอง รอการจัดสรรจาก กสทช.  ด้วยวิธีประมูล

 

เป็นคลื่นที่มีผู้ครอบครองอยู่ 

โดยเอกชนผู้ให้บริการได้สิทธิตามสัญญาสัมปทานการใช้คลื่นจากรัฐวิสาหกิจและมีผู้ใช้บริการในระบบกว่า 17ล้านคน

เป็นครั้งแรกที่มีการประมูลคลื่นความถี่ในประเทศไทย

เป็นครั้งแรกที่นำคลื่นที่หมดอายุตามสัญญาสัมปทานมาจัดสรรด้วยวิธีประมูลโดย กสทช.

 

แม้เป็นคลื่นที่ว่างอยู่ ยังเกิดผลกระทบและปัญหาตามมา เมื่อนำมาประมูล

        - ผลกระทบจากการประมูล เนื่องจากมีผู้โจมตีและบิดเบือนข้อเท็จจริง จน กสทช. ต้องใช้เวลาชี้แจงภายหลังการประมูลเพื่อทำความเข้าใจกับสาธารณะ สื่อมวลชน องค์กรของรัฐต่างๆ รวมถึงการให้การต่อสู้คดีปกครอง ให้เข้าใจข้อมูลและหลักการจัดสรรคลื่นความถี่ที่ถูกต้อง จึงเป็นเหตุให้ผลการศึกษาของ ITU แนะนำให้ใช้เวลาในการชี้แจงและเพิ่มการมีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ

       

ซับซ้อนกว่าการประมูลคลื่น 2100 MHz เนื่องจาก

          1. ปัญหาจากการมีผู้ใช้บริการค้างอยู่ในระบบ จากการที่สัญญาสัมปทานหมดอายุ

           2. ประเด็นการต่อสู้ทางกฎหมายอันเกิดจากผู้ที่ครอบครองคลื่นอยู่ไม่ยอมคืนคลื่นมาสู่การจัดสรรตามกฎหมาย

          3. ต้องระมัดระวังไม่ให้ผู้ประกอบการรายหนึ่งรายใดถือครองคลื่นมากเกินไป (spectrum hoarding)แนวโน้มการนำคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ที่หมดอายุออกประมูลพร้อมกันในคราวเดียว

          4. สภาพอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยยังไม่พร้อมเนื่องจากกำลังอยู่ในช่วงเปิดให้บริการ 3G

          5. ผลจากการประมูลจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีจาก 2G ไปเป็น 4G เนื่องจากผู้ที่ชนะการประมูลมีแนวโน้มสูงที่จะนำคลื่นไปให้บริการ 4G ซึ่งหากเร่งดำเนินการโดยไม่รอบคอบและเร็วเกินไป จะทำให้กระทบต่อประชาชนส่วนใหญ่ที่ใช้บริการ 2G โดยทำให้ต้องซื้ออุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่มีราคาแพงขึ้นและยังหายากในปัจจุบัน ทั้งๆที่ผู้ใช้บริการเหล่านั้นยังไม่มีความจำเป็นที่จะใช้บริการ 4G ในปัจจุบัน

          6. ต้องให้เวลาในการทำความเข้าใจกับประชาชนและผู้มีส่วนได้เสียมากขึ้นก่อนเริ่มการยกร่างกฎการประมูลเพื่อป้องกันการเข้าใจผิด

           7. อยู่ในช่วงที่ประเทศไทยยังไม่ขาดแคลนคลื่นความถี่เนื่องจากเพิ่งจัดสรรโดยการประมูลคลื่น 2100MHz ไปถึง 45 MHz และมีคลื่นที่จัดสรรไปให้ TOT ไปแล้ว 15 MHz ในสมัย กทช. และก่อนกฎหมายปัจจุบันใช้บังคับ

มีผลการศึกษาเรื่องการประเมินมูลค่าคลื่นไว้ก่อนแล้ว โดยจัดทำตั้งแต่สมัย กทช. เดิมที่จัดจ้าง NERA และ DotEconเป็นที่ปรึกษาก่อนที่ กสทช. มอบให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาฯ ศึกษาวิจัยต่อ

ยังไม่มีผลการศึกษาเดิม จึงต้องเริ่มดำเนินการใหม่ทั้งหมดตั้งแต่ต้นกระบวนการประเมินมูลค่าคลื่น

 

 


 (โปรดติดตามตอนจบ)

Download

  • ปุจฉา-วิสัชนา-คลื่น-1800-(ตอน3).doc

สร้างโดย  -   (22/3/2560 10:48:47)

Download

Page views: 71