มองต่างมุม...!ข้อเรียกร้องให้เร่งประมูลคลื่น 1800 MHz เป็นประโยชน์ต่อ “ประชาชน-ประเทศชาติ” จริงหรือ..?

 โดย... ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. 
 
            จากกระแสวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เกี่ยวกับการเตรียมการจัดสรรคลื่นความถี่ 1800 MHz จนทำให้เกิดคำถามตามมาว่า กสทช.ทำงานล่าช้า เพราะรู้อยู่แล้วว่าสัมปทานจะสิ้นสุดในวันที่ 15 กันยายน 2556 เหตุใดจึงไม่เร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz โดยเร็วเพื่อให้เสร็จก่อนสัมปทานสิ้นสุดอีกทั้งยังมีการชี้นำให้สังคมเข้าใจว่า หาก กสทช.ไม่ทำงานล่าช้าก็ไม่มีความจำเป็นต้องออกประกาศเพื่อกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการที่คงค้างอยู่ในระบบ 
            อย่างไรก็ตามถ้าได้ศึกษาความเป็นมาของปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ประกอบบริบทของอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายได้มอบภารกิจหลักในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตและสร้างกติกาให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม รวมทั้งการคุ้มครองผู้บริโภคและคำนึงประโยชน์สาธารณะ  ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจถึงเหตุผล ซึ่งสามารถตอบคำถามต่างๆ เพื่อให้สังคมเกิดความเข้าใจที่ถูกต้องได้ ดังนี้ 
 
  • ผลงานปรากฏชัด...! ขับเคลื่อนโทรคมนาคมไทยสู่ระบบ 3G เต็มรูปแบบ
 
            เมื่อ กสทช. ได้รับโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2554 ภารกิจแรก คือการจัดทำแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ แผนแม่บทกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่ง กสทช. ก็ได้เร่งจัดทำแผนแม่บททั้งสามโดยได้มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2555   
ภารกิจสำคัญถัดไปคือการดำเนินการเรื่องเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ดังนั้น กสทช. จึงได้สานต่อเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz (3G) เพื่อเพิ่มผู้ประกอบการในระบบใบอนุญาต และให้เร่งสร้างโครงข่ายใหม่  เพื่อให้เกิดการพัฒนาบริการ และเพื่อรองรับการโอนย้ายผู้ใช้บริการกว่า 80 ล้านเลขหมายในระบบสัมปทานที่กำลังจะทยอยสิ้นอายุในปี 2556 ปี 2558 และ ปี 2561 ตามลำดับ ทั้งนี้ กสทช. ได้จัดการประมูล 3G ในเดือนตุลาคม 2555 และเป็นที่ทราบกันดีว่ากรณีดังกล่าวมีผู้คัดค้านการประมูลทั้งก่อนหน้าและภายหลังการประมูล และ กสทช. ต้องประสบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย อย่างไรก็ดี กสทช. ก็เดินหน้าออกใบอนุญาต 3G ได้สำเร็จในเดือนธันวาคม 2555 ซึ่งนับแล้วมีระยะเวลาเหลืออยู่เพียง 9 เดือนก่อนที่สัมปทานของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท ดิจิตอล โฟน จำกัด จะสิ้นสุดลงในเดือนกันยายน 2556  
ทั้งนี้ คนทั่วไปอาจไม่ทราบว่าเงื่อนไขเวลาดังกล่าวมีนัยสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน เนื่องจากการสร้างโครงข่ายใหม่ให้มีพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศเพื่อมารองรับการโอนย้ายผู้ใช้บริการในระบบสัมปทานเดิมนั้นต้องใช้เวลาถึง 2 ปีเป็นอย่างน้อย
 
  • ไขข้อกังขา…! เหตุใดไม่จัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz 
 
            ก่อนหน้านี้ ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น ภารกิจสำคัญลำดับแรกของ กสทช. ภายหลังแผนแม่บทฯ ได้ประกาศใช้ในเดือนเมษายน 2555 ได้แก่ การที่ต้องสานต่อเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ให้สำเร็จ และในการจัดประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวนั้น มีความกังวลอยู่ในจุดที่ว่าจะมีผู้ประกอบการที่สนใจจะเข้าร่วมการประมูลมากน้อยเพียงใด การที่ กสทช. นำย่านความถี่ 2.1 GHz จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 9 สล็อตสล็อตละ 5 MHz มาจัดประมูลนั้นก็ถือเป็นแถบความถี่จำนวนมากเพียงพออยู่แล้ว หาก กสทช. จะนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในเดือนกันยายน 2556 ซึ่งมีจำนวน 25 MHz มาบรรจุเพิ่มในการประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวด้วย ก็คงจะยิ่งสร้างความกังวลเพิ่มเติมไปอีกว่าจะมีการแข่งขันในการเสนอราคาการประมูลมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ เมื่อ กสทช. ประมูลแล้วเสร็จและได้ตัดสินใจเดินหน้าออกใบอนุญาต 3G ในเดือนธันวาคม 2555 นั้น ก็ยังมีเสียงคัดค้านจากนักวิชาการบางคน รวมทั้งมีการร้องเรียนและฟ้องร้อง ทำให้ กสทช. และสำนักงาน กสทช. ต้องไปชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และต้องเร่งประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ให้แก่สังคมและองค์กรต่างๆ
            แต่อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การเตรียมการรองรับการสิ้นสุดสัมปทานคลื่น 1800 เป็นไปด้วยความเรียบร้อย กสทช. ได้ตั้งคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่วิทยุคมนาคมระบบเซลลูล่า Digital PCN 1800 ตั้งแต่วันที่ 15 สิงหาคม 2555 ซึ่งดำเนินการคู่ขนานกับคณะอนุกรรมการเตรียมการจัดประมูลคลื่นย่าน 2.1 GHz และต่อมาได้รายงานเสนอความเห็นมายังที่ประชุม กทค. เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 โดยเห็นว่าควรจะกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ซิมดับ อันเป็นที่มาให้ กทค. มีมติเห็นชอบในข้อเสนอและกำหนดแนวทางป้องกันซิมดับ โดยมีมติในวันที่ 20 มีนาคม 2556 
            นอกจากนี้ หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว จะเห็นว่าการเร่งจัดให้มีการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ก่อนหน้านี้ จะไม่ก่อให้เกิดผลดี อีกทั้งไม่ได้ช่วยแก้ปัญหากรณีที่จะเกิด “ซิมดับ” เนื่องจากการสร้างโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้มีพื้นที่ครอบคลุมทั่วประเทศนั้น จะต้องใช้ระยะเวลาถึง 2 ปีเป็นอย่างน้อย ดังนั้น ถึงแม้จะจัดการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ได้สำเร็จจริง ผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นฯ ดังกล่าว ก็ยังไม่สามารถสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมเท่ากับโครงข่ายเดิม 2G ได้ทันในเดือนกันยายน 2556 อยู่ดี หรือหากจะให้ไปเช่าโครงข่ายเดิมที่เป็นทรัพย์สินของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ก็ยังมีประเด็นว่าบริษัท กสทฯ ยังไม่เห็นด้วยกับการให้คืนคลื่นความถี่ 1800 MHz เพื่อมาจัดสรรโดยการประมูล แล้วบริษัท กสทฯ จะยินยอมให้เช่าโครงข่ายแก่ผู้ชนะการประมูลหรือไม่
            ดังนั้นข้อเสนอในการที่ให้เร่งจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz จึงมิใช่ทางออก เพราะไม่สามารถแก้ไขปัญหาของผู้ใช้บริการจากกรณีซิมดับภายหลังสัมปทานสิ้นสุด เนื่องจาก แท้ที่จริงแล้วปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่อยู่ในบริบทของการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต ซึ่งจะต้องเร่งรัดให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้วต้องเร่งลงทุนสร้างโครงข่ายให้ครอบคลุมทั้งเรื่องความจุของโครงข่ายและพื้นที่ครอบคลุมบริการให้เร็วที่สุด เพื่อมาทดแทนโครงข่ายของผู้ให้บริการภายใต้ระบบสัมปทานที่จะทยอยสิ้นสุดลงในปี 2556 2558 และ 2561 ตามลำดับ 
            ทั้งนี้ คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ที่ผู้ได้รับใบอนุญาต 3G จำนวน 3 รายได้รับอนุญาตรายละ 15 MHz ไปนั้น เพียงพอที่จะให้บริการด้านเสียงแก่ผู้ใช้บริการจำนวนกว่า 80 ล้านเลขหมายได้ รวมทั้งเพียงพอที่จะให้บริการด้านสื่อสารข้อมูลไปได้อีก 1-2 ปี
 
  • กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน 
 
            ส่วนเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้น เป็นเรื่องที่อยู่ในบริบทของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรของชาติ ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ กสทช. ต้องจัดสรรคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน ดังนั้น จึงต้องพิจารณาจากปัจจัยต่างๆ ได้แก่ 
            - ความพร้อมของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมในด้านการลงทุน ซึ่งจะต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมาก 
             - ความเหมาะสมด้านเทคโนโลยีที่จะใช้กับคลื่นความถี่ดังกล่าว รวมทั้งจำนวนของแถบกว้างความถี่ (bandwidth) ที่จะนำมาประมูลเพื่อให้เกิดความเพียงพอในการให้บริการ
             - ผลกระทบที่จะเกิดกับผู้ใช้บริการ หากมีการฟ้องร้องจากหน่วยงานรัฐผู้ให้สัมปทาน เนื่องจากไม่ยินยอมคืนคลื่นความถี่ดังกล่าว -ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นแก่สาธารณะจากการจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว
            ดังนั้นหากวิเคราะห์ข้อเท็จจริงในด้านต่างๆ และพิจารณาด้วยความรอบคอบโดยรอบด้านแล้ว จะเห็นว่าห้วงเวลาในช่วงปี 2556 ซึ่งผู้ประกอบการเอกชนเพิ่งจะผ่านการประมูล 3G มาและจะต้องเร่งลงทุนเพื่อสร้างโครงข่าย 3G ให้ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ จึงมิใช่ห้วงเวลาที่เหมาะสมในการจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เลย อีกทั้งไม่มีความจำเป็นต่อประโยชน์สาธารณะ เนื่องจาก มิได้ช่วยแก้ปัญหากรณีซิมดับภายหลังการสิ้นสุดสัมปทาน
 
  • ชี้เร่งจัดประมูลคลื่น 1800 MHz 
 
โดยไม่คำนึงถึงความพร้อมเป็นการแก้ไขปัญหาผู้บริโภคที่ผิดทางและจะทำให้ประเทศชาติเสียหาย
 

สร้างโดย  -   (22/3/2560 15:25:37)

Download

Page views: 13