บอร์ดกระจายเสียง/กสทช. แถลงผลการประชุมวันที่ 3 มีนาคม 2557

พ.อ. ดร. นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) ในฐานะประธานกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (ประธาน กสท.)  กล่าวว่า วันนี้ (3 มีนาคม 2557) ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีวาระสำคัญ ดังนี้
    เรื่องที่ 1 ที่ประชุม กสท. มีมติเห็นชอบคำขอทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง จำนวน 30 ราย แบ่งเป็นกิจการบริการธุรกิจ 19 ราย กิจการบริการสาธารณะ 10 ราย และกิจการบริการชุมชน  1 ราย รวมทั้งสิ้นถึงปัจจุบันมีผู้ได้รับอนุญาตให้ทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง ทั่วประเทศ 4,042 ราย
    เรื่องที่ 2 ที่ประชุม กสท. ได้รับทราบการดำเนินการตามเงื่อนไขก่อนการเป็นผู้รับใบอนุญาตของ    ผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ โดยผู้ชนะการประมูลทั้ง 24 ราย ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขแล้ว ดังนี้
    - การชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ งวดที่หนึ่ง
    - การขอใช้บริการโครงข่ายกับผู้รับใบอนุญาตให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล
    รวมทั้งการยื่นคำขอรับใบอนุญาตของผู้ชนะการประมูลที่จะได้รับสิทธิให้เป็นผู้รับใบอนุญาต เพื่อให้บริการทางธุรกิจ ระดับชาติ
    เรื่องที่ 3 ที่ประชุม กสท. พิจารณาผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่          ในการยื่นคำขออนุญาตใหม่ในกรณีที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นสุดลง ดังนี้
    กรณีช่องรายการ จำนวน 41 ช่องรายการที่ไม่ปรากฏการแจ้งข้อมูลว่าเคยถูกลงโทษทางปกครองจาก กสท. หรือมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกำกับดูแลเนื้อหารายการและด้านคุ้มครองผู้บริโภค กำหนดอายุใบอนุญาต 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตเดิมสิ้นอายุลง
    กรณีช่องรายการจำนวน 8 ช่องรายการ ที่เคยปรากฏมีข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการกำกับดูแล      ด้านคุ้มครองผู้บริโภค แต่ยังไม่เป็นที่ยุติ เห็นควรส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคให้ความเห็นเพิ่มเติมประกอบการพิจารณาภายใน 30 วัน
    เรื่องที่ 4 ที่ประชุม กสท. พิจารณาผลการวิเคราะห์ความเหมาะสมของการประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ สำหรับกิจการไม่ใช้คลื่นความถี่จำนวน 5 ช่องรายการ กรณีไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตภายในระยะเวลาที่กำหนด ได้แก่
บริษัท ไทยไชโย ทีวี จำกัด (ช่อง THAICHAIYO Channel)
บริษัท ป๊อป ทีวี จำกัด (ช่อง POP Channel)
บริษัท ไลฟ์ อินคอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) (ช่อง Vlike Channel)
บริษัท อาดามัส เวิลด์ จำกัด (ช่อง T Sports Channel)
บริษัท สปีด แชนเนล จำกัด (ช่อง Speed Channel)
    ทั้งนี้ ทั้ง 5 ช่องรายการไม่ได้ยื่นคำขอตามเงื่อนไขเวลาตามที่ประกาศกสทช. และตามที่สำนักงาน กสทช.กำหนด แต่เป็นการยื่นคำขอเมื่อล่วงพ้นระยะเวลาโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร จึงเห็นควรไม่พิจารณา      คำขอรับใบอนุญาตของ 5 ช่องรายการ แต่ไม่ถือว่าเป็นการตัดสิทธิทั้ง 5 ช่องรายการที่จะยื่นคำขอรับใบอนุญาตใหม่
    เรื่องที่ 5 ที่ประชุม กสท. พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาร่วมผลิตรายการข่าวประจำวันระหว่างกรมประชาสัมพันธ์กับบริษัท โพสต์ พับลิชชิ่ง จำกัด โดยสัญญาดังกล่าวทำขึ้นหลังจากพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ใช้บังคับ จึงยุติการตรวจสอบสัญญาฉบับนี้                 และให้คณะอนุกรรมการพิจารณาความจำเป็นการใช้คลื่นความถี่ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตรวจสอบความจำเป็นในการถือครองคลื่นความถี่ดังกล่าว เพื่อกำหนดระยะเวลาในการถือครองคลื่นความถี่ต่อไป
    เรื่องที่ 6 ที่ประชุม กสท. พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาของสถานีวิทยุกระจายเสียง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 4 คลื่นความถี่ โดยสัญญาจำนวน 3 ฉบับมิได้มีลักษณะเป็นการมอบการบริหารจัดการสถานี การควบคุมการออกอากาศรายการ รวมทั้งการกำหนดเนื้อหาสัดส่วนรายการที่ใช้ในการออกอากาศ หรือการมอบหมายบุคคลนอกใช้ประโยชน์ในคลื่นความถี่ออกอากาศกระจายเสียงแต่อย่างใด ดังนั้นการดำเนินการตามสัญญาทั้ง 3 ฉบับ จึงเป็นกรณีที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ประกอบกิจการสถานีวิทยุกระจายเสียงด้วยตนเอง
    เรื่องที่ 7 ที่ประชุม กสท. พิจารณาความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาเช่าเวลาจัดรายการโฆษณาสินค้าและบริการธุรกิจทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สังกัดกรมประชาสัมพันธ์กับบริษัทเอกชน 8 ราย ดังนี้
    สัญญาระหว่างสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สังกัดกรมประชาสัมพันธ์กับบริษัท ชลบุรี เอฟ.ซี. จำกัด ไม่ได้เป็นลักษณะการอนุญาตสัมปทาน เป็นเพียงการให้เช่าเวลา วันละ 1 ชั่วโมง
    สัญญาเช่าเวลาจัดรายการโฆษณาสินค้าและบริการทางสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ กับบริษัทเอกชน 6 ราย เนื่องจากสัญญาสิ้นสุดลงแล้วจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมาย
    สัญญาเช่าเวลาจัดรายการโฆษณาสินค้าและบริการธุรกิจทางสถานีวิทยุกระจายเสียง สังกัดกรมประชาสัมพันธ์ จังหวัดขอนแก่น คลื่น 98.50 เมกะเฮิรตซ์ เป็นการทำภายหลังจากพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ. 2553 ใช้บังคับ สัญญาฉบับนี้จึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ทั้งนี้หากกรมประชาสัมพันธ์จะให้บริษัทดำเนินการต่อจะต้องปรับปรุงแก้ไขสัญญาให้ถูกต้องตามประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การแบ่งเวลาให้ผู้อื่นดำเนินรายการ พ.ศ. 2556
    เรื่องที่ 8 ที่ประชุม กสท. เห็นชอบ (ร่าง)ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ฉบับที่ 2 เพื่อเสนอต่อที่ประชุม กสทช.และนำไปสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป
    เรื่องที่ 9 ที่ประชุม กสท. รายงานผลการดำเนินงานของคณะทำงานด้านเทคนิคสำหรับการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลระหว่างเดือนธันวาคม 2556 ถึง มีนาคม 2557 ดังนี้
วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ให้บริการในจังหวัดร้อยเอ็ด, เชียงราย, สระแก้ว, นครสวรรค์
วันที่ 1 ตุลาคม 2557 ให้บริการในจังหวัดนครศรีธรรมราช, ภูเก็ต,ตรัง, ลำปาง
วันที่ 1 ธันวาคม 2557 ให้บริการในจังหวัดสกลนคร, สุรินทร์, น่าน, เพชรบูรณ์, ประจวบคีรีขันธ์
วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2558 ให้บริการในจังหวัดกาญจนบุรี, ชุมพร, ตราด, มุกดาหาร, ตาก
วันที่ 1 เมษายน 2558 ให้บริการในจังหวัดแม่ฮ่องสอน, ระนอง, เลย, ชัยภูมิ, แพร่
วันที่ 1 มิถุนายน 2558 ให้บริการในจังหวัดสตูล, อุตรดิตถ์, บึงกาฬ, ศรีสะเกษ, ยะลา

Download

  • press-release-แถลงกสท3-มีค57.docx

สร้างโดย  -   (15/3/2559 11:26:32)

Download

Page views: 20