The digital economy: driving industry 4.0 จากงานITU Telecom World 2016

          งาน ITU Telecom World 2016 วันสุดท้าย (17 พ.ย. 2559) ได้มีการเสวนาในหัวข้อ “The digital economy: driving industry 4.0” นายฮูลิน ซาว เลขาธิการสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (Mr. Houlin Zhao, Secretary General, ITU) กล่าวว่า หัวใจหลักของเศรษฐกิจดิจิทัล คือ ไอซีที ซึ่งสามารถนำไปส่งเสริมได้หลายกิจการ เช่น การศึกษา สุขภาพ เกษตรกรรม ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น แต่จุดเริ่มต้นต้องมีการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐานให้ดีก่อน ซึ่งต้องใช้เงินในการลงทุน นอกจากนั้น ต้องมีกลยุทธ์หรือวิสัยทัศน์ที่ดีด้วย
เลขาธิการ ไอทียู ได้ยกตัวอย่างความสำเร็จที่ผ่านมา เมื่อปี 2547 ประเทศแอฟริกา ประชาชนในแอฟริกาสามารถเข้าถึงบริการโทรศัพท์ เพียงร้อยละ 4 จึงได้มีการตั้งเป้าหมายในปี 2553 ว่าต้องเพิ่มระดับการเข้าถึง ร้อยละ 10 ซึ่งดูเหมือนจะเป็นไปได้ยาก แต่พอลงมือทำ และได้รับความร่วมมือกันจากหลายภาคส่วน ส่งผลให้ประเทศแอฟริกา ประชาชนมีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 25 เช่นเดียวกับประเทศพม่า ปี 2554 มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เพียงร้อยละ 5 และตั้งเป้าหมายไว้ว่าต้องเพิ่มระดับการเข้าถึงให้ได้ ร้อยละ 50 ในปี 2558 โดยแนะนำว่า ควรให้เกิดการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม ส่งผลให้ทุกวันนี้ มีการเข้าถึงบริการโทรศัพท์เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 70 ทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นว่า ในการลงทุนทางด้านโครงสร้างพื้นฐาน ถึงแม้จะมีประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเป็นจำนวนมาก แต่ถ้ามีกลยุทธ์ และวิสัยทัศน์ รวมถึง การร่วมมือกันทุกภาคส่วน ก็สามารถผลักดันเป้าหมายให้สำเร็จได้
ด้าน Ms.Natasha Beschorner, Senior ICT Policy Specialist, The World Bank กล่าวว่า ในส่วนของธนาคารโลก มีการผลักดันในหลายเรื่อง อาทิ การทำให้คนเชื่อมโยงกัน การผลักดันให้เกิดการแข่งขันในตลาดดิจิตอล การผลักดันให้ภาครัฐใช้เทคโนโลยีดิจิตอล การกำหนดกรอบในการกำกับดูแล รวมไปถึง ความปลอดภัยในไซเบอร์และความเป็นส่วนตัว
          ขณะที่ Mr. John Galvin, Vice President, Government and Education, Intel Corporation กล่าวว่า เห็นว่าควรมีการเน้นด้านการศึกษา เนื่องจาก ปัจจุบันโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วมาก อาชีพที่เกิดขึ้นในปัจจุบันก็ไม่มีในอดีต ดังนั้นรูปแบบการศึกษา จากเดิมที่สอนเน้นให้ความรู้ ก็เปลี่ยนมาเป็น การฝึกคิด วิเคราะห์ สอนให้ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี โดยจะต้องสร้างการศึกษาให้สามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้เสมอ
          ดร.อธิป อัศวานันท์ เลขาธิการ สมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ในประเทศไทยมีความท้าทายอยู่หลายอย่าง ซึ่งมีปัญหาที่ควรแก้ไข ปัญหาแรกเรื่องของข้อมูลที่คนไทยใช้ ส่วนใหญ่มาจากเว็บไซต์ที่เป็นบริษัทต่างชาติ เช่น กูเกิ้ล เฟสบุ๊ค นั่นหมายความว่าข้อมูลที่คนไทยใช้งานอยู่ถูกเก็บไว้ที่ต่างประเทศ พอรัฐบาลอยากจะให้ข้อมูลเหล่านี้ เช่นในการสืบอาชญากรรมต่างๆ จึงต้องใช้เวลานานในการประสานงาน ยื่นเรื่องขอดูข้อมูล จึงควรมีมาตรการอะไรที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น ปัญหาที่สอง การใช้เทคโนโลยีในเกษตรกรรม สังคมไทยเป็นสังคมในภาคเกษตรกรรม แต่การนำเทคโนโลยีมาใช้นั้นน้อยมาก ต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยยิ่งไม่มีเงิน แตกต่างกับที่ต่างประเทศที่เป็นบริษัทใหญ่มีเงินลงทุนมาก และองค์ความรู้ของเกษตรกรที่ขาดทักษะทางด้านเทคโนโลยี ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
 
นายไพโรจน์ ไววานิชกิจ ที่ปรึกษาอิสระ กล่าวว่า ได้ให้ข้อควรระวังจากการเปลี่ยนแปลงสู่ยุค digital economy ว่า แม้จะมีความเปลี่ยนแปลงในด้านบวกที่เกิดขึ้น แต่อาจเกิดผลกระทบ ในเรื่องของคนที่ตกงานมากขึ้น จากการนำเทคโนโลยีมาแทนมนุษย์ ดังนั้น อย่าโฟกัสแต่การเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว ให้คำนึงถึงผู้คนจะได้ประโยชน์สูงสุดอย่างยั่งยืน
ด้าน Mr. Saj Kumar, Vice President – Digital Transformation & IoT, SAP Asia Pvt. Ltd ให้ความเห็นในเรื่อง Industry 4.0 ว่ามีปัจจัยสำคัญอยู่ 3 ข้อ 1. การใช้ข้อมูลร่วมกัน จากข้อมูลที่มาจากเครื่องจักร และจากมนุษย์ 2. การเปลี่ยนแปลงจากอุตสาหกรรมแบบเดิม จาก Mass production กลายมาเป็น Mass Customization คือการผลิตสิ่งของที่สอดคล้องกับความต้องการที่แตกต่างของแต่ละคนและมีความรวดเร็ว 3. วัตถุดิบ (Material) ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการผลิตค่อนข้างมาก ทั้งการนำเอาเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติมาใช้งาน หรือวัสดุนาโน โดยยกตัวอย่างการนำเทคโนโลยีมาใช้งาน เช่นเกษตรกรรม เป็นกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขนาดใหญ่ ไม่สามารถนำองค์ความรู้เดิมๆ มาใช้ในพื้นที่เกษตรกรรมได้ เช่น โทรศัพท์มือถือ หรือดาวเทียม ซึ่งมีค่าใช้จ่ายสูง จึงมีการคิดเทคโนโลยีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับเกษตรกรรม เช่นเทคโนโลยี Narrow band และ Internet of things หรือ IOT ซึ่งเป็นเซนเซอร์ราคาไม่แพง มาวัดคุณสมบัติของดิน ทำนายภูมิอากาศ และใช้ขนส่งสินค้าทางการเกษตร พบว่า ในอดีตมีสินค้าพวกนี้ มีถึงร้อยละ 40 ที่เน่าเสียต้องทิ้งจากการขนส่งสินค้า แต่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้มีการเซ็นเซอร์สินค้า เพื่อช่วยในการคำนวณเวลาในการจัดส่งสินค้า ให้ทันวันหมดอายุ

สร้างโดย  -   (17/11/2559 19:50:38)

Download

Page views: 509