สำนักงาน กสทช. ดึงอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐฯ สร้างความปลอดภัยไซเบอร์ยุคดิจิทัล เดินหน้าเศรษฐกิจดิจิทัล ในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560

พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ โดยรัฐบาลได้ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในทุกภาคส่วน พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้เทคโนโลยีดิจิตอลที่ปลอดภัย
ประธาน กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้บริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2559 มีผู้ใช้เพิ่มขึ้นถึง 93.72% หรือคิดเป็น 63.24 ล้านเลขหมาย ด้วยการเข้าถึงจำนวนมาก ทำให้ความเสี่ยงในการถูกคุกคามทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ซึ่งสถิติจากการวิเคราะห์ของสถาบันวิจัยหลายสถาบันทั่วโลก ระบุว่าการโจมตีทางไซเบอร์จะโจมตีเป้าหมายที่มีผลทางเศรษฐกิจเป็นหลัก เช่น สถาบันการเงิน โครงข่ายโทรคมนาคม ระบบขนส่งมวลชน ระบบไฟฟ้า ซึ่งส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและเสถียรภาพความมั่นของประเทศ  
“สำนักงาน กสทช. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของภัยคุกคามทางไซเบอร์ และสร้างแนวปฏิบัติที่ถูกต้องในการรับมือภัยคุกคามทางไซเบอร์ในรูปแบบต่าง ๆ จึงได้จัดงานสัมมนาวิชาการในงานวันสื่อสารแห่งชาติประจำปี 2560 หรือ NET 2017 ในวันศุกร์ที่ 4 สิงหาคม 2560 ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ ในหัวข้อ Cybersecurity : Challenges and opportunities in the Digital Economy โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระดับสูงของสหรัฐอเมริกามาแลกเปลี่ยนประสบการณ์และให้ความรู้” ประธาน กสทช. กล่าว
สำหรับ Mr.Richard A. Clarke วิทยากรที่มาให้ความรู้ในครั้งนี้ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงระดับสูงของสหรัฐอเมริกา และเคยเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงให้กับประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาถึง 4 คน รวมถึงผลงานการเขียนหนังสือชื่อ Cyber War: The Next Threat to National Security and What to Do About It ร่วมกับRobert K. Knake นักวิชาการด้านกิจการระหว่างประเทศ นอกจากนี้ ยังให้คำปรึกษาด้านการต่อต้านการก่อการร้ายและความปลอดภัยในชาติ จนได้รับสมญานามว่า “Cyber-Czar” และเป็นส่วนหนึ่งในคณะทำงานตรวจสอบข่าวกรองและเทคโนโลยี ในสมัยประธานาธิบดี บารัค โอบาม่า
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลให้เกิดขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ โดยส่งเสริมให้นำเทคโนโลยีเข้าไปเสริมศักยภาพของทุกภาคส่วน และเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
อย่างไรก็ดีอีกด้านหนึ่งการใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ตในยุคไทยแลนด์ 4.0 ก็มีความเสี่ยงที่อาจเกิดภัยคุกคามจากผู้ไม่หวังดีในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว เช่น การกระจาย Ransomware เพื่อทำการล็อครหัส หรือล็อคไฟล์ ก่อนเรียกค่าไถ่เพื่อกู้ข้อมูลคืน ดังนั้นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละประเทศในยุคที่โลกถูกขับเคลื่อนด้วยดิจิทัลจึงเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันภัยอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว       
สำหรับภารกิจของ สำนักงาน กสทช. มีความรับผิดชอบอยู่ 2 ส่วน คือ การรับผิดชอบต่อประเทศชาติ คือการมีแนวทางในการวางยุทธศาสตร์การพัฒนา 3 ประการ ประกอบด้วย 1. การสนับสนุนการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยการปรับปรุงวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นธรรม 2. การส่งเสริมสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน และ 3. การสร้างความเชื่อมั่นและคุ้มครองความปลอดภัยให้กับประชาชนในการใช้บริการโทรคมนาคม เพื่อก้าวไปสู่สังคมไร้สายที่ปลอดภัย ส่วนที่รับผิดชอบต่อประชาชนคือ การคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และการให้บริการเพื่อประโยชน์สังคมและสาธารณะ แผนงานที่เป็นรูปธรรมและได้ผล คือ การให้น้ำหนักไปที่การสร้างเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการให้บริการ โดยระบบของเครือข่ายบริการไร้สายต้องครอบคลุมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล และความเป็นส่วนตัว ความมั่นคงทางไซเบอร์ และสนับสนุนนโยบายการแสดงตัวตน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (31/7/2560 14:02:03)

Download

Page views: 119