สำนักงาน กสทช. เร่งให้ อสมท รีบแก้ไขให้ประชาชนในพื้นที่จ.ลำปางสามารถกลับมารับชมทีวีดิจิตอลได้ภายในวันนี้ เห็นชอบร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า เมื่อวานนี้ (21 ก.ค. 2558) ได้เกิดไฟไหม้สถานีวิทยุคมนาคมเพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลในพื้นที่เขตให้บริการของสถานีลำปาง ของบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน)  โดยจากการตรวจสอบพบว่าสาเหตุของไฟ้ไหม้ครั้งนี้เกิดจากไฟฟ้าลัดวงจรในระบบไฟสำรองของเครื่องส่งโทรทัศน์ระบบแอนะล็อกส่งผลให้ห้องที่ติดตั้งเครื่องส่งสัญญาณและสายส่งสัญญาณร้อน ทำให้สายส่งสัญญาณของชุดดิจิตอลชำรุด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการรับชมทีวีดิจิตอลทั้ง 24 ช่อง และทีวีแอนะล็อกช่อง 3 ละ 9 ในพื้นที่ จ.ลำปาง เป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอเมืองลำปาง เกาะคา แม่ทะ ห้างฉัตร สบปราบ เสริมงาม และแม่เมาะ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้เร่งให้ทาง อสมท รีบดำเนินการแก้ไขเพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมารับชมได้ภายในวันนี้ โดยมีแนวทางแก้ไขเป็น 2 แนวทาง แนวทางแรกจะดำเนินการหาสายส่งสัญญาณดิจิตอลเส้นใหม่ไปเปลี่ยน แนวทางที่ 2 จะย้ายเครื่องส่งสัญญาณไปออกอากาศ ณ สถานีโครงข่ายของไทยพีบีเอสก่อน ซึ่งในการการแก้ไขหากแนวทางไหนดำเนินการแล้วเป็นผลก่อนจะใช้แนวทางนั้น และให้รายงานความคืบหน้าให้สำนักงาน กสทช. ทราบเป็นระยะๆ

     สำหรับ วันนี้ (22 ก.ค. 2558) ที่ประชุม กสทช. ได้มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคม ย่าน 895 – 915 MHz/940 – 960 MHz และร่างประกาศ กสทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล(International Mobile Telecommunications - IMT) ย่านความถี่ 895-915/940-960 MHz และให้นำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

     ร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz กำหนดจะเปิดประมูลต่อเนื่องกันไปจากการประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz โดยกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 2 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 10 MHz โดยกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 11,260 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต ซึ่งเป็นราคาที่คำนวณจาก 70% ของมูลค่าคลื่นความถี่ สำหรับกรณีที่มีผู้เข้าร่วมการประมูลผ่านคุณสมบัติน้อยกว่าหรือเท่ากับจำนวนใบอนุญาตที่เปิดให้ประมูล ราคาตั้งต้นจะเป็นราคาที่คำนวณจากมูลค่าคลื่นที่แท้จริง ซึ่งจะเพิ่มราคาตั้งต้นเป็น 16,080 ล้านบาทต่อหนึ่งใบอนุญาต

     นอกจากนี้ ร่างหลักเกณฑ์ประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าว ยังกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องติดตั้งโครงข่ายให้ครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่า 40% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ใน 4 ปี นับตั้งแต่วันที่ได้รับอนุญาต และยังได้กำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่ได้ไม่เกิน 60 MHz รวมถึงกำหนดเงื่อนไขในการมาตรการเพื่อผู้บริโภค สังคม และความมั่นคงของประเทศ โดยให้ผู้ชนะการประมูลต้องปฏิบัติตามโฆษณายืนยันมาตรฐานคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมของตน กำหนดอัตราค่าบริการว่าผู้รับใบอนุญาตต้องจัดให้มีบริการที่เป็นธรรม กำหนดอัตราค่าบริการที่สมเหตุสมผล ไม่เอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมทั้งต้องจัดทำแผนความรับผิดชอบต่อสังคม บริการสำหรับผู้พิการซึ่งอย่างน้อยต้องมีการกำหนดอัตราค่าบริการพิเศษ และการจัดทำใบแจ้งหนี้หรือสัญญาให้บริการที่ใช้อักษรขนาดใหญ่หรือใช้อักษรสำหรับคนตาบอด (Braille) โดยไม่คิดค่าบริการเพิ่ม และแผนคุ้มครองผู้บริโภค โดยให้ครอบคลุมถึงเรื่องมาตรการการรับเรื่องร้องเรียนโดยไม่มีค่าบริการ มาตรการจัดการกับบริการบริการที่ไม่เหมาะสม กระบวนการทำความเข้าใจกับประชาชนในการตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และการสร้างความตระหนักรู้ให้แก่ผู้ใช้บริการเกี่ยวกับสิทธิในการใช้บริการโทรคมนาคม

     ต่อจากนั้น ที่ประชุม กสทช. มีมติเห็นชอบโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนเงินจากกองทุนฯ ประเภทที่ 1  ครั้งที่ 1 ประจำปี 2557 ตามวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มาตรา 52 (2) จำนวน 21 โครงการ วงเงิน116,641,078 บาท ดังนี้

     1. โครงการวิจัยเรื่อง การบริหารจัดการเคเบิลทีวีท้องถิ่นในภาคตะวันออก หน่วยงานมหาวิทยาลัยศรีปทุม วิทยาเขตชลบุรี จำนวนเงิน 384,900 บาท

     2. โครงการอุปกรณ์สำหรับการแยกฉากหลังโดยการพิจารณาค่าสีแบบทันทีเสริมด้วยอุปกรณ์รับรู้ความลึก หน่วยงานจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จำนวนเงิน 8,453,000 บาท

     3. โครงการพัฒนาสายอากาศปรับเปลี่ยนความถี่สำหรับระบบวิทยุรู้คิดเพื่อแก้ปัญหาการจัดสรรแถบความถี่ที่มีอยู่อย่างจำกัดอย่างมีประสิทธิภาพ หน่วยงานมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ จำนวนเงิน 2,402,471 บาท

     4. โครงการจัดทำแผนแม่บทวิจัยและพัฒนา กิจการกระจายเสียง โทรทัศน์ และโทรคมนาคม หน่วยงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวนเงิน 3,215,778 บาท

     5. โครงการพัฒนานิทรรศการเชิงปฏิสัมพันธ์เรื่องการสื่อสารแบบดิจิตอล หน่วยงานมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จำนวนเงิน 3,669,980 บาท

     6. โครงการทดสอบแพลตฟอร์มการสื่อสารระหว่างยานพาหนะบนความถี่ ๕.๙ GHz หน่วยงานสมาคมระบบขนส่งและจราจรอัจฉริยะไทย จำนวนเงิน 4,397,165 บาท

     7. โครงการระบบการตรวจจับและเตือนภัยแอปพลิเคชันอันตรายบนอุปกรณ์เคลื่อนที่ หน่วยงานมหาวิทยาลัยกรุงเทพ จำนวนเงิน 3,822,100 บาท

     8. โครงการก่อสร้างพื้นที่ทดสอบแบบเปิดโล่ง(Open Area Test Site: OATS) เพื่อสอบด้าน EMC และสอบเทียบสายอากาศย่านความถี่กว้าง หน่วยงานศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) สังกัด สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จำนวนเงิน 9,300,000 บาท

     9. โครงการเข็มขัดนำทางอัจฉริยะสำหรับคนพิการทางสายตา หน่วยงานมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา จำนวนเงิน 805,710 บาท

     10. โครงการพัฒนาต้นแบบเครื่องแสดงผลอักษรเบรลล์ราคาถูก ด้วยการใช้เทคนิควิศวกรรมย้อนรอยและวัสดุนวัตกรรมใหม่ สำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต และโทรศัพท์สมาร์ตโฟน หน่วยงานมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวนเงิน 8,960,920 บาท

     11. โครงการเตือนภัยช้างผ่านระบบการสื่อสารเคลื่อนที่และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หน่วยงานภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนเงิน 3,245,020 บาท

     12. โครงการดาวเทียมอัจฉริยะ ความร่วมมือของสถาบันการศึกษา เพื่อกิจการวิทยุสมัครเล่นไทย หน่วยงานสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ จำนวนเงิน 9,300,000 บาท

     13. โครงการพัฒนาแอปพลิเคชั่นระบบนำทางสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ หน่วยงานมหาวิทยาลัยมหิดล จำนวนเงิน 4,170,004 บาท

     14. โครงการ KNACKSAT โครงการออกแบบและจัดส่งดาวเทียมขนาดเล็กเพื่อการศึกษา หน่วยงานคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ จำนวนเงิน 9,059,690 บาท

     15. โครงการพัฒนาตัวแบบฐานข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการกระบวนการเข้าถึงสื่อโทรคมนาคมของผู้สูงอายุ หน่วยงานสมาคมนักวิจัยมหาวิทยาลัยไทย จำนวนเงิน 3,333,800 บาท

16. โครงการระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้พิการและผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร หน่วยงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนเงิน 6,658,610 บาท

     17. โครงการระบบถอดความเสียงพูดแบบทันต่อเวลาผ่านระบบสื่อสารทางไกล หน่วยงานมูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ จำนวนเงิน 9,021,500 บาท

     18. โครงการพัฒนาศักยภาพเด็กออทิสติกผ่านโครงข่ายโทรคมนาคม หน่วยงานสมาคมกีฬาคนพิการทางปัญญาแห่งประเทศไทย จำนวนเงิน 5,507,290 บาท

     19. โครงการออกแบบและพัฒนารูปแบบการเชื่อมต่อเครือข่ายแบบไร้สายภายในบ้านอัจฉริยะ สำหรับผู้สูงอายุ หน่วยงานมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จำนวนเงิน 5,649,400 บาท

     20. โครงการ Health Monitoring Project Preventive Medicine Support System (PreMediSS) หน่วยงานคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จำนวนเงิน 6,103,740 บาท

     21. โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาระบบโทรคมนาคม (TELECOMS) ในการตรวจสอบยืนยันบุคคลด้วยใบหน้า (Face Recognition System) เพื่อความมั่นคงของชาติ (National Security) หน่วยงาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จำนวนเงิน 9,180,000 บาท

     สำหรับโครงการระบบการสื่อสารไร้สายแบบปลอดภัยผ่านย่านความถี่ที่มีการใช้งานต่ำ หน่วยงานสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ไปปรับลดในส่วนของค่าตอบแทนผู้วิจัยให้เหลือ 50%  

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Download

สร้างโดย  -   (8/3/2559 15:23:26)

Download

Page views: 213