กสทช. ผงาดในเวที WTO งัดกลยุทธ์สยบข้อสงสัย โต้..! ประกาศครอบงำฯไม่ขัดกติกาการค้าโลก

ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านกฎหมาย ในกิจการโทรคมนาคม  เปิดเผยว่า จากการที่รัฐบาลของประเทศนอร์เวย์ ได้แสดงความเป็นห่วงต่อการบังคับใช้ ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว ที่ กสทช.ของประเทศไทย  โดยรัฐบาลนอร์เวย์ ได้ยื่นเรื่องร้องเรียนไว้หลายเวที  ไม่ว่าจะเป็นเวทีอียู ที่กรุงบรัสเซลล์ ประเทศเบลเยี่ยม และองค์การการค้าโลก หรือ WTO ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยร้องเรียนว่า ประกาศฯดังกล่าวขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยที่ผูกพันไว้กับ WTO

 

                        การเดินทางเข้าร่วมประชุมชี้แจงเรื่องประกาศครอบงำฯอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ดำเนินการตามคำขอของรัฐบาลนอร์เวย์ที่ขอให้ กสทช.ในฐานะที่เป็นหน่วยงานที่ออกประกาศดังกล่าวมาบังคับใช้เข้าประชุมเพื่อชี้แจงและตอบข้อสงสัยต่างๆเกี่ยวกับการบังคับใช้ประกาศฯดังกล่าว หลังจากที่ผู้แทนการค้าไทย จากกระทรวงพาณิชย์ที่ประจำองค์การการค้าโลก ได้สร้างความเข้าใจและชี้แจงให้กับผู้แทนของรัฐบาลนอร์เวย์มาอย่างต่อเนื่องในระดับหนึ่งแล้ว  โดยในการประชุมครั้งนี้ ทางรัฐบาลนอร์เวย์เตรียมการมาอย่างเต็มที่ โดยนำที่ปรึกษากฎหมายที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับกฎกติกาของ WTO หลายคนเข้าร่วม  ทั้งยังได้เชิญข้าราชการระดับสูงของรัฐบาลอียู ประเทศสหรัฐอเมริกา และประเทศญี่ปุ่น เข้าร่วมประชุมด้วย ซึ่งทางฝ่ายไทยได้กำหนดกลยุทธ์ในการชี้แจง โดยเน้นไปที่การสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์โทรคมนาคมของประเทศไทย รวมทั้งการที่ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาต โดยชี้ให้เห็นว่า ประกาศฯนี้เป็นเพียงมาตรการเสริมในเชิงป้องกันเพื่อมิให้ผู้ประกอบการกระทำผิดกฎหมาย  แต่มิได้มีผลให้การลงทุนของต่างชาติในประเทศไทยลดลง เนื่องจากสัดส่วนการลงทุน ยังตกอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวฯ ทั้งบทบัญญัติของประกาศครอบงำฯ ยังระบุชัดเจนว่าต้องไม่ขัดกับพันธกรณีของประเทศไทยต่อความตกลงระหว่างประเทศ ซึ่งหมายความว่าทั้งตัวบทบัญญัติเอง และการใช้ การตีความประกาศนี้จะไปขัดต่อพันธกรณีของประเทศไทยที่มีต่อ WTO ไม่ได้   โดยได้ชี้ให้เห็นว่าทางเลือกที่ กสทช.ใช้โดยการปรับปรุงประกาศของ กทช.ที่มีอยู่เดิมเป็นทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดแล้ว เพราะทำให้เกิดความชัดเจนในทางปฎิบัติ  ตัดประเด็นปัญหาเกี่ยวกับความมั่นคงออกไป และช่วยสร้างธรรมาภิบาลในการป้องปรามไม่ให้มีการกระทำการใดๆ ที่เป็นการฝ่าฝืน พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยอาศัยช่องว่างของกฎหมาย จึงไม่มีการเลือกปฏิบัติ เพราะบริษัทของไทยทั้งที่มีต่างชาติถือหุ้นและไม่มีต่างชาติถือหุ้น ก็ต้องตกอยู่ภายใต้บังคับของประกาศดังกล่าว

 

                        ดร.สุทธิพล กล่าวด้วยว่า หลังจากที่ตนได้ชี้แจงและตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับประกาศนี้แล้ว ผู้แทนจากประเทศนอร์เวย์     อียู สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น  ได้กล่าวว่า ข้อมูลที่ได้รับในวันนี้ หลายเรื่องเป็นข้อมูลใหม่ ทำให้เกิดความเข้าใจมากขึ้น จึงมีความพอใจและคลายความกังวลเกี่ยวกับการบังคับใช้ประกาศดังกล่าวไปอย่างมาก พร้อมกันนี้ ได้แสดงความขอบคุณและแสดงความชื่นชมต่อการทำหน้าที่ กสทช.ของไทยที่สามารถจัดประมูลคลื่นความถี่ 3 จี ได้เป็นผลสำเร็จ ทำให้เกิดความโปร่งใส และสร้างหลักประกันในการเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานไปสู่ระบบใบอนุญาตที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล  อย่างไรก็ดี ผู้แทนจากสหรัฐ  ญี่ปุ่น และ อียู ยังได้แสดงความสงสัย ว่า เหตุใด เมื่อมีการจัดประมูล 3 จี ได้เรียบร้อย แต่ในประเทศไทยกลับมีความวุ่นวาย ถึงขั้นร้องเรียนและฟ้องร้อง กสทช.   ซึ่งตนก็อธิบายให้ผู้แทนจากประเทศสมาชิกเหล่านี้ทราบว่า การที่มีคนบางกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวนั้น ไม่ใช่เกิดจากการบังคับใช้ประกาศครอบงำฯ เพราะประกาศฯนี้ไม่ได้สกัดกั้นต่างชาติที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทย แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเกิดจากการจัดประมูลคลื่นความถี่เป็นเรื่องใหม่ และมีการดำเนินการเป็นครั้งแรก จึงเกิดความไม่เข้าใจ โดยมีการนำเรื่องการประมูลคลื่นความถี่ไปเปรียบเทียบกับการประมูลสิ่งของ จึงเป็นเรื่องความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่มีการทำให้กลายเป็นประเด็นข้อขัดแย้ง ซึ่งเมื่อมีการนำคดีไปฟ้อง กสทช. ต่อศาลปกครองหลายคดี กสทช. ก็ได้ต่อสู้คดีเต็มที่จนศาลไม่รับฟ้อง และขณะนี้เหตุการณ์ได้คลี่คลาย ทำให้ กสทช.สามารถออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นในการให้บริการ 3 จี ได้

 

                        กลุ่มประเทศสมาชิก WTO  ยังได้สอบถามถึงแนวทางในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าว่าจะทำให้ไม่ซ้ำรอยการประมูล 3 จี ได้อย่างไร  ซึ่งตนก็ตอบไปว่า บอร์ด กทค.ได้นำประสบการณ์จากการประมูล 3 จี มาปรับปรุงแก้ไขในการจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ในปีหน้า โดยได้มีการเตรียมการในหลายส่วน ทั้งในการกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ และการสร้างกฎกติกาการประมูล รวมทั้งการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่และราคาตั้งต้นการประมูล โดยให้ ITU  เข้ามามีบทบาทตั้งแต่ต้น คือประสานขอความร่วมมือให้ ITU ทำการศึกษาในประเด็นต่างๆ ซึ่งรวมถึงความเหมาะสมในการนำคลื่น 900 MHz  ที่จะหมดอายุสัมปทานในปี 2558 มาจัดประมูลแบบแพ็กเกจ ซึ่งหมายความว่า ในการประมูลคลื่นความถี่ในปีหน้าอาจจะประมูลคลื่น 1800 MHz  พร้อมกับ คลื่น 900 MHz  ในคราวเดียวกันก็ได้

 

                        “การจัดประมูลคลื่น 1800 MHz ในปีหน้านั้น ทางกสทช.จะเน้นกระบวนการสร้างความเข้าใจและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและสังคมตั้งแต่เริ่มต้นกระบวนการ เพื่อมิให้เกิดปัญหาเช่นเดียวกับการประมูล 3 จี ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ความร่วมมือกับ ITU ก็จะเริ่มตั้งแต่ต้น มิใช่จัดประมูลไปแล้ว ค่อยขอให้ทาง ITU มาประเมินผลเหมือนกรณีการประมูล 3 จี โดยมีความเป็นไปได้ว่าในการจัดประมูลจะเป็นแบบแพ็กเกจทั้ง 1800 MHz กับ 900 MHz พร้อมกัน ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะหลายประเทศก็ดำเนินการแบบนี้” ดร.สุทธิพลฯ กล่าว

 

                        ด้าน ดร.สงขลา วิชัยขัทคะ ที่ปรึกษาประจำ กสทช. และอดีตรองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะทีมกฎหมายของ กสทช. ที่ร่วมเดินทางไปชี้แจงในครั้งนี้ กล่าวว่า จากการชี้แจงทำให้ผู้แทนจากประเทศต่างๆมีความเข้าใจและสบายใจมากขึ้นว่าประเทศไทยยังยึดมั่นในพันธกรณีการค้าระหว่างประเทศไทยได้ทำไว้ในกรอบต่างๆของเวทีการค้าโลก โดยเฉพาะผู้แทนจากรัฐบาลนอร์เวย์ มีความเข้าใจต่อประกาศครอบงำฯของ กสทช.ได้ดียิ่งขึ้น  ดังนั้นการเดินทางมาชี้แจงของกสทช. ในเวที WTO ครั้งนี้ จึงถือว่า ประเทศไทยได้ทำดีที่สุด และประสบความสำเร็จ โดยเห็นได้จากบรรยากาศความตึงเครียดที่เกิดจากข้อโต้แย้งและคำถามที่ผู้แทนจากรัฐบาลนอร์เวย์ตั้งคำถามต่อประเทศไทยผ่านมาทางกระทรวงพาณิชย์   แต่เมื่อ ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ พร้อมคณะได้เดินทางมาชี้แจงด้วยตัวเองอย่างตรงไปตรงมา ทำให้ผู้แทนของประเทศเหล่านี้เกิดความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของกสทช. และการบังคับใช้ประกาศฯนี้ได้ดียิ่งขึ้น  ในขณะเดียวกัน ดร.สุทธิพลก็ได้ยืนยันว่าประเทศไทยยังคงยึดมั่นต่อพันธกรณีที่มีต่อเวทีการค้าโลก หรือ WTO  และตนก็มั่นใจว่าผลพวงจากที่ กสทช.ได้เดินทางมาชี้แจงในเวทีนี้จะทำให้ประเทศสมาชิกของ WTO เข้าใจประเทศไทยและเข้ามาลงทุนในประเทศไทยมากยิ่งขึ้นอีกด้วย

 

                        ดร.ปรารถนา พรประภา  ที่ปรึกษา สำนักงานคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก   กล่าวเสริมว่า  จากการที่ กสทช.ได้ออก ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว เพื่อบังคับใช้ในกิจการโทรคมนาคม ทำให้ รัฐบาลนอร์เวย์ คิดว่าจะส่งผลกระทบต่อผลประโยชน์ที่รัฐบาลนอร์เวย์จะได้รับภายใต้ข้อตกลงทางการค้าในกรอบของ WTO  จึงมีการประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศอียู  สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น เพื่อกดดันประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ชี้แจงในเวที WTO  ว่า ประกาศครอบงำฯ ขัดต่อพันธกรณีทางการค้าหรือไม่  ซึ่งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การ การค้าโลก ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจาก ดร.สุทธิพล ทวีชัยการกรรมการ กสทช.  และทีมที่ปรึกษาทางด้านกฎหมาย  เดินทางมายังนครเจนีวา เพื่อร่วมประชุมชี้แจงข้อสงสัยของกลุ่มประเทศสมาชิกเหล่านี้  และจากการชี้แจงดังกล่าวทำให้ประเทศเหล่านี้เกิดความเข้าใจที่ดีมากขึ้น ซึ่งมีสัญญาณที่ดีมากที่ผู้แทนของประเทศนอร์เวย์ มีความพอใจ จึงน่าจะส่งผลในทางบวกต่อท่าทีของประเทศนอร์เวย์ ซึ่งเป็นประเทศที่นำเรื่องนี้เข้าร้องเรียนในเวที WTO โดยมีความเป็นไปได้ที่อาจจะมีการถอนเรื่องร้องเรียนนี้ออกไปจากเวทีการค้าโลก

สร้างโดย  -   (24/3/2559 17:08:11)

Download

Page views: 226