เปิด...! คำชี้แจง 4 กทค. ในการประชุม กสทช. ปมฟ้อง “นักวิชาการ-สื่อมวลชน”ละเอียดยิบทุกแง่มุม

เปิด...! คำชี้แจง 4 กทค. ในการประชุม กสทช. ปมฟ้อง “นักวิชาการ-สื่อมวลชน”ละเอียดยิบทุกแง่มุม 
    ชี้อย่าดูที่ผลให้ดูที่เหตุด้วย-ระบุควรศึกษาคำฟ้องก่อนวิจารณ์

                จากกรณีที่คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.)
 ที่ประกอบไปด้วย พันเอก ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ  ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ พลเอกสุกิจ  ขมะสุนทร รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ และสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) โดยนายฐากร  ตัณฑสิทธิ์  ร่วมกันเป็นโจทก์ยื่นฟ้องคดีหมิ่นประมาท หมายเลขดำที่ 3172/2556  เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2556  โดยมีนางเดือนเด่น นิคมบริรักษ์ และนางสาวณัฎฐา โกมลวาทิน เป็นจำเลยที่ 1 และ 2 ตามลำดับ และต่อมามีการนำเสนอข้อมูลในลักษณะที่ทำให้เข้าใจว่าการใช้สิทธิในการฟ้องร้องดังกล่าวเป็นการคุกคามเสรีภาพของนักวิชาการและสื่อมวลชน
                 ต่อมา กสทช. ประวิทย์  ลี่สถาพรวงศา และ กสทช. สุภิญญา กลางณรงค์ ได้จัดทำวาระการประชุม กสทช. เรื่องการยื่นฟ้องหมิ่นประมาทต่อนักวิชาการและสื่อมวลชน เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม กสทช.ครั้งที่ 9/2556 เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2556 วาระการประชุมที่ 5.16  ซึ่งที่ประชุมได้รับฟังคำชี้แจงแล้วมีมติรับทราบ  แต่หลังจากการประชุมฯได้มีการนำเสนอข่าวเกี่ยวกับผลการประชุมที่มีความคลาดเคลื่อนไปจากข้อเท็จจริง ดังนั้นสำนักงาน กสทช.จึงได้เรียบเรียงคำชี้แจงจากเทปบันทึกเสียงของ กทค. ทั้ง 4 ท่าน ในการประชุม กสทช.ดังกล่าว ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนและสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยมีรายละเอียดดังนี้ 
                  พันเอก ดร. เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.  กล่าวว่า :  ผมขออนุญาตพูดความในใจ ผมเองไม่เคยฟ้องใคร และไม่เคยมีความคิดจะฟ้อง แต่หลังจากที่ผมได้ทำงานที่นี่มาและได้เรียนรู้เรื่องสิทธิเสรีภาพด้วยการปฏิบัติ ทำให้ผมได้รับผลกระทบทางครอบครัว คุณแม่ผมเข้าโรงพยาบาลหลายครั้งจากการทำงานของผม ทั้งเรื่องจริงบ้างไม่จริงบ้าง ซึ่งมีผลกระทบกับชีวิตผมโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นชีวิตครอบครัว ซึ่งก็พยายามอดทนมาโดยตลอด จนถึงวันนี้ผมก็ได้เก็บพยานหลักฐาน อดทนเฝ้าดู ที่จริงอยากฟ้องมากกว่าจำนวนนี้ แต่คิดว่าแค่นี้ก็คงพอที่จะเรียกร้องสิทธิเสรีภาพของผมบ้าง ผมไม่เคยพูดสิทธิเสรีภาพอะไร เพราะคิดว่ามนุษย์มีสิทธิเสรีภาพจำนวนจำกัด  แต่เราต้องให้เกียรติผู้อื่นมากกว่าสิทธิของเรา 
                  ผมเชื่อว่าถ้าท่านกรรมการได้รับผลกระทบถึงบิดา มารดา ที่จะต้องมาแบกรับคิดว่าเป็นเรื่องไม่จริงอยู่แล้วเพราะผมสามารถพิสูจน์ได้ จึงตัดสินใจฟ้องในฐานะส่วนตัว เข้าใจดีว่าจะมีผลกระทบต่อการทำงาน ซึ่งแน่นอนท่านใช้สิทธิเสรีภาพก็มีผลกระทบต่อการทำงานของ กทค. เช่นเดียวกัน ผมจึงคิดว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งศาลยุติธรรม ผมพึ่งใครไม่ได้ ผมพึ่ง public ไม่ได้ เพราะผมไม่ใช่นักเคลื่อนไหวที่จะสร้างมวลชนให้เชื่อผม ผมก็ทำงานตามกรอบอำนาจหน้าที่เท่านั้น ผมทำไม่เป็นที่จะไปส่งลูกต่ออะไรต่างๆ จนถึงขั้นที่เรียกว่านำเพื่อนผู้ร่วมงานเข้าสู่คุก สู่ตะราง ผมมองว่าผมนั่งอยู่เฉยต่อไปไม่ได้ ผมขอใช้สิทธิเสรีภาพของผมบ้าง ผมใช้สิทธิเสรีภาพในกฎหมายตามกรอบกฎหมายที่ผมพึงมีพึงได้เท่านั้นเอง ขอเรียกร้องแค่สิทธิของผมที่ผมจะปฏิบัติต่อผู้ที่กระทำต่อผมบ้าง นี่คือความในใจของผม ผมไม่เคยทะเลาะกับใคร ไม่เคยฟ้องร้องใคร แต่ครั้งนี้ผมมั่นใจในการฟ้องที่ผมมีสติที่จะทำ
                  ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า : ขอเรียนว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เมื่อยิ่งฟัง และดูกระแสข่าวก็ยิ่งมั่นใจว่าที่เดินหน้าไปฟ้องเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เป็นเรื่องที่ไม่มีอะไรมาก คนที่ทำงานเพื่อประเทศชาติแต่มีการคิดต่างกับคนบางคนที่อาจจะอยู่ในวงการนี้มาก่อน แต่เราไม่ได้เชื่อเขา แล้วเราก็เดินหน้าของเรา แต่การใช้ดุลพินิจของเราเป็นการใช้ดุลพิจโดยชอบแต่ไม่ถูกใจ ก็ถูกนำมาทำให้กลายเป็นว่า การที่ใช้ดุลพินิจของเราโดยชอบ เป็นไม่ชอบ คือประเด็นที่คิดว่าจำเป็นต้องทำความจริงให้ปรากฏต่อสังคมให้ได้ ความจริง ณ ขณะนี้กลายเป็นว่าคนบางกลุ่มมองเฉพาะเพียงมุมเดียว บอกว่าตัวเองมีสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ลองไปอ่านรัฐธรรมนูญการใช้สิทธิก็เหมือนกับเรามีสิทธิในทรัพย์สินมีกรรมสิทธิ์ในโทรศัพท์มือถือของเรา เราจะใช้โทรศัพท์มือถืออย่างไรก็ได้ แต่เมื่อใดที่เราเอาโทรศัพท์มือถือไปทำร้ายคนอื่น การใช้สิทธิของเราก็เป็นการกระทบสิทธิ โดยไปละเมิดสิทธิของผู้อื่นซึ่งทำไม่ได้ ขณะนี้สังคมถูกบิดเบือนว่า กสทช. 4 ท่าน และสำนักงาน กสทช. ไปลิดรอนสิทธิของสื่อ ทำไมไม่คิดในมุมกลับว่าสิทธิของ กทค. 4 ท่าน และสำนักงาน กสทช. ถูกลิดรอน เราทำงานด้วยความซื่อสัตย์สุจริต มีคนไปโจมตีว่าเราขี้เกียจ ไม่ได้ทำอะไรเลยทั้งๆ ที่เรามีเวลาตั้ง 420 วัน ไปบอกว่าเราเลื่อนประมูล ทั้งๆ ที่เรายังไม่เคยกำหนดวันประมูล แต่กลับบอกว่า กทค. เลื่อนประมูลทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท ขนาดบอกว่าผมทำให้ประเทศชาติเสียหายแค่ 1,000 บาท ผมยังไม่ยอมเลย เพราะเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่เป็นความจริง 
                  ครั้งนี้ขอเรียนว่าต่างจากกรณีวิพากษ์วิจารณ์ทั่วๆ ไป เพราะคุณเดือนเด่นฯ เป็นคนใน แล้วคุณเดือนเด่นฯ 
ก็มีความใกล้ชิดกับ กสทช. ประวิทย์ฯ และ กสทช.สุภิญญาฯ ทำไมจึงบอกว่าเป็นคนใน เพราะคุณเดือนเด่นฯ ไม่ใช่นักวิชาการภายนอก แล้วมาวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของ กสทช. คุณเดือนเด่นฯ เป็นอนุกรรมการหลายชุด และอยู่มาตั้งแต่เป็นกรรมการของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคฯ ซึ่ง กสทช.ประวิทย์ฯ เป็นผู้อำนวยการสถาบันฯ มาถึงปัจจุบันคุณเดือนเด่นฯ ก็อยู่ในอนุกรรมการของเราอยู่หลายชุด รู้ข้อมูลข้างในเป็นอย่างดี รู้ว่าข้อมูลที่แท้จริงคืออะไร รู้ว่าอะไรไม่จริง สิ่งที่เป็นปัญหามากคือ คุณเดือนเด่นฯ ไปเอาสิ่งที่คณะอนุกรรมการฯ 1800 ไม่ได้มีมติไปบอกกับสื่อว่ามีมติ เปรียบเหมือนจริงๆ แล้วคณะอนุกรรมการฯ มีมติให้ไปทางขวา คุณเดือนเด่นฯ  เอาความเห็นของตัวเองไปบอกข้างนอกว่าคณะอนุกรรมการฯ มีมติให้ไปทางซ้าย เสร็จแล้วก็เอาตัวเลขจากการเลื่อนประมูล  3G ในสมัยก่อน ซึ่งบริบทต่างกัน ปัจจัยต่างกัน คลื่นต่างกัน แล้วไปสรุป โดยใช้ตัวเลขที่มีการเลื่อนประมูล 3G ไปกล่าวหาว่า กทค. เลื่อนประมูล 4G ทำให้ประเทศสูญเสียเป็นแสนล้าน 
                  ผมคิดว่าไม่มีมาตรฐานทางวิชาการปัญหาที่ผมรับไม่ได้คือผมทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ถ้าท่านเลขาธิการฯ ไม่ฟ้องผมจะมองว่าท่านไม่รักองค์กร ไม่ทำหน้าที่ปกป้องสำนักงาน กสทช. ใครก็ตามที่อยู่นิ่งได้ ก็เป็นเรื่องที่แปลก ยกตัวอย่าง ถ้าองค์กรของเราเหมือนเราเป็นผู้พิพากษา อยู่ๆ เรานั่งพิจารณาพิพากษาคดีแล้วมีคนซักคนหนึ่งบอกว่าเราทุจริตเราไปฮั้วกับคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ท่านเป็นผู้พิพากษาท่านนั่งแล้วนิ่งแล้วยิ้มได้ไหม หรือแม้กระทั่งเราเป็นผู้พิพากษาแล้วถูกคนมาโจมตีว่าทุจริต ซึ่งไม่เป็นความจริง แล้วถามว่าเสื่อมเสียต่อสถาบันศาลยุติธรรมไหม คำตอบคือเสื่อมเสีย ขณะนี้แม้มีการโจมตีเรื่องของฝั่งโทรคมนาคม ถามว่าเน่าไปทั้งหมดทั้งองค์กรไหม คำตอบก็คือเน่าไปทั้งหมด ตอนนี้ภาพขององค์กร กสทช. ถูกฉายภาพว่าเป็นองค์กรฟุ้งเฟ้อเป็นองค์กรที่ใช้เงินมือเติบไปต่างประเทศเป็นว่าเล่น เกิดจากอะไรก็เกิดจากมนุษย์ทั้งนั้น ถามว่าประมูล 3G สำเร็จไป ขณะนี้ยังบอกว่าประเทศชาติ เสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ไปดูว่าความจริงเป็นอย่างไร เป็นอย่างที่กล่าวหาหรือไม่ คุณเดือนเด่นฯ รวมทั้งทางประธานสถาบันที่มีชื่อแห่งหนึ่งครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก ครั้งก่อนบอกว่าการจัดประมูล 3G ของ กสทช. ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท คราวนี้เพิ่มเป็น 1.6 แสนล้านบาท คราวหน้า
คงจะเป็น 1.6 ล้านล้านบาท เอาข้อมูลจากไหน ฟังแล้วได้ติดตามตรวจสอบพยานหลักฐานต่างๆ คิดว่า ณ ขณะนี้องค์กรของเราไม่ได้รับความเป็นธรรม ถามว่าทำไมเราจึงรู้ว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เราตรวจสอบข้อมูลที่มีการเผยแพร่ออกไปแล้วตรวจสอบจากรายงานการประชุมและมติของคณะอนุกรรมการฯ พบว่าแตกต่างจากสิ่งที่มีการนำเสนอออกไปอย่างชัดเจน  
  ประการที่ 2  หลังจากที่มีการไปพูดครั้งหนึ่งอยู่ใน NBTC Forum ที่ กสทช.ประวิทย์ฯ จัด และก่อนนั้นก็มีการพูด มีการนำเรื่องที่มีการเสนอข้อมูลบิดเบือนเข้าที่ประชุม กทค. ได้คุยกันปรึกษากัน และในที่สุดก็มอบให้สำนักงาน กสทช. ไปชี้แจงข้อเท็จจริง สำนักงานฯ ก็ชี้แจงข้อเท็จจริง โต้แย้งเรื่องการเลื่อนประมูลทำให้ชาติเสียหาย 1.6 แสนล้านบาท ว่าไม่จริง สื่อก็ลงให้ แต่ ThaiPBS หลังจากนั้น ก็ยังลงเหมือนเดิม พูดง่ายๆว่าสิ่งที่บอกไปเหมือนสมัยที่ กสทช.ประวิทย์ฯ เอาข้อมูลไปให้ข่าวว่า กทค. ทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท โดยเอามูลค่าคลื่นมาเป็นราคาตั้งต้นการประมูล เรื่องนี้ก็คล้ายกัน เราพูดๆ ไปชี้แจงไป แต่ดูเหมือนว่าสิ่งนั้นอยู่ในอากาศ เขาก็ยัง Repeat เหมือนเดิมเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น นี้คือประเด็นต่างหาก ผมเชื่อว่า ณ ขณะนี้สื่อไม่ว่าจะไปดึงเอานักเคลื่อนไหวทั้งหลายมาก็แล้วแต่ เชื่อว่า ณ ขณะนี้ คนที่โดนดึงมาเขาไม่รู้เรื่องอะไร ที่สำคัญที่สุดเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ไปพูดว่าสื่อถูกลิดรอนสิทธิ คือมองด้านสิทธิอย่างเดียว แต่แท้จริงแล้ว การใช้สิทธิคุณมี แต่การใช้สิทธิผมก็มีสิทธิของผม คุณมีสิทธิแต่คุณก็มีหน้าที่ที่จะต้องไม่ละเมิดสิทธิของชาวบ้าน ไม่ใช่ว่าคุณมีสิทธิแล้วคุณใช้สิทธิของคุณได้อย่างไร้ขีดจำกัด ตัวอย่างเช่น กรณีน้องมะนาว มีการเอาภาพอยู่กับท่านบรรหารไปโจมตี น้องมะนาวยังไปแจ้งความเพื่อเอาผิดกับคนโจมตี ของเรายิ่งกว่าน้องมะนาว เราเป็นองค์กรที่ประชาชนรวมทั้งอุตสาหกรรมต้องมีความเชื่อมั่น ขณะนี้ชื่อเสียงเราไม่เหลือ เพราะมีคนสร้าง คนจงใจบ่อนทำลาย หลายคนที่ไปเคลื่อนไหว คนเหล่านั้นไม่เคยศึกษาคำฟ้อง คำฟ้องที่ถ่ายเอกสารแจกมีจำนวน 20 กว่าหน้า มีข้อเท็จจริงที่ครบถ้วน หลายคนไปบอกว่า กสทช. กทค. และสำนักงาน กสทช. จะไปฟ้องร้องเขาทั่วราชอาณาจักร ก็เป็นเรื่องที่พูดกันไปเอง จริงๆ แล้ว อยู่ตอนท้ายของคำฟ้องที่เราต้องการแสดงให้เห็นว่าเราได้รับความเสียหายอย่างมาก เพราะเราบอกว่าการให้สัมภาษณ์ใส่ความต่อโจทก์ทั้ง 5 เป็นลักษณะเป็นเท็จต่อสื่อหนังสือพิมพ์และในรายการโทรทัศน์ที่นี่ ThaiPBS มีจำหน่าย แพร่หลายและออกอากาศแพร่กระจายสัญญาณทั่วราชอาณาจักรไทย เหตุจึงเกิดขึ้นทุกตำบล อำเภอ จังหวัด ในราชอาณาจักรไทย  เราไม่ได้บอกว่าเราจะไปฟ้องทั่วราชอาณาจักร 
  ตรงนี้มีการไปขยายผล และการวิเคราะห์ผลกระทบขอกราบเรียนว่า ไม่เพียงแต่ทำให้ กทค. 4ท่าน ได้รับความเสียหาย ในคำฟ้องเองระบุว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับ กสทช. องค์กร กสทช. และสำนักงน กสทช. 
ในภาพรวมอยู่ใน 5 ระดับ ความเสียหายระดับที่ 1 ระดับองค์กร กสทช. และสำนักงาน กสทช. เสียหายแน่นอน เสียหายต่อภาพพจน์ อยู่ๆ บอกว่ามีเวลา 420 วัน ไม่ได้ทำอะไร เลื่อนประมูลทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6  แสนล้านบาท ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ใครเห็นใครด่าองค์กรเรา อยู่นิ่งๆ แล้วยิ้ม ผมว่าคนนั้นเป็นโรคประสาท ความเสียหายระดับที่  2 ระดับตัวบุคคล บุคคลเสียหายแน่นอน กรรมการ กสทช. ไม่เฉพาะ กทค. คิดว่า กสทช. ทุกท่านเพราะอย่างน้อยที่สุดเราเป็นผู้ใช้ดุลพินิจในการเห็นชอบร่างประกาศห้ามซิมดับ หากไปบอกว่าไปเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ เท่ากับว่า กสทช. และสำนักงาน กสทช. สมคบทุจริตคอรัปชั่น ใช้ดุลพินิจตัดสินใจไม่รอบคอบ ผิดพลาด ไม่ระมัดระวัง ไม่สุจริต ทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่าแสนล้านบาท ความเสียหายระดับที่ 3 ระดับการปฏิบัติภารกิจตามกฎหมาย ซึ่งย่อมได้รับผลกระทบเพราะประชาชนและผู้เกี่ยวข้องย่อมเสื่อมศรัทธาและขาดการไว้วางใจ ความเสียหายระดับที่ 4 คือระดับความเสียหายและการเสียชื่อเสียงในเชิงลึกจากการถูกตรวจสอบ ถูกฟ้องร้อง และถูกดำเนินคดี ช่วงที่จัดประมูล 3G เราทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพียงแต่ว่าแนวคิดไม่ตรงกับนักวิชาการบางคน ผลคือไปบอกว่าการที่เราคิดต่างแล้วไปเดินตามวิธีการที่ต่างกัน เป็นการที่เราทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ตอนนั้นเราลำบากมาก ต้องเข้าไปชี้แจงในคณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และศาลปกครอง ตอนนั้นเราคิดว่าจะฟ้องแน่นอน คนอย่างนี้เอาไว้ไม่ได้ อยู่ๆ ไปบอกว่าเราทำให้ประเทศชาติเสียหาย 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเท็จ พอรู้ว่ารายงานของคณะเศรษฐศาสตร์จุฬา เป็นอย่างหนึ่งก็ไปบิดเบือนเป็นอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งความจริงก็คือความจริง 
                  แต่ต่อมาสถานการณ์ก็คลี่คลายไป เราก็คิดว่าไม่เป็นไรคงไม่มีเหตุการณ์นี้เกิดขึ้น แต่คราวนี้ยังไม่เริ่มประมูลเหตุการณ์ย้อนรอยเดิมหมด ถ้าไม่ทำอะไรจะเสื่อมเสียหนักกว่านี้ สำหรับความเสียหายระดับที่ 5 คือจากตำแหน่ง คุณลักษณะ สถานะ ประสบการณ์ของคุณเดือนเด่นฯ ตลอดจนวิธีการใส่ความและเผยแพร่ความคิดเห็น ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ ทำให้เกิดความเสื่อมเสีย ต่อชื่อเสียง ถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง ซึ่งมองว่ามีผลกระทบอย่างรุนแรงมากกว่าปกติ เพราะคุณเดือนเด่นฯ เป็นคนในรู้ข้อมูลข้างในเป็นอย่างดี คนย่อมเชื่อมากกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณเดือนเด่นฯ จบการศึกษาปริญญาเอก ทางด้านเศรษฐศาสตร์โดยเฉพาะ อยู่สถาบัน TDRI คนย่อมเชื่อ ได้รับการสนับสนุนจากประธาน TDRI มีน้ำหนักมาก เพราะฉะนั้น มองว่าการกระทำหมิ่นประมาทได้ดำเนินการใส่ความและเผยแพร่ข้อความอันเป็นเท็จอย่างต่อเนื่อง และเพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายลุกลามบานปลายมากกว่านี้จึงจำเป็นต้องเร่งฟ้องคดี โดยการใช้สิทธิฟ้องเองเป็นการส่วนตัว การนำคดีขึ้นสู่ศาลมีหลายวิธี บางวิธีไปแจ้งความ ถ้าแจ้งความก็มีตำรวจไปสืบสวนสอบสวนสรุปเรื่อง เห็นว่าควรฟ้องก็ส่งพนักงานอัยการ อัยการพิจารณาเห็นควรฟ้องก็ฟ้องไป ซึ่งทำไมเราต้องไปสิ้นเปลืองทรัพยากร  ของชาติ เราทำเองก็ได้ เราเก็บหลักฐานไว้ทุกอย่าง คดีนี้ไม่มีอะไรยาก ตรงไปตรงมา เรื่องนี้เราจะเข้าไปดูเอง ผมเคยถูกฟ้อง เคยนั่งพิจารณาคดี ผมคิดว่าเรื่องนี้ไม่มีอะไรซับซ้อน 
  ผมลองค้นคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6060/2548 ณ ขณะนั้น ท่าน ช. เป็นนายกรัฐมนตรีและเป็นหัวหน้าพรรค ป. คุณ ฉ. เป็นนักการเมือง ไปให้สัมภาษณ์ โดยที่ไปบอกว่าท่าน ช. ปกปิดเรื่องของที่มีการโกงธนาคารบีบีซี ไปกล่าวหาว่า ท่าน ช. บอกว่าให้ปกปิดไว้อย่าไปพูดอะไร และบอกว่าท่าน ช. ยิ้มเงียบๆ อย่างนุ่มนวล ทุกคนรัฐมนตรี พรรค ป. แต่ละคนก็ผูกไทใส่สูทพูดเพราะอย่างเดียว สื่อมวลชนก็ยิ่งชื่นชม แล้วมีหนังสือพิมพ์สองค่ายไปลงเผยแพร่ ถามว่าท่าน ช. ไปขอให้คุณ ฉ. และหนังสือพิมพ์สองค่ายนั้น ชี้แจงไหม คำตอบคือ ไม่ ที่ท่าน ช. ทำคือ ฟ้องคดีอาญาในความผิดฐานหมิ่นประมาท และผลคือทางหนังสือพิมพ์ก็แบบเดิม สู้ว่าใช้สิทธิโดยสุจริต ติชมด้วยความสุจริต คดีนี้ถึงศาลฎีกา ท่าน ฉ. และหนังสือพิมพ์ค่ายหนึ่งรู้ว่า ตัวเองคงแพ้ก็ไปทำยอมกับท่าน ช. ท่าน ช. ก็มีเมตตาก็ทำยอมไป ส่วนหนังสือพิมพ์อีกค่ายมั่นใจว่าจะชนะ จึงสู้คดีต่อไปในที่สุดศาลฎีกาก็บอกว่า สื่อย่อมทราบความหมายดังกล่าวดีกว่าประชาชนทั่วไป เพราะได้ประกอบอาชีพหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี2507 และเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์โฆษณาหนังสือพิมพ์มาตั้งแต่ปี 2527 ในฐานะที่เป็นบรรณาธิการฯ ก็สามารถยับยั้งไม่ให้มีการลงพิมพ์ข้อความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ได้ แล้วทำการตรวจสอบเสียก่อนว่าข้อความดังกล่าวเป็นความจริงหรือไม่ สมควรที่จะลงพิมพ์แพร่หลายหรือไม่ แต่จำเลยที่ 2 ก็หากระทำไม่ สุดท้ายศาลฎีกาก็พิพากษาลงโทษโดยพิพากษายืนตามศาลล่างทั้งสอง โดยจำคุก 6 เดือน ปรับ 20,000 บาท รอการลงโทษ อันนี้ก็เป็นเรื่องปกติ ผมได้ค้นทั่วโลก ในคดีที่มีการฟ้องหมิ่นประมาท ทั้งในสหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย ฟิลิปปินส์ ไต้หวัน เอกวาดอร์ เฮติ ไนจีเรีย มอลต้า ซิมบับเว ฟ้องสื่อเรื่องหมิ่นประมาทเป็นเรื่องธรรมดา ผู้พิพากษาเองยังฟ้องสื่อทีวีในอเมริกาที่นำข้อมูลไปออกอากาศบิดเบือนผิดความจริงทำให้ผู้พิพากษาเสียชื่อเสียง หรือในออสเตรเลีย  Commissioner ของตำรวจ ก็ไปฟ้องหนังสือพิมพ์ที่ไปกล่าวหาว่าโกงไม่น่าเชื่อถือ ไปเขียนบทความว่าเขาเพิกเฉย ต่อกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องทุจริตฯ            
                  ที่ฟิลิปปินล์ กรณีนี้เป็นกรรมการของสภาจังหวัดฟ้องหนังสือพิมพ์เพราะไปกล่าวหาว่ารับเงินสินบนรายเดือนจากการปล่อยให้มีพนันท้องถิ่น ที่ไต้หวันก็มีการฟ้องสื่อ ที่เอกวาดอร์ ผู้ฟ้องเป็นหัวหน้าหน่วยงานของรัฐฟ้องหนังสือพิมพ์รายวันที่ไปกล่าวหาว่าเขาเป็นเผด็จการทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิเสรีภาพ ในการแสดงความคิดเห็นและต้องเงียบเท่านั้น ผลคือศาลตัดสินลงโทษจำคุก 3 ปี และยังมีที่เฮติ ไนจีเรีย สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่กรรมการ ผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงของรัฐฟ้องสื่อเรื่องหมิ่นประมาท ภายใต้หลักการว่า คนที่มีสิทธิ ก็ต้องใช้สิทธิโดยไม่ไปละเมิดสิทธิผู้อื่น 
  จึงมองว่าขณะนี้สิ่งที่สำนักงาน กสทช. และ กทค. ทั้ง 4 ท่าน ฟ้องคดี จะเกิดผลดี นอกจากจะปกป้องชื่อเสียงของตนเองและองค์กรแล้วมองว่ายังสามารถทำให้เกิดผลดี 4 ประการ ผลดีประการแรก ในการสถาบันวิชาการ สถาบันวิจัย จะช่วยยกระดับให้มีมาตรฐานทางวิชาการมากขึ้น ถ้าเราโต้แย้งได้ เกิดความเสื่อม เขาจำเป็นต้องปรับปรุง เมื่อก่อนไม่มีคนเข้ามาแล้วมาดูเนื้อหาสาระในรายละเอียด แนวคิดของนักวิชาการกลุ่มนี้จึงไม่มีใครโต้แย้ง แต่ขณะนี้ แม้แต่ทาง กสทช. ก็ยังสามารถโต้แย้งแนวคิดและการนำเสนอของนักวิชาการกลุ่มนี้ได้ แสดงว่า ถ้าไม่ปรับปรุงคุณภาพสถาบันวิจัยจะเสื่อมมากกว่านี้ ความเสียหายจะรุนแรง เราไม่ได้ฟ้องสถาบัน แต่เราฟ้องคนสำคัญในสถาบัน ซึ่งเอาข้อมูลที่ไม่จริงมาโจมตีเรา จึงต้องรับผิดชอบในสิ่งที่เขาทำ ผลดีประการที่ 2 คือ สื่อ สื่อจะต้องตรวจสอบข้อมูล เพื่อมิให้สื่อของสังคมไทยถูกใช้เป็นเครื่องมือ โดยเฉพาะเครื่องมือของนักวิชาการที่เห็นว่าความเห็นของเขาถูกต้องฝ่ายเดียวโดยไม่ฟังผู้อื่น  
                  เพราะฉะนั้น การฟ้องคดี สื่อจะต้องมาทบทวนดูว่าข้อมูลต่างๆที่ได้รับมาจะต้องตรวจสอบ จริงๆ เราไม่ได้ฟ้อง ThaiPBS แต่ว่าเราฟ้องบรรณาธิการใน ThaiPBS ซึ่งรับข่าวมาจากนักข่าวก็ต้องดูความถูกต้องของเนื้อหา เพราะข่าวมีการนำเสนอไม่ใช่เป็นแค่การนำเสนอว่าใครพูดอะไร แต่เป็นสกู๊ปข่าว การนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียวจึงเป็นเรื่องที่ไม่พึงกระทำ ผลดีประการที่ 3 ประโยชน์ที่จะได้ตกแก่หน่วยงานของรัฐ มีหลายหน่วยงานของรัฐไม่ใช่น้อยที่ถูกเสียงวิพากษ์วิจารณ์แต่ไม่อยากมีเรื่องด้วยอยู่ในสภาวะจำยอม ไม่ได้หมายถึงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง หน่วยงานของรัฐหลายหน่วยงานทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ผมเองไม่ได้ไปกังวลกับหน่วยงานของรัฐที่พนักงานบางคนไม่สุจริต แต่เป็นห่วงหน่วยงานของรัฐที่มีบุคลากรที่ทำหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตแล้วถูกข่มเห่งรังแกโดยใครก็ตามเป็นผู้ที่มีบทบาทในสังคมสามารถชี้นำได้ และบอกว่าถ้าหน่วยงานของรัฐไม่เห็นด้วยกับทิศทางตรงนี้ บอกว่าหน่วยงานของรัฐไม่ดี  คิดว่าถึงเวลาที่หน่วยงานของรัฐที่ถูกรังแกต้องลุกขึ้นมาปกป้องศักดิ์ศรี กรณีของ กสทช. เป็นกรณีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานให้หน่วยงานของรัฐปกป้องศักดิ์ศรีองค์กร โดยถ้าไม่ผิดก็ต้องลุกมาสู้ 
                  และผลดีประการที่ 4 คือ สังคม การฟ้องของ กสทช. จะทำให้สังคมมีสติ ฟังข้อมูลข่าวสารแล้วไม่เชื่อทันที กลับไปยึดหลักพระพุทธเจ้าในเรื่องกาลามสูตร พระพุทธเจ้าบอกว่าอย่าปลงใจเชื่อเพราะด้วยการฟังตามกันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการถือสืบๆ กันมา อย่าปลงใจเชื่อด้วยการเล่าลือ อย่ายึดถือตามกระแส อย่าได้ยึดถือโดยนึกเดาเอาเองหรือการคาดคะเน หรือต้องกันกับทิฐิของตนเอง หรือเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อถือได้ คือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น บางครั้งเหมือนถูก บางครั้งเชื่อตามกระแส เช่นกรณีนี้ ได้ไปถามหลายคน หลายคนไม่ได้อ่านคำฟ้อง แต่บอกว่าคนนี้น่าเชื่อถือ ลืมนึกไป ดูเฉพาะสิทธิเสรีภาพอย่างเดียว ไม่ได้มองในแง่ของคนที่ถูกละเมิดสิทธิ เนื่องจากใครอยู่ในกลุ่มใด ก็มักจะมองในมุมมองของกลุ่มของตน เช่น หากเป็นสื่อก็จะเชื่อว่าสื่อก็สื่อถูกรังแก ขอเรียนว่าอยากให้ข้อมูลในอีกมุมหนึ่งที่ปรากฏในเรื่องนี้ คือมีพนักงานหลายคนมาให้กำลังใจ นักข่าวหลายคนมาให้กำลังใจ แม้แต่ผู้พิพากษาก็โทรมาบอกให้กำลังใจบอกว่าอย่าถอยให้สู้ อาทิตย์ที่แล้วมีนักข่าว 2-3 คน มาให้กำลังใจว่าอย่าปล่อยให้นักวิชาการจากสถาบัน TDRI มาบิดเบือนประชาชนคนไทยต่อไป เขาพูดอย่างนี้ ผมขอสะท้อนมุมมอง เพราะข่าวที่ออกไปนำเสนอเฉพาะในแง่มุมของกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับที่ กสทช. ฟ้อง ขอบอกว่ามีหลายคนมาให้กำลังใจบอกว่าจะให้แสดงพลังไหม จะให้กลุ่มที่สนับสนุนนำดอกไม้มาให้กำลังใจไหม จะแสดงพลังให้ดูว่ามีคนสนับสนุนในการที่ กสทช. และเลขาธิการ กสทช. ฟ้องคดี จะให้แสดงพลังไหม ผมบอกไม่ต้อง แค่นี้ก็วุ่นวายแล้ว เราต้องการใช้สิทธิของเราในการปกป้องสิทธิและศักดิ์ศรีของเรา ไม่อยากให้มีกรณี  Mob ชน Mob ให้ไปพิสูจน์ในศาลดีกว่า เรียนว่าทุกอย่างอยู่ในคำฟ้อง ขณะนี้คดีอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลอาญาแล้ว ควรปล่อยให้เป็นไปตามกลไกการพิจารณาในการพิสูจน์ความจริง ศาลก็จะนัดให้ไต่สวนมูลฟ้อง ถ้าเราเป็นคนกล่าวหาก็ต้องนำพยานมาสืบ ฝ่ายคนที่ถูกฟ้องก็มีสิทธิซักถาม จนกระทั่งศาลตัดสินว่าจะประทับรับฟ้องหรือไม่ ขณะนี้เป็นขั้นตอนอยู่ในกระบวนการของศาล ถ้ามีการกดดันโดยไปกดดันผมไม่ได้ กดดันประธาน กทค. หรือ กทค. ไม่ได้ ก็ไปกดดันสำนักงานฯ ให้กลัว ให้ไปถอนฟ้อง ไม่งั้นจะถูกข่มขู่ จะอยู่ไม่ได้ในสังคมไทย ตรงนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ถูกต้อง จะทำให้มองว่าไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมของศาล 
                  ผมเห็นว่าตอนนี้เลยขั้นตอนจะไปดีเบตประเด็นต่างๆ แล้ว เพราะว่าเราก็พยายามชี้แจงแล้วก็เหมือนๆ กับว่าเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา มีคำกล่าวที่ว่า “ข่าวร้ายลงฟรี ข่าวดีต้องเสียตังค์” ที่ไหนก็เป็นอย่างนี้ แต่เมื่อมีคนพูดว่าใครไม่ดี โกง ฮั้ว มีการลงข่าวเป็นกระแสไปเลย แล้วใครไม่ลงข่าวตรงนี้ตกกระแส เราไม่มีทางเลือก ผมเห็นด้วย ตอนเป็นผู้พิพากษาไม่รู้ซึ้ง พอเป็นเลขาธิการ กกต. เคยถูกฟ้องมาตรา 157 ด้วย และก็สู้จนหลุด ขณะนี้ เรื่องนี้ไม่เหมือนที่ กสทช. สุภิญญาฯ ถูกฟ้อง เรื่องนี้เป็นเรื่องจริงมีการบิดเบือนข้อเท็จจริงและเป็นเรื่องที่คนในเอาข้อมูลไปบิด ถ้าผมฟ้องชนะคดีอาญาจะไม่ฟ้องคดีแพ่งเรียกค่าเสียหายสูงถึง 200-300 ล้านบาท แต่จะเรียกแค่ค่าใช้จ่ายที่เสียไป และค่าใช้จ่ายในส่วนของสำนักงานฯ เราจะชี้ให้ศาลเห็นว่ามีเสียหายเกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร เพื่อให้ศาลเห็นว่าความเสียหายรุนแรง แต่ว่าไม่ได้ปิดกั้นยังเปิดโอกาสให้คุยกัน ขณะนี้มองว่าเครือข่ายต่างๆ ไม่ได้ทำให้ประเด็นเรื่องนี้สงบเลย แต่ทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น ตอนแรกเราก็ถูกกระทำ จนเราทนไม่ไหวก็ไปใช้สิทธิ นึกถึงคนที่ถูกกระทำ กสทช. 2 ท่าน ไม่โดนกล่าวหาว่าทำให้ชาติเสียหาย 1.6 แสนล้านบาท และ 1.6 หมื่นล้านบาท ท่านก็ไม่เสียหาย เราถูกกล่าวหา ทั้งๆ ที่รู้อยู่เต็มอกว่าเราไม่ผิด 
                  เพราะฉะนั้นเราพึ่งใครไม่ได้ก็ต้องไปพึ่งศาล สถานการณ์ขณะนี้แทนที่จะมาคุยกัน ก็มากระเพื่อมให้มันแรง คราวนี้ไปเอาต่างประเทศมาหาว่าเราไปลิดรอนสิทธิสื่อ ทำไมไม่มองว่าผมถูกลิดรอนสิทธิ ครอบครัวผมเครียดมากตั้งแต่ 3G มาถึง 1800 ก็ยิ่งเครียดหนัก ผมก็เครียด ทำความดีมาทั้งชีวิต มากล่าวหากันโดยเอาอะไรที่ไม่ถูกต้องมาบอกว่าผมทำให้ประเทศชาติเสียหายกว่า 1.6 แสนล้านบาท ผมมองว่าไม่เป็นธรรม และก็ไม่มีโอกาสไปชี้แจง ไปจัดที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้มองว่าคนที่ถูกกระทำรู้สึกอย่างไร ถ้าคุณถูกกระทำบ้าง ถูกคนอื่นว่าทุจริต คุณจะรู้สึกอย่างไร เหมือนกันคุณต้องเข้าใจหัวอกของคน ถ้าเขาไม่เดือดร้อน การนำคดีไปฟ้องคือความเสี่ยง ผมนำคดีอาญาไปฟ้อง ถ้าเอาเรื่องไม่จริงไปฟ้องก็จะโดนข้อหาฐานฟ้องเท็จ ผมไปเบิกความถ้าเบิกความเท็จเอาความเท็จมาพูด ผมก็โดนข้อหาเบิกความเท็จ ไม่มีใครอยากจะไป จึงต้องเอาเรื่องจริงมาพูดกันที่ศาลเพื่อให้ความจริงทุกแง่มุมได้รับการเปิดเผย ผมเคยอยู่ศาลรู้ว่าทรมานแค่ไหนเป็นผู้พิพากษามายังสงสารเขาเลย เป็นคนถูกฟ้องผมถูกกระทำ ผมอยู่ กกต. ก็ถูกกระทำโดยพนักงานที่ทุจริตมาฟ้องผมว่าผิดมาตรา 157 ผมก็สู้คดีมาแล้ว 
                  ขอเรียนว่าอัยการเขาก็ทำตามหน้าที่ แต่ผมมองว่าเรื่องนี้ของฝ่ายเราอาจจะไม่ใช้อัยการ ฝ่ายจำเลยจะใช้อัยการก็เป็นเรื่องของเขา คิดว่าจัดการได้ เรื่องนี้เป็นการใช้สิทธิเพื่อปกป้องและเป็นการใช้สิทธิทางศาลและเป็นการใช้สิทธิโดยชอบ อยากให้ปล่อยให้เป็นกระบวนการทางศาล ก็มาคุยกัน กระบวนการก็เดินหน้าไป ระหว่างนี้จะคุยกันหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง มีคนของ Thai PBSติดต่อจะมาคุยกับผมแล้ว กำลังนัดพรุ่งนี้จะคุยกัน ไม่ใช่ว่าอยู่ทางนี้ไปกระพือ นอกจากสื่อถาม ก็บอกว่าเราจำเป็นที่จะปกป้องสิทธิของเรา ขอเรียนว่านี่คือความในใจที่อยากจะพูดและทุกอย่างที่พูดๆจากเรื่องจริงและรายละเอียดอยู่ในคำฟ้องและคำชี้แจงในบันทึกที่นำเสนอประธาน และกรรมการทุกท่านแล้ว
                  พลเอกสุกิจ  ขมะสุนทร กรรมการ กสทช. กล่าวว่า :  ผมทราบดีถึงว่าแนวทางที่ กสทช.สุภิญญาฯ ว่า ถ้าถูกฟ้องคือวีรสตรี แต่ว่าไม่มีใครอยากเป็นความ อย่าไปยุ่งกับเขา เขาว่าทนได้ก็ทน แต่ผมมีสิทธิ เสรีภาพ เกียรติยศของผม ถ้าการให้ข่าวเป็นการให้ข่าวโดยเข้าใจผิดโดยรู้ไม่จริง แล้วไปให้ข่าวแล้วไปให้ความเห็น ผมให้อภัยได้ว่ารู้ไม่หมด แต่ถ้ารู้หมด ใช้คำว่ารังแก กลุ่มบุคคลกลุ่มนี้รังแกพวกผมมาโดยตลอด ไม่เคยทำอะไรถูกผิดทุกเรื่อง ผิดมากผิดน้อยออกมารังแกใช้โครงสร้างเครือข่ายรังแก ผมตั้งใจทำงานและผมถูกรังแก ถ้าเป็นสมัยเด็กๆ ผมสู้ไปแล้ว ผมก็อดทน เพราะยิ่งสู้เขายิ่งดังยิ่งสู้ไม่มีประโยชน์อะไร แต่ก็ทนไม่ไหวถูกรังแกเหลือเกิน ตอนนี้ทุกเรื่องออกอะไรไปก็ถูกรังแกหมด ไม่ถูกไม่ดี ตามที่ กสทช.สุทธิพลฯ เคยพูดว่าเขาเอาความจริงมาพูดไม่หมดเปรียบเหมือนหมามีสี่ขา ช้างมีสี่ขา เป็นสัตว์เหมือนกัน ขนาดไม่เท่ากัน มีงวงมีงา กินก็ไม่เหมือนกัน ก็ทนไม่ไหว ก็ต้องใช้สิทธิ์ส่วนบุคคลของผมในการฟ้อง ต่อไปนี้ผมฟ้อง เมื่อฟ้องครั้งแรกได้ก็ฟ้องครั้งที่สองได้ฟ้องครั้งที่สามได้ ใครมาลงอะไรที่เป็นเท็จเกี่ยวกับเรื่องของผม หรือสิ่งที่ผมทำ เพราะว่าผมไม่มีทางอื่น ถ้าสมัยก่อนอาจจะมีเกเรบ้าง แต่ว่าเดี๋ยวนี้ทำไม่ได้ ก็ไม่ทำ เป็นการใช้สิทธิในฐานะประชาชนคนไทย และใช้สิทธิในการคุ้มครองเพื่อให้ประชาชนทั่วไป หรือให้ศาลพิจารณาว่าสิ่งที่เราทำกับสิ่งที่เราถูกกล่าวหาตรงกันไหม เป็นเรื่องของศาลยุติธรรม ก็เป็นสิทธิ์ส่วนบุคคลของผม ก็เรียนความในใจสั้นๆเท่านี้ เพราะส่วนใหญ่ กสทช. สุทธิพลฯ ได้กล่าวไปแล้ว 
                  รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า : เพราะว่าทั้ง  3 ท่านได้อภิปรายไปแล้ว คงไม่แตกต่างกัน ผลกระทบอยู่ที่ครอบครัว ก็ไม่อยากพูด ก็ใช้สิทธิของตนเองที่จะปกป้องการกระทำหน้าที่   สิ่งที่ท่านอภิปรายไป ถ้าอภิปรายก็ซ้ำกันอีก

Download

  • คำฟ้องคดีหมายเลขดำ_อ3172-2556.pdf
  • บันทึกข้อความถึงประธาน_กสทช_-กรณีการยื่นฟ้อง.pdf
  • วาระร้อน-5-16-กรณีฟ้องนักวิชาการและสื่อมวลชน.docx
  • วาระร้อน-5-16-กรณีฟ้องนักวิชาการและสื่อมวลชน.pdf
  • สรุปคำฟ้องฉบับย่อย.doc
  • สรุปคำฟ้องฉบับย่อย.pdf

สร้างโดย  -   (21/3/2560 12:08:31)

Download

Page views: 16